เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา : ทหารกับผู้นำ


วันนี้ผมถูกเชิญให้ไปร่วมกันรับประทานอาหารเที่ยงที่ห้องอาหารฮาซานะห์ สวนขวัญเมืองเทศบาลนครยะลา คนเชิญเป็นทหารซึ่งนำโดยท่านรองแม่ทัพภาค 4/รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ท่่านอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ พวกเราชอบเรียกว่าท่านว่าเสธ์อุดมชัย

เป้าหมายหลักของการร่วมรับประทานอาหารครั้งนี้ คือ พบปะคนที่เคยร่วมโครงการเสวนาสัญจร ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปลายๆปี 47 และผมเป็นรุ่นแรกที่เข้าร่วมโครงการนี้กับท่าน และเท่าที่ฟังและได้ประสบมา โครงการนี้เป้าหมายหลักคือหาทางเพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดสันตุสุขในสามจังหวัดชายแดนใต้

งานวันนี้เริ่มก็เกือบจะสิบโมงแล้ว อาจจะเป็นเพราะบางคนต้องเดินทางมาไกล อย่างผมแม้ร้านอาหารห่างจากบ้านผมเพียงแค่ 15 กม.ก็ตาม แต่เมื่อถูกเชิญอย่างทันด่วนก็จำเป็นต้องสะสางงานที่ได้วางแผนก่อนหน้าแล้ว คือผมต้องเดินทางจากบ้านไปมหาวิทยาลัยก่อนเป็นระยะทางสามสิบกว่ากิโลเมตร์และต้องวกกลับเข้าตัวเมืองยะลาอีกประมาณสิบหกกิโลเมตร รวมเวลาเดินทางแม้จะห่างจากบ้านเพียงสิบห้ากิโลเมตรก็จริง แต่ต้องใช้เวลาชั่วโมงกว่า

แรกๆ ท่านรองแม่ทัพชี้แจงเรื่องการพบปะ และให้ทุกคนที่มาร่วมงานแนะนำตัว เนื่องจากมีหลายรุ่นร่วมกันเลยทำให้หลายคนที่ไม่เคยรู้จักกัน โดยเฉพาะฝ่ายทหารที่พวกเราคุ้นเคยเพียงแค่สองคนเท่านั้นท่านเสธ์อุดมชัยเองและท่านเฉลิมชัยอีกคน นอกจากนั้นเป็นคนใหม่ทั้งนั้น

ผมไม่แน่ใจว่ากลุ่มเป้าหมายที่ถูกเชิญให้เข้าร่วมในแต่ละรุ่นมีเป็นคนกลุ่มไหน แต่เท่าที่สังเกตจะเป็นผู้นำศาสนาซึ่งมีโต๊ะครู โต๊ะอิหม่ำ ครูสอนศาสนา(อุสตาส) รวมถึงฝ่ายปกครองด้วย ซึ่งจะมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกปกครองท้องถิ่น ฯ

หลังจากแนะนำตัวแล้ว อ.นิมุ มะกาเจ ที่ปรึกษาใหญ่ ได้ให้ชมวิดิทัศนกลุ่มต่างๆ ทุกกลุ่มที่ได้เข้าร่วม และบทสรุปที่ได้จากทุกกลุ่มเสนอแก่หน่วยงานที่รับผิดชอบ บางอย่างได้รับการตอบสนองและผลที่ได้ออกมาอยู่ในขั้นที่ดี

หลังจาก อ.นิมุ บรรยายสรุปเสร็จ ท่านอุดมชัยก็เปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความเห็น แล้วแต่ใครจะมีความเห็นอะไร และทุกคนที่พูดออกมามีเป้าหมายเดียวกัน คือ ทำอย่างไรให้ประเทศไทยทางใต้ตอนล่างสุดนี้มีความสงบสุข

ปัญหาที่ทางกลุ่มได้นำเสนอเพื่อให้ทุกคนช่วยกันแก้ รวมถึงผมด้วย พอสรุปดังนี้

  1. ปัญหาหลักและปัญหาใหญ่ที่เกือบทุกคนจะกล่าวถึง คือ ปัญหายาเสพติดระบาดอย่างหนักในสามสี่จังหวัดนี้
  2. ปัญหาการศึกษา งบประมาณสนับสนุนเรื่องการศึกษา
  3. ปัญหาความเข้าใจของบางหน่วยงานต่อคนในพื้นที่และต่อหลักปฏิบัติของคนในพื่นที่
  4. ปัญหาความรู้สึกที่มีต่อชาติพันธฺ

ซึ่งปัญหาที่ทางกลุ่มเสนอนั้นผมก็เห็นด้วยบางอย่างผมก็ได้เสนอและได้พูดคุยในที่ประชุมเช่นกันแต่บางอย่างผมไม่ได้คุยเพราะถ้าคุยไปจะเป็นเรื่องซ้ำๆและยาว จึงขอคุยเพิ่มเติมที่นี้

ปัญหาแรก คือ ปัญหายาเสพติด ใบกระท่อม สี่คูณร้อย ยาไอส์ ฯลฯ

พบว่าตามหมู่บ้าน เกือบทุกบ้านแล้วทุกวันนี้ยาพวกนี้ระบาดหนัก ผมโชคดีที่อัลลอฮฺดลใจให้ผมและลูกชายไปเรียนต่อโรงเรียนประจำที่อยุธยาเลยทำให้ลูกชายผมหลุดจากวังวนที่ไม่พึงประสงค์นี้ เพราะเพื่อนๆสนิทของลูกชายติดกันเกือบทุกคน

ทุกคนก็พูดถึงเรื่องการแก้ แต่หาความจริงจังได้ยากมาก บางคนบอกว่าจะแก้ได้อย่างไรฝ่ายบริหารก็เป็นเอง สูบเอง กินเอง ที่ร้ายเป็นเอเยนต์ขายเอง ส่วนเรื่องรับส่วนได้ในการค้าการขายนั้นเขาเล่าลือตั้งนานแล้ว

อีกอย่างหนึ่งที่ชาวบ้านบอกว่าแก้ยากเพราะคนขายหรือเส้นสายในการขายมาจากกลุ่มมีสี บางคนว่ายศพันตำรวจตรีเป็นคนขายเองก็มี(ผมขอให้เป็นเท็จ)

ยิ่งหนักกว่านั้นและผมรู้สึกเป็นห่วงมาก คือ เขากล่าวหาว่าที่กลุ่มมีสีทำแบบนี้เพราะเขาต้องการทำลายไม่ใช่สร้างสรรค์อย่างที่ป่าวประกาศ อันนี้ผมว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องขอให้แก้ไขโดยด่วยด้วย ไม่อย่างนั้นจะสร้างสันติสุขยาก

ปัญหาที่สอง อันนี้เป็นปัญหาที่ผมได้พูดคุยมาแล้วในที่ประชุม และขอพูดคุยที่นี้ต่อ คนที่เกี่ยวข้องมาพบอ่านจะได้หาทางแก้ไข ปัญหาคือเจตคติ

ปัญหาหนึ่งที่เกิดความไม่สงบสุขในบ้านเมืองเราไม่ว่าที่ภาคใต้หรือภาคอื่นที่กำลังเกิดขึ้นทุกวันนี้คือความรู้สึกที่มีต่อกันหรือเจตคติ

เมื่อเรามีเจตคติที่ไม่ดีต่อใครแล้วแม้เขาจะดีขนาดไหนเราก็ยังบอกว่าเขาทำผิด ในทางตรงกันข้ามเมื่อเจตคติที่ดีต่อใครแล้วแม้เขาจะทำผิดเราก็อภัยแก่่เขาได้ไม่ยากเย็น เช่นกัน ภาคใต้สามจังหวัดนี้มีกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ๆสองชาติพันธุ ถ้าสองกลุ่มชาติพันธุ์นี้รักกัน ช่วยเหลือกัน มีเจตคติที่ดีต่อกัน ความสุขและความยิ่งใหญ่ก็จะเกิดขึ้น เพราะความหลากหลายที่มีจุดหมายเดียวกันคือพลังมหาศาล

แต่เท่าที่ได้ยินมาและวิเคราะห์ตามประสาคนเรียนจิตวิทยามา ภาคใต้นี้สงบยากตราบไดเรายังแบ่งสองพวกสองชาติพันธุ์ และมีอคติต่อกัน อย่างเช่นเรา(ผมเองก็เคยได้ยิน)คำว่า "แขกก็แบบนี้แหละ" เมื่อฝ่ายหนึ่งมีอีกฝ่ายก็มีด้วย คือคำว่า "แอแรซีแยแบบนิง"(คนไทยพุทธก็แบบนี้แหละ) เป็นคำพูดเหมือนสร้างกำแพงกีดกั้นความรักระหว่างกัน

และที่ผมเป็นห่วงไม่ใช่ชาติพันธุ์แต่ไปเป็นเรื่องศาสนา(เพราะศาสนาอิสลามจะไม่คำนึงว่าคนนั้นจะชาติอะไร ทุกคนจะเท่าเทียมกัน) เมื่อพูดถึงแขกหมายถึงมุสลิมคือคนที่นับถือศาสนา ก็เลยทำให้เรื่องมันลามและปลูกฝังแน่นเข้าไปในจิต สร้างความโกรธเคืองได้ไม่ยาก ขอยกตัวอย่าง เช่น

  • น้องคนหนึ่งเป็นผู้หญิง(มุสลิมะห์) คลุมผมเรียบร้อย ไปสมัครงานที่หน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่ง สอบเข้าได้ลำดับที่หนึ่งแต่ไม่ถูกเรียกตัว เวลาผ่านไปหลายเดือนเขาก็เรียกตัว(เพราะคะแนนสูงมาก) พอไปทำงานแล้วก็ถูกหัวหน้างานเรียกไปพบ บอกว่าถอดผ้าคลุมได้ไหม ถ้าจะทำงานต่อต้องถอดผ้าคลุมผม เขามาปรึกษาผม ผมก็แนะนำว่าต่อสู้จนชนะแล้วค่อยคิดลาออก ที่สำคัญให้เขาเห็นว่างานที่ทำไม่ได้อยู่ที่ผ้าคลุมผม มุสลิมไม่ได้ด้อยอย่างที่เขารู้สึก การปฏิบัติตามหลักศาสนาไม่ได้ไปทำงานให้เสียแต่ขอให้เป็นตรงกันข้าม ... ผมกลัวว่า เขาจะกล่าวหาว่า อีกฝ่ายโดยเฉพาะรัฐ เกลียดมุสลิม เกลียดความเป็นอิสลาม แล้วเมื่อฝ่ายหนึ่งเกลียด อีกฝ่ายจะรักได้ไง อย่างมากแค่เฉยหรือไม่ให้ความร่วมมือ... แบบนี้สันติสุขจะเกิดได้ไง??? 
  • เมื่อหลายปีก่อนโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งมาถามผมว่า จะทำอย่างไรให้เด็กเรียนที่โรงเรียนเขามากๆ ผมก็ตอบว่าง่ายนิดเดียว คือ ให้เขามีสิทธิปฏิบัติตามหลักศาสนาได้อย่างเต็มที่ เขาว่ามีห้องละหมาดให้แล้ว.. ผมว่าไม่พอ.. อย่างเครื่องแต่งกายต้องตามหลักศาสนาด้วย .. เขาบอกว่าทำไม่ได้เพราะมันเป็นระเบียบ..? แก้ระเบียบไม่ได้? ผมก็ถามว่าแล้วจะให้เขาทำผิดหลักศาสนาหรือแก้บทบัญญัติแทนที่จะคิดแก้ระเบียบที่ทำขึ้นเองโดยมนุษย์.. และแปลกเวลาซิกส์โผกผมไม่เห็นว่าอะไร ตอนแก้ให้ใส่ชุดพละ ชุดฝึกงานทำได้ หรือบางครั้งให้ใส่ได้ทั้งๆที่ผิดระเบียบก็ยังทำได้ .. แต่พอจะทำตามหลักศาสนากลับไปอ้างว่าทำไม่ได้.. แบบนี้เป็นที่รักกันยอมให้อภัยแก่กันหรือ ?
  • หน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง รับสมัครคนทำงานจบศาสนาชั้นสิบหรือสูงกว่า แต่กลับพบว่าคนที่จบกฎหมายอิสลามกลับสมัครไม่ได้ โดยอ้างว่าไม่ใช่ศาสนา...แปลก.. ทั้งๆที่เนื้อหาสาขาวิชานั้นเรียนแต่บทบัญญัตศาสนาเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องปฎิบัติ.. ที่ไม่รับเพราะไม่มีเขียน.. ไปคิดตรงๆแบบนี้ ตามตัวอักษรแบบนี้ ไม่ยอมถามผู้รู้จริง(ย้ำผู้รู้่จริง) ใช้อำนาจตัวเองเป็นใหญ่.. แบบนี้จะเรียนกว่าเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาได้หรือ????
  • ฯลฯ

เขียนมายาวแล้ว ขอจบก่อนดีกว่า

 
เฉลิมชัย(ผมจำยศท่านไม่ได้) กำลังเล่าเรื่องการงานที่เราร่วมกันสร้างสรรค์

 

 

หมายเลขบันทึก: 319444เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2009 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มารับรู้ด้วยคน บาบอสรุปได้ใจจริง

ไม่น่ามาเพียงแค่รับรู้นครับ

P
น่าจะร่วมนำเสนอข่าวเพื่อการแก้ไขสู่สันติบ้าง

การสร้างความเข้าใจในพื้นที่ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งแต่เป็นหน้าที่ของทุกๆคน อาจารย์บรรยายและสรุปได้ชัดมากครับ ผมมองว่าใครถนัดอะไรก็ทำไปอย่างนั้น เช่น "ถนัดด้านการศึกษา ก็ทำมันให้ดีที่สุด" เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา หากนำมาใช้อย่างจริงจัง มันจะสร้างพลังอย่างมากมาย

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านปฏิบัติหน้าที่ในพื้นทีไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ ตำแหน่งใด... สันติสุข คือ เป้าหมายของทุกคน

ผมเห็นด้วยครับ อาจารย์

P
เราในฐานะเป็นอาจารย์ ก็ต้องทำหน้าที่ต่อไปตามที่เราถนัด เมื่อวาน อุสตาซอิสมาอีล รองคณบดีคณะอิสลามศึกษา มอย. เสนอว่าในฐานะอาจารย์สิ่งหนึ่งที่ทำได้และให้ประโยชน์คือการทำวิจัย
ส่วนผมก็เสนอให้พวกเราช่วยๆกันสร้างเจตคติที่ดีที่มีต่อกัน
ผมขอบอกพวกเราทุกคนว่า เราคือดาอีย์และคนอื่นที่ไม่ใช่พวกเราคือมัดอูไม่ใช่ศัตรู

สันติสุขจงเกิดในเร็ววันค่ะ

เป็นกำลังใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท