ต่อเรื่อง SWOT ครับ หลายๆครั้งผมพบว่าคนเรา/องค์กรของเรา ไม่ค่อยรู้ว่าตนเองมีจุดแข็งครับ บางที่มันอาจไม่พอ หรือไม่มีใครสังเกต ตัวอย่างครับเมื่อสองปีก่อน ชาวชุมชนของเราคือคุณกิตติพัฒน์ตั้งคำถามแบบ AI เพื่อถามคนในโรงงาน ก็ถามง่ายๆโดยให้ทีมงานเล่าวันที่เขาภาคภูมิใจที่สุด (ในเรื่องงาน) วันที่เขารู้สึกว่าทำงานสำเร็จที่สุด และเขาภูมิใจกับงานชิ้นนั้นมากที่สุดครับ ตัวอย่างเช่น มีคนงานคนหนึ่งเล่าว่าเขาเป็นพนักงานใหม่ เข้ามาใหม่ๆ ที่ภูมิใจที่สุดคือเป็นงานเร็ว เพราะมี "ป้า" คนหนึ่งในสายการผลิตช่วยสอนครับ เราเลยคุยกันว่านี่เองเป้น "จุดแข็งที่ซ่อนเร้น" อยู่ของระบบครับ พนักงานคนหนึ่งทำงานเร็วขึ้นเพราะมี Mentor ช่วย เป็นไปได้ไหมเราจะขยายผล "ขุมทรัพย์ที่ซ่อนเร้น" ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะทำงานได้ง่ายขึ้นเลยครับ เพราะมีคนช่วยฝึกสอนคนงานใหม่ให้ ภายหลังเราทำเป็นโครงการ "ปราชญ์โรงงาน" ครับ คล้ายๆกับภูมิปัญญาชาวบ้านครับ
ที่สปป.ลาว โรงงานแห่งหนึ่งต้องดูแลคนงานให้เกี่ยวอ้อยป้อนเข้าโรงงาน ลูกศิษย์ผมถามว่าจะเริ่มทำ Appreciative Inquiry อย่างไร ผมก็ให้เขาเริ่มจากการสังเกตว่า ในแต่ละแปลง (มีคนเท่าๆกัน) เข้าไปเกี่ยวอ้อย ทีมใดทำงานได้เร็วกว่ากัน ปรากฏว่าเขาไปเจอว่ามีทีมหนึ่งเกี่ยวเร็วกว่าทีมอื่นครับ เราค้นพบว่าทีมที่เร็วกว่ามีวิธีการจับเคียวต่างจากทีมอื่น เขาก็เลยจัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้คนงานสามารถเกี่ยวอ้อยโดยใช้แรงน้อยลงได้ครับ
อีกรายเป็นลูกเจ้าของยี่ปั๊วครับ เธอมีปัญหาว่าบางครั้งมีคนงานยกของแล้วทำของแตกเสียหาย ผมเลยลองให้เธอนึกดูว่ามีใครในหมู่คนงานที่ยกของแล้วเสียหายน้อยบ้าง ปรากฏว่ามีครับ มีคนงานคนหนึ่งมีวิธีการยกที่ดีกว่าคนอื่นๆ ด้วยแรงเท่ากันจะยกได้มากกว่า และเวลายกลังมีวิธีการเฉพาะตัวของตนเองทำให้แก้ว หรือสินค้าที่เป็นขวดไม่แตก พอเราเจอเราก็จัดการให้คนในบริษัทลองทำตาม จนสามารถลดการเสียหายของสินค้าลงได้จริงครับ
เห็นไหมครับองค์กรมี "ขุมทรัพย์ที่ซ่อนเร้น" อยู่ครับ เป็นอะไรที่เราไม่ค่อยสังเกตเจอด้วย ผมว่าคนทุกคนไม่มีใครอยากเหนื่อยหรอกครับ ดังนั้นเราจะเห็นว่าคนทุกระดับจะพยายามทดลองหาเทคนิคเฉพาะตัว เฉพาะกลุ่มขึ้นมาเพื่อทุ่นแรงของตนเอง ตรงนี้แหละครับที่ผมว่าคือ จุดแข็งที่แท้จริงครับ
สวัสดีค่ะอ.โย
มาเรียนรู้กับอาจารย์ต่อค่ะ
best practice ??
ขุมทรัพย์ที่ซ่อนเร้นขององค์กร สุดยอดครับ