CBNA ฉบับที่ 37 : ความเป็นชาติพันธุ์กับอาเซียน


ปัญหาความขัดแย้งภายในของพม่า จึงเป็นปัญหาของเราและเป็นปัญหาของประชาคมอาเซียน ที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องและจำเป็นต้องช่วงชิงความได้เปรียบเชิงการทูต เพื่อกดดันให้รัฐบาลพม่าละเลิกจากการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศของตน ปล่อยนักโทษการเมืองและนางอองซานซูจีให้มีโอกาสลงเลือกตั้งที่กำหนดขึ้นในปีหน้านี้

ฉบับที่ 37 (3 สิงหาคม 2552)

ความเป็นชาติพันธุ์กับอาเซียน  

ยศ สันตสมบัติ 

เผยแพร่ในกรุงเทพธุรกิจ 3 สิงหาคม 52

 

ปรายตาชำเลืองดูเวทีการเมืองโลกทุกวันนี้ เราจะสังเกตเห็นได้ไม่ยากว่า นอกจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจแล้ว ปัญหาสภาพแวดล้อมและความเป็นชาติพันธุ์กำลังเป็นประเด็นใหญ่ที่ประชาคมโลกให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง สภาพแวดล้อมที่เลวร้ายลงทุกวันทำให้ชาวโลกเริ่มตระหนักถึงหายนะภัย ที่กำลังคืบคลานเข้ามากับสภาวะโลกร้อนและการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ซึ่งกำลังส่งผลให้เกิดความแปรปรวนของฤดูกาลและภัยธรรมชาติที่รุนแรงและถี่ขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก

 

 

ความเป็นชาติพันธุ์เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากเวทีการเมืองระดับนานาชาติ ความเป็นชาติพันธุ์ถูกนำไปโยงกับสิทธิมนุษยชน และการใช้ความรุนแรงทางการเมืองในหลายซอกมุมของโลก เมื่อเกิดปัญหานี้ขึ้นกับประเทศใด ข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชนและเกียรติภูมิของประเทศชาติ มักได้รับการตั้งคำถามจากประชาคมโลกอยู่เนืองๆ

 

 

ในการประชุมอาเซียนที่ภูเก็ตเมื่อไม่นานมานี้ ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศของสหรัฐ ก็ได้ใช้เวทีอาเซียนในการพูดถึงปัญหาชาติพันธุ์ในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาชนกลุ่มน้อยในพม่า และม้งอพยพในไทย

 

 

ปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในประเทศพม่า ระหว่างรัฐบาลเผด็จการทหารกับชนกลุ่มน้อยมากมายหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นชาวมอญ ไทยใหญ่ กะเหรี่ยง กะฉิ่น และชนกลุ่มอื่นๆ เป็นปัญหาที่หมักหมมมาเนิ่นนานหลายสิบปี จนกลายเป็นปัญหาที่ซับซ้อนยุ่งเหยิง และไม่มีทีท่าว่าจะสามารถยุติความขัดแย้งลงได้ภายใต้ระบบเผด็จการทหารที่ครองอำนาจมาเกือบห้าสิบปี ระบบเผด็จการในพม่าไม่เพียงส่งผลให้ความขัดแย้งยืดเยื้อยาวนานเท่านั้น หากแต่ยังทำให้พลเมืองส่วนใหญ่ของพม่ามีระดับการศึกษาที่ตกต่ำลง อยู่ในสภาพยากจน แร้นแค้น และถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพทางสังคมการเมืองมาโดยตลอด

 

 

ปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศพม่า มิใช่เป็นเพียงเรื่องของพม่าและชนกลุ่มน้อย ไม่ใช่เป็นปัญหาภายในที่เราในฐานะคนนอกหรือประเทศเพื่อนบ้านไม่ควรยุ่งเกี่ยว เพราะปัญหาของพม่าเป็นปัญหาของเราด้วยเช่นกัน ปัญหาความขัดแย้งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการค้าตามแนวชายแดน และส่งผลให้เราต้องรับผิดชอบต่อผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนนับแสนคนมาจนถึงทุกวันนี้

 

 

 

ปัญหายาเสพติดยิ่งเป็นปัญหาสำคัญ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อบ้านเรา ช่วงสิบปีมานี้ เราต้องสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ สูญเสียอนาคตของลูกหลาน สูญเสียเงินทอง เวลาและพลังงานไปเพียงใดในการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งยิ่งปราบยิ่งเพิ่ม ยิ่งห้ามก็ยิ่งเสพ และโรงงานผลิตยานรกเหล่านี้อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านของเรา หากไม่มีโรงงานเหล่านี้ปัญหายาเสพติดในบ้านเราก็ย่อมลดน้อยลงไป หากแต่รัฐบาลทหารของพม่าไม่เคยสนใจกับการปราบปรามดูแลปัญหานี้อย่างจริงจัง

 

 

จะด้วยเหตุที่มีอานิสงส์ผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ก็สุดจะคาดเดาได้ และไทยเองก็ไม่สามารถกดดันให้พม่าเข้ามาจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างจริงจัง กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐถึงกับขึ้นบัญชีพม่าไว้เป็นหนึ่งในสามของประเทศที่สร้างปัญหายาเสพติดมากที่สุดในโลก ร่วมกับเฮติและอัฟกานิสถาน เมื่อผู้ผลิตรายใหญ่อยู่ใกล้เราแค่เอื้อม ความเดือดร้อนก็ย่อมตกอยู่กับเราโดยปริยาย

 

 

 

ปัญหาชนกลุ่มน้อยและความขัดแย้งในพื้นที่ของประเทศพม่า ยังเกี่ยวพันโดยตรงกับปัญหาของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นปัญหาของประชาคมโลก มิใช่เป็นปัญหาภายในของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ ประเทศใดก็ตามที่ไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและ นิ่งดูดายปล่อยให้ความรุนแรงเกิดขึ้นใกล้ตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาเป็นเวลาเนิ่นนาน ย่อมเป็นประเทศที่ไม่มีศักดิ์ศรีในสายตาของประชาคมโลก ไม่มีศักดิ์ศรีเพราะไม่เข้าใจคุณค่าและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่น แต่กลับบดบังซ่อนงำความขลาดเขลาของตนไว้ ด้วยข้ออ้างของการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น

 

 

 

ที่ร้ายยิ่งไปกว่านั้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพม่านั้นหกเรี่ยราดเข้ามาในบ้านเราอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนชาวไทยตามแนวชายแดนต้องได้รับความเดือดร้อน สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมาโดยตลอด ยิ่งความรุนแรงที่เรียกว่า "ความรุนแรงภายใน" ของพม่ามีมากเพียงใด เราก็ยิ่งเดือดร้อนมากขึ้น หากชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ถูกขับดันออกจากพม่า กองกำลังติดอาวุธต่างๆ มากมายก็จะเข้ามาผลุบๆ โผล่ๆ ในฝั่งไทยเพิ่มขึ้น ปัญหาความรุนแรง การปล้นชิง และอาชญากรรมต่างๆ ที่เกิดจากแรงบีบคั้นเพื่อเอาตัวรอดของคนเหล่านี้ ก็จะตามมาและเพิ่มขึ้นเป็นปัญหาใหญ่โตให้กับเราอย่างไม่รู้จบ

 

 

 

ปัญหาความขัดแย้งภายในของพม่า จึงเป็นปัญหาของเราและเป็นปัญหาของประชาคมอาเซียน ที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องและจำเป็นต้องช่วงชิงความได้เปรียบเชิงการทูต เพื่อกดดันให้รัฐบาลพม่าละเลิกจากการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศของตน ปล่อยนักโทษการเมืองและนางอองซานซูจีให้มีโอกาสลงเลือกตั้งที่กำหนดขึ้นในปีหน้านี้

 

 

 

ในทำนองเดียวกัน ปัญหาม้งอพยพที่ค่ายห้วยน้ำขาว จังหวัดเพชรบูรณ์และหนองคาย ก็กำลังเป็นปัญหาร้อนที่รัฐบาลและประชาคมอาเซียนควรให้ความสนใจ และพิจารณาปัญหานี้อย่างพิถีพิถันละเอียดรอบคอบ เพราะภาพที่ถูกนำเสนอโดยสื่อของอเมริกันสู่สายตาของประชาคมโลก เป็นภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งหลายพันคนในค่ายผู้อพยพในประเทศไทย ซึ่งกำลังถูกรัฐบาลไทยพยายามผลักดันกลับไปสู่แผ่นดินลาว ทั้งๆ ที่คนกลุ่มนี้เคยเป็นผู้สนับสนุนสหรัฐในขบวนการต่อต้านลาวฝ่ายซ้ายมาก่อน และอยู่ในฐานะเป็นผู้อพยพทางการเมือง ซึ่งอาจได้รับการละเมิดสิทธิมนุษยชน หากถูกผลักดันให้เดินทางกลับไปยังบ้านเดิมโดยไม่เต็มใจ

 

 

 

ดร. เจน แฮมิลตัน-เมอริตต์ จากกลุ่มแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders) ซึ่งเป็นองค์กรที่เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพมาแล้ว ได้ออกโรงเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐกดดันไทยให้ทบทวนนโยบายผลักดันผู้อพยพชาวม้งกลับ เธอกล่าวในจดหมายถึงรัฐสภาสหรัฐ ว่า "... ผู้อพยพเหล่านี้เป็นอดีตพันธมิตรของเรา รัฐมนตรีคลินตันควรอ่านรายงานทางการแพทย์ว่าด้วยการถูกทารุณกรรมในบ้านเดิม และการถูกผลักดันให้เดินทางกลับ ... ท่านควรรับรู้ถึงความหวาดผวาของชาวม้ง ที่กำลังถูกบังคับให้เดินทางกลับสู่เงื้อมมือของ... ท่านควรรับรู้เรื่องราวและได้ยินเสียงร่ำไห้ของคนเหล่านี้"

 

 

กลุ่มแพทย์ไร้พรมแดนยังเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐ ทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยในการยุติการผลักดันผู้ลี้ภัยชาวม้งและชาวลาวกลับ และจัดตั้งกลไกในการพิจารณารับผู้ลี้ภัยชาวม้งให้มีโอกาสอพยพไปยังประเทศที่สามต่อไป จุดยืนนี้ได้รับการสนับสนุนและผลักดันอย่างแข็งขันจากองค์กรและเครือข่ายชาวม้งในสหรัฐและทั่วโลก วุฒิสมาชิกอเมริกันถึง 20 ท่าน ได้ลงชื่อในจดหมายถึงรัฐมนตรีคลินตันให้เร่งผลักดันเรื่องนี้โดยเร็ว

 

 

การสร้างบทบาทฐานะและจุดยืนของไทยและอาเซียนบนเวทีการเมืองโลก จำเป็นต้องเริ่มต้นจากการแก้ปัญหาใกล้ตัวที่ยืดเยื้อหมักหมมมานาน และการมีนโยบายต่างประเทศที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ไม่ใช่การจัดเวทีนานาชาติ เพื่อสร้างภาพและตีปี๊บไปวันๆ

หมายเลขบันทึก: 322923เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2009 18:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท