การวิจัยอย่างง่าย


การวิจัย(เน้นการแก้ปัญหาการสอนในชั้นเรียน)เริ่มจาก หาปัญหา ศึกษาวิธีแก้ปัญหา ออกแบบการแก้ปัญหา ดำเนินการแก้ปัญหา เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล นำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล สรุป อภิปรายผล และให้ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้

การวิจัยในชั้นเรียน

                ผมขอเสนอกระบวนการวิจัยในชั้นเรียนอย่างย่อสำหรับคุณครูที่ใฝ่เรียนรู้ที่ต้องการที่จะแก้ปัญหาให้กับนักเรียนอย่างเป็นระบบ ทำให้นักเรียนมีคุณภาพตามที่ควรจะเป็น ซึ่งสามารถพัฒนาไปเป็นผลงานทางวิชาการได้ต่อไป ดังนี้

  1. ค้นหาปัญหา(เรื่องที่นักเรียนเรียน)ระหว่างการจัดการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้

ที่รับผิดชอบ(1 วิชา ต้องมีมากกว่า 1 เรื่องแน่นอน) ต้องมั่นใจว่าเป็นปัญหาต่อคุณภาพของการเรียนรู้ของนักเรียนจริง ๆ ไม่ใช่ปัญหาปลอม ๆ

2. ศึกษาวิธีการแก้ปัญหาจากเอกสารความรู้ต่าง ๆ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นการแก้ปัญหาที่พบเรื่องเดียวกับเรา หรือคล้าย ๆ กับเรื่องที่เราพบว่าเป็นปัญหา ที่ว่าคล้าย ตัวอย่างเช่น เราพบปัญหาว่าเด็กบวกเลขสองหลักไม่ได้ ไม่คล่อง แต่เราศึกษาเอกสารและงานวิจัยเป็นการแก้ปัญหาให้กับเด็กที่บวกเลขสี่หลักไม่ได้ไม่คล่อง เราก็อาจจะนำแนวทางนั้นมาแก้ปัญหาของเราก็ได้ ข้อสำคัญต้องหาอ่านให้กว้างขวาง ให้มาก จึงจะทำการวิจัยได้ดี มีคุณภาพ

3. กำหนดวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายในการแก้ปัญหาที่พบ โดยกำหนดวัตถุประสงค์ให้ครบถ้วน ครอบคลุมกับปัญหาที่ต้องการจะแก้ไข

4. กำหนดขอบเขตของปัญหาที่ต้องการแก้ไขให้ชัดเจน ขอบเขตที่ควรกำหนดได้แก่ ขอบเขตด้านประชากร/กลุ่มตัวอย่าง(ส่วนใหญ่จะเป็นประชากร เพราะหน้าที่เราต้องแก้ปัญหาให้กับนักเรียนที่เรียนไม่ผ่าน ไม่เข้าใจทั้งหมด) ขอบเขตต้านเนื้อหาสาระที่จะดำเนินการแก้ไข ขอบเขตด้านระยะเวลาที่ต้องใช้ในการดำเนินการวิจัย

5. ออกแบบการวิจัยอย่างรัดกุม โดยกำหนดว่า ต้องใช้นวัตกรรมอะไรเป็นตัวแปรต้น ต้องการให้เกิดผลอะไรขึ้นกับนักเรียน เป็นตัวแปรตาม โดยกำหนดให้ชัดเจน จากตัวแปรต้น และตัวแปรตาม เราต้องสร้างเครื่องมือที่เป็นนวัตกรรมกี่เล่ม/กี่วิธี อะไรบ้างต้องสร้างเครื่องมือวัดและประเมินผล หรือเครื่องมือเก็บข้อมูลกี่ฉบับอะไรบ้าง เป็นเครื่องมือลักษณะอย่างไร เพื่อจะนำไปเก็บข้อมูลมาตอบวัตถุประสงค์ของการวิจัย ซึ่งจะได้ผล/ข้อมูลมาอธิบายตัวแปรตามที่ทำการวิจัย คุณครูต้องกำหนดชนิด และจำนวนของเครื่องมือให้ครอบคลุมงานวิจัย เช่น เครื่องมือวัดผลการเรียนรู้ คงไม่ใช่มีเพียงแบบทดสอบเพียงอย่างเดียว ในเมื่อครูต้องวัดให้ครอบคลุมทั้ง ความรู้ ทักษะกระบวนการ และคุณธรรมจริยธรรม ดังนั้น เครื่องมือวัดที่สร้าง ต้องมีอย่างน้อย 2 ชนิด คือส่วนใหญ่ต้องวัดความรู้(แบบทดสอบ) และต้องวัดทักษะกระบวนการ(แบบสังเกตการณ์ปฏิบัติ)แทบจะทุกเรื่องที่นักเรียนเรียน ส่วนการวัดด้านคุณธรรมส่วนใหญ่จะวัดในภาพรวมเมื่อจบรายวิชา หรือจะวัดด้านคุณธรรม จริยธรรม ในแต่ละเรื่องด้วยจะดีมาก ซึ่งเครื่องมือวัดด้านคุณธรรม จริยธรรม อาจจะเป็นแบบทดสอบ หรือแบบสังเกต ซึ่งเครื่องมือวัดแต่ละลักษณะ หรือแต่ละแบบ มีรูปแบบที่แตกต่างกัน และมีวิธีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือโดยใช้หลักวิชา/วิธีคำนวณที่แตกต่างกัน และออกแบบด้วยว่าจะดำเนินการแก้ปัญหา(ขั้นตอนการใช้นวัตกรรมกับนักเรียน) และดำเนินการเก็บข้อมูลอย่างไร เมื่อไร เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนมาตอบวัตถุประสงค์ของการวิจัย ซึ่งเครื่องมือทั้งที่เป็นนวัตกรรม และเครื่องมือวัดผลการเรียนรู้ ก่อนนำมาใช้จริงต้องนำไปตรวจสอบคุณภาพก่อน คือต้องผ่านคุณภาพ 2 ด่าน ได้แก่ ด่านที่ 1 เป็นความตรงเชิงเนื้อหา(Content validity)(ส่วนมากประเมินความสอดคล้องของเนื้อหากับจุดประสงค์ของเครื่องมือที่ใช้ และนิยมใช้ค่า IOC-Index of Item and Objective Congruence) เป็นสถิติที่ใช้ตรวจสอบคุณภาพด้านความตรง ส่วนด่านที่ 2 เป็นค่าความเชื่อมั่น(Reliability) ของเครื่องมือ

5.1   เครื่องมือประเภทนวัตกรรม ถ้าเป็นนวัตกรรมที่ให้ครูใช้ เช่น คู่มือครูเรื่อง.....

หรือ แนวการจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธี.....หรือ เอกสารประกอบการสอน หรือเป็นนวัตกรรมที่ให้นักเรียนใช้โดยต้องมีครูอยู่ด้วย เช่น เอกสารประกอบการเรียน หรือแบบเรียนเรื่อง..... นวัตกรรมประเภทนี้ ตรวจสอบคุณภาพโดยหาค่าความสอดคล้อง(IOC) ของเนื้อหากับหัวข้อเรื่องของเอกสารก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าเป็นนวัตกรรมที่นักเรียนนำไปเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เช่น แบบเรียนสำเร็จรูป แบบฝึก เรื่อง..../แบบฝึกทักษะ.....นอกจากจะผ่านด่านที่ 1 แล้ว ด่านที่ 2 จะเป็นการตรวจสอบประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของนวัตกรรม ซึ่ง ประสิทธิภาพของนวัตกรรม มักจะใช้ค่า E1/E2(ซึ่งจริง ๆ แล้ว มีหลายวิธี ในการตรวจสอบคุณภาพของนวัตกรรมที่จะนำไปใช้พัฒนานักเรียนของเราที่เราพบปัญหา)

5.2   เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล ทุกชนิดต้องผ่านด่านที่ 1 มาก่อน ส่วนด่านที่ 2

วิธีการตรวจสอบความเชื่อมั่น(Reliability)ขึ้นอยู่กับลักษณะของเครื่องมือ ซึ่งเครื่องมือวัดที่คุณครูใช้ ส่วนใหญ่ได้แก่ แบบทดสอบปรนัยเลือกตอบ หาค่าความเชื่อมั่นโดยใช้วิธีการของ Kuder-Richardson(K20) แบบทดสอบที่เป็นแบบถูกผิด หรือแบบจับคู่ ที่ไม่มีตัวเลือกให้เลือกตอบ หาค่าความเชื่อมั่นโดยวิธี Split-half Method แบบทดสอบอัตนัย แบบสอบถามหาค่าความเชื่อมั่นโดยใช้ค่าสถิติ สัมประสิทธิ แอลฟ่า(a-Coefficient) สำหรับแบบทดสอบ ต้องหาค่าความยากง่ายของข้อสอบ และค่าอำนาจจำแนกของข้อสอบด้วย ส่วนแบบสอบถามควรหาค่าอำนาจจำแนกของรายการที่สอบถามเพิ่มด้วย สำหรับแบบสังเกตการปฏิบัติงาน หรือแบบสังเกตพฤติกรรม ซึ่งต้องจัดทำ Rubrics กำหนดรายละเอียดในการประเมินด้วย หลังจากหาค่า IOC ของประเด็นที่ประเมินกับพฤติกรรมที่ประเมินแล้ว ต้องนำมาหาค่าความเชื่อมั่นของ แบบสังเกต โดยใช้ค่าสถิติ ค่าสหสัมพันธ์ของคะแนน โดยวิธีของ Spearman Rank Correlation

(สำหรับวิธีการตรวจสออบคุณภาพของเครื่องมือแบบต่าง ๆ ที่ใช้ในการวิจัย สามารถอ่านได้จากเอกสารที่เกี่ยวกับการสร้างเครื่องมือวิจัยทั่วไป สำหรับผมได้เคยเขียนไว้ในหน่วยที่ 5 ของการอบรมผู้ขอวิทยฐานะของจังหวัดลำพูนไปหลายรุ่นเหมือนกัน รวมทั้งเคยไปเป็นวิทยากรเรื่องการทำผลงานทางวิชาการ หรือการพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ ซึ่งเคยไปเป็นวิทยากรที่จังหวัดแพร่ ก็มาก จังหวัดน่านก็พอมี ลองไปสอบถามครูที่ผ่านการอบรมดูนะครับ)

6. ดำเนินการแก้ปัญหานักเรียน(ดำเนินการวิจัย) โดยดำเนินการตามขั้นตอนที่ออกแบบไว้ โดยใช้นวัตกรรมที่สร้างขึ้น และใช้เครื่องมือวัดผลการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นระยะ ๆ ตามที่ออกแบบไว้

7. วิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ โดยใช้สถิติที่เหมาะสม ส่วนใหญ่ถ้าเป็นผลการเรียนรู้ มักจะคำนวณเป็นค่าร้อยละของคะแนนที่นักเรียนได้เมื่อเทียบกับคะแนนเต็ม ถ้าต้องการทราบความพึงพอใจของนักเรียนต่อวิธีการเรียน หรือต่อนวัตกรรมที่สร้างแล้วเอามาให้นักเรียนเรียน ซึ่งมักใช้เครื่องมือแบบมาตราส่วนประมาณค่า(Rating scale) 5 ระดับความพึงพอใจ การสรุปมักจะสรุปเป็นค่าเฉลี่ย( ) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(S.D.)

8. นำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล ตอบวัตถุประสงค์ของการวิจัยให้ครบทุกข้อ

9. สรุป อภิปรายผล และให้ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้งานต่าง ๆ

10. เขียนรายงาน 5 บท หรือไม่เป็น 5 บท แต่ในรายงานวิจัย ควรให้มีหัวข้อให้ครบดังนี้ ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา วัตถุประสงค์ ขอบเขต นิยามศัพท์เฉพาะ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัย การทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง(เป็นหลักวิชาที่นำมาใช้ในการดำเนินการวิจัย) กรอบการวิจัย การดำเนินการวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลตามวัตถุประสงค์ ผลการวิเคราะห์ข้อมูล(อาจจะนำเสนอเป็นความเรียง หรือตาราง หรือกราฟ) พร้อมอธิบายข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ สรุปผลการวิจัย อภิปรายผลการวิจัย และให้ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้

(คุณครูส่วนมากมักจะละเลยขั้นที่ 2 ก่อนลงมือทำงาน และเลยไปทำขั้นที่ 6 แบบไม่มีหลักวิชา เลยทำให้เกิดปัญหา หรือการทำงานนั้นขาดความสมบูรณ์ และขาดความถูกต้องตามหลักวิชาการอยู่เสมอ ดังนั้น อยากจะเชิญชวนให้คุณครูหาหลักการทำงาน หรือหลักวิชาก่อนที่จะทำงาน ดังนั้น ต้องหาหลักวิชาให้ได้ก่อน การทำงานจึงจะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้โดยง่าย และถูกต้องตามหลักวิชาการ ข้อสำคัญอย่าเชื่อบทความนี้เพียงแหล่งเดียว ต้องหาเอกสารเรื่องวิธีวิจัยจากผู้รู้อื่น ๆ อ่านด้วย ที่ผมเขียนนี้ เขียนจากประสบการณ์ และความเข้าใจของผมที่ทำงานมาเป็นเวลานานพอสมควร)

หมายเลขบันทึก: 322896เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2009 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดิฉันได้ติดตามงานท่านการจัดทำแผนการการจัดการเรียนร้แบบอิงมาตรฐานซึ่งจะเน้นการจัดทำแผนการจัดการเรียนร้แบบเป็นหน่วยซึ่งถ้าจะส่งของเลื่อนวิทยฐานะกลัวว่าจะไม่เข้าตากรรมการ และจะเขียนแบบอิงมาตรฐานนำวิธีสอน 5E มาใช้ และจะแยกหน่วยการสอนเป็นหน่วยย่อยเล็กๆ ตามเนื้อหาได้ไหมคะ

ครูเมธาวี ครูฟิสิกส์โรงเรียนวรคุณอุปถัมภ์ จังหวัดศรีสะเกษ

1.แผนการจัดการเรียนรู้ทำรูปแบบใดก็ได้ ขอให้ครบตามองค์ประกอบแผนการจัดการเรียนรู้ และนำไปจัดการเรียนรู้จริง และปัจจุบันเน้นให้นักเรียนได้ความรู้เป็นองค์รวม จึงเหมาะสมที่จะทำเป็นหน่วย โดย 1 หน่วยเนื้อหามีจุดเน้นเดียวกัน ไม่มีหลายจุดเน้น หน่วยเล็ก ๆ ผมว่าไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจาก 1 หน่วยควรมีจุดเน้นเดียว เรื่องเดียวที่ใหญ่พอเหมาะ เช่น ภาษาไทย หน่วยการอ่านออกเสียง จากมาตรฐานหลักสูตรถ้าเป็นการอ่านออกเสียงแบบใดก็ตาม ขอให้มาอยู่ที่หน่วยนี้ ส่วนการอ่านจับใจความ อ่านแล้ววิจารณ์ อ่านแล้วแต่งเรื่องขึ้นมาใหม่ ควรอยู่อีกหน่วยหนึ่ง หรือฟิสิกส์ หน่วยเรื่องพลังงาน ก็นำมาตรฐานของสาระพลังงาน และสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องเดียวกัน เกี่ยวข้องกันมาทำเป็น 1 หน่วย ซึ่งที่ศึกษามาตรฐานของกลุ่มสารฯ วิทยาศาสตร์ ส่วนใหญ่ 1 หน่วยจะมีเน้ือหาสาระเดียวกัน แต่อาจจะไม่หมดทั้งสาระ คือ 1 สาระ อาจจะมีมากกว่า 1 หน่วยก็ได้ ขอให้มีจุดเน้นที่กล่าวแล้ว

2.ถ้าใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ 5 ขั้นตอน(5Es)ก็ดี เพราะเป็นกระบวนการสอนที่ครบถ้วนและเน้นผู็เรียนเป็นสำคัญ

3.การส่งเอกสารขอเลื่อนวิทยฐานะ ขอให้ทำตามเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ.กำหนดว่าให้ส่งอะไรบ้าง เขาจะประเมินอย่างไรบ้าง มีเกณฑ์การประเมินอย่างไร ต้องอ่านให้เข้าใจ ส่วนรูปแบบ และเนื้อหาจะเป็นอย่างไรก็ได้ ขอให้ทำให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ รับรองได้วิทยฐานะที่ต้องการแน่ครับ

ขอให้โชคดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท