เฮ้อ โล่งใจ


 

     วันพฤหัสบดีที่ 3ธค.52ที่ผ่านมา ช่วงประมาณ 16.00นผู้เขียนได้ให้คำปรึกษาแก่ผู้ติดเชื้อชายหนุ่ม รายหนึ่ง หลังจากแจ้งผลเลือดแล้วเขาวิตกกังวลมาก  คำพูดที่เขาพูดออกมาคำหนึ่งคือหมดกัน อนาคตผมหมดแล้ว แม้ว่าผู้เขียนจะให้กำลังใจ รับฟังความรู้สึกของเขาต่อการติดเชื้อ ตลอดจนให้ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับโรคและการรักษา(ซึ่งปัจจุบันก้าวหน้าไปมากทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตมีชีวิตยืนยาว ใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนคนทั่วไป)ก็ตาม ผู้เขียนใช้เวลากว่า 30 นาทีจึงทำให้เขาสงบลงบ้างแต่ก็เพียงเล็กน้อย ยังมีท่าทีวิตกกังวลมาก ดังนั้นในรายนี้ผู้เขียนจึงพยายามเสนอทางเลือกให้เขาได้พบหมอผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคโดยเร็วที่สุดคือวันศุกร์ที่ 4 ธค.52  เผื่อว่าการได้เจอกับหมอผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคและได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุดจะทำให้เขามั่นใจ และคลายความกังวลใจลงบ้าง สุดท้ายผู้เขียนก็ให้เบอร์โทรกับผู้ป่วยไว้บอกกับเขาว่าถ้าคิดอะไรไม่ออก เครียดมาก ไม่รู้จะทำอะไรสามารถขอคำปรึกษาได้ทุกเมื่อ (เพราะในช่วงแรกๆที่รับทราบผลเลือดถือเป็นช่วง วิกฤตมาก ส่วนใหญ่จะนอนไม่หลับ วิตกกังวลมาก กลัวตาย กลัวคนอื่นรู้ กลัวไปสารพัด) และในรายนี้จากการประเมินอาการวิตกกังวลของเขาน่าเป็นห่วง ผู้เขียนจึงได้ขอเบอร์โทรติดต่อกลับแต่เขาบอกว่าไม่มี) ตกกลางคืนประมาณ 2 ทุ่มผู้เขียนได้รับโทรศัพท์จากคนไข้รายนี้อีกจับใจความได้ว่า บอกพ่อว่าเป็นไวรัสตับอักเสบ  และไม่ทราบว่าพูดคุยกับพ่อว่าอย่างไรบ้าง เกิดการขัดแย้งกัน จึงไม่รู้จะคุยกับใครจึงได้โทรมาปรึกษาผู้เขียน คุยกันได้ไม่นานคำหนึ่งที่เขาพูดออกมาอีกก็คือพี่ผมหมดหนทางแล้ว แล้วสัญญานก็ตัดไป ดูจากเบอร์โทรเขาคงโทรศัพท์หยอดเหรียญ ผู้เขียนพยายามโทรกลับเผื่อว่าเขาอยู่แถวๆตู้จะได้รับ ก็ว่างเปล่า และได้ภาวนาให้เขาโทรมาอีกเพราะยังคุยกันไม่เสร็จ ยังอยากคุยให้เขาสงบลงกว่านี้แต่ก็ไร้วี่แวว คืนนั้นผู้เขียนได้แต่ภาวนาอย่าให้เขาคิดสั้นทำร้ายตัวเองเลย  

         เช้าวันที่ 4 ธค. 52 ผู้เขียนก็ทำงานตามปกติหลังเลิกงานก็เดินทางกลับบ้านระหว่างนั่งรถกลับบ้านก็มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ได้ยินเสียงผู้ป่วยรายเดิมอีก ผู้เขียนถอนหายใจเฮือก โล่งใจ อย่างน้อยก็ไม่เกิดเหตุอย่างที่ผู้เขียนกลัว หลังจากได้พูดคุยกับเขา ให้กำลังใจ และให้ข้อมูลต่างๆแก่เขาแล้ว สิ่งที่เขากังวลอีกอย่างคือการรักษาความลับ เขาไม่ให้บอกใคร ซึ่งผู้เขียนก็ให้ความมั่นใจแก่เขาว่าจะพิทักษ์สิทธิ์ของเขาในเรื่องไม่บอกผลเลือดของเขาแก่ใคร ทำให้เขาคลายความกังวลลงมาก ก่อนจะยุติการพูดคุย เขาขอบคุณและคำสุดท้ายเขาบอกว่า พี่มีเงินให้ผมยืมมั๊ย ซัก 500 บาท (ผู้เขียนได้ยินคำนี้แล้วนึกโล่งใจไปอีกเปลาะอย่างน้อยเรื่องที่ผู้เขียนเป็นกังวลเกี่ยวกับการคิดร้ายทำลายตัวเองก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น) ถามว่าจะเอาไปทำอะไร บอกว่าจะเอาไปใช้หนี้เพื่อน ผู้เขียนต้องอธิบายให้เขาฟังว่าที่เสนอความช่วยเหลือก็ในเรื่องประเด็นของความเจ็บป่วย ความเครียด ความวิตกกังวล หรือไม่ทราบจะปฏิบัติตัวอย่างไรเป็นต้น    ก่อนกล่าวลาผู้เขียนก็ยังบอกเขาอีกว่าถ้ามีเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับการเจ็บป่วยของเขาสามารถขอคำปรึกษาได้เสมอ

           ล่าสุดผู้ป่วยโทรมาบอกผู้เขียนว่าจะรักษาตัวที่ชุมแพ เพราะว่ามีบัตรทองอยู่ชุมแพ

          โดยสรุปหลักของการให้คำปรึกษาก็คือ สร้างสัมพันธภาพ ความคุ้นเคย รับฟังปัญหา ให้กำลังใจ ให้ข้อมูล เสนอทางเลือกในการแก้ไขปัญหา เสนอความช่วยเหลือ รักษาความลับ รูปแบบของสัมพันธภาพต้องเป็นเชิงวิชาชีพไม่ใช่เชิงสังคม รวมทั้งมีการติดตามประเมินผลต่อเนื่อง

            จะว่าไปแล้วงานให้คำปรึกษาในแต่ละวันและกับผู้ป่วยแต่ละคนก็มีความสนุกและท้าทายอยู่ไม่น้อย นอกจากจะช่วยผ่อนคลายความเครียด ความกังวลใจ ส่งเสริมให้ผู้ป่วยปรับตัวอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขแล้ว ผลพลอยได้ก็คือเราได้พัฒนาตัวเองไปด้วย ขอบคุณผู้ป่วยที่เป็นครูให้เราได้เรียนรู้ พัฒนาตัวเองและขอบคุณตัวเองที่เลือกมาทำงานให้คำปรึกษา 

คำสำคัญ (Tags): #การให้คำปรึกษา
หมายเลขบันทึก: 321362เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2009 01:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ให้กำลังใจคะพี่ สู้ๆๆๆๆๆๆ นะคะ

สวัสดีค่ะ น้องกิ๋ม

ขอบคุณค่ะที่มาทักทายและให้กำลังใจ

สวัสดีค่ะ ขอให้มีความสุขกับการทำงานให้การปรึกษาต่อไปนะคะ จะเป็นกำลังใจให้ค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณวันเพ็ญ

ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ ขอบคุณที่แวะมาทักทายและให้กำลังใจ คงมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนและทักทายกันอีกนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท