หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ถอดบทเรียนตัวเองเรื่องการเขียน : (๒) ขอเล่าเรื่องตัวเองสักหน่อย


ที่เล่ามายืดยาวนี้ เพียงเพื่อจะบอกว่า ผมเองไม่ได้มีพื้นฐานใด ๆ เลยที่จะพัฒนาตนเองในด้านการเขียนหนังสือได้ จบปริญญามาแล้วอย่าว่าจะเขียนบทความสักบทเลยครับ แค่เขียนบันทึกสั้น ๆ สักหน้ากระดาษนึงก็เป็นเรื่องสุดแสนจะสาหัส

   ผมเกิดในครอบครัวที่ค่อนข้างลำบาก แม้มิใช่คนชั้นล่างซะทีเดียว เพราะทั้งพ่อและแม่ทำงานเป็นลูกจ้างประจำของหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง

   พ่อและแม่มิได้เรียนหนังสือมากนัก พ่อจบ ป.๔ แม่จบ ป.๒ ทั้งชีวิตการทำงานของพ่อและแม่ เป็นคนทำงานที่อยู่ระดับต่ำสุดของหน่วยงาน เห็นความสุขสบายของเจ้านายจึงอยากให้ลูกสุขสบาย วิธีการเดียวคือพยายามส่งลูกเรียนให้สูงที่สุด

   ทั้งพ่อและแม่สามารถเบิกค่าเล่าเรียนบุตรได้ จึงส่งผมและน้อง ๆ เข้าเรียนในโรงเรียนที่ว่ากันว่าดีที่สุดของจังหวัด เป็นโรงเรียนเอกชน ลูกหลานคนมีเงินมักจะเรียนที่นี่ แม้มิต้องเสียค่าเทอม แต่การเรียนในโรงเรียนเอกชนก็มีค่าใช้จ่ายไม่น้อย ในช่วงที่เรียนหนังสือพร้อมกันสามคนพี่น้อง ครอบครัวจึงเข้าขั้นขัดสน

   ผมต้องเลื่อนเวลาเข้าเรียนออกไป ๑ ปี เพื่อรอเข้าพร้อมน้องที่อายุห่างกันขวบเดียว ด้วยเหตุผลทางฐานะของครอบครัว ดินสอและยางลบจะถูกแบ่งกันคนละครึ่งกับน้อง กับข้าวมื้อหลางวันหากเป็นไข่ต้มก็จะผ่าแบ่งกันคนละซีก โชคดีหน่อยหากได้กระดูกหมูทอดไปเป็นกับข้าวไปเรียน ได้เงินไปโรงเรียนวันละบาทขณะที่เพื่อน ๆ ได้ไปไม่ต่ำกว่า ๕ บาท เสื้อผ้ามีเพียงสองชุด กลับจากโรงเรียนต้องรีบถอดแล้วซักทันที ไม่เคยมีของเล่นที่ซื้อหาจากตลาด ฯลฯ

   แม้ว่าพ่อแม่จะพยายามสนับสนุนให้ผมและน้อง ๆ ได้เล่าเรียนอย่างเต็มที่ แต่ก็มิได้สร้างปัจจัยเสริมที่จะทำให้ผมสามารถพัฒนาตนเองด้านการเรียนได้ เช่น การส่งเสริมให้รักการอ่านหนังสือ การสอนการบ้าน การสอนเพิ่มเติม การติดตามการเรียนรู้จากทางโรงเรียน ฯลฯ ผมจึงสอบได้ที่ไม่เกินที่ ๑๐ เมื่อนับจากท้ายของนักเรียนทั้งห้องราว ๔๐ คน ตั้งแต่ชั้น ป.เด็กเล็กจนกระทั่งถึง ม.๓ ระดับชั้นสูงสุดของโรงเรียน

   พ่อผมเคยบวชที่เดียวกันกับรองผู้อำนวยการโรงเรียนชายประจำจังหวัด เมื่อไปสมัครเข้าเรียนผมจึงถูกจับยัดเข้าไปอยู่ในชั้น ม.๔ สายวิทย์ – คณิต ปีนั้นผมติดศูนย์วิทยาศาสตร์ทุกตัว ทั้งเคมี ฟิสิกส์ ชีวะ ติดศูนย์คณิตศาสตร์ทั้งสองตัว รวมทั้งภาษาอังกฤษทั้งหลักและเสริม

   ผมย้ายเข้าไปเรียน ปวช.พาณิชยการสายบัญชีที่กรุงเทพฯ ในปีถัดมา อยู่กรุงเทพฯปีเดียว เพราะเกเรมากจนพ่อต้องเอาตัวกลับ เดิมจะให้กลับไปอยู่บ้าน แต่ไม่มีที่เรียนจึงต้องระเห็ดมาเรียนต่อ ปวช.ปี ๒ ที่ จ.พิษณุโลก

   มาเรียนที่พิษณุโลก ก็ยังไม่ทิ้งลาย ตอนนั้นพอเล่นกีตาร์ได้บ้าง จึงสมัครเป็นนักดนตรีของโรงเรียน ได้สิทธิพิเศษทุก ๑๐ จาก ๑๐๐ คะแนนในทุกวิชาที่เรียน กระนั้นเมื่อจบ ปวช.ปี ๓ คะแนนที่ได้เพิ่ม ๑๐ คะแนนทุกรายวิชา เมื่อรวมกับคะแนนจริงที่ได้ เกรดเฉลี่ยยังไม่ถึง ๒.๐๐ ทำให้จบไม่ได้ ต้องลงเรียนรีเกรดตอนปิดเทอมจึงรอดออกมาได้

   ไปเรียนต่อ ปวส. อีกแห่งหนึ่งในจังหวัดเดียวกัน แต่เรียนได้เทอมเดียวก็ออกมาอยู่บ้าน

   ชีวิตการเล่าเรียนผมเริ่มอีกครั้งเมื่อบวช ผมมีเหตุต้องบวชต่ออีก ๓ พรรษาเพื่อแก้บน พ้นพรรษาแรกไปแล้วผมไปอยู่จำพรรษาที่ จ.เชียงใหม่ และเริ่มต้นเรียนปริญญาตรีที่นั่น ผมสมัครเข้าเรียนในโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันราชภัฏเชียงใหม่กับกรมประชาสงเคราะห์ ที่ต้องการจัดการศึกษาให้กับพระธรรมจาริกที่ปฏิบัติศาสนกิจอยู่ตามหมู่บ้านชาวเขาทั่วภาคเหนือของประเทศไทย เพื่อเพิ่มพูนคุณวุฒิและความรู้สมัยใหม่สำหรับการไปช่วยชาวบ้านพัฒนาคุณภาพชีวิต ควบคู่ไปกับการเผยแพร่ธรรม

   ผมเข้าเรียนได้เพราะเป็นเด็กเส้น เนื่องจากพ่อรู้จักและเคยเป็นลูกน้องของหลวงพ่อรูปหนึ่งซึ่งเป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกรมประชาสงเคราะห์

   พระธรรมจาริกที่มาเข้าโครงการศึกษาต่อนี้ มีพื้นฐานความรู้พอ ๆ กับผม คือไม่ค่อยจะรู้อะไรมาก ทักษะการเรียนรู้ต่าง ๆ มีอย่างจำกัดจำเขี่ย ทั้งการคิด อ่าน เขียน ยกเว้น พูด

   เกี่ยวกับเรื่องการเขียน ผมได้พัฒนาทักษะนี้บ้างผ่านการเขียนโครงการ ซึ่งในการเรียนจะต้องมีการทำโครงการต่าง ๆ มากมาย แต่ก็อย่างว่า โครงการที่เขียนก็มักลอก ๆ เขามาอีกที ไม่ได้คิดเองเขียนเองสักเท่าไร

   ที่เล่ามายืดยาวนี้ เพียงเพื่อจะบอกว่า ผมเองไม่ได้มีพื้นฐานใด ๆ เลยที่จะพัฒนาตนเองในด้านการเขียนหนังสือได้ จบปริญญามาแล้วอย่าว่าจะเขียนบทความสักบทเลยครับ แค่เขียนบันทึกสั้น ๆ สักหน้ากระดาษนึงก็เป็นเรื่องสุดแสนจะสาหัส

   นอกจากนั้นแล้ว โดยพื้นฐานผมแม้จะมีดีกรีถึงปริญญา แต่ก็เป็นคนที่สติปัญญาค่อนข้างอับทึบ คิดอ่านการณ์ใดช้ามาก ๆ การรับรู้เรื่องราวความรู้ใด ๆ ในเรื่องเดียวกันต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนทั่วไปไม่น้อยทีเดียว ผมไม่อาจเข้าใจทันทีถึงเนื้อหาเหล่านั้น ในขณะฟังต้องจด จด จด และจด เพื่อที่จะนำมาทบทวนและทำความเข้าใจในภายหลัง และหากงานนั้นผมไม่ได้จดและไม่ได้มาทวนซ้ำ มั่นใจได้ว่าความรู้เหล่านั้นไม่ได้เข้าไปสู่รอยหยักในสมองเลย

   ดังนั้นจึงขอเป็นกำลังใจให้กับท่านที่จะเริ่มต้นฝึกฝนตนเองครับ

   “ไม่มีใครแก่เกินเรียน” เป็นจริงเสมอครับ

 

บันทึกที่เกี่ยวข้อง

ถอดบทเรียนตัวเองเรื่องการเขียน : (๑) ที่มาและที่ไป

ถอดบทเรียนตัวเองเรื่องการเขียน : (๒) ขอเล่าเรื่องตัวเองสักหน่อย

ถอดบทเรียนตัวเองเรื่องการเขียน : (๓) การอ่านเป็นพื้นฐานที่สำคัญ

ถอดบทเรียนตัวเองเรื่องการเขียน : (๔) ก้าวแรกและก้าวต่อของการฝึกเขียน

ถอดบทเรียนตัวเองเรื่องการเขียน : (๕) เวทีชื่นชมผลงาน

ถอดบทเรียนตัวเองเรื่องการเขียน : (๖) การพัฒนาแบบก้าวกระโดดใน G2K

ถอดบทเรียนตัวเองเรื่องการเขียน : (๗) การเขียนแนวทางแบบผม

ถอดบทเรียนตัวเองเรื่องการเขียน : (๘) ส่งท้ายบทเรียน

 

หมายเลขบันทึก: 317631เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2009 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ผมคิดว่า เรื่องราวชีวิตของพี่เกียรติศักดิ์ จะเป็นเเรงบันดาลใจที่ดีสำหรับ คนเริ่มคิดจะเขียนงานนะครับ...

 

เห็นด้วยค่ะ " ไม่มีใครแก่เกินเรียน"...อย่างพี่ใหญ่คนหนึ่งล่ะ..ชอบใฝ่รู้จาก เรื่องเล่าดีๆของคุณหนานเกียรติค่ะ...แจกช่อดอกไม้ในเทศกาลถวายพระพรค่ะ..

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

อาจารย์มจร.เคยปรารภให้ฟังว่า

อยากให้พระนิสิตเขียนหนังสือ เขียนบทความ

ซึ่งยากมากเลยท่านอยากเห็นว่างั้น

หนานเกียรติเป็นศิษย์เก่ามจร.ที่โดดเด่นมากในตอนนี้

เกิดประโยชน์ในวงกว้างมากมาย

การเขียนเป็นงานศิลปะฝึกฝนบ่อย ๆ ก็จะเขียนได้ดีแบบบันทึกนี้เองค่ะ เป็นกำลังใจให้กับผู้ที่ไม่มั่นใจในการเขียนทุกคนค่ะ ...แม้แต่กับการพูดก็เช้นกัน พูดให้ใครอยากฟัง ไม่ง่ายเลยค่ะ ก็ต้องฝึกและนึกถึงใจคนฟังเช่นกัน อย่างตอนนี้ รู้สึกว่าเขียนเยอะไปไม่ดี พอแค่นี้เป็นน้ำจิ้มก่อนแล้วกันนะคะ แวะมาทักทายค่ะ คงได้เจอกันเร็ว ๆ นี้นะคะ

 

P สวัสดีครับ คุณเอก - จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ผมคิดว่า เรื่องราวชีวิตของพี่เกียรติศักดิ์ จะเป็นเเรงบันดาลใจที่ดีสำหรับ คนเริ่มคิดจะเขียนงานนะครับ...

ขอบคุณมากครับ
ดีใจมากครับหากบันทึกนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจได้จริง
ถือเป็นการตอบแทนสังคมทางหนึ่งของผมแล้วกันครับ

 

P สวัสดีครับ พี่ใหญ่ - นาง นงนาท สนธิสุวรรณ

เห็นด้วยค่ะ " ไม่มีใครแก่เกินเรียน"...อย่างพี่ใหญ่คนหนึ่งล่ะ..ชอบใฝ่รู้จาก เรื่องเล่าดีๆของคุณหนานเกียรติค่ะ...แจกช่อดอกไม้ในเทศกาลถวายพระพรค่ะ..

 

ขอบพระคุณครับพี่ใหญ่

 

30 นมัสการครับพระอาจารย์ - พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) [IP: 125.25.196.45]

อาจารย์มจร.เคยปรารภให้ฟังว่า
อยากให้พระนิสิตเขียนหนังสือ เขียนบทความ
ซึ่งยากมากเลยท่านอยากเห็นว่างั้น
หนานเกียรติเป็นศิษย์เก่ามจร.ที่โดดเด่นมากในตอนนี้
เกิดประโยชน์ในวงกว้างมากมาย

พระอาจารย์ครับ
ตัวป้อนของ มจร. เป็นตัวป้อนที่เลือกไม่ได้ พูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือเหลือจากที่เขาเลือก
แต่ก็มีศักยภาพมากนะครับ หากจะพัฒนาต่อ
เพียงแต่ มจร. เดินตามทางโลกมากเกินไปครับ
ปัญหาของ มจร. จำนวนมากเป็นปัญหาแบบงูกินหางครับ...
ขอบพระคุณพระอาจารย์ที่เข้ามแบ่งปันความเห็นครับ

 

P สวัสดีครับ พี่ศิลา - Sila Phu-Chaya

การเขียนเป็นงานศิลปะฝึกฝนบ่อย ๆ ก็จะเขียนได้ดีแบบบันทึกนี้เองค่ะ เป็นกำลังใจให้กับผู้ที่ไม่มั่นใจในการเขียนทุกคนค่ะ ...แม้แต่กับการพูดก็เช้นกัน พูดให้ใครอยากฟัง ไม่ง่ายเลยค่ะ ก็ต้องฝึกและนึกถึงใจคนฟังเช่นกัน อย่างตอนนี้ รู้สึกว่าเขียนเยอะไปไม่ดี พอแค่นี้เป็นน้ำจิ้มก่อนแล้วกันนะคะ แวะมาทักทายค่ะ คงได้เจอกันเร็ว ๆ นี้นะคะ

ขอบคุณครับพี่
เห็นด้วยอย่างยิ่งเลยครับ ต้องฝึกฝนบ่อย ๆ (แหะ แหะ ผมยังต้องฝึกอีกแยะเหมือนกันครับพี่)
การเข้ามาเป็นสมาชิกใน G2K เป็นเวทีฝึกฝนอย่างดีเยี่ยมเลยครับ
ผมเห็นว่าตัวเองมีพัฒนาการที่ค่อนข้างรวดเร็วในสองสามเดือนที่ผ่านมานี้ครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท