CBNA ฉบับที่ 39 : น้ำท่วมท้ายเขื่อนศรีนครินทร์ VS ท่อก๊าซพม่า VS อองซานซูจี : ราคาที่สังคมไทยและชนกลุ่มน้อยในพม่าต้องจ่าย


ในสมัยก่อนการปิดด่านชายแดน ไม่ได้กระทบแค่เพียงพ่อค้าแม่ค้าหรือนักธุรกิจเพียงเท่านั้น แต่หมายถึงประชาชนตาดำๆ ฝั่งพม่าผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ด้วยเช่นกัน การปิดด่านชายแดนทุกครั้ง มาพร้อมกับการหยุดชะงักการขนส่งอาหารของกลุ่มบรรเทาทุกข์ที่เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านกะเหรี่ยง ชาวบ้านมอญในฝั่งพม่าที่หลบหนีทหารพม่าซ่อนตัวอยู่ในป่า

ฉบับที่ 39 (19 สิงหาคม 2552)

 


น้ำท่วมท้ายเขื่อนศรีนครินทร์ VS ท่อก๊าซพม่า VS อองซานซูจี :

ราคาที่สังคมไทยและชนกลุ่มน้อยในพม่าต้องจ่าย

 


บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ 

 

เนื่องจากบ้านฉันอยู่ติด “น้ำแม่กลอง” เสาบ้านกว่าครึ่งตั้งอยู่ในน้ำ สมัยที่ยังเด็ก น้ำท่วมบ้านจนกลายเป็นเรื่องปกติ ความทุกข์ทรมานจากโคลนเลนกลายเป็นความสนุกสนานที่ได้เล่นน้ำและไม่ต้องไปโรงเรียน เวลาฉันถามที่บ้านว่า “ทำไมน้ำท่วมบ้านเราทุกปี” คำตอบเดิมๆที่ได้รับจนฝังหัวมาทุกวันนี้คือ “น้ำล้นเขื่อนที่เมืองกาญจน์ พอฝนตก กระแสน้ำจะแรง เจ้าหน้าที่ต้องปล่อยน้ำออกมา ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเขื่อนจะพัง รับน้ำไม่ไหว” คนท้ายน้ำอย่างฉันจึงรู้สึกธรรมดา ๆ เวลาน้ำล้นตลิ่งท่วมบ้านทุก ๆ ปีในหน้าฝน

 

 

 

 

เช่นเดียวกับตอนเช้าตรู่วันที่ 15 สิงหาคม 52 คนที่บ้านริมน้ำส่งเสียงผ่านสายโทรศัพท์มาถึงคนที่ใช้ชีวิตในเมืองหลวงว่า “เขื่อนปล่อยน้ำ จนน้ำท่วมแถวเมืองกาญจน์ ไม่รู้จะมาถึงบ้านเราเมื่อไหร่” ฉันก็ยังรู้สึก “เฉยๆ และเห็นเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง” อย่างไรก็ตามน้ำเสียงของอาร้อนรนจนผิดปกติ ซักไปซักมาจนได้ความกระจ่างกว่าเดิมว่า “น้าโรจน์ เพื่อนสนิทของอาฉัน เจ้าของรีสอร์ตริมน้ำแควใหญ่ ตอนนี้น้ำท่วมหมดแล้ว ไม่มีใครแจ้งล่วงหน้า เช็คข่าวให้หน่อยว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะปกติถ้าเขื่อนปล่อยน้ำ จะแจ้งชาวบ้านก่อนสองสามวัน แต่ครั้งนี้ไม่มีวี่แววอะไรเลย แจ้งก่อนชั่วโมงเดียว ขนของไม่ทัน มันต้องมีอะไรแน่ๆ ! ”

 

 

 



ข้อสังหรณ์จากคนท้ายน้ำอย่างอาฉันและน้าโรจน์ ที่หาอยู่หากินกับน้ำมาค่อนชีวิต เมื่อเห็นน้ำมาแบบไม่ปกติ ก็คาดการณ์ล่วงหน้าได้ไม่ยากว่า น้ำท่วมครั้งนี้มีความไม่ชอบมาพากลแอบแฝงอยู่อย่างแน่นอน

 

 

 

และเหตุการณ์นี้ก็เป็นจริงอย่างที่คนท้ายน้ำสังหรณ์

 

 

 

เพราะความไม่ปกติที่เกิดขึ้นครั้งนี้ไม่ใช่แค่ “เขื่อนศรีนครินทร์ ปล่อยน้ำ” แต่สัมพันธ์กับ “ท่อก๊าซพม่า หยุดจ่ายไฟ”

 

 

 

กิตติ ตันเจริญ ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไทยหลายสำนักว่า สาเหตุที่ต้องเปิดระบายน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เพราะวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติบงกชในอ่าวไทย ท่อส่งก๊าซรั่ว ต้องปิดซ่อมทั้งระบบ ทำให้ก๊าซธรรมชาติหายไปถึง 650 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อมาวันที่ 15 สิงหาคม แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติยาดานาในพม่า ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ทำให้ก๊าซธรรมชาติหายไป 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต รวมก๊าซ 2 แหล่งที่หายไปสูงถึง 1,750 ล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็นกำลังผลิตไฟฟ้า 10,000 MW ซึ่งเกินความสามารถของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ผลิตขนานอยู่ในประเทศไทยจะรับมือได้ทัน

 

 

 

 

ฉะนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟฟ้าในประเทศไทยดับ กฟผ. จึงให้เขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งมีกำลังผลิตไฟฟ้ามากเป็นอันดับ 2 รองจากเขื่อนภูมิพล เดินเครื่องปั่นไฟฟ้าทั้ง 5 เครื่อง ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม แปดโมงเช้าจนถึงตีสองของอีกวัน เพื่อป้อนไฟเข้าระบบอย่างกะทันหัน ทำให้ไม่มีเวลาเตือนให้ประชาชนที่อยู่ท้ายเขื่อน รู้ล่วงหน้าว่าน้ำจะท่วม  เพราะต้องใช้ปริมาณน้ำผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ จนส่งผลให้กระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำแควใหญ่

 

 

 

คำอธิบายเชิงวิชาการแบบนี้ คนท้ายน้ำอย่างฉันรู้สึกฉาบฉวยเกินไปหน่อย คล้ายกับคำพูดเดิม ๆ ที่ว่า “เพื่อให้คนเมืองหลวงมีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านปากมูนต้องเสียสละบ้านตนเอง เพื่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า”

 



จากการที่ตามข่าวประเด็นพม่ามานาน ฉันอดคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่า หรือนี้คือการตอบโต้ของรัฐบาลพม่าต่อรัฐบาลไทยผ่านจุดอ่อนเรื่อง “การพึ่งพาพลังงาน”

 

อ่านต่อทั้งหมด click : 

http://gotoknow.org/file/ngaochan/CBNA_39.doc

หมายเลขบันทึก: 322925เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2009 18:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท