ภาพรวมเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง


มีรายละเอียดที่น่าสนใจมากมากย

ภาพรวมเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

องค์กรชุมชนเข้มแข็งแต่ละองค์กร โดยตัวเองของเขาเองนับเป็น Civic group ซึ่งมีการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาและพึ่งตนเองภายในกลุ่มเป็นด้านหลัก (Civic movements within Civic group) ต่อมาเมื่อเกิดการเชื่อมโยงประสานความร่วมมือกันเป็นเครือข่าย

ช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ขบวนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในประเทศไทยได้ผ่านการเรียนรู้และสมบทเรียน ประสบการณ์และทักษะต่าง ๆ ได้อย่างค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นมีลำดับความเป็นมาที่เกี่ยวเนื่องกันโดยตลอด ผู้นำภูมิปัญญาชาวบ้านในภูมิภาคต่าง ๆ ได้ผ่านการเผชิญกับปัญหาบีบคั้นทุกรูปแบบในท้องถิ่นของตน แต่ก็ได้รับการพิสูจน์จากสถานการณ์จริงแล้วว่า สามารถประคับประคองชุมชนเล็ก ๆ ของตนเอาไว้ได้ และยิ่งกว่านั้นพวกเขายังได้ประสานร่วมมือช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นเครือข่ายระดับพื้นที่อำเภอ จังหวัด และภาคของตนแล้ว

องค์กรชุมชนเข้มแข็งแต่ละองค์กร โดยตัวเองของเขาเองนับเป็น Civic group ซึ่งมีการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาและพึ่งพาตนเองภายในกลุ่มเป็นด้านหลัก (Civic movements within civic groups) ซึ่งช่วยทำให้กลุ่มและเครือข่ายเกิดความแข็งแรงและขยายตัวออกไป และจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า ยิ่งเมื่อพวกเขามีการเคลื่อนไหวร่วมกับเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งประเภทอื่น ๆ หรือมีการเรียนรู้ข้ามภูมิภาค หรือเป็นระดับนานาชาติด้วยแล้ว จะยิ่งเกิดการเรียนรู้ทางพลังยิ่งขึ้น (Civic movements among sectors) สิ่งเหล่านี้คือ โครงสร้างพื้นฐานและกิจกรรมที่จำเป็นสำหรับประชาสังคมในทุกท้องถิ่น (Civic infrastructure)

เครือข่ายชุมชนเข้มแข็งแต่ละเครือข่าย แต่ละประเภทแต่ละพื้นที่ ต่างมีภูมิหลัง ความเป็นมา และเอกลักษณ์ของตนเอง บางเครือข่ายเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ หรือโดยผู้นำที่เป็นปราชญ์ชาวบ้านแท้ ๆ บางเครือข่ายเกิดขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากบุคคลหรือองค์กรภายนอก ไม่ว่าจะเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนหรือองค์กรภาครัฐก็ตาม จะสังเกตได้อย่างหนึ่งว่าชื่อของเครือข่ายที่พวกเขาตั้งขึ้นมีความหลากหลายกันออกไปตามสภาพ แต่ในที่นี้เพื่อที่จะให้เห็นภาพเครือข่ายต่าง ๆ ที่มีอยู่จริง และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปและให้ชัดยิ่งขึ้น จะขอยกตัวอย่างมาอ้างถึงโดยใช้ชื่อที่กำหนดขึ้นมาเองพร้อมขยายรายละเอียดประกอบความเข้าใจ โดยไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่นดังนี้

  1. เครือข่ายปราชญ์อีสานและเกษตรกรรมแบบยั่งยืน

    เครือข่ายนี้ประกอบด้วยเครือข่ายย่อย ๆ มากมาย มีสมาชิกที่พึ่งตนเองได้ประมาณ 10,000 ครอบครัว ผู้นำคนสำคัญ เช่น ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤกษ์ พ่อเล็ก กุดวงกว้าง พ่อผายสร้อยสระกลาง พ่อดำเดื่อง ภาษี พ่อมหาอยู่ สุนทรชัย พ่อเชียงไทยดี ฯลฯ ศักยภาพที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ จำนวนผู้นำชาวบ้านนับร้อยคนกระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ พวกเขามีแหล่งน้ำถาวรและไม้ยืนต้นในไร่นาสวนผสมของพวกตนเอง

  2. เครือข่ายองค์กรการเงินชุมชน

    เครือข่ายนี้ประกอบด้วย เครือข่ายเครดิตยูเนียน ซึ่งริเริ่มมาจากฝ่ายคริสตจักร แต่ปัจจุบันแผ่ขยายกว้างออกไปทั่วเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ซึ่งมีการพัฒนาชุมชนสนับสนุน เครือข่ายสหกรณ์การเกษตร ซึ่งมีกรมส่งเสริมสหกรณ์สนับสนุน เครือข่ายกลุ่มเกษตรกร โดยกรมส่งเสริมการเกษตร เครือข่ายกองทุนพัฒนาหมู่บ้านในเขตปฏิรูปที่ดิน โดย สปก. เครือข่ายธนาคารหมู่บ้านดดยสมาคมนักพัฒนาหมู่บ้านและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เครือข่ายกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ โดยพระสุบิน ปณีโต และพระมนัส เครือข่ายกลุ่มสัจจกรณ์ โดยมูลนิธิไทยเพื่อการพัฒนา เครือข่ายกองทุนหมุนเวียนที่ตั้งโดยองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร เครือข่ายกลุ่มเยาวชนเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร และเครือข่ายองค์กรเงินผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมือง โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง (พชม.)

    ทั้งหมดนี้มีกระจายไปในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีความหนาแน่นแตกต่างกันไปตามพื้นที่ รวมทั้งสิ้นมีประมาณ 41,000 องค์กร สมาชิก 6,200,000 คน เงินออม 10,000 ล้านบาท เงินกู้ให้ 15,000 ล้านบาท และเงินทุนหมุนเวียน 30,000 ล้านบาท

    จุดแข็งของเครือข่ายนี้อยู่ที่การขยายตัวเป็นไปได้ง่ายสามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของสมาชิกได้รวดเร็วมักเป็นจุดเริ่มนำไปสู่การพึ่งพาตนเองของชุมชนด้านอื่น ๆ และเนื่องจากพบว่ามีองค์กรเช่นนี้อยู่แล้วในทุกจังหวัดจึงทำให้ง่ายต่อการเชื่อมโยงเข้าเป็นโครงสร้างฐานรากของประชาสังคมในจังหวัดนั้น ๆ หากมีการจัดการที่เหมาะสมเข้าไปเสริม

  3. เครือข่ายสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านและป่าชายเลน 14 จังหวัดภาคใต้

    เครือข่ายนี้ มีสมาคมหยาดฝน มูลนิธิหมู่บ้าน และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาเป็นองค์กรสนับสนุน ผู้นำคนสำคัญได้แก่ คุณพิศิษฐ์ ชาญเสนาะ และคุณบรรจง นะแส มีเครือข่ายชุมชนที่ดูแลป่าชายเลนเกือบตลอด 2 ชายฝั่งทะเลของภาคใต้จุดแข็งของเครือข่ายคือ ความสมบูรณ์ของท้องทะเลชุมชนใดก็ตามที่สามารถรักษาป่าชายเลนไว้ได้ก็จะมีรายได้จากการประมงพื้นบ้านเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เร็ว จึงมีการขยายตัวได้รวดเร็ว และสามารถเชื่อมโยงเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประชาสังคมในจังหวัดแถบนั้นได้เช่นกัน

  4. เครือข่ายป่าชุมชนและต้นน้ำลำธาร

    เครือข่ายป่าบนบกแบบนี้มีในหลายภาคได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคตะวันออก แต่ที่โดดเด่นกว่าที่อื่นคือเครือข่ายภาคเหนือของพระครูพิทักษ์นันทคุณมูลนิธิฮักเมืองน่าน และเครือข่ายป่าชุมชน 8 จังหวัดภาคเหนือ ที่มีบทบาทหลักอยู่ที่ชุมชนปกากะญอ รวมประมาณ 500 องค์กร

    จุดแข็งของเครือข่ายคือ การยังชีพของชุมชน วิถีชีวิตวัฒนธรรมกับความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำลำธาร

  5. เครือขายอุตสาหกรรมชุมชน

    เครือข่ายนี้ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนโดยสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) กรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมชนบท และวิสาหกิจขนาดใหญ่ เช่น บาจา แพน ล็อกซ์เลย์ อีริคสัน ปตท.ฯลฯ มีชุมชนที่แข็งแรงมากกว่า 100 แห่ง ซึ่งโดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสานและภาคเหนือ

    จุดแข็งของเครือข่ายอยู่ที่มีการบริหารจัดการแบบธุรกิจ

  6. เครือข่ายธุรกิจชุมชนบางจาก

    เครือข่ายนี้มีลักษณะเฉพาะเช่นเดียวกับ (5) กล่าวนี้ มีความเชื่อมโยงกับวิสาหกิจขนาดใหญ่ คือ บางจาก มีทั่วประเทศประมาณ 600 องค์กร มีกิจกรรมปั้มน้ำมันและจำหน่ายสินค้าจากชุมชน

    จุดแข็ง คือการบริหารจัดการเครือข่ายแบบธุรกิจมืออาชีพและการหนุนชุมชนโดยตรง

  7. เครือข่ายชุมชนสินติอโศก

เครือข่ายนี้มีลักษณะเฉพาะเช่นกัน เป็นชุมชนที่มีระเบียบวินัยสูง มีพฤติกรรมการกินอยู่เข้มงวดกว่าปกติและแข็งแรงมาก จุดแข็ง คือคุณภาพและวินัยของสมาชิก มีผลิตภัณฑ์ชุมชนและสินค้าสุขภาพซึ่งเป็นที่เชื่อถือของผู้บริโภคแพร่หลายทั่วไป

 
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 32080เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2006 12:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 02:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท