ร่วมกันฝึกคิดฝึกตั้งคำถามพัฒนาสมรรถภาพคุณอำนวย


ผมว่าหลายๆท่านคงจะงงกับรูปแบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่เรียกว่าตลาดนัดความความรู้ ผมเองก็งงเหมือนกัน ผมได้รับความรู้ เชิงคำอธิบายความหมายของคำๆนี้ จาก ดร.ประพนธ์ ผาสุกยืด และคณะจาก สคส. ในการประชุมวิชาการจัดการความรู้ครั้งที่ 20 ตลาดนัดจัดการความรู้การศึกษานอกโรงเรียน ( กศน.) เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2549 ณ โรงแรมกานต์มณี พาเลซ กรุงเทพฯ

โดยย่อ (ตามความเข้าใจของผม) ตลาดนัดความรู้ หมายถึง กิจกรรมการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน  ทั้งความรู้ชัดแจ้งและความรู้ฝังลึก โดยที่ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องมีการให้และรับความรู้ ถ้ามีรูปแบบที่ฝ่ายผู้จัดจะต้องควบคุมกติกา ก็จะจัดวาระการพูดคุย อาจจะเริ่มจากฝ่ายวิทยากรซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ ชุมชนนักปฏิบัติ  ที่เรียกว่า Best practice นำเสนอก่อน จากนั้น จึงจะสมาชิกทุกคนตั้งคำถาม ให้ความเห็น ข้อเสนอแนะ แลกเปลี่ยนกัน ความรู้ที่ผู้เข้าร่วมงานจะได้มากได้น้อย ก็คือการตั้งใจฟังอย่างลึกซึ้ง การตั้งคำถาม การขุดคุ้ยความรู้ประสบการณ์กันและกันให้มากที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขุดคุ้ยความรู้ฝังลึก เรียกว่าลงทุนกันด้วยการเรียนรู้ การฟัง การตั้งคำถาม มิใช่เงินทอง เช่นการจับจ่ายใช้สอยในตลาดทั่วไป  

ผมเห็นว่าชื่อตลาดนัดความความรู้ คำนี้ แม้จะเป็นศัพท์วาทกรรมที่ฟังชื่อแล้วดูแปลก แต่เมื่อเข้าใจความหมายและคำอธิบายแล้วก็เข้าใจได้โดยง่าย ไม่ซับซ้อนอะไร แต่ที่ไม่ง่ายและดูซับซ้อนอย่างมาก คือไม่เคยชิน ทำไม่ได้ ทำไม่เป็น ทำแล้วไม่ได้ประโยชน์สูงสุด

ทำไมเป็นเช่นนั้น ? ผมว่าเป็นเช่นนั้นเพราะเราต้องการที่จะเป็นฝ่ายรับความรู้ (เฉยๆ.....ไม่ลงทุนตั้งคำถาม ข้อสงสัยใดๆ )  มากกว่า  นั่งฟังอย่างเงียบๆเหมือนกัน (แต่เงียบเชียบ .. ไม่ใช่อาการเงียบอย่างการตั้งใจฟังอย่างลึกซึ้ง)  ในกลุ่มพัฒนาอาชีพ หรือ  เครือข่ายอาชีพ ซึ่งเป็นชาวบ้านที่เรียกว่าคุณกิจที่มาทำกิจกรรมร่วมกัน..(เท่าที่ผมสังเกตเห็น) ส่วนใหญ่ก็มักจะตามหรือโปรความคิดของผู้นำอยู่มาก ไม่ค่อยพูดอะไร กลัวพูดแล้วจะผิดหรือเปลืองตัว ส่วนน้อยแหละที่กล้าพูดกล้าถามเอาความรู้ หรือเอาความรู้ให้คนอื่น ผมว่าในวงประชุมอื่นๆ ก็คล้ายๆกัน ยิ่งราชการด้วยแล้วยิ่งมีธรรมเนียมราชการเพิ่มเข้ามา ทำให้การให้และรับความรู้( ในรูปแบบตลาดนัดความรู้) ลำบากขึ้นไปอีก

แล้วจะแก้ปัญหานี้กันอย่างไร ผมคิดว่าคุณอำนวยมีบทบาทสำคัญมากในการทำให้กิจกรรมตลาดนัดความรู้เกิดประโยชน์สูงสุด การตั้งคำถามเป็น เป็นเทคนิคที่มีความสำคัญมาก อยากจะลองในหน่วยงานตนเองก่อน ผมอยากจะร่วมฝึกและเรียนรู้การตั้งคำถามกับครูอาสาฯ สำหรับทำหน้าที่คุณอำนวยในบาบาทหน้าที่ของหน่วยงานตนเอง เพราะถ้าตั้งคำถามเป็น จะทำให้ได้ความรู้ บรรยากาศการแลกเปลี่ยนความรู้จะสนุกสนาน ฝึกบ่อยๆ จะชินไปเองทั้งการให้และการรับความรู้

เพื่อฝึกการทำตลาดนัดความรู้ในโอกาสต่อๆไป  ผมจะชวนครูอาสาฯ 9 คน ของ กศน.เมืองนครศรีฯ ฝึกตั้งคำถามโดยเทคนิคการตั้งคำถามแบบต่างๆ พูดคุยในลักษณะของกลุ่มสนใจ เริ่มจากการตั้งคำถามแบบหมวกคิด 6 ใบ ( Six thinking hats)ของ เอ็ดเวิร์ด เดอร์ โบโน ซึ่งผมต้องหาหนังสือ และผู้รู้มาร่วมคุยด้วย ท่านใดอยากจะให้ข้อมูล ผมยินดีครับ การตั้งคำถามแบบหมวกคิด 6 ใบ นี้ เท่าที่อ่านมาบ้าง ครอบคลุมบริบททุกเรื่องที่จะต้องตัดสินใจทำงาน มองข้อมูลรอบด้านในระหว่างฝึกจะแจ้งผล ทำได้ ทำไม่ได้ ให้ท่านทราบ และขอความช่วยเหลือด้วยครับ



ความเห็น (1)

     ผมสนใจในการฝึกครูอาสาตั้งคำถามมากครับ และอยาก ลป.แนวคิดกับอาจารย์ว่า ก่อนการตั้งคำถาม (ไม่เฉพาะแต่หมวก 6 ใบของโบโน) ครูอาสาควรระลึกอยู่เสมอว่า "ธง" ของเรา(KV) คืออะไร  และ "คุณกิจ" ของเราคือใคร(เพราะเขาคือคุณอำนวย)  อาจจะทำให้คำถามที่จะถาม มีความกระชับมากยิ่งขึ้น (ความคิดเห็นของผมเองนะครับ) 

     จะรออ่านบันทึกผลของอาจารย์ต่อไปนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท