ร่างพรบ.ส่งเสริมวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ผ่านครม.แล้ว


วิชาชีพที่ต้องใช้ความรู้ ทักษะทางสังคมสงเคราะห์ในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันแก้ไขปัญหาของบุคคล ครอบครัว กลุ่มหรือชุมชน ให้สามารถกระทำหน้าที่ทางสังคมของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          เมื่อวานเป็นวันที่พวกเรารอลุ้นว่า ครม.จะมีมติอย่างไรกับร่างพรบ.ส่งเสริมวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พอตอนเกือบเที่ยงท่านอาจารย์อภิญญา นายกสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยโทรมาแจ้งข่าวดีว่าครม.อนุมัติในหลักการแล้วส่งเรื่องต่อไปให้กฤษฎีกา คราวนี้ก็ลุ้นกันต่อไป การลุ้นของเราอาจเป็นแค่รอฟังผลแต่หัวหอกหลายท่านเช่น คุณชินชัย ชี้เจริญ คุณสุพล บริสุทธิ์ นายกสมาคมที่เกี่ยวข้องกับนักสังคมสงเคราะห์ทั้ง 3 สมาคม และพี่ๆผู้เชี่ยวชาญอีกหลายท่านทำงานหนักในการตอบข้อคิดเห็น ข้อสังเกตุต่างๆของครม. เช่น

     มาตรา ๓  "วิชาชีพสังคมสงเคราะห์" หมายความว่า วิชาชีพที่ต้องใช้ความรู้ ทักษะทางสังคมสงเคราะห์ในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันแก้ไขปัญหาของบุคคล ครอบครัว กลุ่มหรือชุมชน ให้สามารถกระทำหน้าที่ทางสังคมของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งความหมายในมาตรา 3 นี้ถูกตั้งข้อคิดเห็นว่า เป็นนิยามที่ไม่ชัดเจน เนื่องจากมิได้มีการขยายความว่าเป็นการปฏิบัติการด้วยวิธีการใด ๆ อย่างจำเพาะ  ซึ่งหากมีความไม่ชัดเจนดังกล่าวจะทำให้มีปัญหาในการตีความ การกระทำใดหรือกิจกรรมใดที่ถือว่าเป็นการสังคมสงเคราะห์ พี่ๆของเราก็ชี้แจงว่า หลักการเขียนคำนิยามยึดรูปแบบที่สั้นกระชับ เป็นการเขียนที่สอดคล้องกับกฎหมายวิชาชีพอื่นและกฎหมายวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ในต่างประเทศ อีกทั้งในการเขียนนิยามได้มีการระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

มาตรา ๒๙ ให้ลักษณะงานสังคมสงเคราะห์ต่อไปนี้ต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ซึ่งต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในการปฏิบัติ

 (๑) งานสังคมสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ กฎหมาย ว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กฎหมายว่าด้วยค่าตอบแทนผู้เสียหายในกรณีอาญา กฎหมายว่าด้วยคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว กฎหมายว่าด้วยฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กฎหมายว่าด้วยสุขภาพจิต ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์ (๒) งานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ หรือสถานพินิจคุ้มครอง เรือนจำ สถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานฟื้นฟูและพัฒนาหรือสถานที่อื่นทำนองเดียวกันในหน่วยงานของรัฐในส่วนที่ปฏิบัติหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ประชาชน

 มีข้อคิดเห็นว่า มาตรา ๒๙ (๑) ได้กล่าวถึงงานสังคมสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยสุขภาพจิต (๒) กล่าวถึงงานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ การกำหนดในลักษณะดังกล่าวจะกระทบต่อทีมปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข เนื่องจากในการปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขมีผู้ประกอบวิชาชีพต่าง ๆเป็นสหวิชาชีพ  ซึ่งสหวิชาชีพเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายในการประกอบวิชาชีพที่กระทำหรือมุ่งหมายที่จะกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การส่งเสริมและการฟื้นฟูสุขภาพ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่วิชาชีพการแพทย์และสาธารณสุขนั้น ๆ กำหนด ซึ่งในการปฏิบัติงานจะมีการกำหนดอย่างชัดเจน วิชาชีพใดสามารถปฏิบัติงานในลักษณะใด โดยการปฏิบัติงานของแต่ละวิชาชีพจะมีความจำเพาะ และไม่ซ้ำซ้อนกัน การกำหนดให้มีนักสังคมสงเคราะห์ในทีมปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ควรมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน และมาตรา ๒๙ มีกฎหมายหลายฉบับเป็นกฎหมายหลักของหน่วยงานอื่น ที่มิใช่สังกัด พม.  ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายลักษณะนี้สมควรที่จะรับฟังความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย  นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตุเพิ่มเติมอีกว่านักสังคมสงเคราะห์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีจำนวนมากหากเทียบกับหน่วยงานอื่น จึงเห็นควรทำประชาพิจารณ์หรือให้โอกาสนักสังคมสงเคราะห์เหล่านี้ได้แสดงความคิดเห็นอย่างเป็นทางการ เพราะอาจเป็นการกระทบสิทธิดังกล่าว

พี่ๆของเราได้ชี้แจงไปว่า งานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ (Medical Social Work) มีทั้งงานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ฝ่ายกาย และงานสังคมสงเคราะห์ฝ่ายจิต

- มีการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา และมีการปฏิบัติงานที่ชัดเจน โดยนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ฝ่ายกายจะทำงานในโรงพยาบาลทั่วไป นักสังคมสงเคราะห์ฝ่ายจิตทำงานในโรงพยาบาลฝ่ายจิต  และอยู่ในทีมสหวิชาชีพที่มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน การมีกฎหมายส่งเสริมวิชาชีพสังคมสงเคราะห์จะทำให้นักสังคมสงเคราะห์สามารถปฏิบัติงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับสหวิชาชีพอื่นได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพ

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยนำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ไปรับฟังความคิดเห็น

 ในปี ๒๕๕๒ มีการระดมความเห็นรวม ๒ ครั้ง ได้แก่

-  วันที่ ๑๗ มีนาคม๒๕๕๒ ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ  กรุงเทพมหานครประชุมวิชาการนักสังคมสงเคราะห์ทั่วประเทศ ผู้เข้าร่วม จำนวน ๓๐๐ คนซึ่งเป็นนักสังคมสงเคราะห์สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ๒๓ คน

- วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๒ ประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ณ โรงแรมอมารีเอเทรียม จำนวน ๘๐ คน มีผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขเข้านอกจากนั้นในภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมวิชาชีพสังคมสงเคราะห์และสถาบันการศึกษาด้านสังคมสงเคราะห์ได้จัดให้มีการประชุมระดมความเห็นจำนวนหลายครั้ง

  

   

ลิงก์ของตัวไฟล์:
หมายเลขบันทึก: 322364เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2009 12:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 08:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

วันนี้ได้fileร่างพรบ.ส่งเสริมวิชาชีพสังคมสงเคราะห์มาให้อ่านกันค่ะ

บันทึกหลักการและเหตุผล

ประกอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

พ.ศ. ….

------------------------

หลักการ

ให้มีกฎหมายว่าด้วยส่งเสริมวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

เหตุผล

โดยที่สภาวการณ์ทางสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ขยายครอบคลุมไปหลายด้านและมีเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับมีการกำหนดบทบาทของผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ในการทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ประสบปัญหาในการดำรงชีวิตให้สามารถพึ่งตนเองและกระทำหน้าที่ทางสังคมได้ ไว้ในกฎหมายหลายฉบับ สมควรมีกฎหมายส่งเสริมและควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ให้อยู่ภายใต้การดูแลของสภาวิชาชีพเดียวกัน เพื่อส่งเสริมการประกอบวิชาชีพให้มีมาตรฐาน ตลอดจนมีการควบคุมจรรยาบรรณการประกอบวิชาชีพที่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์จากผู้ประกอบวิชาชีพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ร่าง

พระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ. ….

......................................................................

โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยส่งเสริมวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๐ มาตรา ๓๑ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ. ....

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

“วิชาชีพสังคมสงเคราะห์” หมายความว่า วิชาชีพที่ต้องใช้ความรู้และทักษะทางสังคมสงเคราะห์ในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันแก้ไขปัญหาของบุคคล ครอบครัว กลุ่มหรือชุมชนให้สมารถกระทำหน้าที่ทางสังคมของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตจากสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

“ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

“ข้อบังคับ” หมายความว่า ข้อบังคับสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

“สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งออกระเบียบเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวง และระเบียบนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑

สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

มาตรา ๕ ให้มีสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์เป็นนิติบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๖ สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์มีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

(๑) กำกับ ดูแล และกำหนดมาตรฐานรวมทั้งส่งเสริมการให้บริการของผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

(๒) ควบคุมความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ให้ถูกต้องตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

(๓) ส่งเสริมการศึกษา การอบรม การวิจัย และการประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์รวมทั้งส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่และหน่วยงานทางสังคมสงเคราะห์

(๔) ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้ความรู้แก่ประชาชน และองค์กรอื่นในเรื่องที่เกี่ยวกับการสังคมสงเคราะห์

(๕) ให้คำปรึกษา หรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับการสังคมสงเคราะห์

(๖) ผดุงไว้ซึ่งเกียรติ สิทธิ ความเป็นธรรม ความก้าวหน้าในการประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ และส่งเสริมความสามัคคี และสวัสดิการให้แก่สมาชิก

(๗) เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ในประเทศไทย

มาตรา ๗ สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) รับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

(๒) ออกคำสั่งตามมาตรา ๔๒ วรรคสาม

(๓) จัดทำหลักสูตรสำหรับการฝึกอบรมในวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์หรือสถาบันอื่นที่สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์มอบหมายให้ดำเนินการฝึกอบรมในวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

(๔) ออกหนังสืออนุมัติ หรือวุฒิบัตรแสดงความรู้ ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์สาขาต่าง ๆ และออกหนังสือแสดงวุฒิอื่นในวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

(๕) ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ในระดับอุดมศึกษาของสถาบันการศึกษาที่จะทำการสอนวิชาสังคมสงเคราะห์ตามที่สถานศึกษาแห่งนั้นขอความเห็น

(๖) ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

มาตรา ๘ สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ อาจมีรายได้ดังต่อไปนี้

(๑) เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน

(๒) ค่าขึ้นทะเบียนสมาชิกสามัญ สมาชิกวิสามัญ และสมาชิกสมทบ และค่าธรรมเนียมต่างๆ ตามพระราชบัญญัตินี้

(๓) ผลประโยชน์จากกิจกรรมอื่นของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในมาตรา ๗

(๔) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้

(๕) เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์หรือที่สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ได้รับตามกฎหมายหรือโดยนิติกรรมอื่น

(๖) ดอกผลที่เกิดจากเงินและทรัพย์สินของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๕)

มาตรา ๙ ให้รัฐมนตรีดำรงตำแหน่งสภานายกพิเศษแห่งสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ และมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

หมวด ๒

สมาชิก

มาตรา ๑๐ สมาชิกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ มีสี่ประเภท ดังนี้

(๑) สมาชิกสามัญ

(๒) สมาชิกวิสามัญ

(๓) สมาชิกสมทบ

(๔) สมาชิกกิตติมศักดิ์

มาตรา ๑๑ สมาชิกสามัญเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ และได้ปฏิบัติหน้าที่นักสังคมสงเคราะห์ในงานสังคมสงเคราะห์ตามมาตรา ๒๙

(๒) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางสังคมสงเคราะห์ศาสตร์

(๓) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีสาขาวิชาอื่นที่สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์รับรอง ซึ่งผ่านการฝึกอบรมและมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวข้องกับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ตามมาตรฐานที่สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์กำหนด

(๔) ไม่เป็นผู้ประพฤติเสียหายซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

(๕) ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ในคดีที่คณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

(๖) ไม่เป็นผู้วิกลจริต มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือไม่เป็นโรคที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ

ของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

มาตรา ๑๒ สมาชิกวิสามัญและสมาชิกสมทบ ได้แก่ บุคคลอื่นนอกจากมาตรา ๑๑ โดยมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อกำหนดในข้อบังคับ

มาตรา ๑๓ สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์เชิญให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ เพื่อให้คำปรึกษาในการดำเนินงานของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

มาตรา ๑๔ สมาชิกสามัญมีสิทธิและหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ขอขึ้นทะเบียนและขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ขอหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรเกี่ยวกับความรู้หรือความชำนาญในการประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์สาขาต่าง ๆ หรือหนังสือแสดงวุฒิอื่นในวิชาชีพสังคมสงเคราะห์โดยปฏิบัติตามข้อบังคับ ว่าด้วยการนั้น

(๒) แสดงความเห็นเป็นหนังสือเกี่ยวกับกิจการของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ส่งไปยังคณะกรรมการเพื่อพิจารณา และในกรณีสมาชิกสามัญร่วมกันตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไป เสนอให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องใดที่เกี่ยวกับกิจการของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ คณะกรรมการต้องพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้เสนอทราบภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง

(๓) เลือกตั้ง รับเลือกตั้ง หรือรับเลือกเป็นกรรมการหรือดำรงตำแหน่งอื่นอันเกี่ยวกับกิจการของสภาวิชีพสังคมสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัตินี้

(๔) ผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพสังคมสงเคราะห์และปฏิบัติตนตามบทบัญญัติแห่ง

พระราชบัญญัตินี้

(๕) ได้รับสวัสดิการหรือบริการอื่นๆ ตามระเบียบที่สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์กำหนด

สมาชิกวิสามัญ สมาชิกสมทบ และสมาชิกกิตติมศักดิ์ มีสิทธิและหน้าที่ตาม (๒) (๔) และ (๕)

มาตรา ๑๕ สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๑ (๑) (๒) (๓) หรือ (๖) หรือคณะกรรมการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์มีมติเพิกถอน

(๔) คณะกรรมการมีมติให้พ้นสมาชิกภาพ เพราะเห็นว่าเป็นผู้นำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียติศักดิ์แห่งวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ตามมาตรา ๑๑ (๔) หรือ (๕)

หมวด ๓

คณะกรรมการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

มาตรา ๑๖ ให้มีคณะกรรมการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ประกอบด้วย

(๑) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนกระทรวงแรงงาน ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกรุงเทพมหานคร และนายกสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย

(๒) กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีการศึกษาหลักสูตรสังคมสงเคราะห์ระดับปริญญาเลือกกันเองไม่เกินสองคน และผู้แทนองค์กรสาธารณประโยชน์ที่มีสมาชิกสามัญปฏิบัติงานอยู่เลือกกันเองไม่เกินสองคน

(๓) กรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยสมาชิกสามัญมีจำนวนไม่เกินสิบสี่คน

มาตรา ๑๗ คณะกรรมการอาจแต่งตั้งสมาชิกสามัญ สมาชิกวิสามัญ สมาชิกสมทบ สมาชิกกิตติมศักดิ์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาได้และให้มีอำนาจถอดถอนที่ปรึกษาได้

ให้ที่ปรึกษาดำรงตำแหน่งตามวาระของคณะกรรมการตามมาตรา ๑๖(๓)

มาตรา ๑๘ ภายในสามสิบวันนับจากวันเลือกกรรมการตามมาตรา ๑๖ ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการตามมาตรา ๑๖ (๓) เป็นนายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ อุปนายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์คนที่หนึ่ง และอุปนายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์คนที่สอง ตำแหน่งละหนึ่งคน

ให้นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์เลือกสมาชิกสามัญเพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการ รองเลขาธิการ ประชาสัมพันธ์ และเหรัญญิก ตำแหน่งละหนึ่งคน และอาจเลือกสมาชิกสามัญเพื่อดำรงตำแหน่งอื่นได้ตามความจำเป็น ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

ให้นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์มีอำนาจถอดถอนเลขาธิการ รองเลขาธิการ ประชาสัมพันธ์ เหรัญญิก และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามวรรคสองออกจากตำแหน่งได้ ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการไม่น้อยกว่าสองในสาม

มาตรา ๑๙ การเลือกกรรมการตามมาตรา ๑๖(๒) การเลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๑๖ (๓) การแต่งตั้งที่ปรึกษาตามมาตรา ๑๗ การเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามมาตรา ๑๘ และการเลื่อนรายชื่อตามบัญชีสำรอง หรือการเลือกกรรมการตามมาตรา ๒๓ ให้เป็นไปตามข้อบังคับ

มาตรา ๒๐ กรรมการตามมาตรา ๑๖ นอกจากปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายกสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(๑) เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ เว้นแต่ไม่ผู้ประกอบวิชาขีพในหน่วยงานดังกล่าว

(๒) ไม่เคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๔๒

(๓) ไม่เคยถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย

มาตรา ๒๑ ให้กรรมการตามมาตรา ๑๖(๒)และ(๓) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับการเลือกหรือได้รับเลือกตั้งใหม่ได้ แล้วแต่กรณี แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้

ให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการเลือกตั้งกรรมการขึ้นใหม่

มาตรา ๒๒ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการตามมาตรา ๑๖ (๒) และ(๓) พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตาม มาตรา ๑๕

(๒) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๒๐

(๓) ลาออกจากการเป็นกรรมการ

มาตรา ๒๓ เมื่อตำแหน่งกรรมการตามมาตรา ๑๖ (๒) ว่างลงก่อนครบวาระ ให้ผู้มีรายชื่อตามบัญชีสำรองผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๐ และได้รับคะแนนจากการเลือกกรรมการตามมาตรา ๑๖ (๒) ในลำดับถัดไปเลื่อนขึ้นมาเป็นกรรมการแทนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งกรรมการนั้นว่างลง

เมื่อตำแหน่งกรรมการตามมาตรา ๑๖(๒) ว่างลงก่อนครบวาระ ให้ผู้มีรายชื่อตามบัญชีสำรองของผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๐ และได้รับคะแนนจากการเลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๑๖ (๓) ในลำดับถัดไปเลื่อนขึ้นมาเป็นกรรมการแทนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งกรรมการนั้นว่างลง

ในกรณีไม่มีผู้ได้รับการเลื่อนรายชื่อตามบัญชีสำรองขึ้นเป็นกรรมการแทนตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หรือมีแต่ยังไม่ครบตามจำนวนตำแหน่งกรรมการที่ว่างลง ให้คณะกรรมการจัดให้มีการเลือกกันเองตามมาตรา ๑๖ (๒) หรือจัดให้มีการเลือกตั้งตามมาตรา ๑๖(๓) เป็นกรรมการแทนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่จำนวนกรรมการดังกล่าวได้ว่างลง

ถ้าวาระของกรรมการตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง เหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน คณะกรรมการจะให้มีการเลือกกรรมการแทนหรือไม่ก็ได้

ให้ผู้ซึ่งเป็นกรรมการแทนนั้นอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน

มาตรา ๒๔ ให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) บริหารและดำเนินกิจการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในมาตรา ๖ และมาตรา ๗

(๒) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อทำกิจการหรือพิจารณาเรื่องต่างๆ อันอยู่ในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

(๓) กำหนดแผนการดำเนินงานและงบประมาณของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

(๔) ออกข้อบังคับว่าด้วย

(ก) การเป็นสมาชิก

(ข) การกำหนดค่าขึ้นทะเบียนสมาชิกสามัญ สมาชิกวิสามัญ สมาชิกสมทบ ค่าบำรุง และ

ค่าธรรมเนียมอื่น นอกจากที่กำหนดไว้ในอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัตินี้

(ค) การเลือก การเลือกตั้งกรรมการ การเลื่อนรายชื่อตามบัญชีสำรองขึ้นเป็นกรรมการแทน และการแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษาและการเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา ๑๖

(ง) แบบและประเภทใบอนุญาต หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียน การออกใบอนุญาต อายุใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาต

(จ) หลักเกณฑ์การออกหนังสืออนุมัติ หรือ วุฒิบัตรแสดงความรู้ ความชำนาญเฉพาะสาขา และหนังสือแสดงวุฒิอื่นในวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

(ฉ) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์สาขาต่างๆ ซึ่งต้องมีใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพ

(ช) จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

(ซ) การประชุมคณะกรรมการ คณะกรรมการจรรยาบรรณและคณะอนุกรรมการ

(ฌ) หลักเกณฑ์การรับรองสถาบันการศึกษาวิชาการสังคมสงเคราะห์

(ญ) หลักเกณฑ์ว่าด้วยการประเมินความรู้ตามอำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

(ฎ) หลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการยื่นคำกล่าวหา การสอบสวน การพิจารณาและการอุทธรณ์ในกรณีมีการกล่าวหา หรือการกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

(ฏ) หลักเกณฑ์การพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต

(ฐ) การจัดตั้ง การดำเนินการ และการเลิกสถาบันที่ทำการฝึกอบรมเป็นผู้ชำนาญการในสาขาต่าง ๆ ของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

(ถ) เรื่องอื่นๆ ที่อยู่ภายในวัตถุประสงค์ของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ หรืออยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ตามกฎหมายอื่น

ข้อบังคับเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

(๕) ออกระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจักทำรายงานสถานะการเงินของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

(๖) ออกระเบียบเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการหรือบริการอื่นๆ ตามมาตรา ๑๔(๕)

มาตรา ๒๕ นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ อุปนายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์คนที่หนึ่ง อุปนายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์คนที่สอง เลขาธิการ รองเลขาธิการ ประชาสัมพันธ์ เหรัญญิก ที่ปรึกษา และผู้ดำรงตำแหน่งอื่น มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ มีอำนาจหน้าที่

(ก) บริหารและดำเนินกิจการของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามมติของคณะกรรมการ

(ข) เป็นผู้แทนสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ในกิจการต่างๆ

(ค) เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ

นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ อาจมอบหมายเป็นหนังสือให้อุปนายก หรือกรรมการอื่นปฏิบัติหน้าที่แทนในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามที่เห็นสมควรได้

(๒) อุปนายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์คนที่หนึ่ง เป็นผู้ช่วยนายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ในการปฏิบัติหน้าที่ของนายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ตามที่นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์มอบหมาย และเป็นผู้ทำการแทนนายกสภาวิชาชีพเมื่อนายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

(๓) อุปนายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์คนที่สอง เป็นผู้ช่วยนายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ในการปฏิบัติหน้าที่ของนายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ตามที่นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์มอบหมาย และเป็นผู้ทำการแทนนายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์เมื่อทั้งนายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ และอุปนายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์คนที่หนึ่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

(๔) เลขาธิการ มีอำนาจหน้าที่

(ก) บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ทุกระดับ

(ข) กำกับดูแลและรับผิดชอบในงานธุรการทั่วไปของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

(ค) รับผิดชอบในการดูแลรักษาทะเบียนสมาชิก ทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ และทะเบียนอื่นๆ ของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

(ง) เป็นเลขานุการคณะกรรมการ

(จ) ปฏิบัติงานอื่นตามที่นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์มอบหมาย

(๕) รองเลขาธิการ เป็นผู้ช่วยเลขาธิการในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการตามที่เลขาธิการมอบหมาย และเป็นผู้ทำการแทนเลขาธิการเมื่อเลขาธิการไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

(๖) ประชาสัมพันธ์ มีอำนาจหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์ แนะนำ เผยแพร่กิจการของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ แก่ประชาชน และองค์กรอื่น

(๗) เหรัญญิก มีอำนาจหน้าที่ ควบคุม ดูแล รับผิดชอบการบัญชี การเงิน การงบประมาณ และทรัพย์สินของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

(๘) ผู้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาตามมาตรา ๑๗ มีอำนาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการกำหนด

(๙) ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามมาตรา ๑๘ วรรคสอง มีอำนาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการกำหนด

หมวด ๔

การดำเนินการของคณะกรรมการ

มาตรา ๒๖ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม

มติของที่ประชุม ให้ถือเสียงข้างมากของกรรมการที่มาประชุม ในการลงคะแนนกรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งเสียง ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด

มติของที่ประชุมในกรณีให้สมาชิกสามัญพ้นจากสมาชิกภาพเนื่องจากขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๑(๔) ให้ถือคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น

การประชุมคณะอนุกรรมการให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษา ให้เป็นไปตามข้อบังคับ

มาตรา ๒๗ สภานายกพิเศษจะเข้าฟังการประชุมและชี้แจงแสดงความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการ หรือจะส่งความเห็นเป็นหนังสือไปยังสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ในเรื่องใดๆ ก็ได้

มาตรา ๒๘ มติของที่ประชุมคณะกรรมการในเรื่องต่อไปนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษก่อน จึงจะดำเนินตามมตินั้นได้

(๑) การออกระเบียบหรือข้อบังคับ

(๒) การกำหนดแผนการดำเนินงานและงบประมาณของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

ให้นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์เสนอมติตามวรรคหนึ่งต่อสภานายกพิเศษโดยไม่ชักช้า สภานายกพิเศษอาจมีคำสั่งยับยั้งมตินั้นได้ ในกรณีที่มิได้ยับยั้งมติตามวรรคหนึ่ง (๑) ภายในสามสิบวัน หรือมิได้ยับยั้งมติตามวรรคหนึ่ง (๒) ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับมติที่นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์เสนอ ให้ถือว่าสภานายกพิเศษให้ความเห็นชอบมตินั้น

ในกรณีสภานายกพิเศษยับยั้งมติใด ให้คณะกรรมการประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่งภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับการยับยั้ง ในการประชุมนั้นถ้ามีเสียงยืนยันมติไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น ก็ให้ดำเนินการตามมตินั้นได้

หมวด ๕

ลักษณะงานสังคมสงเคราะห์ที่ต้องควบคุมและส่งเสริม

มาตรา ๒๙ ให้ลักษณะงานสังคมสงเคราะห์ต่อไปนี้ต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ซึ่งต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในการปฏิบัติงาน

(๑) งานสังคมสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ กฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กฎหมายว่าด้วยค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา กฎหมายว่าด้วยคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยจัดตั้งศาลเยาวชและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว กฎหมายว่าด้วยฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กฎหมายว่าด้วยสุขภาพจิต ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือตามที่กฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์

(๒) งานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ หรือสถานพินิจและคุ้มครอง เรือนจำ สถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานฟื้นฟูและพัฒนาหรือสถานที่อื่นทำนองเดียวกันในหน่วยงานของรัฐในส่วนที่ปฏิบัติหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ประชาชน

(๓) งานสังคมสงเคราะห์ในหน่วยงานของรัฐนอกจาก (๑) และ (๒) ที่คณะอนุ ก.พ.กระทรวง หรือองค์กรบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายกำหนดตำแหน่งสายงานนักสังคมสงเคราะห์

(๔) งานสังคมสงเคราะห์อื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๓๐ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๙ ให้ลักษณะงานสังคมสงเคราะห์ต่อไปนี้ ให้ได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการ

(๑) งานซึ่งเป็นการช่วยเหลือประชาชนตามหน้าที่พลเมืองดีอันเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม

(๒) งานซึ่งนักเรียน นักศึกษา หรือผู้รับการฝึกอบรม ซึ่งทำการฝึกหัด หรือฝึกอบรมในความควบคุมของสถาบันการศึกษาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ของรัฐหรือที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้จัดตั้งสถาบันทางสังคมสงเคราะห์ของรัฐ หรือสถาบันการศึกษาหรือสถาบันทางสังคมสงเคราะห์อื่น

(๓) งานซึ่งหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรภาคเอกชนมอบหมายให้บุคคลปฏิบัติหน้าที่นักสังคมสงเคราะห์

(๔) งานซึ่งเป็นการประกอบอาชีพสังคมสงเคราะห์ของที่ปรึกษา หรือผู้เชี่ยวชาญของทางราชการ หรือผู้สอนในสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน

(๕) งานอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพกำหนด

มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ใช้คำหรือข้อความที่แสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการ ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์สาขาต่าง ๆ ทั้งนี้ให้หมายความรวมถึงการใช้ จ้าง วาน หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำดังกล่าวให้แก่ตน เว้นแต่ผู้นั้นเป็นผู้ได้รับหนังสืออนุมัติ หรือวุฒิบัตรว่าเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์สาขานั้น ๆ จากสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ หรือที่สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์รับรอง หรือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ซึ่งมีคุณสมบัติที่กำหนดในข้อบังคับ

มาตรา ๓๒ การขึ้นทะเบียน การออกใบอนุญาต อายุใบอนุญาต การต่อใบอนุญาต การออกหนังสืออนุมัติ หรือวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์สาขาต่างๆ และหนังสือแสดงวุฒิอื่นในวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ให้เป็นไปตามข้อบังคับ

มาตรา ๓๓ ผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตต้องเป็นสมาชิกสามัญแห่งสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ รวมทั้งมีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๑ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ

เมื่อสมาชิกภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ผู้ใดสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๕ ให้ใบอนุญาตของผู้นั้นสิ้นสุดลง

มาตรา ๓๔ ผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ต้องประกอบวิชาชีพให้เป็นไปตามข้อบังคับ และต้องรักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ด้วย

มาตรา ๓๕ ผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับ

บุคคลตามวรรคหนึ่ง ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัตินี้ให้ถือว่าผู้นั้นประพฤติผิดจรรยาบรรณ

มาตรา ๓๖ ข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ให้จัดทำขึ้นเป็นภาษาไทยและอย่างน้อยต้องประกอบด้วย

(๑) จรรยาบรรณต่อตนเอง

(๒) จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ

(๓) จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ

(๔) จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมวิชาชีพ

(๕) จรรยาบรรณต่อสังคม

การกำหนดแบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณของวิชาชีพตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับ

มาตรา ๓๗ โทษการประพฤติผิดจรรยาบรรณ มีดังต่อไปนี้

(๑) ตักเตือนเป็นหนังสือ

(๒) ภาคทัณฑ์

(๓) พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกินห้าปี

(๔) เพิกถอนใบอนุญาต

มาตรา ๓๘ ให้มีคณะกรรมการจรรยาบรรณ ประกอบด้วยกรรมการจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคน ซึ่งคณะกรรมการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์แต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ จากผู้ซึ่งมีความเที่ยงธรรมและมีความซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(๑) เป็นสมาชิกสามัญ

(๒) ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์มาแล้วไม่น้อยกว่าระยะเวลาตามที่กำหนดในข้อบังคับ

(๓) ไม่เคยถูกลงโทษฐานประพฤติผิดจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

(๔) ไม่ดำรงตำแหน่งนายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์หรือเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการอื่นตามพระราชบัญญัตินี้

ให้คณะกรรมการจรรยาบรรณเลือกกรรมการจรรยาบรรณด้วยกันคนหนึ่ง เป็นประธานกรรมการและจะให้มีผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามที่คณะกรรมการจรรยาบรรณกำหนดก็ได้

มาตรา ๓๙ ให้กรรมการจรรยาบรรณมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้

ให้กรรมการจรรยาบรรณซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่ากรรมการจรรยาบรรณใหม่จะได้รับแต่งตั้ง

มาตรา ๔๐ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้กรรมการจรรยาบรรณพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๘

(๔) คณะกรรมการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์มีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการที่มาประชุมและต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

ในกรณีที่ตำแหน่งว่างลงกอนครบวาระ ให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์โดยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษวิชาชีพสังคมสงเคราะห์แต่งตั้งกรรมการจรรยาบรรณแทนตำแหน่งที่ว่างไปก่อน และให้กรรมการจรรยาบรรณซึ่งได้รับแต่งตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งได้เท่าวาระของกรรมการที่ตนแทน

มาตรา ๔๑ เมื่อมีผู้กล่าวหาหรือปรากฏต่อคณะกรรมการจรรยาบรรณว่าผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ผู้ใดประพฤติผิดจรรยาบรรณ ให้คณะกรรมการจรรยาบรรณดำเนินการสอบสวนพิจารณาโดยเร็ว

สิทธิการกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง สิ้นสุดลงเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ได้รับความเสียหายหรือผู้กล่าวหารู้เรื่องการประพฤติผิดจรรยาบรรณและรู้ตัวผู้ประพฤติผิดจรรยาบรรณ ทั้งนี้ไม่เกินสามปีนับแต่วันที่มีการประพฤติผิดจรรยาบรรณนั้น

การยื่นคำกล่าวหา การสอบสวน และการพิจารณาเรื่องจรรยาบรรณให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับ

ในการดำเนินการสอบสวนของคณะกรรมการจรรยาบรรณ คณะกรรมการจรรยาบรรณจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการแทนก็ได้ โดยประกอบด้วยกรรมการจรรยาบรรณอย่างน้อยหนึ่งคนและอนุกรรมการอื่นซึ่งคณะกรรมการจรรยาบรรณแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา ๓๘ (๑) (๓) และ (๔) ตามจำนวนที่เห็นสมควร

ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการจรรยาบรรณ และคณะอนุกรรมการ ให้กรรมการจรรยาบรรณและอนุกรรมการ มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารหรือวัตถุใดๆ เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณา แต่ถ้าเป็นการมีคำสั่งต่อบุคคลซึ่งมิใช่ผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษหรือผู้ซึ่งสภานายกพิเศษมอบหมาย

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการจรรยาบรรณหรืออนุกรรมการเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

เมื่อคณะอนุกรรมการทำการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้เสนอเรื่องพร้อมทั้งความเห็นต่อคณะกรรมการจรรยาบรรณเพื่อพิจารณา

การถอนเรื่องการกล่าวหาที่ได้ยื่นหรือแจ้งไว้แล้วนั้น ไม่เป็นเหตุให้ระงับการดำเนินการตามพระบัญญัตินี้

มาตรา ๔๒ เมื่อคณะกรรมการจรรยาบรรณพิจารณาจากผลการสอบสวนแล้วมีมติว่าผู้ใดประพฤติผิดจรรยาบรรณ ให้มีคำสั่งลงโทษผู้นั้นตามมาตรา ๓๗

ในกรณีที่คณะกรรมการจรรยาบรรณมีมติว่าผู้ถูกกล่าวหามิได้ประพฤติผิดจรรยาบรรณให้สั่งยกคำกล่าวหา

การออกคำสั่งลงโทษตามวรรคหนึ่งหรือการออกคำสั่งยกคำกล่าวหาตามวรรคสอง ให้ประธานกรรมการจรรยาบรรณแจ้งคำสั่งให้ผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาทราบเป็นหนังสือส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ

มาตรา ๔๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งคณะกรรมการจรรยาบรรณมีคำสั่งลงโทษตามมาตรา ๓๗ อาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยชี้ขาดต่อคณะกรรมการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่ง

การอุทธรณ์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับ

คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการให้ทำเป็นคำสั่งสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์พร้อมด้วยเหตุผลของการวินิจฉัยชี้ขาดและให้ถือเป็นที่สุด

การอุทธรณ์คำสั่งไม่เป็นการทุเลาการปฏิบัติตามคำสั่งลงโทษ เว้นแต่คณะกรรมการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์จะสั่งเป็นอย่างอื่น

มาตรา ๔๔ ให้นำความในมาตรา ๒๕ มาใช้บังคับกับการประชุมของคณะกรรมการจรรยาบรรณและคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณโดยอนุโลม

มาตรา ๔๕ ห้ามมิให้ผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ซึ่งอยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ แสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

มาตรา ๔๖ ผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตอาจขอรับใบอนุญาตอีกได้เมื่อพ้นสามปีนับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต แต่เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาคำขอรับใบอนุญาตและปฏิเสธการออกใบอนุญาต ผู้นั้นจะยื่นคำขอรับใบอนุญาตในครั้งต่อๆ ไปได้อีกต่อเมื่อสิ้นระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการปฏิเสธการออกใบอนุญาต

หมวด ๕

บทกำหนดโทษ

มาตรา ๔๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๑ หรือมาตรา ๔๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

มาตรา ๔๘ ผู้ใดไม่มาให้ถ้อยคำหรือไม่ส่งเอกสารหรือวัตถุใดๆ ตามที่เรียก หรือแจ้งให้ส่งตามมาตรา ๔๑ โดยไม่มีเหตุอันควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทเฉพาะกาล

มาตรา ๔๙ ในวาระเริ่มแรกที่ยังมิได้เลือกตั้งสมาชิกสามัญของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ เป็นกรรมการตามมาตรา ๑๖ (๓) ให้คณะกรรมการประกอบด้วยปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นนายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์และกรรมการตามมาตรา ๑๖ (๑) และผู้แทนสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีการศึกษาหลักสูตรสังคมสงเคราะห์ระดับปริญญาเป็นกรรมการปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน การได้มาซึ่งกรรมการดังกล่าวจะต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ ทั้งนี้ มิให้นำมาตรา ๒๐ มาใช้บังคับ

ให้ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แต่งตั้งข้าราชการในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำหน้าที่เลขาธิการ รองเลขาธิการ และเหรัญญิก ตำแหน่งละหนึ่งคน ทั้งนี้ จนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวตามมาตรา ๑๘ วรรคสอง

การเลือกกรรมการตามมาตรา ๑๖(๒) และ (๓) ให้กระทำให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ

มาตรา ๕๐ ในระหว่างที่ยังมิได้จัดตั้งสำนักงานเลขาธิการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ให้สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทำหน้าที่ธุรการและสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

มาตรา ๕๑ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งนักสังคมสงเคราะห์ของหน่วยงานของรัฐและเอกชนตามมาตรา ๒๙ อยู่ก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปแต่ต้องมาขึ้นทะเบียนเพื่อรับใบอนุญาตภายในสี่ปี ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ประกาศกำหนด

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

..........................................

นายกรัฐมนตรี

อัตราค่าธรรมเนียม

๑. ค่าใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ฉบับละ ๕,๐๐๐ บาท

๒. ค่าหนังสือรับรองหรือวุฒิบัตรแสดงความรู้ ความชำนาญ

ในการประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์สาขาต่างๆ ฉบับละ ๑,๐๐๐ บาท

๓. ค่าหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน

เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ฉบับละ ๒๐๐ บาท

๔. ค่าใบแทนใบอนุญาตหรือหลักฐานการได้รับใบอนุญาต ฉบับละ ๒๐๐ บาท

๕. ค่าต่ออายุใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ฉบับละ ๕๐๐ บาท

ขอเรียนถามค่ะ

         กรณีที่ปฏิบัติงาน  ตำแหน่ง  นักสังคมสงเคราะห์   สังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  ไม่ทราบว่า พรบ. ฯ  นี้ใช้ครบคลุมด้วยหรือไม่คะ  ไม่ค่อยเข้าใจเพราะข้าราชการสังกัดกระทรวงอื่นๆ  กับข้าราชการสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีแนวทางปฏิบัติไม่ค่อยเหมือนกัน

หากเป็นผู้ปฏิบัติงานช่วยเหลือโดยตรงกับเคสโดยปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหลายฉบับที่ระบุไว้เช่นกฏหมายคุ้มครองเด็ก กฏหมายผู้ถูกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวในมาตรา 29 วรรค 1, 2 ,3 และอื่นๆที่จะกำหนดต่อมา

คงต้องดูลักษณะงานที่ทำด้วยค่ะว่าเป็นอย่างไร หรือใช้กฏหมายฉบับใดซึ่งสภาวิชาชีพจะต้องกำหนดรายละเอียดต่อไปค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท