เรียนรู้ตลอดชีวิต
พระมหา วีระ วีระ กิตฺติวณฺโณ / ได้ทุกทาง

พุทธจริยศาสตร์กับปัญหาการทำแท้ง


การทำแท้ง

พุทธจริยศาสตร์กับปัญหาการทำแท้ง

 

๑. บทนำ

จากงานที่พระศรีวิสุทธิคุณ พระอาจารย์ประจำวิชาพุทธจริยศาสตร์กับปัญหาทางสังคมร่วมสมัย  มอบหมายให้เขียนความเรียง หรือ เขียนบทความให้เป็นวิชาการ  ทั้งหมด ๖ เรื่อง  ข้าพเจ้าเลือก เรื่องพุทธจริยศาสตร์กับปัญหาการทำแท้ง เป็นบทความแรกที่ลงมือเขียน  เพราะเห็นว่าประเด็นการทำแท้ง เป็นปัญหาทางจริยศาสตร์ที่ผู้คนในสังคมทุกศาสนา และ รัฐ ประเทศ สังคมโลกปัจจุบันยังคงเหนียวแน่นในหลักคิดทางจริยธรรมอย่างมั่นคง ไม่ว่าจะจับหลักจริยธรรม(ศีลธรรม) หรือ กฎหมาย ทั้งนี้คงจะเป็นไปได้สูงว่า ด้วยว่าการทำแท้ง หรือการฆ่า ทำลายชีวิตมนุษย์ เป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความหวั่นไหวทางจิตใจของมนุษย์ผู้มีจิตใจรู้สึกนึกคิดทุก ๆ คน   การเจ็บ การป่วย การตาย การสูญเสีย การพลัดพรากเป็นเรื่องที่คนทุกคนไม่ประสงค์จะพบเจอกับตนแน่นอน  สิ่งเหล่านี้ล้วนใกล้ชิดและหลีกเลี่ยงไม่ได้ทุกคน  แต่คนเราก็ไม่ลดละที่จะหลบหลีกหนีความจริงเหล่านี้เหมือนกับว่าต้องทำให้ได้  ต่างจึงให้คุณค่าความมีชีวิตของมนุษย์คงทนทางจริยศาสตร์มากที่สุด  

ในความเป็นจริงของมนุษย์โลก  เมื่อสิ่งใดเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจริยธรรมยิ่งสูง  การละเมิดสิ่งนั้น ย่อมเป็นปัญหาทางสังคมยิ่งมากไปด้วย   และถ้าสิ่งใดมีคุณค่าทางจริยธรรมต่ำลง  การละเมิดสิ่งนั้นก็เป็นปัญหาทางสังคมต่ำลงตามระดับไปด้วย   สอดคล้องกับความเป็นจริงเมื่อวิเคราะห์สภาวะจิตใจผู้ละเมิดจริยธรรมข้อนั้น ๆ ได้ ก็เพราะมีภาวะบีบคั้น คับแคบ  ขัดข้อง ขัดเคือง ขุ่นมัว พร่าพราง  มืดบอด มืดมัวปิดบัง ทางจิตใจในขณะนั้น    ทางหลักพระพุทธศาสนาเรียกว่า บาปอกุศลครอบงำ ( อกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ โมหะ) หรือ จิตตก  จิตเศร้าหมอง    ซึ่งตรงกันข้ามกับ จิตสดใส  จิตผ่องใส  จิตสะอาด  จิตปภัสสร ( กุศลมูล คือ อโลภะ  อโทสะ  อโมหะ)   

การทำแท้ง หรือการทำลายชีวิตมนุษย์ที่กำลังเกิดอยู่ในท้องของตน       หญิงผู้ได้ฐานะว่า แม่ แต่ทำแท้งเองจำต้องตกอยู่ในภาวะจิตที่มีความบีบคั้น คับแคบ  ขัดข้อง ขัดเคือง ขุ่นมัว พร่าพราง  มืดบอด มืดมัว ปิดบัง ขณะนั้นอย่างมากขึ้นตามลำดับ จึงเป็นเหตุให้ตัดสินใจอย่างนั้นได้  ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเมื่อรากเง่าอกุศลเกิดขึ้นอกุศลใดยังไม่เกิดก็จะเกิดขึ้นตามมาด้วย การทำแท้งจึงเป็นปัญหาทางจริยธรรมที่กว้างกระทบครอบคลุมการผิดศีล ๕ เกือบทุกข้อ หรือ เพราะผิดมาแล้ว ๔ ข้อก็มากมี

เมื่อสังคมมีปัญหาการทำแท้งเกิดขึ้น จิตใจของผู้คนในสังคมนี้ทั้งหญิงผู้ทำแท้ง หมอที่ลงมือทำแท้ง  คนรอบข้างที่สนับสนุนการทำแท้ง  หรือคนใดที่เห็นตาม  จะด้วยความจำเป็น จำยอม หรือ เต็มใจก็ตาม ย่อมเป็นผู้ที่มีมาตรฐานทางจริยธรรมตกต่ำตามขนาดของเจตนาที่กระทำ   ความอ่อนแอทางจริยธรรมอาจทำให้กฎหมายเปลี่ยนแปลงผ่อนปรน หย่อนยาน  นำไปสู่ความอ่อนแอทางศีลธรรมของสังคม ผู้คนขาดหิริโอตัปปะจิตหยาบกระด้างมากขึ้น บาปอกุศลหนักจะคุกคามสังคมโลกมนุษย์ตามกฎวัฎฎะ กฎไตรลักษณ์   ในทางลบ ทางตกต่ำเร็วขึ้น

 

 

๒. พุทธจริยศาสตร์

เพื่อให้การวิเคราะห์ปัญหาได้ตรงตามหลักคิดทางพระพุทธศาสนา จึงต้องนำหลักพุทธธรรมในระบบพุทธจริยศาสตร์มาเขียน มาขบคิดด้วย  แต่การขบคิดก็ไม่จำเป็นต้องมาเรียบเรียงถ้อยคำภาษาใหม่ด้วยตนเองเสมอไป จึงขออนุญาตนำความเรียงของ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส   มาไว้  ดังนี้

หลักพุทธธรรมในระบบพุทธจริยศาสตร์มี ๒ อย่าง คือสัจธรรมและศีลธรรม      สัจธรรมคือส่วนที่เป็นความจริงโดยธรรมชาติที่พระองค์แสดงไว้โดยหลักแห่งไตรลักษณ์และปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น  ซึ่งแสดงถึงความเป็นธรรมฐิติ ธรรมธาตุ และธรรมนิยามแห่งสรรพสิ่งโดยความเป็นอยู่เองตามธรรมชาติ   ส่วนศีลธรรมนั้นมีรากฐานอยู่บนสัจธรรม เป็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อประโยชน์สูงสุดในทางพระพุทธศาสนา คือการเข้าถึงพระนิพพาน  โดยมีเกณฑ์หลักในการตัดสินการกระทำคือความเป็นกุศลและอกุศล  และเกณฑ์รองคือมโนธรรมความรู้สึกผิดชอบชั่วดีต่อสังคม

        หลักสัจธรรม เป็นฐานรองรับหลักศีลธรรมในพระพุทธศาสนา  และการที่พระพุทธองค์ไม่ทรงสอนสัจธรรมโดยตรงแก่ผู้ฟังในบางครั้ง  เพราะสัจธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้นมีเนื้อหาละเอียดลึกซึ้ง  ยากแก่การทำความเข้าใจของปุถุชน  ดังนั้น เพื่อให้สัจธรรมนั้นมีคุณค่าต่อมนุษย์  พระองค์จึงสอนศีลธรรมหรือจริยธรรมปูพื้นฐานจิต อบรมอินทรีย์ของเวไนยสัตว์ให้แก่กล้าก่อน       ต่อจากนั้นพระองค์จึงทรงแสดงสัจธรรมภายหลัง

             ศีลธรรมเป็นส่วนที่กล่าวถึงการกระทำทางไตรทวารที่มีค่าทางจริยะตามหลักพุทธจริยศาสตร์ว่าต้องดำเนินไปเพื่อการเข้าถึงเป้าหมายอันเป็นสัจธรรมนั้น  เพราะถ้าไม่มีเป้าหมายในการกระทำ  การกระทำต่าง ๆ ของมนุษย์ก็ไม่อาจจะบอกได้ว่าการกระทำดังกล่าวนี้ถูกหรือผิดได้   เป็นแต่สักว่าทำแล้ว กำลังทำ หรือทำอยู่เท่านั้น หามูลเหตุจูงใจเบื้องต้นและเป้าหมายอันเป็นที่สุดมิได้ แต่เมื่อบุคคลเชื่อว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิต เช่น เห็นว่าความสุขเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เป็นต้น  การกระทำต่าง ๆ ซึ่งกล่าวว่าดี ถูก และควร ย่อมนำไปสู่ความสุขอันเป็นเป้าหมายนั้น

             เกณฑ์ตัดสินคุณค่าทางจริยะที่จะตัดสินว่าสิ่งนี้ถูก ผิด ควร ไม่ควร จึงต้องอาศัยเป้าหมายเป็นแนว เปรียบเหมือนไม้บรรทัดซึ่งมีปลายข้างหนึ่งเป็นเป้าหมายของการวัด และมาตราวัดบนไม้บรรทัดเป็นเครื่องวัดว่าการกระทำนั้นนำไปสู่เป้าหมาย หรือเข้าไปใกล้ภาวะสุดท้ายแห่งการกระทำมากน้อยแค่ไหน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ามาตรการวัดและตัดสินคุณค่าทางจริยะเหล่านี้ในพุทธจริยศาสตร์คืออะไร และมีอะไรบ้าง นี้คือปัญหาที่จะต้องศึกษาวิเคราะห์ต่อไป

             สิ่งที่เป็นมาตรการทางจริยธรรมที่จะตัดสินว่า การกระทำใดเป็นกุศลกรรมและเป็นอกุศลกรรม คือ สิ่งที่เป็นมาตรการทางจริยธรรมที่จะตัดสินความเป็นกุศลกรรม คือกุศลมูล ๓ ได้แก่ ความไม่โลภ  ความไม่โกรธ ความไม่หลง และสิ่งที่เป็นมาตรการทางจริยธรรมที่จะตัดสินความเป็นอกุศลกรรม คืออกุศลมูล ๓ ได้แก่ ความโลภ  ความโกรธ   ความหลง    นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า ศาสนาพุทธเป็นสัมบูรณนิยมในแง่ที่ว่า กุศลมูล ๓ กับอกุศลมูล ๓ เป็นเกณฑ์ตัดสินการกระทำและเกณฑ์นี้เป็นสิ่งตายตัวแน่นอน พระพุทธศาสนาถือว่าการกระทำทั้งที่ถูกและผิดนั้นจะต้องเป็นการกระทำที่เป็นไปอย่างเสรี แต่เป็นเสรีภาพที่สัมพันธ์กับกฎของเหตุและผล  และที่สำคัญคือความตั้งใจหรือเจตนาอันแรงกล้าของบุคคลที่มีต่อการกระทำนั้น ๆ

                 เจตนาเป็นมาตรการตัดสินการกระทำตามหลักพุทธจริยศาสตร์ แต่เจตนาเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับตัดสินการกระทำของมนุษย์  ดังนั้น  พระพุทธศาสนาจึงมีเกณฑ์หลักและเกณฑ์รองเพื่อร่วมในการตัดสินอีก  ดังที่พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึงเกณฑ์ตัดสินคุณค่าเชิงจริยธรรมในพระพุทธศาสนาไว้ ๒ ระดับคือ เกณฑ์หลักและเกณฑ์รอง เกณฑ์หลักสำหรับตัดสินความที่กรรมเป็นกุศลหรืออกุศล โดยใช้เจตนาและสภาวะแห่งธรรมนั้นที่ส่งผลต่อจิต และเกณฑ์รองคือใช้มโนธรรมของตนเอง  การยอมรับของบัณฑิต  และพิจารณาลักษณะและผลของการกระทำ

            ความสอดคล้องของเกณฑ์หลักและเกณฑ์รอง คือการใช้ความเป็นกุศลมูลและอกุศลมูลและสภาวะที่ส่งผลต่อจิตใจ เช่น ความปลอดโปร่ง บริสุทธิ์ สงบ ความกระวนกระวาย ความเร่าร้อน เป็นเกณฑ์หลักในการตัดสิน ส่วนเกณฑ์อื่น ๆ ที่กล่าวถึงได้แก่ เรื่องที่เกี่ยวกับผลของการกระทำนั้น แม้ศาสนาพุทธจะไม่ถือว่าเป็นหลักในการตัดสินการกระทำ แต่ก็ต้องนำมาพิจารณาด้วย

           โดยนัยนี้ เกณฑ์ในการตัดสินค่าทางจริยะของการกระทำนั้น ต้องอาศัยทั้งเกณฑ์หลักและเกณฑ์รอง เกณฑ์หลักกล่าวคือการพิจารณาความเป็นกุศลและอกุศลโดยเจตนาและสภาวะที่การกระทำนั้นมีต่อสภาวะแห่งจิตนั้น เป็นเกณฑ์แรกที่จะใช้เป็นเกณฑ์ เนื่องจากในการกระทำของมนุษย์มีจิตเป็นผู้สั่งการและเป็นใหญ่ในการกระทำทั้งหมด และมีผลมากกว่าการกระทำที่เกิดทางกายและทางวาจา ทั้งในการกระทำดีและกระทำชั่ว เมื่อบุคคลคิดและทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง กระบวนการทำงานของจิตและเจตนาตามหลักจิตนิยามและกรรมนิยามย่อมดำเนินควบคู่กันไป โดยการอาศัยกันและกัน  แต่แยกกันโดยความเป็นกฎธรรมชาติที่ต่างกัน  ดังที่พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต) กล่าวว่า “เรื่องจิตกับเจตจำนงของมนุษย์เป็นกฎธรรมชาติคนละด้าน แม้ว่ากฎทั้งสองจะทำงานสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด อุปมาเหมือนกัปตันที่ขับเรือยนต์ จิตเป็นเหมือนเรือพร้อมทั้งเครื่องจักรเครื่องยนต์ทั้งหมด เจตจำนงหรือกรรมเป็นเหมือนกัปตันที่จะชักนำเรือไปทำอะไร ๆ ที่ไหน ๆ และอย่างไร”

            ส่วนเกณฑ์รอง ใช้เป็นเกณฑ์สำหรับตัดสินการกระทำหรือพฤติกรรมที่มีความซ้ำซ้อนไม่ว่าจะโดยมโนธรรมต่อสังคม การยอมรับของบัณฑิต วิธีการในการกระทำ และผลของการกระทำที่มีต่อตนเองและสังคม ซึ่งการกระทำหรือพฤติกรรมที่มีความซ้ำซ้อนกันนี้ จะใช้เจตนาเพียงอย่างเดียวตัดสินนั้นเป็นการไม่เพียงพอ และรู้ได้ยากในระดับสังคมดังที่กล่าวไว้แล้วในตอนที่เกี่ยวกับการแสวงหาเกณฑ์ตัดสิน หรือมาตรการทางจริยะของพุทธจริยศาสตร์  ดังนั้น เพื่อให้การตัดสินว่าการกระทำอย่างนี้ ถูก ผิด ควร ไม่ควรอย่างไร จึงต้องอาศัยเกณฑ์รองเป็นมาตรการทางจริยะอีกประการหนึ่งในการตัดสินร่วมด้วย

            ความจำเป็นที่จะต้องใช้เกณฑ์ถึง ๒ อย่างเป็นเกณฑ์ในการตัดสินนี้ ในระดับเกณฑ์รอง อาจพิจารณาได้จากข้อเท็จจริงในสังคมในปัจจุบันประการหนึ่ง จะเห็นได้ว่า ลำพังการกระทำบางอย่างทางกาย ทางวาจา เมื่อพิจารณาโดยการกระทำ (วิธีการ) และผลของการกระทำย่อมวินิจฉัยได้ไม่ยาก สิ่งที่แสดงออกมาทางกาย ทางวาจารู้ได้โดยง่าย โดยวินิจฉัยว่า ตนเองติเตียนการกระทำตนเองหรือไม่ บัณฑิตยอมรับหรือติเตียนหรือไม่ เป็นประโยชน์ต่อตนเองหรือสังคม หรือเบียดเบียนตนและสังคมหรือไม่ อาศัยเกณฑ์ตัดสินเท่านี้ก็ทราบได้ว่า การกระทำเช่นนี้ ดี ชั่ว ถูก ผิด ควรหรือไม่ควรอย่างไร โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาถึงเจตนาในการกระทำ แต่ไม่ได้หมายความว่า การกระทำนั้นบุคคลปราศจากเจตนา  เพราะเมื่อไม่ประกอบด้วยเจตนา  การกระทำย่อมไม่เป็นอันทำและไม่จัดเป็นกรรม

 

๓. ตีความให้แตก

                ๓.๑ พุทธจริยศาสตร์ จัดเป็น “จริยศาสตร์ศาสนา” ด้วยเหตุผลที่ว่า “พุทธจริยศาสตร์” มีรากฐานจากคำสอนในทางพระพุทธศาสนา แต่ในทางกลับกันพุทธจริยศาสตร์กลับมีลักษณะเฉพาะแตกต่างออกไป เมื่อเทียบกับจริยศาสตร์ศาสนาอื่น ๆ กล่าวคือ

                                ๓.๑.๑ ลักษณะของพุทธจริยศาสตร์  ไม่ได้มีลักษณะบังคับ  เหมือนกฎหมาย และมีบทลงโทษ เหมือนบางศาสนา  เช่น เมื่อชาวพุทธทำผิดศีล จะไม่มีข้อบังคับอันใดที่จะต้องให้ชาวพุทธต้องได้รับโทษ   แต่เสนอให้พิจารณาเพียงว่าทำผิดศีล จะมีผลจากการกระทำนั้น ที่เรียกว่า “กรรม” อันเป็นจากการกระทำของผู้นั้นเอง  เช่น “ทำกรรมข้อปาณาติบาท มีผลทำให้อายุสั้น มีโรคมาก” เป็นต้น

                                ๓.๑.๒ ลักษณะของพุทธจริยศาสตร์  มีความเป็นสมบูรณ์นิยม กล่าวคือเป็นหลักความประพฤติที่มีลักษณะที่แน่นอนตายตัวไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปมาเช่นเดียวกับจริยศาสตร์ศาสนาอื่น ๆ     เป็นหลักสากลที่ครอบคลุมมนุษย์ทุกคน  เช่น หลักเบญจศีล- ฆ่าสัตว์ ไม่ว่าจะใครอะไร สัตว์เล็ก น้อยใหญ่ ที่ใด เวลาใด ลักทรัพย์ ไม่ว่าจะลักของใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ เวลาใดก็จัดว่าเป็นอทินนาทาน ไม่มีข้อยกเว้น ถือว่าผิดศีล และมีผลเป็นบาปอย่างแน่นอน

                นอกจากนี้พุทธจริยศาสตร์ ยังสามารถจำแนกได้เป็น ๒ ลักษณะ คือ

                                ๓.๑.๓ พุทธจริยศาสตร์ในแบบเดิม ซึ่งหมายถึงคำสอนที่มาจากคำสอนในทางพระพุทธศาสนา  เช่น  หลักอริยสัจย์  ๔       หลักไตรลักษณ์    หลักกรรมและหลักศรัทธา  หลักปฎิจจสมุปบาท  -อิทปัปัจจยตา          

                                ๓.๑.๔  พุทธจริยศาสตร์ร่วมสมัย  เป็นชุดอธิบายความหมายของพุทธจริยศาสตร์ โดยหลักคำสอนในทางพุทธศาสนา ในประเด็นความขัดแย้งต่าง ๆ  หรือเกณฑ์เพื่อการพิจารณาและตัดสินใจในกรณีที่ต้องมีทางเลือก ๒ ทาง  เพื่อเป็นการยุติข้อขัดแย้งหรือปัญหาที่เกิดขึ้น

                เพราะด้วยเหตุผลของความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ความซับซ้อนทางสังคมมีอยู่สูงในปัจจุบัน การตีความและชุดอธิบายคำสอนในทางศาสนาในรูปแบบเดิม ไม่เพียงพอต่อการที่จะตอบคำถามประเด็นปัญหาในเชิงสังคมได้อย่างเพียงพอ ระหว่างการปฏิบัติตนเพื่อความดีงามตามศีลธรรม กับความจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของ “ชีวิต” ในฐานะมนุษย์

 

                ๓.๒ ปัญหา  คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในลักษณะที่สังคมยังมีช่องว่าง ไม่สามารถมองเห็น ความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ และไม่รู้ว่าวิธีการที่จะไปให้ถึงเป้าหมายที่ตกลงนั้นได้   และมีอุปสรรคขัดขวางทำให้ไม่สามารถก้าวไปถึงจุดหมายที่กำหนดไว้

                ๓.๓ การเริ่มต้นชีวิตมนุษย์  เรานับกันตั้งแต่ปฏิสนธิ หลักทางพระพุทธศาสนา มีว่าเมื่อมีองค์ประกอบ ๓ ประการมาประชุมพร้อมกัน ย่อมมีสัตว์หยั่งลงในครรภ์ องค์ประกอบทั้ง ๓ นั้นได้แก่

๑) มารดาและบิดาร่วมกัน

๒) ขณะนั้นมารดาอยู่ในช่วงเวลาไข่สุก

๓) มีวิญญาณเกิดขึ้นเพื่อสืบกรรมจากภพอื่น โดยได้ที่ตั้งอยู่ในครรภ์มารดา

หลัก ๓ ประการนี้ ถ้าขาดอันใดเสียแล้ว การปฏิสนธิก็จะตั้งขึ้นไม่ได้

ในขณะแรกของการปฏิสนธิ คือ

ในปฏิสนธิกาลนั้นเรียกว่า กลละ (กะละละ)เป็นน้ำใสที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตา หรือส่องกล้องดูได้ ซึ่งท่านเปรียบไว้ว่าเอาขนจามรีจุ่มในน้ำมันงาใส แล้วสลัดเสีย ๗ ครั้ง

สัปดาห์ที่ ๑ กลละ = น้ำใส

สัปดาห์ที่ ๒ อัมพุทะ = ขุ่น (ค่อยๆ ขุ่นเข้า)

สัปดาห์ที่ ๓ เปสิ = แดงอ่อน (เหมือนน้ำล้างเนื้อ แต่ยังไม่แข็ง)

สัปดาห์ที่ ๔ ฆนะ = ก้อน (เริ่มแข็งแล้ว)

สัปดาห์ที่ ๕ ปัญจสาขา = มีปุ่มขึ้น ๕ ปุ่ม ปุ่มเหล่านั้นจะเป็นศีรษะ ๑ แขน ๒ ขา ๒ แต่ไม่มีใครบอกได้ว่าปุ่มไหน เป็นอะไร

สัปดาห์ที่ ๖ - ๑๐ ปริปาก = การขยายตัว

สัปดาห์ที่ ๑๑ จกฺขาทิ = เริ่มมี ตา, หู, จมูก, ลิ้น แล้วเจริญ

ชีวิตกำเนิดเป็นมนุษย์ตั้งแต่เป็นกลลรูป ซึ่งตรงกับขณะที่สัตว์ถือ กำเนิดด้วยปฏิสนธิจิต หรือปฐมจิต หรือเป็นวิญญาณแรก ตรงนี้ถือว่าเริ่มเป็นมนุษย์ขึ้นแล้ว ถ้าใครทำให้ชีวิตนี้แตกดับสูญสิ้นไปก็ถือว่าฆ่ามนุษย์ตั้งแต่บัดนั้น นี่คือตัวความรู้ที่ท่านถือว่าเป็นความจริง ในทางพระวินัย ก็มีบทบัญญัติสำหรับพระภิกษุในเรื่องการทำความผิด ทำลายชีวิตมนุษย์ ขาดจากความเป็นพระภิกษุ   ในพระสูตรก็มีพุทธพจน์ตรัสไว้เกี่ยวกับเรื่อง กำเนิดชีวิตมนุษย์ในครรภ์มารดา ในพระสูตรอีกแห่งหนึ่ง ก็มีพุทธพจน์ตรัสแสดงลำดับความเจริญของชีวิตในครรภ์ที่เรียกว่า กลละ อัพพุทะ เปสิ ฆนะ และปัญจสาขา   

 

๓.๔ ทำแท้ง   ( abortion) คือ การยุติการตั้งครรภ์ก่อนกำหนดคลอด  เป็นการตายของเอ็มบริโอหรือทารกในครรภ์ เกิดขึ้นได้ด้วยการแท้งเองตามธรรมชาติ หรือการทำให้แท้งด้วยสารเคมีหรือศัลยกรรม การทำแท้ง (หรือภาษาปากว่าการรีดลูก) ส่วนใหญ่กระทำโดยนรีแพทย์หรือสูติแพทย์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดสามารถแท้งได้ แต่บทความนี้เน้นที่การแท้งในมนุษย์ ปัจจุบันการทำแท้งเป็นประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมและศีลธรรม และเป็นหัวข้ออภิปรายของหลายประเทศในโลก กฎหมายการทำแท้งเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างมากในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะประเด็นที่ฝ่ายสนับสนุนเห็นว่าการทำแท้งเป็นสิทธิของสตรีที่ตั้งครรภ์ ขณะที่ฝ่ายคัดค้านเห็นว่าทารกที่กำเนิดขึ้นมาในครรภ์มีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ด้วยเช่นกัน

ในมนุษย์ การทำแท้งมี ๒ ประเภทคือ การทำแท้งเอง (Spontaneous Abortion) และ การทำแท้งเพื่อการรักษา (Therapeutic Abortion)  แต่โดยทั่วไป การทำแท้ง หมายถึงการยุติการตั้งครรภ์ก่อนอายุครรภ์ครบ ๒๘  สัปดาห์

ในประเทศไทยนั้นการทำแท้งเป็นการผิดกฎหมาย โดยกฎหมายจะลงโทษทั้งหญิงที่ทำแท้งและผู้ที่ทำแท้งให้หญิง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๐๑ – ๓๐๕ แต่ก็มีเหตุที่ให้อำนาจแก่แพทย์สาเหตุทำแท้งให้หญิงได้ ในกรณีที่หญิงยินยอม และ

(๑) ความจำเป็นเนื่องจากสุขภาพของหญิง คือ หากปล่อยให้หญิงตั้งครรภ์หรือคลอดต่อไปอาจเป็นอันตรายต่อหญิงผู้นั้นได้ กฎหมายก็ให้อำนาจแพทย์ที่จะทำแท้งให้

(๒) การทำแท้งให้แก่หญิงที่ถูกกระทำผิดอาญา เช่น ถูกข่มขืนแล้วท้องเป็นต้น

 

                ๓.๕  องค์ประกอบของปาณาติบาต  การทำอกุศลต่างๆนั้นที่เข้าถึงกรรมบทก็มี ที่ไม่ล่วงกรรมบทก็มี แต่ถ้าล่วงกรรมบทแล้ว การกระทำนั้นสำเร็จเป็นชนกกรรม สามารถทำให้เกิดในอบายภูมิได้ แต่ถ้าการกระทำนั้นไม่ล่วงกรรมบท การให้ผลปฏิสนธิในอบายภูมิ ก็ไม่เป็นการแน่นอน  เพียงให้ผลในปวัตติกาล คือทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้นั้น ต้องประสบความลำบากต่าง ๆ 

การกระทำจะก้าวล่วงกรรมบทหรือไม่นั้นต้องแล้วแต่องค์ประกอบ คือปโยคะ ในการกระทำนั้น อกุศลปาณาติบาต ที่จะก้าวล่วงปาณาติบาตนั้น ต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ..

                              ๑. ปาโณ             สัตว์มีชีวิต

                              ๒. ปาณสญฺญิตา  รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต

                              ๓. วธกจตฺตํ         มีจิตคิดจะฆ่า

                              ๔. ปโยโค           ทำความเพียร เพื่อให้ตาย

                              ๕. เตน มรณํ       สัตว์ตายลง เพราะความเพียรนั้น

               เมื่อครบองค์ประกอบทั้ง ๕ ประการนี้แล้ว ก็เป็นอันก้าวล่วงกรรมบท แต่ถ้าไม่ครบองค์ทั้ง ๕ ก็ยังไม่ชื่อว่า สำเร็จกรรมบท

               การฆ่าสัตว์ จะมีโทษมาก หรือโทษน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับสัตว์ที่ถูกฆ่า และความพยายามของผู้ฆ่า ซึ่งต้องอาศัยหลักเกณฑ์ ในการพิจารณา ๓ ประการด้วยกัน คือ..

                               ๑. ร่างกายของสัตว์ที่ถูกฆ่า ถ้าเป็นสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง ม้า โค กระบือ เป็นต้น ก็มีโทษมาก เพราะชิวิตนวกกลาปของสัตว์พวกนี้ ถูกทำลายลงเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าสัตว์ที่ถูกฆ่าเป็นสัตว์เล็ก เช่น มด ยุง ริ้น ไร เป็นต้น ก็มีโทษน้อย

                               ๒. คุณธรรมของสัตว์ที่ถูกฆ่า ในระหว่างสัตว์ดิรัจฉาน กับมนุษย์ ฆ่ามนุษย์มีโทษมากกว่าสัตว์ดิรัจฉาน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐกว่าสัตว์ดิรัจฉาน

                               สำหรับการฆ่ามนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน ฆ่าผู้ทั้งมีศีลธรรม เช่า ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา เป็นต้น มีโทษมากกว่าผู้ไม่มีศีลธรรม เช่นโจรผู้ร้าย เป็นต้น ย่อมมีโทษน้อยกว่า ถ้าผู้ถูกฆ่าเป็น บิดา มารดา พระอรหันต์ เป็นอนันตริยกรรม ยิ่งมีโทษมากเป็นพิเศษ

                               ๓. ความเพียรของผู้ฆ่า อาศัยตัดสินโดย ปโยคะ คือในขณะที่ฆ่านั้น ได้ใช้ความเพียรพยายาม มากหรือน้อย ถ้าใช้ความพยายามมาก ก็มีโทษมาก ถ้าใช้ความพยายามน้อยก็มีโทษน้อย

 

๓.๖ การฆ่าคน เป็นการกระทำให้มนุษย์ถึงแก่ความตาย จัดเป็นอาชญากรรมประเภทหนึ่ง ทางนิติศาสตร์แบ่งเป็นสองประเภท คือ การทำให้คนตายโดยเจตนา (homicide) และการทำให้คนตายโดยไม่เจตนา (manslaughter) การฆ่าคนทั้งสองประเภท ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักหรือเบาตามกฎหมายแล้วแต่กรณี

 

๓.๗ การุณยฆาต หรือ ปรานีฆาต ( euthanasia หรือ mercy killing; การุณยฆาตเป็นศัพท์ทางนิติศาสตร์ ส่วนปรานีฆาตเป็นศัพท์ทางแพทยศาสตร์[1]) หรือ แพทยานุเคราะหฆาต ( physician-assisted suicide)  หมายถึง

๓.๕.๑ การทำให้บุคคลตายโดยเจตนาด้วยวิธีการที่ไม่รุนแรงหรือวิธีการที่ทำให้ตายอย่างสะดวก

๓.๕.๒ การงดเว้นการช่วยเหลือหรือรักษาบุคคล โดยปล่อยให้ตายไปเองอย่างสงบ

ทั้งนี้ เพื่อระงับความเจ็บปวดอย่างสาหัสของบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลนั้นป่วยเป็นโรคอันไร้หนทางเยียวยา อย่างไรก็ดี การุณยฆาตยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและเป็นความผิดอาญาอยู่ในบางประเทศ กับทั้งผู้ไม่เห็นด้วยกับการฆ่าคนชนิดนี้ก็เห็นว่าเป็นการกระทำที่เป็นบาป

 

                จากหัวข้อ  ตีความให้แตก   เพื่อทำบทความ  พุทธจริยศาสตร์กับปัญหาการทำแท้ง   ตอบคำถามว่า  การทำแท้งเป็นปัญหาทางพุทธจริยศาสตร์  อย่างไรบ้าง

 

๔. การประเมินคุณค่า ของการมีชีวิตเป็นมนุษย์   ทางพุทธศาสนา

                ๔.๑ การกลับได้อัตภาพเป็นมนุษย์เป็นของยาก  (กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ)

                ๔.๒ การได้เกิดเป็นมนุษย์   เป็นลาภอันประเสริฐ

                ๔.๓ ในบรรดามนุษย์ทั้งหลาย  มนุษย์ผู้ฝึกตนดีแล้ว  เป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐที่สุด

                      ( ทนฺโต  เสฏฺโฐ   มนุสฺเสสุ)

                ๔.๔ มนุษย์ เป็นสัตว์ประเภทเดียวที่สามารถฝึกตนให้บรรลุพระนิพพานได้   เพราะ  มีลำตัวตั้งฉากกับพื้นดิน หรือ ไม่มีลำตัวขวาง

                ๔.๕ การเกิดเป็นมนุษย์เท่านั้นที่มีกายหยาบแข็งแรง จิตกล้าพอ ในการฝึกฝนตน สามารถปฏิบัติธรรม  บำเพ็ญบารมีขึ้นสู่มรรคผลนิพพานได้   และสุดท้ายแห่งสังสารวัฏฏ์ คือ พระนิพพาน  

                ๔.๖  การฆ่าชีวิตมนุษย์จัดเป็นความผิดที่อภัยไม่ได้  ตัวอย่าง การปรับความผิดแก่พระภิกษุผู้ฆ่ามนุษย์ไว้อย่างหนักที่สุด  ไม่ว่าจะฆ่าด้วยตนเอง หรือให้ผู้อื่นฆ่า จะด้วยด้วยศาสตรา หรือ เวทย์มนต์   ก็ต้องปราชิกทั้งนั้น

                ๔.๗ การฆ่าชีวิตมนุษย์จัดเป็นกรรมหนัก  เช่น การฆ่ามนุษย์ผู้เป็นต้นแบบทางกาย หรือแม่พิมพ์ให้เกิดเป็นกายมนุษย์  ผู้ให้ชีวิตเป็นบุคคลที่มีพระคุณสูงสุด  บุตรคนใดฆ่าแม่ ฆ่าพ่อ เป็นกรรมหนัก อนันตริยกรรม  ห้ามสวรรค์  ห้ามนิพพาน

                ๔.๘  การรักษาเลี้ยงดูชีวิตมนุษย์จัดเป็นบุญความดีสูงสุด   ผู้ให้ชีวิตเป็นบุคคลที่มีพระคุณสูงสุด   บุตรต้องเลี้ยงดูตอบแทนคุณอย่างมากที่สุดจึงจะเรียกว่าตอบแทนคุณได้หมด  ทั้งต้องตอบแทนคุณด้วยการเลี้ยงดูตอบแทนร่างกายตลอดถึงจิตใจ  ละถ้ามีการตอบแทนด้วยการนำพาท่านสู่ ทาน ศีล ภาวนา จัดเป็นการตอบแทนที่ยอดเยี่ยม

               

๕. การทำแท้ง คือ  ปัญหาขั้นรุนแรง ตามหลักพุทธจริยศาสตร์

                คำสอน ทางพระพุทธศาสนา ให้ความสำคัญกับชีวิตมนุษย์สูงสุด  หลักจริยธรรมต่างเน้นให้รักษาชีวิตความเป็นมนุษย์ให้ได้ ให้นาน ให้เข้มแข็ง เพื่อการสร้างตบะ บำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา สู่เป้าหมายแห่งความหลุดพ้นจากวัฏฎะนี้   เมื่อหญิงใดที่สัตว์หยั่งลงสู่ครรภ์แล้ว  สังคมชาวพุทธกำหนดให้เป็นแม่    กล้าลุแก่อำนาจด้วยอกุศลกรรม ทำแท้งได้ลงคอ   จัดว่าหญิงผู้นั้นตกอยู่ในภาวะจิตที่มีความบีบคั้น คับแคบ  ขัดข้อง ขัดเคือง ขุ่นมัว พร่าพราง  มืดบอด มืดมัว ปิดบัง อย่างมาก  มีจริยธรรมตกต่ำสุดขีด  เพราะผ่านการสะสมบาปอกุศลมาอย่างยาวนาน เช่น

                ๑) เคยดื่มน้ำเมา  หรือยาเสพติด   ทำลายสติของตนให้อ่อนแอ

                ๒) โกหกปิดบังอำพรางความจริงต่อพ่อแม่

                ๓) ไม่รักนวลสงวนตัว  ตามวัฒนธรรม จารีตประเพณี

                ๔) เห็นแก่ได้ต่อวัตถุของใช้ ของกิน โดยไม่ลงแรง หรือ ประกอบสัมมาอาชีพ

                ๕) หลงอบายมุข เช่น คบเพื่อนชั่ว  เที่ยวกลางคืน    เกียจคร้านการทำงาน  เป็นต้น

                หญิงที่ทำแท้ง ชายที่สนับสนุนให้ทำแท้ง ย่อมผิดศีล ผิดธรรม ตามข้อที่กล่าวแล้วข้างบนนี้ ข้อใดข้อหนึ่ง หรือทุกข้อแน่นอน  จึงตัดสินว่า การทำแท้ง คือ ปัญหาขั้นรุนแรง ตามหลักพุทธจริยศาสตร์

เมื่อสังคมมีปัญหาการทำแท้งเกิดขึ้น จิตใจของผู้คนในสังคมนี้ทั้งหญิงผู้ทำแท้ง หมอที่ลงมือทำแท้ง  คนรอบข้างที่สนับสนุนการทำแท้ง  หรือคนใดที่เห็นตาม  จะด้วยความจำเป็น จำยอม หรือ เต็มใจก็ตาม ย่อมเป็นผู้ที่มีมาตรฐานทางจริยธรรมตกต่ำตามขนาดของเจตนาที่กระทำ   ความอ่อนแอทางจริยธรรมอาจทำให้กฎหมายเปลี่ยนแปลงผ่อนปรน หย่อนยาน  นำไปสู่ความอ่อนแอทางศีลธรรมของสังคม ผู้คนขาดหิริโอตัปปะจิตหยาบกระด้างมากขึ้น บาปอกุศลหนักจะคุกคามสังคมโลกมนุษย์ตามกฎวัฎฎะ   กฎไตรลักษณ์   ในทางลบ ทางตกต่ำเร็วขึ้น

 

คำสำคัญ (Tags): #การทำแท้ง
หมายเลขบันทึก: 317271เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2009 19:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เป็นบทความที่ดีมีสาระประโยชน์มากครับ

ข้อความมีประโยชน์มากเลย ขอบคุณมากๆๆๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท