beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

เรื่องเล่า : เสียงกู่จากครูใหญ่


ทันทีที่มาถึงโรงเรียน ครูใหญ่ก็เดินสำรวจบริเวณโรงเรียนและทักทายนักเรียนอย่างทั่วถึง ก่อนที่จะเรียกประชุมครูทั้งโรงเรียน

   หลังจากดูหนังเกาหลีเรื่อง "เสียงกู่จากครูใหญ่" ที่บ้านผู้หว่านเมื่อคืนวันที่ 17 เมษายน 2549 แล้ว ก็อยากเล่าเรื่องนี้ให้หลายๆ ท่านฟังครับ เผอิญวันนี้ผมไปพบเรื่องนี้ที่คุณจ๊ะจ๋าหรือคุณฉันทลักษณ์ อาจหาญ เล่าไว้ ในบันทึก เสียงกู่จากครูใหญ่ฯ ได้อย่างน่าสนใจ ตั้งแต่ 24 มีนาคม 2549 แต่ว่ายังมีการเข้าไปอ่านเพียง 48 ครั้งเท่านั้น ผมอยากจะเผยแพร่เรื่องนี้ สำหรับคนที่มีอุดมการณ์ จึงขอนำมาเล่าอีกครั้งหนึ่ง โดยอาศัยเรื่องเล่าของคุณจ๊ะจ่าเป็นแกน (ต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้) และตกแต่งตามสำนวนของผมนะครับ จุดประสงค์เพื่อถ่ายทอดวิธีการของนักพัฒนาคนหนึ่งให้กับท่านที่ยังไม่เคยชมหนังเรื่องนี้ครับ

     
 

เสียงกู่จากครูใหญ่

 
     
 

     ครูใหญ่นักพัฒนาท่านหนึ่ง ได้รับคำสั่งให้เดินทางยังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในถิ่นทุรกันดารไกลปืนเที่ยง สมาชิกในหมู่บ้านนี้ยังขาดความร่วมมือร่วมใจกันในหลายๆ ด้าน

    เปิดเรื่องมา มีภาพรถโดยสารเก่าๆ แล่นไปบนเส้นทางอันลดเลี้ยวเคี้ยวคด ของถนนลูกรังที่แสนจะขุรขระ  จนกระทั่งถึงปลายทางที่เป็นเป้าหมายของครูใหญ่ คือปากทางเข้าหมู่บ้านนั่นเอง

    โดยไม่ต้องรอให้มีใครมารับ ครูใหญ่แบกของขึ้นบ่าเตรียมเดินทางข้ามเขาไปอีก 1 ลูก เป็นระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ครูใหญ่ต้องการถึงจุดหมายคือโรงเรียนในหมู่บ้านให้เร็วที่สุด

  ระหว่างทางที่ครูใหญ่เดินทางไปนั้น ทางโรงเรียนได้ส่งคนไปรับ 1 คน

  คนที่ไปรับเมื่อเห็นสภาพของครูใหญ่ ใส่รองเท้าขาดก็ไม่เชื่อว่าเป็นครูใหญ่ และก็ไม่ช่วยแบกของ

   ครูใหญ่ต้องใช้วาทะศิลป์ คุยกับชายที่มารับไประหว่างทาง จนกระทั่งเขายอมช่วยแบกของ นั่นคือชัยชนะของนักพัฒนาขั้นแรก ที่ต้องสร้างศรัทธาให้กับประชาชนให้ได้ ถ้าสร้างไม่ได้ ก็ไม่มีวันทำงานได้สำเร็จ

    ทันทีที่มาถึงโรงเรียน  ครูใหญ่ก็เดินสำรวจบริเวณโรงเรียนและทักทายนักเรียนก่อนอย่างทั่วถึง (ซึ่งก็ใช้เวลาไม่นาน เพราะมีนักเรียนอยู่ไม่กี่คน) ก่อนที่จะเรียกประชุมครูทั้งโรงเรียน (ซึ่งมีอยู่แค่ 2 คน เป็นสามีภรรยากัน) 

   ในการประชุมครั้งนี้ ครูใหญ่ให้ครูน้อยมีส่วนร่วมในการกำหนดวิสัยทัศน์ของโรงเรียน และกลั่นกรองให้ได้คำขวัญสั้นๆ แต่มีความหมายลึกซึ้ง ที่จะกำหนดอนาคตของโรงเรียน นั่นคือ "การทำงานหนักเป็นดอกไม้ของชีวิต"

    ครูใหญ่ได้ให้ครูน้อย และนักเรียน ช่วยกันเขียนคำขวัญไปติดไว้ตามสถานที่ต่างๆ ภายในโรงเรียน และยังให้นักเรียนนำกลับไปติดที่บ้านด้วย และครูใหญ่จะตามไปให้คะแนน

    ต่อมา ครูใหญ่ ได้เรียกประชุมผู้ปกครองนักเรียน ซึ่งก็คือคนในหมู่บ้านเกือบทั้งหมด เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความตั้งใจในการสร้างโรงเรียนใหม่ ให้มีห้องเรียนเพิ่มมากขึ้น เพียงพอต่อความต้องการและมีสภาพที่ดีกว่าเดิม พร้อมอุปกรณ์การเรียน โดยไม่ต้องรองบประมาณจากทางราชการ เพื่อให้ลูกหลานของเขามีการศึกษาที่ดีขึ้น  ถ้าเราทำได้ดังนี้สวรรค์ก็จะช่วยเรา

    แต่พ่อแม่ของเด็กเหล่านั้นมีจิตใจคับแคบที่จะช่วยเหลือ โดยบอกว่า หน้าที่ของการสร้างโรงเรียน เป็นเรื่องของทางราชการ ไม่ใช่เรื่องของพวกเขา ที่ให้เด็กๆ มาโรงเรียน แทนที่จะช่วยงานบ้าน ก็ดีถมไปแล้ว

    ครูใหญ่ไม่ย่อท้อ เมื่อไม่มีใครช่วยหรือให้ความร่วมมือ เราก็จะแสดงวิญญาณของนักพัฒนาโรงเรียน ให้คนในหมู่บ้านได้เห็น เริ่มต้นโดยการออกเงินไปซื้อสีมาทาโรงเรียนให้สวยงาม ไม่เว้นแม้กระทั่งระฆังเก่าๆ

   ครูใหญ่มักเดินไปหาสถานที่สร้างโรงเรียนใหม่บ่อยๆ จนกระทั่งพบที่ถูกใจ ระหว่างนั้น ครูใหญ่สังเกตเห็นว่า มีนักเรียนโตๆ เดินทางไปเรียนในเมือง ครูใหญ่ก็เดินทางไปติดต่อกับศึกษาธิการอำเภอ ขอให้เด็กเหล่านี้กลับมาเรียนในหมู่บ้าน โดยจะหาเงินมาสร้างโรงเรียนเอง ซึ่งก็ได้รับอนุญาต และส่งเด็กโตกลับมาเรียนในหมู่บ้าน

   ครูใหญ่ก็จัดพิธีต้อนรับนักเรียนรุ่นพี่ โดยจัดนักเรียนรุ่นน้องให้การต้อนรับ และเริ่มต้นการสอนอย่างจริงจัง ในเมื่อมีผู้อยากเรียน และอยากสอนพร้อมแล้ว เรียนที่ไหน สอนที่ไหนก็ได้ ใต้ต้นไม้ หรือในอาคาร ถ้าฝนตกก็หลบในชายคา

   ครูใหญ่เริ่มต้นการสร้างโรงเรียน โดยไม่ย่อท้อ ไปขนหินมาเรียงในสถานที่แห่งใหม่ที่จะสร้างโรงเรียนด้วยตัวเอง โดยไม่มีใครมาช่วยเหลือ ทำงานอยู่หลายวัน

  วันหนึ่งภรรยาครูใหญ่มาเยี่ยมครูใหญ่ เมื่อเห็นมือไม่เป็นมือก็อดสงสารครูใหญ่ไม่ได้ ขอร้องให้กลับไปอยู่บ้านเรา โรงเรียนไม่ใช่ของเราคนเดียวเมื่อไร ครูใหญ่ได้แต่พยักหน้า แล้วก็ส่งภรรยากลับไปอยู่ที่บ้าน ขอให้ช่วยดูแลบ้านให้ดี

   ระหว่างที่ครูใหญ่ออกไปทำงานนั้น มีนักเรียนหญิงคนหนึ่งแอบเอาอาหารมาให้ครูใหญ่ และวันหนึ่งก็มาพบครูใหญ่เป็นลมล้มกลิ้งไปติดต้นไม้อยู่ (ถ้าไม่มีต้นไม้กั้น ก็อาจตกเหวไปแล้ว)  เลยไปตามครูน้อยมาช่วย

   ครูใหญ่นอนป่วยอยู่ที่ห้อง อยู่หลายวัน และฝันร้ายอยู่หลายคืน

   วันหนึ่งเมื่อค่อยยังชั่วขึ้นมาแล้ว พบว่าสวรรค์ได้มาช่วยครุใหญ่แล้ว คือ ครูน้อยและนักเรียนช่วยกันขนหินมาปรับพื้นที่ในการสร้างโรงเรียนเรียบร้อย

   เมื่อนักเรียนมาช่วย ผู้ปกครองก็มาช่วยด้วย ครูใหญ่ก็ขอร้องให้ชาวบ้านทำงานให้หนักขึ้น ให้ได้เงินมา และนำมาบริจาคเพื่อจะซื้อกระเบื้องมุงหลังคา ส่วนอิฐบล็อกทำกำแพง ก็ให้นักเรียนช่วยกันทำ

   และแล้ว ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ ของนักเรียน คุณครู และชาวบ้าน ซึ่งช่วยกันสร้างโรงเรียนอย่างขันแข็งทั้งกลางวันและกลางคืน  ผลสำเร็จคือได้โรงเรียนใหม่ มีห้องเรียนเพิ่มขึ้น จากเดิม 2 ห้องเป็น 4 ห้อง ทำให้ได้รับความสะดวกสบายที่ดีขึ้น และนักเรียนก็ตั้งใจเรียน ในโรงเรียนที่เขาสร้างมากับมือ

   ต่อมาครูใหญ่สังเกตว่า เมื่อคนเข้ามาเที่ยวในหมู่บ้าน จะถือไข่ติดมือเข้ามาด้วย ครูใหญ่ก็เกิดความคิด ที่จะใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อให้เด็กและครอบครัว มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการนำเงินของตัวเอง 300 บาท ไปซื้อลูกไก่มาเลี้ยง พอไก่โต ก็ออกไข่มาให้นักเรียนทาน ซึ่งถ้าเหลือก็สามารถขายให้นักท่องเที่ยวได้ด้วย 

    เมื่อเลี้ยงไก่ ได้รุ่นหนึ่งได้ไก่ที่โตพอแล้ว ครูใหญ่ก็ทำพธีแจกไก่ให้นักเรียนที่เรียนดี นำไปเลี้ยงที่บ้าน และครูใหญ่จะตามไปให้คะแนนที่บ้าน โดยดูจากจำนวนไข่ ใครได้มากก็ให้คะแนนมาก

    เเมื่อเด็กได้รับไก่ พ่อแม่ก็ต้องมาช่วยเลี้ยง เพื่อจะได้มีไข่ให้ครูใหญ่ดูเมื่อมาตรวจที่บ้าน ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่เด็กและครอบครัว และทำให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และหมู่บ้านนี้ก็เลยเลี้ยงไก่กันทั้งหมู่บ้าน จนกระทั่งมีคนเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "หมู่บ้านไก่"

    หลังจากนั้นครูใหญ่ก็ขายไก่ของโรงเรียนไปส่วนหนึ่ง และไปซื้อผึ้งมาเลี้ยง ใช้วิธีการเดิม คือให้คะแนนเด็ก ทำให้ชาวบ้านเลี้ยงผึ้งกันทั้งหมู่บ้าน (ถูกโฉลกกับ beeman) หมู่บ้านนี้ก็เลยกลายเป็น "หมู่บ้านผึ้ง" ไปโดยปริยาย มีทั้งผึ้งและน้ำผึ้งจำหน่าย

   ครูใหญ่ได้ขายผึ้งไปจำนวนหนึ่งแล้วก็ไปซื้อวัวมาเลี้ยง  2-3  ตัว ชาวบ้านซึ่งเฝ้าดูอยู่ว่า ครูใหญ่จะทำอะไร ก็ต้องหันมาเลี้ยงวัวกันอีก จึงกลายเป็น "หมู่บ้านวัว"

    เมื่อมีวัวเพิ่มขึ้น โรงเรียนก็ขายวัวไป เพื่อนำเงินไปซื้ออุปกรณ์การเรียนของเด็กเพิ่มขึ้น และซื้อเครื่องดนตรีได้จำนวนหนึ่ง เครื่องดนตรียังมีไม่ครบ ก็ใช้ก้อนอิฐ ก้อนหิน กะละมังเคาะกันไปก่อน

     จำนวนเด็กที่เคยไปศึกษาไกลหมู่บ้านหันกลับมาเรียนยังโรงเรียนแห่งนี้มากขึ้น เหตุการณ์เหล่านี้เป็นการพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งข่าวการเป็นนักพัฒนาตัวอย่างที่สามารถทำให้หมู่บ้านแห่งนี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เด็กมีความพร้อมมากขึ้น ไปถึงทางราชการ สวรรค์หรือราชการก็ส่งเรือมาให้ 1 ลำ เพื่อให้ทางหมู่บ้านได้ใช้งานในการเดินทางไปในเมือง และในที่สุดครูใหญ่ก็ได้รับเหรียญของการเป็นนักพัฒนาตัวอย่าง จากท่านประธานาธิบดีเกาหลีใต้ (ปักจุงฮีตัวจริง)

   จากโรงเรียนที่ไม่มีความพร้อมทั้ง สถานที่ อุปกรณ์ในการเรียน จนกระทั่งมีนักเรียนและครูเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก มีอาคารที่ใหญ่โต มีระบบการเรียนการสอนที่ดีขึ้นและครูใหญ่ได้ทำสำเร็จดังวิสัยทัศน์ที่ให้ไว้ตั้งแต่ครั้งแรกคือ "การทำงานหนักเป็นดอกไม้ของชีวิต"

 
     

ดู Clip VDO ต้นฉบับได้ที่ Youtube

  1. Clip1 8.44 นาที
  2. Clip2 9.36 นาที
  3. Clip3 9.55 นาที
หมายเลขบันทึก: 32094เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2006 13:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 08:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ชอบจังเลย  อ.beeman เขียนสนุก อ่านเพลิน เหมือนได้ดูหนังจริงๆ  ขอขอบคุณ อ.beeman ที่สรรหาเรื่องเล่าดีดีมาผ่อนคลายความเครียดในวันนี้

  • อาจารย์เก็บรายละเอียดได้เยี่ยมมากครับ
  • สมกับรางวัลของคุณลิขิตจริง ๆ ครับ
  • ขอขอบคุณอาจารย์สมลักษณ์...                          
  • อาจารย์เป็นนักเล่านิทานมืออาชีพ...
    ได้ทั้งสาระ และความซาบซึ้ง

เข้าใจว่า เรื่องนี้คงจะถูกใจอาจารย์ Beeman มากเป็นพิเศษเพราะมีเรื่อง...
1). หมู่บ้านไก่... คงไม่ใช่ ยกเว้นมีการนำมูลไก่ไปบำรุงดิน ดินบำรุงต้นไม้ ต้นไม้ออกดอกให้ผึ้ง
2). หมู่บ้านผึ้ง... ใช่แน่
3). หม่บ้านวัว... คล้ายข้อ (1).

  • อาจารย์แพทย์โรงพยาบาลเชียงรายฯ (รพ.เชียงรายฯ เป็นโรงพยาบาลคุณภาพชั้นนำ) เล่าเรื่องคำสอนของท่านมหาตมะ คานธีให้ผู้ขอชมงานกิจกรรมคุณภาพโรงพยาบาล (HA) ว่า

ความสำเร็จนั้น...                                                
1). เริ่มด้วยความพยายาม
2). ถูกท้าทาย
3). ถูกเยาะเย้ย
4). ถูกท้าทาย... หลายๆ ครั้ง
5). ถูกเยาะเย้ย... ซ้ำแล้วซ้ำอีก
6). ถ้าไม่ถอย... จึงจะได้รับการยอมรับ

  • ขอขอบคุณอาจารย์ และรออ่านเรื่องต่อๆ ไปครับ...

  • ขออนุญาตเรียนปรึกษาอาจารย์สมลักษณ์...             
  • ขอเรียนปรึกษาอาจารย์ ขอโอกาส(เพื่อขออนุญาต)
  • รูปขวามือด้านบน... น่าจะเป็นรูปถ่ายคู่กับพระพุทธรูป
  • เรียนเสนอให้พิจารณาเปลี่ยนรูปที่ไม่มีรูปพระ
  • ขอขอบพระคุณทุกท่านครับที่เข้ามาเยี่ยม
  • ขอน้อมรับคำติ-ชม ทุกท่านครับ
  • เรื่องที่ถูกใจผมคือ ตอนครูใหญ่เลี้ยงผึ้งครับ (ชอบมากๆ)
  • ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์หมอวัลลภเรื่องภาพของ beeman นะครับ สมควรเปลี่ยนตั้งนานแล้ว
  • ยกเหตุจากท่านอาจารย์หมอวัลลภ
  • แล้ววันที่ 1 มิถุนายน ผมจะเปลี่ยนภาพนะครับ

น่าสนใจครับ อยากดูบ้าง

 

ใครช่วยแนะนำผมที ว่าหาดูได้ที่ไหน

เรียนคุณ อิสรชน คนเดินทาง

  • ติดต่อไปได้ที่นี่ครับ
     
 

สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)  

 

 

อาคาร เอส เอ็ม  ทาวเวอร์ ชั้น 23 

 

 

เลขที่ 979 ถ.พหลโยธิน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400

 

 

โทร 02-298-0664-8 สอบถามได้ทุกเบอร์ครับ

 

 

โทรสาร 02-298-0057  เว็บไซต์  http://www.kmi.or.th

 

ได้บุคคลอ้างอิงดังนี้ครับ

  • อ.beeman เขียนสนุก อ่านเพลิน เหมือนได้ดูหนังจริงๆ (อ.มาลินี)
  • อ.beeman เป็นนักเล่านิทานมืออาชีพ (คุณบอย)
  • อ.beeman เป็นนักเล่านิทานมืออาชีพ ได้ทั้งสาระและความซาบซึ้ง
  • สำหรับผม ต้องมีแรงกระตุ้น ที่คุณจะจ๋าได้เขียนไว้ก่อน จึงได้มาเขียนต่อได้ ไม่อย่างนั้นคงต้องรอไปอีก 3 เดือนครับ

เรียนอาจารย์หมอวัลลภ

  • วันนี้เปลี่ยนภาพตามสัญญาแล้วครับ
  • ภาพพอใช้ได้ไหมครับ

ขอบคุณที่มีการเล่าเรื่องที่น่าเอาเป็นตัวอย่างที่ดีรักครูใหญ่จังเลย

  • ขอขอบคุณ ทุกท่านที่เข้ามาให้ข้อคิดเห็นครับ

เพิ่งจะได้ดู ในการสัมมนา OM: outcome mapping ก็ประทับใจครับ

อาจารย์เก็บรายละเอียดได้ดีจริงๆครับ

เรียน ท่านอาจารย์เติมศักดิ์

  • ถึงแม้จะเพิ่งได้ดู
  • แต่ก็เขียน บทวิเคราะห์ได้ละเอียดลึกซึ้งครับ
  • เอาไว้ผมจะเข้าไปติดตามเรื่องทั้ง series เลยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท