ชุมชนเรียนรู้ การเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติด้วยตนเอง บ้านเกาะหาดทรายดำ


ภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงสภาวอากาศ ชุมชนจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติ

ชุมชนเรียนรู้  การเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติด้วยตนเอง  

บ้านเกาะหาดทรายดำ

 

นับเป็นเวลา 5 ปี หลังคลื่นสึนามิได้สร้างผลกระทบให้กับเกาะหาดทรายดำ วันนี้บ้านเกาะหาดทรายดำหน้าในได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ อยู่กับภัยพิบัติต่างๆที่มีแนวโน้มจะมีความรุนแรงขึ้นในอนาคต รวมทั้งการปรับตัวบนสภาวะวิกฤตของการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศที่เกิดขึ้น แม้ความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาการปล่อยมลพิษ และความร่วมมือทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ก็ตาม

 

บ้านเกาะหาดทรายดำหน้าใน ชุมชนชาวเกาะขนาดไม่ใหญ่นักที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 200 ปี  วิถีชีวิตชุมชนที่มีความหลากหลาย ทั้งคนไทยนับถือศาสนาพุทธ คนไทยที่นับถือศาสนามุสลิมมุสลิม คนไทยเชื้อสายจีน และชาวพม่า ประชากร กว่า 80% ประกอบอาชีพประมง ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิในปี 2547  ชุมชนหาดทรายดำดำรงชีวิตอยู่บนความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ทั้งจากลมมรสุม พายุ น้ำทะเลหนุนสูง รวมทั้งการการกัดเซาะชายฝั่งจากอิทธิพลของพายุและคลื่นลมในทะเลที่ถาโถมเข้ามา   จากการช่วยเหลือขององค์กรต่างๆ งบประมาณกว่า 100 ล้านบาทที่เกาะหาดทรายดำทั้งหน้าในและหน้านอกได้รับความช่วยเหลือหลังสึนามิ ถ้านับเป็นจำนวนเงินน่าจะมากพอสำหรับการฟื้นตัวและยังสามารถที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้น  แต่ความกังวลใจของคนเกาะหาดทรายดำหน้าในคือ ความเคยชินในการที่จะร้องของความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก จึงเป็นเหตุให้เกิดการปรับตัวในการที่จะเรียนรู้การช่วยเหลือตนเองก่อนที่จะร้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ

 

เริ่มต้นจากความร่วมมือในชุมชน จากการหารือกันในกลุ่มเล็กๆโดยมีคุณไพบูลย์ สวาทนันท์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการจัดประชุมชาวบ้านและตั้งคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยบ้านเกาะหาดทรายดำ  พัฒนาแผนงาน  “ เตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติในชุมชน ”  โดยมีมูลนิธิรักษ์ไทยรับบทบาทในการเป็นพี่เลี้ยง ได้วางกระบวนการทำงานหลักที่สำคัญไว้สี่ระยะประกอบด้วย ระยะแรก  “การพัฒนาคู่มือชุมชนเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติ” เป็นการวิเคราะห์และสร้างระบบข้อมูลเชิงแผนที่ ความตระหนัก ความร่วมมือ และ สร้างความเป็นเจ้าของอย่างมีส่วนร่วม พร้อมทั้งการบันทึกประสบการณ์ของชุมชนในการจัดการภัยพิบัติที่ผ่านมา ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างศักยภาพอาสาสมัครและคณะทำงานในชุมชนที่เข้าร่วมดำเนินงาน ระยะที่สอง  “การพัฒนาแผนเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติชุมชน” เป็นการกำหนดแนวทางการสร้างความพร้อมชุมชน เป็นแผนงานเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติแต่ละด้าน และ เสริมสร้างในการจัดทำกิจกรรมของชุมชน โดยการประสานความร่วมมือทั้งภายในและภายนอกชุมชน  สนับสนุนให้เกิดกิจกรรม ระยะที่สาม “ริเริ่มกิจกรรมการจัดการความเสี่ยงชุมชน ตามคู่มือที่ชุมชนเป็นผู้สร้าง” เป็นการสนับสนุนให้เกิดการประสานงาน  การสร้างความร่วมมือ และ การเชื่อมโยงงานโดยใช้กระบวนการพิจารณาแผนงานเตรียมความพร้อมของชุมชน ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาแผนงานเตรียมความพร้อม เป็นตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยว ทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมติดตามการสนับสนุนและความร่วมมือให้เกิดการดำเนินงานตามแผนงานดังกล่าว ระยะที่สี่ การขยายผล  “การจัดการความรู้ และเชื่อมโยงสู่นโยบาย” เป็นการสนับสนุนให้ชุมชนร่วมดำเนินการได้มีการสรุปบทเรียนการทำงาน    และ เชื่อมโยงงานเข้าสู่นโยบายของหน่วยงานภาครัฐ เอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการประสานงาน หนุนเสริมเกิดความยั่งยืนในการดำเนินกิจกรรมต่อไป

 

การพัฒนาแผนงานเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติในชุมชน บ้านเกาะหาดทรายดำ คณะกรรมการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยบ้านเกาะหาดทรายดำ ได้ใช้กระบวนการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมแบบมีส่วนร่วม การจัดประชุมจัดทำแผนซึ่งผู้เข้าร่วมประกอบไปด้วย ตัวแทนกลุ่มต่างๆในชุมชน คณะกรรมการหมู่บ้าน  ครูโรงเรียนบ้านหาดทรายดำ  เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนสถานีอนามัยบ้านหาดทรายดำ ตัวแทนศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ  และมูลนิธิรักษ์ไทย โดยการใช้แผนที่ทำมือในการวิเคราะห์ 4 ประเด็นหลักอันประกอบไปด้วย แผนที่พื้นฐานของชุมชน แผนที่เศรษฐกิจ สังคม กลุ่มคนเปราะบาง แผนที่ระบุภัยพิบัติที่เคยเกิดขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาและจุดเสี่ยงภัย  แผนที่ระบุแผนพัฒนาหมู่บ้านและหน่วยงานความร่วมมือ  

 

เริ่มต้นจากการซ้อมแผนอพยพ หลังแผนเตรียมความพร้อมฯได้รับความเห็นชอบจากชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การสร้างความตระหนักกับทุกคนในชุมชนได้เริ่มต้นจากการร่วมฝึกซ้อมแผนอพยพที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้จัดขึ้นในพื้นที่ 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ และมีการจัดตั้งคณะกรรมการ 7 ฝ่ายขึ้นมารับผิดชอบ ประกอบด้วย 1)  ฝ่ายอำนวยการ    2) ฝ่ายประชาสัมพันธ์  3) ฝ่ายป้องกันและเตรียมความพร้อม(ระวังเหตุ) 4) ฝ่ายกู้ภัยและช่วยชีวิต  5) ฝ่ายอพยพและหนีภัย 6) ฝ่ายรักษาความปลอดภัย 7) ฝ่ายสาธารณสุข   จากการประเมินผลการฝึกซ้อมในครั้งแรก พบปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นที่ทำให้ไม่สามารถที่จะดำเนินการอพยพได้ตามแผน จึงนำไปสู่การพัฒนาแผนงานหลัก 4 แผนงานได้แก่

 

แผนด้านการพัฒนาศักยภาพ คณะกรรมการและอาสาสมัคร  การจัดฝึกอบรมการช่วยเหลือและการปฐมพยาบาล การศึกษาดูงาน   การร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานในเวทีต่างๆ

 

แผนงานด้านการสร้างความตระหนัก ได้แก่การกำหนดเส้นทางอพยพ จุดปลอดภัย การปรับปรุงถนน การจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ของชุมชน แผนที่ชุมชนที่แสดงจุดเสี่ยงภัยและเส้นทางที่จะเดินทางไปสู่ที่ปลอดภัย ป้ายบอกเส้นทางอพยพ เน้นภาษาที่ใช้เข้าใจได้ง่ายไม่ใช้ภาษาวิชาการมากเกินไป กระชับสั้นๆได้ใจความ ไม่ใช่คำย่อ แม้กระทั่งคนต่างถิ่นก็สามารถเข้าใจได้ ภาพที่สื่อออกมา จะไม่ทำให้เกิดความน่ากลัวน่ากลัวหรือตื่นตระหนกได้  ภาพต้องสื่อความหมายชัดเจนไม่สับสน โดยทั้งหมดชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบ

 

แผนด้านการพัฒนาสื่อการเรียนรู้   การจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นเพื่ออนาคตที่ดีของชุมชน “ รู้ทันภัย ”  ได้ถูกจัดทำโดยผู้อำนวยการโรงเรียนและได้สอนด้วยตนเอง ในทุกช่วงชั้น จากการดำเนินกิจกรรมเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติของชุมชน โรงเรียนบ้านหาดทรายดำ ได้จัดทำหลักสูตรท้องถิ่น  “ รู้ทันภัย ” ให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนได้เรียนรู้  ในสาระการเรียนรู้  ภัยพิบัติจากธรรมชาติ  กำหนดให้นักเรียนในโรงเรียน ทุกช่วงชั้น ตั้งแต่ช่วงชั้นอนุบาล ถึงช่วงชั้นที่ 3  ได้เรียนรู้ในสารการเรียนรู้ ดังกล่าว จำนวน   40 ชั่วโมง ต่อ 1 ปีการศึกษา และได้กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ในสาระการเรียนรู้นี้ไว้ 3 มาตรฐาน อันประกอบไปด้วย

  • มาตรฐานที่ 1  ผู้เรียนรู้และเข้าใจความหมายและลักษณะของภัยธรรมชาติ เนื้อหาประกอบด้วย  ความหมายของภัยธรรมชาติ ภัยประเภทต่างๆ  สาเหตุการเกิดภัยแต่ละประเภท  อันตรายและผลกระทบจากภัยธรรมชาติต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอื่นๆในชุมชน
  • มาตรฐานที่ 2 ผู้เรียนรู้หลักในการปฏิบัติที่ถูกต้องในการช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ เนื้อหาประกอบด้วย  การปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ประสบภัยต่างๆจากธรรมชาติ  การปฏิบัติตนเมื่อเกิดภัยธรรมชาติประเภทต่างๆ  ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เป็นสัญญาณเตือนภัยธรรมชาติ(ภูมิปัญญาท้องถิ่น)  สัญญาณและสัญญาลักษณ์เตือนภัยในชุมชน
  • มาตรฐานที่ 3  ผู้เรียนปฏิบัติตนและวิธีการดูแลรักษาธรรมชาติ ระบบนิเวศวิทยาในชุมชน เนื้อหาประกอบด้วย การดูแลรักษาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติระบบนิเวศวิทยาในชุมชน การดูแลระบบนิเวศวิทยาในชุมชน  ทั้งนี้ได้บูรณาการการเรียนการสอนโดยมีปราชญ์ชาวบ้านมามีส่วนร่วมในการสอนร่วมด้วย ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักในการจัดกระบวนการและเชื่อมโยงไปสู่แผนการเตรียมความพร้อมที่ชุมชนพัฒนาขึ้น

 

แผนด้านการจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับงานเตรียมความพร้อมฯ และการช่วยชีวิต รวมทั้งการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอาคารเรียนต้นแบบรับมือภัยในอนาคต รวมทั้งอาคารเรียนหลังใหม่ที่ได้ถูกออกแบบโดยคำนึงถึงด้วยการออกแบบที่คำนึงถึงความปลอดภัยจากธรณีพิบัติภัยสึนามิ และภัยพิบัติธรรมชาติอื่นๆในอนาคต รวมทั้งช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงการเรียนรู้ของชุมชนอย่างต่อเนื่อง เป็นอีกหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องกับแผนเตรียมความพร้อมของชุมชน

 

สิ่งที่เราพูด สิ่งที่เราทำ ถ้าภาครัฐไม่ได้เห็น ไม่ได้ยินได้ฟัง ก็ไม่สามารถที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง เป็นข้อสรุปสุดท้ายที่คุณไพบูลย์ แกนนำของคณะทำงานเตรียมความพร้อมของชุมชนได้กล่าวขึ้น   การขยายผล  เชื่อมโยงสู่นโยบายท้องถิ่น จึงได้เป็นความพยายามของชุมชนหาดทรายดำที่จะนำเสนอแผนงานเตรียมความพร้อมชุมชน ประสานไปยังหน่วยงานองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรจุแผนงานดังกล่าวเข้าเป็นแผนพัฒนาหมู่บ้านของหน่วยงานนั้นๆ โดยเฉพาะองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น มีการสนับสนุนการตัดถนนให้ใหม่เพื่อลดระยะทางจากชุมชนไปยังจุดปลอดภัย  และล่าสุดกำลังเสนอให้บรรจุเข้าเป็นแผนพัฒนา ๓ ปีขององค์การบริหารส่วนตำบลหงาว

 

พอมีข่าวว่าแผ่นดินไหวที่ไหน จะตื่นตัวกันหมดแล้วภายใน 20 นาทีทุกคนบนเกาะจะทราบข่าว  และไปรวมกันที่จุดปลอดภัยกันหมด หรือบางคนก็เตรียมความพร้อมของตนเองไม่มีใครอยู่นิ่งได้หรอก   ชุมชนหาดทรายดำวันนี้ได้สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยขึ้นในชุมชน มีวิถีชีวิตที่คำนึงถึงความปลอดภัย รู้ เข้าใจ ตระหนัก  สามารถปฏิบัติตัวได้ยามเมื่อเกิดภัยขึ้นในชุมชนแล้ว ในระยะยาวความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐที่ชุมชนคาดหวังว่าจะมาช่วยเติมเต็มในส่วนที่ชุมชนไม่สามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง  จะเป็นส่วนช่วยให้คนบ้านหาดทรายดำมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความมั่นใจ และมีชีวิที่มั่นคงบนพื้นฐานของชุมชนที่ปลอดภัย

 

 

 

ประสาร สถานสถิตย์

มูลนิธิรักษ์ไทย

20 ธันวาคม 2552

 

หมายเลขบันทึก: 321964เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2009 18:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 13:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท