Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

ธรรมใกล้ตัว : การศึกษาธรรมะ คือ การลงทุน


"การศึกษาธรรมะ คือการลงทุนให้กับชีวิตตัวเองนะ หลวงพ่อจะบอกให้  หลวงพ่อเองตอนอยู่กับโลก ก็ไม่ได้เป็นรองใครหรอก อยู่ในโลกก็มีความสุข แต่แล้วก็พบว่า ความสุขของโลกนี่นะ ไม่ได้เรื่องเลย ไม่ได้เรื่องเลย..."

เสียงของหลวงพ่อปราโมทย์ดังขึ้นจากแผ่นซีดี เสมือนว่าท่านกำลังพูดกับเราขึ้นมา........

โดนค่ะ  โดนไปเลย 

น่าคิดนะคะ  ลงทุนเรียนหนังสือ  ลงทุนทำธุรกิจ  ลงทุนเล่นหุ้น  ลงทุนต่างๆนานาได้  ใช้เงินมากมาย  แต่แค่ลงทุนง่ายๆอ่านหนังสือธรรม  ฟังธรรม (มีแจกฟรี) ดูรายการธรรม  กลับทำกันไค่อยได้  เพราะเอาเวลากับแรงไปลงทุนเรื่องอื่นกันหมด  แล้วอย่างนี้เราจะสามารถตัดวงจรความทุกข์ทั้งหมดในชีวิตได้อย่างไรค่ะ  น่าคิดนะคะ  ลงทุนให้กับชีวิต

"การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน"  555

 

วารสารธรรมใกล้ตัว  ฉบับที่ ๐๒๙ พฤหัสบดีที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ 

http://www.dungtrin.com/mag/?29#

 

จากใจบก.ใกล้ตัว - กลางชล

สวัสดีค่ะ

ใจฉุกคิดวาบอีกครั้ง...

การศึกษาธรรมะ คือการลงทุนให้กับชีวิตตัวเอง

นี่ต่างหาก คือการลงทุนที่สำคัญ การลงทุนที่มีผลที่ประเสริฐที่สุดในชีวิตรออยู่ข้างหน้า

 

หลายคนในโลกนี้ คิดแต่เพียงวางแผนการลงทุนเพื่อความมั่นคงทางการเงิน

เพราะคิดว่า "เงิน" คือปัจจัยสำคัญที่จะนำมาซึ่งความสุข

แต่แทบจะไม่มีใครมองเห็นเลยว่า

ความสุขที่ได้สัมผัสกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นของชั่วคราวทั้งสิ้น

ความสุขอันนี้หมดไปครั้งหนึ่ง ก็วิ่งล่าไขว่คว้าหาความสุขอันต่อไปกันอีกครั้งหนึ่ง

 

อย่างตอนเด็ก ๆ เราก็คิดว่า ถ้าเราเอนท์ติดคณะนั้นคณะนี้ เราจะมีความสุข...

ถ้าเรียนจบแล้ว เราจะมีความสุข... ถ้าได้เรียนต่อปริญญาโทด้วย เราจะมีความสุข...

แล้วเราก็พบว่ามันก็อย่างนั้น ๆ จบมาแล้วก็ไม่เห็นจะสุขได้นานสักเท่าไหร่

ต่อไปอีก ถ้าได้งานดี ๆ เราจะมีความสุข... ถ้าได้เงินเดือนเยอะ ๆ เราจะมีความสุข...

ถ้าตำแหน่งใหญ่ ๆ อีก เราจะมีความสุข... ถ้ามีแฟนสักคน เราจะมีความสุข...

ถ้ามีครอบครัวดี ๆ เราจะมีความสุข... ถ้าลูกเราประสบความสำเร็จ เราจะมีความสุข...

กระทั่งพอแก่ไป เจ็บป่วยทรมาน นอนทำอะไรไม่ได้แล้วอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล

ยังว่า ถ้าตายไปเสียได้ คงจะมีความสุข... หลวงพ่อท่านเคยฉายภาพให้ฟังอย่างนั้น

 

การที่เราทะยานวิ่งไล่คว้าความสุขด้วยแรงผลักดันของกิเลสอยู่ตลอดชีวิต

ก็ไม่ต่างอะไรกับลาที่เอาแต่จดจ้องเดินไปข้างหน้า เพื่อไล่คว้าแครอทที่ปลายไม้

โดยที่ไม่รู้เลยว่า มันจะไม่มีวันเอื้อมคว้าแครอทนั้นมาเข้าปากได้เต็มคำอย่างแท้จริง

เมื่อไม่มีใครมองเห็นความสุขที่เหนือกว่า กระทั่งว่าสามารถตัดวงจรความทุกข์ทั้งหมดได้

ก็ไม่มีใครคิดแสวงหาวิธีการลงทุนเพื่อเป้าหมายสูงสุดเช่นนั้น

 

มีใครเคยอ่านหนังสือชื่อดังเรื่อง "พ่อรวยสอนลูก" (Rich Dad Poor Dad) ไหมคะ

มีอยู่ตอนหนึ่ง ที่ผู้เขียนเปรียบเทียบชีวิตมนุษย์เงินเดือนเหมือน "สนามแข่งหนู" (Rat Race)

เขาเปรียบวลี "สนามแข่งหนู" เสมือนกับวังวนของการเป็นลูกจ้าง

ที่ต่างคนก็เหมือนสาละวนวิ่งไปอย่างไร้จุดหมาย ด้วยอาการตะเกียกตะกายของ "หนู"

คือวิ่ง ๆ ๆ ทำงานตัวเป็นเกลียว เพียงเพื่อได้รับเงินเดือนตอบแทนพอกินพออยู่ไปวัน ๆ

ผู้เขียนบอกว่า แม้จะมีคนเห็นช่องทาง ชี้ทางออกไปสู่อิสรภาพจากสนามแข่งหนูแห่งนี้ให้

แต่ก็น้อยคนเหลือเกินที่จะเชื่อว่าอิสรภาพทางการเงินเช่นนั้นมีอยู่จริง

และน้อยคนเหลือเกินที่แม้รู้ว่ามีอยู่จริง แล้วจะลุกขึ้นมาจนดีดตัวออกมาจากสนามแข่งนี้ได้

 

หนังสือชื่อดังเล่มนี้ แนะนำคนอ่านให้หนีให้พ้นจาก "สนามแข่งหนู"

หรือหลุดออกจากการมีชีวิตอยู่ด้วยเงินเดือนประจำ จากการเป็นลูกจ้าง

ด้วยกลยุทธ์ "ให้เงินทำงาน" แทนที่เราจะเหนื่อยทำงานเพื่อหาเงินไปชั่วชีวิต

 

อันที่จริง ชีวิตมนุษย์เรา ก็ไม่ต่างอะไรกับสนามแข่งหนูอย่างที่ว่าไว้นั้นนักหรอกนะคะ

ถ้าถอยขึ้นมามองอีกชั้น แม้จะออกมาจากสนามแข่งหนูได้แล้ว มั่นคงทางการเงินแล้ว

เราก็ยังติดอยู่กับสนามแข่งมหึมาของสังสารวัฏ ที่หนีสุขทุกข์ หนีการเวียนเกิดเวียนตายไม่พ้น

 

แทบจะไม่มีใครเคยมองเห็นว่า เราก็เหมือนหนูที่ติดกับดักอยู่ในสนามนั่นแหละ

ดิ้นรน ตะเกียกตะกายวิ่งไล่หาความสุขกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

แล้วก็พอใจอยู่กับการได้เสพความสุขหยาบ ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ ไปชาติหนึ่ง ชาติหนึ่ง

 

แม้จะมีบรมครูผู้ประเสริฐชี้ทางออกไปสู่อิสรภาพจากวงจรแห่งการเวียนเกิดเวียนตายนี้ให้

แต่ก็น้อยคนเหลือเกินที่จะเชื่อว่าการพ้นทุกข์ทางใจโดยสิ้นเชิงได้เช่นนั้นมีอยู่จริง

และน้อยคนเหลือเกินที่แม้รู้ว่ามีอยู่จริง แล้วจะเพียรพยายามจนดีดตัวพ้นจากสังสารวัฏนี้ได้

 

คุณผู้อ่านทุกท่านที่ได้อ่านนิตยสารเล่มนี้ ต้องถือว่าเป็นคนที่โชคดีมาก ๆ นะคะ

เพราะมีโอกาสได้รู้จักและสนใจ "กลยุทธ์หลุดพ้นจากทุกข์ทางใจ โดยไม่กลับกำเริบอีก"

ที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสสอนไว้ และยังคงไม่ล้าสมัยเลย แม้จะล่วงเลยกว่าสองพันมาปีแล้ว

 

เพียงแต่สิ่งที่อาจจะยังขาดสำหรับหลาย ๆ คนก็คือ การลงทุนศึกษาธรรมะ

ทั้งด้วยการทำความเข้าใจ และการลงมือปฏิบัติให้ประจักษ์ด้วยตนเองเท่านั้น

 

ถ้าใครเคยได้ยินโฆษณาของกองทุน เขาจะต้องมีประโยคที่อ่านเร็ว ๆ ปิดท้ายนะคะว่า

"การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน" : )

 

ธรรมะก็เหมือนกันนะคะ ถ้าจะเริ่มต้น ก็ควรต้องศึกษาให้เข้าใจหลักการและวิธีก่อน

เพราะความเสี่ยงก็มีอยู่ตรงที่ ถ้าจับหลักผิด หรือไปยึดถือศรัทธาในแนวทางที่ไม่ถูกตรง

เราก็มีสิทธิ์ดำเนินชีวิต หรือปฏิบัติไปด้วยความผิดเพี้ยน แล้วนับวันก็จะยิ่งออกอ่าว

ลากเราห่างไปจากเป้าหมาย จนสุดท้าย อาจต้องขาดทุนอีกยาวกว่าจะเจอทางที่แท้จริง

 

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าคำสอนอันไหนเป็นทางตรง เป็นทางที่แท้จริง?

ขอให้เราศึกษาและยึดคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลักให้แม่นไว้ดีที่สุดค่ะ

ธรรมะรุ่นหลัง ๆ นั้น มีการตีความ แปลความหมาย และแต่งตำรากันออกมามากมาย

ถ้าไม่แน่ใจ ขอให้เปิดพระไตรปิฏกเทียบเคียงดูว่า เป็นวจนะของพระพุทธเจ้าจริง

หรือดูเบื้องต้นว่า คำสอนนั้น เป็นไปเพื่อการลดละกิเลส เป็นไปเพื่อความเล็กลงของตัวตน

ให้การปฏิบัตินั้นอยู่ในขอบเขตของกายใจ เป็นไปเพื่อละวางความเห็นผิดว่าตัวตนนั้นเป็นเรา

 

กลยุทธ์การจัดพอร์ทการลงทุน สำหรับคนที่มีเป้าหมายเป็นอิสรภาพทางใจอย่างถาวรนั้น

ถ้าใครเริ่มสนใจเริ่มต้น ก็ขออนุญาตแนะนำให้จัดสรรการลงทุนเป็น ๓ ส่วนนะคะ : )

คือ การทำทาน การรักษาศีล และการภาวนา

 

โดยมีเงื่อนไขพิเศษคือ ลงทุนไปแล้ว ห้ามหวังผลตอบแทนนะคะ : )

เพราะผลที่รอให้เราเก็บเกี่ยวนั้น มันจะมาเองตามเหตุปัจจัยที่ได้ทำ

สั่งให้เกิด ก็ไม่ได้ ห้ามไม่ให้เกิด ก็ไม่ได้ แถมยิ่งโลภอยากได้มาก ผลตอบแทนยิ่งน้อยลง

 

หากรู้ตัวว่าเป็นคนไม่ค่อยทำทาน หรือยังไม่ได้ทำทานจนเป็นนิสัย

ก็ลองหมั่นหัดให้ออกมาจากใจ วันละเล็ก วันละน้อย โดยทำความเข้าใจไว้แต่ต้นก่อนว่า

การทำทาน เป็นการสละความตระหนี่ถี่เหนียวออกจากใจ

ไม่ใช่ทำเพื่อชื่อเสียงหน้าตา ไม่ใช่เพื่อล้างซวย หรือกระทั่งเพื่อโลภเอาบุญ

แล้วเราก็ไม่จำเป็นต้องรวยก่อนถึงจะให้ได้ และไม่จำเพาะว่าจะต้องเป็นเงินเท่านั้นนะคะ

แต่เล็งแล้วว่าสิ่งที่เราอยากให้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ ไม่ว่าจะเป็นของเล็กของน้อย

การบริจาคโลหิต อวัยวะ แรงกาย แรงใจ ความรู้ ธรรมทาน หรือกระทั่ง การให้อภัย

ให้จนเหมือนจิตแผ่เมตตาออกไปก่อน อยากให้ก่อน เจอใครอยากได้อะไรค่อยว่ากันอีกที

อย่างนี้ ก็จะทำให้จิตอยู่ในสภาพที่สงบลงและเปิดกว้างเป็นธรรมชาติเบื้องต้น

 

ถัดมา รักษาศีล ให้ศีลเป็นเรื่องปกติของชีวิต ศีล ๕ นี่ล่ะค่ะ...

ศีลจะเป็นเสมือนกรอบล้อมรั้ว ไม่ให้เราล่วงเกินผู้อื่น ทั้งด้วยกาย และด้วยวาจา

แล้วเมื่อเราเป็นผู้ไม่ก่อเหตุแห่งเวรภัย ประตูสู่อบายก็ย่อมปิดแคบลง

เท่ากับศีลจะช่วยรักษาเราให้อยู่ในเส้นทางที่จะไม่ไหลลื่นลงต่ำได้ทางหนึ่ง

และศีลก็จะเป็นเครื่องหนุนให้จิตเรามีความสงบตั้งมั่น เอื้อต่อการภาวนาต่อไปค่ะ

 

แต่การ "ไม่ผิดศีล" กับการตั้งใจ "รักษาศีล" นั้นก็ต่างกันนะคะ

วันนี้ เราอาจโชคดีที่มีอันจะกิน เลยไม่มีช่องให้คิดจะลักทรัพย์ใคร ดูแล้วก็เหมือนมีศีล

แต่ถ้าวันหนึ่งเราเป็นเด็กข้างถนนหิวโซ เห็นเงินวางอยู่จะ ๆ ตรงหน้า เราจะหยิบหรือไม่?

 

หลวงพ่อปราโมทย์ท่านเคยเล่าให้ฟังถึงชาวนาคนหนึ่งนะคะ ในฤดูที่พืชผักไม่ออกผล

คนอื่นเขาพากันไปตกปลาหาเลี้ยงครอบครัว แต่ชายคนนี้ ไม่ยอมไปตกปลากับเขา

เลี้ยงลูกเลี้ยงตัวมาด้วยน้ำจนตายไป คือยอมตายไปเสียดีกว่าต้องฆ่าชีวิตอื่น

เรียกว่ารักษาศีลยิ่งชีพ การเป็นผู้รักษาศีลสัตย์ตลอดชีวิตนั้น นับว่าเป็นบารมีที่ให้ผลมาก

เพราะฉะนั้น มีสติและ "ตั้งใจ" เป็นผู้มีศีลกับตัวเองให้เป็นปกติกันไว้นะคะ

 

สุดท้าย แบ่งเวลาให้กับ การภาวนา ซึ่งไม่ได้แปลว่าการสวดมนต์อ้อนวอนนะคะ : )

แต่ "ภาวนา" แปลว่า การทำให้เจริญ คือการฝึกหรือพัฒนาให้เจริญขึ้น ซึ่งมีหลัก ๆ ๒ อย่าง

อย่างแรก ภาวนา แบบสมถะ อันนี้มุ่งเอาความสงบเป็นหลัก

เป็นการจับลิงที่ซุกซน อยู่ไม่สุข ไปโน่นมานี่ตลอดเวลา (คือใจของเราเอง) : ) ให้สงบนิ่ง

ด้วยการทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว เช่น นั่งสมาธิดูลมหายใจไปก็ได้ พุทโธไปก็ได้

ที่ฟุ้งซ่านก็จะสงบ ที่เร่าร้อนก็จะสบาย ที่เป็นอกุศลก็จะเปลี่ยนเป็นกุศล

 

แต่ถ้าเจออะไรกระทบหน่อยเดียว เดี๋ยวก็วิ่งหนีไปหลบอยู่ในถ้ำของความสงบทุกที

แบบนี้ก็เห็นทีจะชนะกิเลสไม่ได้เสียทีหรอกค่ะ เราต้องออกไปเผชิญกับมันตัวต่อตัวด้วยค่ะ!

 

นั่นก็คือ การภาวนาอย่างที่สอง ที่สำคัญและควรเจริญให้มาก คือ แบบวิปัสสนา

ซึ่งการเป็นภาวนาที่มุ่งเจริญปัญญาเพื่อให้เห็น "ความจริง" ของกายและใจ

วิธีการก็คือ หมั่นเจริญสติ รู้สึกตัวให้บ่อย ๆ แต่คราวนี้ไม่ต้องไปบังคับลิงให้นิ่งแล้วนะคะ : )

เพราะเป้าหมายคือ เราต้องการเห็น ความจริงของกายของใจ อย่างที่มันเป็นจริง ๆ

 

เริ่มต้นก็คอยทำความรู้จักกับสภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในกาย ภายในใจ ของเรานี้

กายขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ก็รู้... มีความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉย ๆ เกิดขึ้น ก็รู้...

มีราคะ โทสะ โมหะผุดขึ้น ก็รู้... มีสภาวธรรมใด ๆ เกิดขึ้น ก็รู้...

คือพอมันเกิดแล้วก็รู้ให้ทันไว ๆ อย่างเป็นกลาง อย่างเป็นคนวงนอกนั่งดูละครเรื่องกายใจ

อย่าโดดเข้าไปเล่นด้วย อย่าไปสั่งคัท อย่าไปสั่งแอ็คชั่น แต่ดูมันเปลี่ยนแปลงของมันเอง

ดูไปอย่างไม่คาดหวัง จนกระทั่งวันหนึ่งเราจะเห็นเองว่า

กายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา

มันเป็นเพียงของชั่วคราว เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 

เมื่อเข้าใจความเป็นจริงของกายของใจว่าไม่ใช่ตัวเราแล้ว จะหมดความดิ้นรน

และจิตที่หมดความดิ้นรน หมดความปรุงแต่งนั้นเอง จะเป็นอิสระพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

 

ดังนั้น ก็ควรฝึกควบคู่กันไปค่ะ ทำสมถะให้เหมือนพักผ่อน ทำวิปัสสนาให้เป็นงานของจริง

จะเอาแต่นอนแล้วไม่ทำงานก็ไม่ได้ ครั้นจะทำงานอย่างเดียวไม่พักเลยก็ไม่ไหว : )

 

ลองจัดพอร์ทของตัวเองให้สมดุล และเริ่มลงมือปฏิบัติกันดูนะคะ : )

การดำเนินตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้านั้น ไม่ยากเกินกว่ามนุษย์คนหนึ่งจะทำได้

แค่เริ่มศึกษาทำความเข้าใจ ทำตามทีละเล็กละน้อย วันต่อวัน เดือนต่อเดือน

เผลอไปแผล็บเดียว ย้อนกลับมาอีกทีอาจจะรู้สึกต่างไปเป็นคนละคนแล้วก็ได้

 

น่าเสียดายที่ธรรมะนั้น ไม่มีอะไรเหมือนกองทุนรวม

ที่เราแค่ไว้ใจให้ใครมาบริหารให้แทน แล้วเราก็แค่รอเก็บเกี่ยวผลตอบแทน

อยากได้ธรรมะของจริง ต้องลงมือศึกษาปฏิบัติ "ด้วยตนเอง" เท่านั้นนะคะ

แม้พระพุทธเจ้าเอง ท่านก็ยังบอกว่า ตถาคตเป็นเพียง "ผู้บอกทาง" เท่านั้น

 

หลวงพ่อปราโมทย์ท่านบอกว่า "ถ้าเราภาวนาเป็น เราจะรู้เลยว่า

ถ้าหากเราไม่มีโอกาสได้ภาวนา เราจะเสียโอกาสอย่างร้ายแรงที่สุดในชีวิต

แต่ถ้าเราภาวนาไม่เป็นทั้งชาติ เราจะไม่รู้สึกอย่างนี้หรอก...

เราก็จะรู้สึกว่าเราโอกาสดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น มันเป็นการลงทุนให้ชีวิตตัวเองนะ

ค่อย ๆ เรียนธรรมะไป ถ้าเข้าใจสิ่งที่หลวงพ่อบอก จิตใจเกิดสติขึ้นมา

เกิดสมาธิ เกิดปัญญาขึ้นมา อีกหน่อยจะรู้เลยว่า ศาสนาพุทธนั้น มีประโยชน์มหาศาล"

 

ถ้าอยากร่ำรวยเงินทอง ก็ศึกษาเส้นทางของ "พ่อรวย" หรือ Rich Dad ตามอัธยาศัย

แต่ถ้าอยากร่ำรวยทางใจ ก็ขอให้น้อมรับพระพุทธเจ้าเป็นบรมครูเอก

ฟังสิ่งที่ท่านสอน ทำตามในสิ่งที่ท่านชี้แนะ มีวินัยในสิ่งที่ท่านชี้ให้ดำเนิน

แล้วเราจะมีแต่อริยทรัพย์มหาศาล ที่หาไม่ได้อีกจากที่ใด ๆ ในโลกอย่างแท้จริงค่ะ...

 

หมายเลขบันทึก: 317410เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2009 14:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 00:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่าน


ความเห็น
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ใครจะลองเอาอย่างท่านเศรษฐีในครั้งพุทธกาลก็ได้นะ

จ้างลูกชายให้เข้าวัดฟังธรรม(ลงทุน)

ขออนุโมทนาที่อาจารย์เผยแพร่สิ่งดี ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท