ชื่นชมคณาจารย์สาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิจิตรศิลป์ มช. ลุกขึ้นมาโต้แย้ง (๔) มุมมองต่อ TQF (๑)



ตอนที่ ๑
ตอนที่ ๒
ตอนที่ ๓

 

          ต่อไปนี้เป็นเอกสารวิเคราะห์/วิพากษ์ TQF ที่ใช้ในการประชุม   ผมเอามาลงเพื่อให้เห็นว่าคนในวงวิชาการมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และวิจิตรศิลป์ มีมุมมองอย่างไร   โดยไม่ได้สนับสนุนหรือโต้แย้งความเห็นนี้  

          ผู้นำเสนอบทวิเคราะห์นี้ในที่ประชุมคือ อ. ดร. อรัญญา ศิริผล

 

ข้อจำกัดของกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (TQF)
: บทสะท้อนจากสาขาวิชามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และวิจิตรศิลป์

 

          กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (TQF) ถือกำเนิดขึ้นบนวัตถุประสงค์หลัก1 เพื่อสร้างมาตรฐานการอุดมศึกษาและสร้างหลักประกันคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย โดยเน้นให้มีมาตรฐานผลการเรียนรู้ (Learning Outcomes) เป็นมาตรฐานขั้นต่ำเชิงคุณภาพในการประกันคุณภาพบัณฑิต นอกจากนี้ TQF ยังคาดหวังว่าเมื่อเกิดคุณภาพการศึกษาแล้ว คุณวุฒิหรือปริญญาของสถาบันใดๆ ในประเทศไทยจะเป็นที่ยอมรับและสามารถเทียบเคียงได้ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดการพัฒนาลักษณะ “ความเป็นสากลของสถาบันการอุดมศึกษา” (internationalization of higher education) เพื่อให้ขยายตัวตามทันตลาดการศึกษา (global higher education market) ในโลกตลาดเสรียุคโลกาภิวัฒน์ที่กำลังค้นหาความร่วมมือกันอย่างกว้างขวางทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชีย

          โดยหลักการแล้ว TQF ถือเป็นแนวทางที่มีความสำคัญและน่าท้าทายอย่างยิ่งในการใช้วางกรอบการพัฒนาการศึกษา ยกระดับการเรียนการสอนและการวิจัยให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าระบบการเรียนการสอนและการทำงานวิชาการในสถาบันอุดมศึกษาบางส่วนในสังคมไทยยังประสบปัญหาเรื่องด้อยคุณภาพ หรือการผลิตบัณฑิตเชิงปริมาณเพื่อผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ของบางสถาบันการศึกษา แต่อีกด้านหนึ่ง การกำหนดกรอบ TQF กลับทำให้เกิด “ข้อจำกัด” ในหลายด้าน ที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง

          บทความนี้ ต้องการนำเสนอตัวอย่างปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในต่างประเทศที่เริ่มกลายเป็นดาบสองคมต่อการอุดมศึกษาของเขาเหล่านั้น จากนั้น จะนำเสนอ “ข้อจำกัด” ที่กำลังเกิดขึ้นจากกรอบ TQF ของประเทศไทย โดยเฉพาะประเด็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับสาขาวิชาที่มีลักษณะการเรียนการสอนเฉพาะและมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาศักยภาพบัณฑิตเพื่อประโยชน์สุขของสังคม ประเทศชาติมากกว่าการออกไปรับใช้ตลาดแรงงานที่แสวงหาผลกำไรเฉพาะด้าน นอกจากนี้ บทความได้เสนอ “ทางเลือก” ที่ผ่านการวิเคราะห์มาจากกลุ่มคณาจารย์ทางสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิจิตรศิลป์ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นทางออกของปัญหาจาก TQF 

 

ทางสองแพร่งของกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา: บทเรียนจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น 

          ในสหรัฐอเมริกา Yvonna S. Lincoln2   ให้ข้อมูลว่า ในวงวิชาการของสหรัฐอเมริกากำลังตกอยู่ในภาวะตีบตัน (dilemma) เช่นกัน เพราะว่า ขณะที่งานวิชาการมีเป้าหมายและความปรารถนาในการทำงานเพื่อชุมชนและสาธารณะ ทำให้งานวิจัยวิชาการสร้างการมีส่วนร่วมให้แก่ชุมชนและสังคม แต่วงวิชาการของสหรัฐอเมริกาเองก็กำลังเผชิญหน้ากับความลักลั่นขัดแย้ง (contradiction) ในความพยายามที่จะนำศาสตร์ที่ศึกษาไปทำให้เป็น “สินค้า” (commodification of knowledge) ไม่ว่า ในรูปแบบของการให้รางวัลแก่สถาบันการศึกษาระดับสูง ระบบการจัดลำดับสถาบันการศึกษา (ranking) เพื่อนำไปสู่การได้มาซึ่งเงินทุนวิจัย การพัฒนาหลักสูตรและอื่นๆ ของผู้บริหารสถาบันการศึกษา หรือแม้กระทั่งความต้องการตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ที่ถูกผูกไว้กับระบบการประเมินคุณภาพอุดมศึกษาและความเป็นเลิศทางวิชาการ ในสายสังคมศาสตร์ นักวิชาการกำลังเผชิญหน้ากับแรงกดดันต่อการทำให้งานวิชาการของพวกเขากลายเป็นสินค้าจากทั้งภายในวงการวิชาการและภายนอกวงการ ผู้ให้ทุนและอื่นๆ ซึ่งได้สร้างความลักลั่นขัดแย้งต่อชีวิตทางวิชาการตะวันตก โดยเฉพาะการค้นหาความสมดุลระหว่างการสร้างความเข้มแข็งในการผลิตความรู้ การตระหนักถึงการให้บริการทางสังคม ที่เกิดข้อถกเถียงในมิติเชิงศีลธรรมของการวิจัยทางสังคม การมีพันธกิจกับสังคมของชีวิตวิชาการ กับความจำเป็นที่จะปรับเปลี่ยนระบบอุดมศึกษาไปตอบรับกระแสตลาดเสรีมากขึ้น

          กรณีตัวอย่างจาก ญี่ปุ่น   3 Eiji Watanabe (2008) ให้ข้อมูลว่า ในญี่ปุ่นนั้นระบบการประกันคุณภาพและการสร้างกรอบมาตรฐานการศึกษาเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2004 โดยกำหนดการประเมินคุณภาพหลักสูตรการศึกษาของมหาวิทยาลัย 3 ระดับ คือ ระดับมหาวิทยาลัยทำการประเมินตัวเอง (self examination, self evaluation) ระดับสถาบันจากภายนอกที่เป็นสำนักประกันคุณภาพการศึกษา (certified evaluation organization) และระดับชาติ (the National University Corporation Evaluation Committee -NUCEC)  อย่างไรก็ตาม เขาพบว่า การเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นมีข้อดีบางประการ เช่น ทำให้เกิดการวางมาตรฐานกันใหม่และพัฒนาคุณภาพของอาจารย์และหลักสูตรมากขึ้น แต่ ขณะเดียวกัน ปัญหาที่พบมาก คือ “ต้นทุนเวลาและพลังงาน” ของบุคคลากรที่กำลังสูญเสียไปกับกิจกรรมของการประเมินคุณภาพดังกล่าว  เพราะมหาวิทยาลัยตลอดจนคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ต่างๆ ต้องใช้เวลายาวนานมากและพลังอย่างมากมายในการดำเนินการตามขั้นตอนการประเมินคุณภาพตามที่กำหนดเอาไว้ถึง 3 ขั้นตอน ขณะที่ยังต้องทำการประเมินหลักสูตรในช่วงกลางเทอม 3 ปี (mid-term goals and plans)และช่วงท้ายหลักสูตรเพื่อนำไปสู่การปรับปรุง นอกจากนี้ยังต้องทำการประเมินคุณภาพในรายกลางปี และประจำปีอีกด้วย ซึ่งพบว่า การออกแบบ “โครงสร้างการประเมิน” ดังกล่าวมีลักษณะมากล้นเกินความจำเป็น (redundant) และหลายส่วนเกิดความซ้ำซ้อน (repetitive) ทำให้ทั้งคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ทั้งหลายต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการประเมินต่างๆ เหล่านี้และใช้เวลามากเกินไปกับกิจกรรมดังกล่าว    

          Eiji Watanabe วิจารณ์ว่า การออกแบบโครงสร้างการประเมินคุณภาพที่เกินความจำเป็นทำให้ลดทอนพันธกิจ (accountability) ว่าด้วยจิตสำนึกความรับผิดชอบในหน้าที่ของความเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้วย จะทำให้เกิดปัญหาต่อวงวิชาการ ทำให้นักวิชาการเหน็ดเหนื่อย ไม่มีเวลาในการทำงานอื่นๆ ซึ่งส่งผลตามมาต่อกิจกรรมการเรียนการสอนและการทำวิจัย เพราะแทนที่อาจารย์ เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องจะทุ่มเทเวลาให้กับการเรียนการสอนและงานวิจัย กลับต้องมาพะวงกับเอกสารมากมาย นอกจากนี้ กิจกรรมการเรียนการสอน งานวิจัยและการศึกษาของมหาวิทยาลัยจะเกิดความล่าช้าออกไปอย่างมากในช่วงระหว่างการเตรียมการประเมินเป้าหมายในช่วงเวลาต่างๆ ที่มีอยู่หลายขั้นตอน(Kaneko 2007)  

          ปัญหาที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นได้พยายามแก้ไข ด้วยการลดภาระการทำประเมินของมหาวิทยาลัยลงไป แต่ก็เป็นการแก้ไขในทางเทคนิค เช่น การทำให้เอกสารแบบฟอร์มเป็นแบบเดียวกันเพื่อให้การกรอกเอกสารสะดวกขึ้น หรือมีการใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลเดียวกันที่เก็บมาจากสำนักงานประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อการประเมินของกระทรวง  หรือทำรายการข้อมูลความต้องการที่แต่ละมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเตรียมเพื่อการประเมิน ขณะที่ในอนาคตจะมีการพัฒนาเครื่องมือขึ้นมาเพื่อช่วยทำให้ระบบการประเมินมีมาตรฐานมากขึ้น

          Fumihiro Maruyama (2008)5   สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจากการประกันคุณภาพและวิธีการประเมินในระดับอุดมศึกษาในประเทศญี่ปุ่นไปในทางเดียวกันกับ Eiji Watanabe ว่า นับตั้งแต่มีการปฏิรูประบบการศึกษาหลังปี ค.ศ. 2004 เป็นต้นมา กิจกรรมที่เกี่ยวกับการประเมินกินทั้งเวลาและพลังงานของเจ้าหน้าที่ทุกระดับ แม้กระทั่ง คณบดี ประธานหลักสูตร และทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทุกมหาวิทยาลัยต้องเตรียมแผนและเป้าหมายเพื่อรอรับการประเมินในช่วงกลางเทอม และต้องดำเนินการประเมินตัวเองทุกปี จากนั้นทุกๆ 6 ปี จะต้องเข้าสู่ระบบการประเมินอีกครั้ง คำกล่าวนี้ ได้รับการยืนยันจากข้อมูลสำรวจของมหาวิทยาลัยแห่งชาติด้านการจัดการและการเงินเมื่อปี ค.ศ. 2006 ว่า ประธานของมหาวิทยาลัยและผู้อำนวยการบริหารของมหาวิทยาลัยต่างๆ ต่างแสดงทัศนะตรงกันว่ากิจกรรมการประเมินคุณภาพหลักสูตรภายหลังการปฏิรูประบบการศึกษาได้ใช้เวลาและพลังงานของสมาชิกคณะและเจ้าหน้าที่ที่ควรจะนำไปใช้สำหรับการทำกิจกรรมการวิจัยและการเรียนการสอน นอกจากนี้ เงื่อนไขที่ว่า หากมหาวิทยาลัยแห่งใดไม่ผ่านแผนงานและเป้าหมายที่ถูกประเมินในช่วงกลางเทอมก็จะถูกพิจารณาตัดงบประมาณ เงื่อนไขเช่นนี้ ทำให้มหาวิทยาลัยบางแห่งมองหายุทธศาสตร์ป้องกันตัวเอง ด้วยการสร้างเป้าหมายที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม เพราะรู้ว่า วัดได้ยาก ดังนั้น ระบบการประเมินคุณภาพที่มีกิจกรรมการประเมินเรียกร้องความต้องการมากเกินไปและผลของการประเมินก็ถูกให้คุณให้โทษในเรื่องงบประมาณ จะกลายเป็น “ดาบสองคม” ที่ด้านหนึ่งดูเหมือนจะอำนวยความสะดวก สร้างหลักประกันคุณภาพ แต่อีกด้าน กำลังลดทอนคุณภาพและเป้าหมายของการศึกษา และสุดท้ายอาจนำไปสู่ความล้มเหลวของระบบการศึกษาได้  



1 โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.tqf.eng.mut.ac.th/index.php/2009-06-26-07-29-00

 

2  Yvonna S. Lincoln Commodification and Contradiction in Academic Research Studies in Cults., Orgs. and Socs., 1998, Vol. 4, pp. 263-278


3 Watanabe, Eiji 2008 Impact of University Evaluation on Education and Research,  in Japanese national university reform in 2004 Tokyo : Center for National University Finance and Management; pp 114-128. more detail at http://www.zam.go.jp/n00/pdf/nk001006.pdf


4 Kaneko, M 2007 Evaluation of National University Corporations: What are the problems? IDE:Contemporary Higher Education. 


5 Maruyama, Fumihiro 2008 The Development and Quality Assurance of Graduate Education , in Japanese national university reform in 2004 Tokyo : Center for National University Finance and Management; pp. 129-144


 

มีต่อ

 

วิจารณ์ พานิช
๑๖ ธ.ค. ๕๒

 

 

 

อาจารย์ ดร. อรัญญา ศิริผล

หมายเลขบันทึก: 321840เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2009 09:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เจริญพร อาจารย์

งานเหล่านี้มีประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่กำลัง "หน้าดำคร่ำเครียดต่อ TQF" มากเลยท่านอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท