ดอกสร้อย ก ข ที่แสนไพเราะและทรงคุณค่า


ครูเพื่อศิษย์

 

 

 

บทดอกสร้อย ก ข  ที่แสนไพเราะและทรงคุณค่า

ของ

ท่านอาจารย์อภัย  จันทวิมล

ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย

    ผู้เขียนนำบทดอกสร้อยนี้มาฝากเพื่อนๆบ้านภาษาไทย  เพราะเห็นว่าเป็นบทประพันธ์ที่ทรงคุณค่า    ท่านอาจารย์อภัย จันทวิมล ท่านได้นำเอาพยัญชนะไทยแต่ละตัวมาเป็นหัวข้อเรื่อง  ยกเว้นตัว  ฃ และ ฅ  ที่เลิกใช้แล้วในปัจจุบัน    ดังนั้นจึงมีทั้งหมด ๔๒ บท

   วัตถุประสงค์ของท่านอาจารย์อภัย จันทวิมล  คือท่านต้องการให้เด็กๆไทยได้รู้จักบทประพันธ์แบบกลอนแปด   รู้จักคำคล้องจอง   เพื่อให้คุณครูได้นำไปใช้สอนเด็กที่กำลังหัดอ่าน  ได้อ่านเป็นทำนองเสนาะ  หรือร้องเป็นเพลง  โดยใช้ทำนองไทยเดิม  ซึ่งนับวันจะเลือนหายไป หากไม่ช่วยกันรักษาไว้  เพื่อเป็นการรักษาและส่งเสริมเอกลักษณ์ไทยส่วนหนึ่ง

    คุณครูภาษาไทย  หรือเพื่อนๆที่สนใจ หากจะนำไปสอนเด็กๆในการดูแล หรือบุตรหลานก็จะเป็นการดีอย่างยิ่ง   เทคนิควิธีการนำไปใช้กับเด็กๆมีหลายวิธีค่ะ  เช่น

  • ครูอ่านออกเสียงแบบร้อยแก้วธรรมดา  นักเรียนอ่านตาม
  • ครูอ่านทำนองเสนาะ  นักเรียนอ่านตาม
  • ครูร้องเป็นเพลงทำนองไทยเดิม  นักเรียนร้องตาม
  • หากครูร้องเพลงไม่ได้ ก็หาคนที่ร้องได้และบันทึกเสียงไว้ เพื่อเปิดให้เด็กๆฟัง
  • ใช้เป็นสื่อสอนคิดวิเคราะห์ ได้เยี่ยมมากเชียวค่ะ  ทุกวรรค ทุกบทล้วนมีความหมาย
  • ใช้สอนอ่านเอาเรื่อง (ขอใช้คำเดิมนะคะ เพราะสื่อความได้ชัด) อ่านแล้วเจาะประเด็น จับใจความสำคัญ เป็นวรรค เป็นบท 
  • ใช้สอนคัดลายมือ
  • ใช้สอนคำพื้นฐาน  ให้อ่าน-เขียนตามคำบอก  สอนเขียนเป็นคำ-เป็นประโยค
  • ใช้สอนเรียงความเชิงสร้างสรรค์จากบทดอกสร้อย
  • แสดงละคร จากบทดอกสร้อย
  • วาดภาพประกอบ บทดอกสร้อย
  • ทำโครงงานจากบทดอกสร้อย
  • โอย....เยอะแยะมากมายค่ะ
  • ลองดูนะคะ  ค่อยๆ ไปทีละบท  
  • สำหรับทำนองเพลงไทยเดิม  หากเหลือบ่ากว่าแรง(อิอิ)หาทำนองใส่ใหม่ก็ได้ค่ะ        

 

 

 ไก่อู(ก)

 ทำนองเพลงนางนาค 

    ไก่เอ๋ยไก่อู...

แต่เช้าตรู่    ก็ขัน    ประชันเสียง

บอกเวลา    ว่าควรตื่น   อย่างใกล้เคียง

คนจึงเลี้ยง  มันไว้   ที่ในกรง

เป็นจ่าฝูง  จูงให้    ไก่ตัวเมีย

เดินคุ้ยเขี่ย   หากิน   ถิ่นประสงค์

อันคนเรา   ถ้าผู้ใด    ใจซื่อตรง

ทั้งมั่นคง    ต่อหน้าที่   ดียิ่งเอย.

คำศัพท์น่ารู้ : ประชัน   จ่า   ไก่ตัวเมีย

ไก่ตัวเมีย   :   สามารถเปรียบเทียบกับเพลงกล่อมเด็กที่ว่า   "ไก่เอ๋ยไก่  เลี้ยงลูกมาจนใหญ่  ไมมีนมให้ลูกกิน   ลูกร้องเจี๊ยบเจี๊ยบ  แม่พาเลียบไปคุ้ยดิน  ทำมาหากินตามประสาไก่เอย"

 

 ไข่ไก่ (ข)

ทำนองเพลง เขมรปากท่อ

     ไข่เอ๋ยไข่ไก่...

ฝรั่งไทย    ชอบกิน    กันถ้วนหน้า

เป็นอาหาร     อย่างดี    มีราคา

คนจึงหา    ไก่มาเลี้ยง   เพียงต้องการ

เอาทั้งไข่   และเนื้อไก่    ได้ประโยชน์

ไม่มีโทษ    ถ้าไข่ดี   มีคุณค่า

แต่ไข่เน่า    ทิ้งไป   ไร้ราคา

จงอุตส่าห์   ทำดีไว้   ได้ดีเอย.

 

 ควายถึก (ค)

ทำนองเพลง เขมรกำปอ

     ควายเอ๋ยควายถึก...

กำลังคึก    มีแรง   แข็งขยัน

ยามไถนา    ก็อุตส่าห์   กล้าประจัญ

สู้บุกบั่น    ดึงคันไถ   ไปตามนา

ยามหยุดพัก   นอนในปลัก   รักนกเอี้ยง

ไม่หลีกเลี่ยง   งานหนักเบา  เอาทุกท่า

ควายใจเย็น    เป็นสัตว์ดี   มีปัญญา

คนมักว่า    "โง่เหมือนควาย"   เสียหายเอย 

คำศัพท์น่ารู้ : ถึก  คึก  ประจัญ  บุกบั่น  ปลัก

 

 ระฆังวัด (ฆ)

ทำนองเพลง เวสสุกรรม

    ระฆังเอ๋ยระฆังวัด...

เสียงฟังชัด  เหง่งง่าง  อย่างมั่นหมาย

บอกพระสงฆ์   ให้ลงมา  สาธยาย

มนต์ทั้งหลาย   ที่กำหนด   ให้จดจำ

ระฆังนี้   ตีถูกต้อง   ตามเวลา

เริ่มตีช้า   แล้วจึงเพ่ง   เร่งกระหน่ำ

เปรียบคนดี    ที่ขยัน  หมั่นกระทำ

ถึงงานซ้ำ   ย้ำให้ดี   มีคุณเอย.

 

 งูพิษ (ง)

ทำนองเพลง นาคราช

    งูเอ๋ยงูพิษ...

เป็นงูร้าย    หลายชนิด   อยู่ในป่า

อาจกัดคน   วัวควาย   วายชีวา

เป็นต้นว่า   งูแมวเซา   และเห่าดง

งูกะปะ   จงอาง   เขียวหางไหม้

งูสามเหลี่ยม   รู้ไว้   อย่าใหลหลง

เปรียบงูร้าย   คล้ายคนชั่ว   อย่ามัวงง

ใครลุ่มหลง   คบไว้   ไม่ดีเอย.

คำศัพท์น่ารู้ : ใหลหลง  ลุ่มหลง

ใหลหลง  ก.  หลงใหล, พลั้งเผลอ, ฟั่นเฟือน

ลุ่มหลง   ก.  หมกมุ่น, มัวเมา.

             ******

เป็นอย่างไรบ้างคะแต่ละบทขมวดคำสอนไว้แบบโดนๆ ทีเดียวนะคะ

ไม่เพียงแต่ได้ความงดงามทางภาษาเท่านั้น

เพิ่งได้ ๕ บท ค้างอีกตั้งเยอะ

แล้วค่อยมาต่อนะคะ

วันนี้ไปก่อนค่ะ..

มีความสุขกับการทำงานทุกท่านนะคะ

สวัสดีค่ะ

หมายเลขบันทึก: 317336เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2009 07:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดียามสายๆค่ะ

(กำลังรับแขกอยู่ค่ะ วันนี้มีคณะครูมาศึกษาดูงาน ผอ.กำลังบรรยายเลยแวบๆเข้ามาค่ะ คริ..คริ.. )

  • เห็นบันทึกนี้แล้วคิดถึงครูกานท์จังค่ะ(นึกถึงตอนที่ครูให้เราท่องอาขยานตอนเช้าๆทุกวัน)
  • หนูก็เลยติด(เป็นนิสัย)นำกลับมาใช้ให้เด็กๆท่องทุกวัน เช้าและเย็น เก็บเด็กให้สงบได้ดีนักแล..
  • อิ..อิ..ชอบไก่อูเอ๋ย..ไก่อูจังค่ะ (เพื่อนกับไก่เอ๋ย..ไก่แจ้ ป.๒)
  • ศน.อ้วนเจ้าขา  นำมาให้ครบ ๕๒ บทเลยนะคะ หนูจะแอบCopyไปให้เด็กๆท่องค่ะ ท่าทางน่าสนุก ชอบๆๆๆๆๆๆๆ ถูกใจครู ป.๒ ค่ะ
  • ชอบกิจกรรมการนำไปใช้ที่ศน.แนะนำด้วยค่ะ ขอบคุณๆๆๆๆๆ
  • วันนี้นำ ๓ บทนี้ไปให้เด็กๆท่องก่อนค่ะ แล้วจะมาเล่าให้ฟังนะคะว่าเป็นอย่างไรบ้าง
  • สุขกาย สุขใจทุกๆวันนะคะ
  • คิดถึงค่ะ ..^_____^..
  • ชอบชุดควายถึกครับพี่อ้วน
  • ไม่ได้ฝึกร้อง
  • จะได้เอาไปสอนเด็กๆๆครับพี่

ควายเอ๋ยควายถึก...

กำลังคึก    มีแรง   แข็งขยัน

ยามไถนา    ก็อุตส่าห์   กล้าประจัญ

สู้บุกบั่น    ดึงคันไถ   ไปตามนา

ยามหยุดพัก   นอนในปลัก   รักนกเอี้ยง

ไม่หลีกเลี่ยง   งานหนักเบา  เอาทุกท่า

ควายใจเย็น    เป็นสัตว์ดี   มีปัญญา

คนมักว่า    "โง่เหมือนควาย"   เสียหายเอย 

 

แก้เลขผิดค่ะ ๕ บทค่ะ ไม่ใช่ ๓ บท คริ..คริ..

    ..^___^..

เพลงอะไรคะ

ไม่เคยได้ยินเลย

เนื้อหาดีครับ...อยากเอาไปเป็นสื่อไว้เผื่อสอนเด็ก...แต่ไม่รู้ทำนองครับ...แย่เลย

เป็นของเก่าหรือคะ ดิฉันไม่คุ้นเลยค่ะ

พยายามอ่านแล้วร้องตาม บางท่อนก็พอไม่ได้

ถามครูนิดค่ะว่า ตอนนี้เด็กๆ ยังท่องอาขยานก่อนเลิกเรียนกันหรือเปล่า

สวัสดีค่ะเพื่อนๆบ้านภาษาไทยที่รักทุกท่าน (น้อง ดร.ขจิต , ครูตุ๊กแก ,  คุณแสงดา , คุณกรกฎ และ คุณ nui)

ขอบคุณค่ะที่มาร่วมท่องบทดอกสร้อย ก  ข ด้วยกัน

แม้จะผ่านมาแสนนานเนิ่นนาน แต่บทดอกสร้อยก็ยังคงความไพเราะไว้ได้ไม่เสื่อมคลาย

สำหรับทำนองเพลงไทยเดิมของแต่ละบทนั้น  หากท่านยังไม่เคยได้ยินได้ฟังเพลงต้นตำรับจริงๆแล้วจะไม่ทราบหรอกค่ะ

แม้แต่ผู้เขียนเองก็ยังไม่เคยได้ฟังมาก่อนเป็นส่วนใหญ่

มีเพียงบางเพลงเท่านั้นเองค่ะ ที่จำท่วงทำนองได้

ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาก็ คือ ใช้การท่องอาขยานเอานะคะ  ท่องง่ายๆ  ไม่ต้องใส่ทำนองเพลงไทยเดิม

สำหรับคำถามของคุณ nui เรื่องการท่องอาขยานในโรงเรียนนั้น

ยังมีอยู่ค่ะ  แต่เป็นส่วนน้อยแล้ว  กาลเวลาเปลี่ยนวิถีชีวิตก็เปลี่ยนตามค่ะ

แม้ว่ากระทรวงยังคงให้ความสำคัญและกำหนดบทอาขยานให้เรียนอยู่ ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

แต่การท่องอย่างจริงจังเหมือนสมัยก่อนนู้น ไม่ค่อยปรากฎแล้วค่ะ

จะยังคงหลงเหลืออยู่เพียงในโรงเรียนที่เห็นความสำคัญและเอาจริงเอาจังเท่านั้น

(หมายความว่าต้องเอาจริงเอาจังทั้งระบบค่ะ เช่นทั้งโรงเรียน , ทั้งเขตพื้นที่ เป็นต้น) จึงจะเป็นมรรคเป็นผลค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท