หมู่บ้านสะพานหิน จ.กาฬสินธุ์ : หมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็นเป็นสุข


หมู่บ้าน ต้นแบบ จด บัญชีครัวเรือน สา(ส์)นความร่วมมือ

 

หมู่บ้านสะพานหิน ตำบลนาบอน อำเภอคำม่วง จ.กาฬสินธุ์ อยู่ห่างจากตัวเมือง 80 กิโลเมตร  การเดิน ทาง จากตัวจังหวัดกาฬสินธุ์ถึงหมู่บ้าน ใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง  หมู่บ้านนี้มีประชากร 519 คน มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 115 ครัวเรือน หมู่บ้านแบ่งออกเป็น 7 คุ้ม และให้มีแกนนำแต่ละคุ้มเป็นผู้ดูแลซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด  หมู่บ้านสะพานหิน เป็นหมู่บ้านซึ่งคณะทำงานโครงการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความยากจน พัฒนาสังคม และสุขภาวะ คัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านที่คณะของหน่วยงานภาคีโครงการความร่วมมือฯ ติดตามความคืบหน้า กระบวนการเรียนรู้ของชุมชน เนื่องจากหมู่บ้านสะพานหินได้เข้าร่วมเป็นหมู่บ้านหนึ่งในการบันทึกบัญชีครัวเรือน   

             จากคำบอกเล่าของคุณนิตยา ธีระทัศน์ศิริพจน์ ผู้ประสานงานจังหวัด ของโครงการความร่วมมือฯ หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านที่ได้รับการคัดเลือกจากจังหวัดกาฬสินธุ์ให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบดีเด่นของ โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ตามแผนบูรณาการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็น “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็นเป็นสุข” ประจำปี พ.ศ. 2550 จากการที่ได้ฟังคำบอกเล่า เราไม่อาจจะจินตนาการภาพได้ว่าหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็นเป็นสุขเป็นอย่างไร 

             เมื่อเราเดินทางไปถึงหมู่บ้าน สัมผัสแรกคือ ไม่มีความแตกต่างจากหมู่บ้านอื่นๆแต่อย่างใด สภาพของหมู่บ้านชนบท ถนนในหมู่บ้านยังคงเป็นถนนลูกรังสีแดง  ชาวบ้านกลุ่มใหญ่ราว 60-70 คนที่นั่งรอต้อนรับเราอยู่ ในเต็นท์บริเวณด้านหน้า ณ ศาลาเอนกประสงค์ของหมู่บ้าน ด้านในศาลามีการแสดงสินค้าที่ผลิตในหมู่บ้าน ประเภท น้ำยาล้างจาน แชมพูสระผม กล้วยฉาบ ตะกร้าไม้ไผ่สาน   กระปุกออมสินทำจากไม้ไผ่  ผ้าฝ้ายและผ้าไหมทอมือ ผ้าขาวม้า ฯลฯ ตามประเพณีชาวอีสาน เมื่อเราไปถึงได้มีการผูกผ้าขาวม้าเคียนเอวให้กับแขกที่ไปเยือน พร้อมการต้อนรับด้วยน้ำดื่มสมุนไพร และกล้วยฉาบทอด ซึ่งทราบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยชาวบ้านในหมู่บ้านเอง  

            สิ่งที่ดึงดูดความสนใจให้กับเราก็คือ เพลงภาษาอีสานของหมู่บ้านสะพานหิน ที่ชาวบ้านทุกคนร่วมกันร้องต้อนรับ  และการฉายวีซีดี สภาพทั่วไปของหมู่บ้านในอดีต เมื่อย้อนหลังไปราว 10 ปี ก่อน ขณะนั้นประชากรวัยแรงงาน เกินครึ่งมีปัญหาติดยาเสพติด เล่นการพนัน ดื่มสุรา ทะเลาะเบาะแว้งกันในครอบครัว ความสัมพันธ์ในครอบครัวมีความอ่อนแอ ปัญหาความยากจน  หนี้สิน สมาชิกในครอบครัวติดอยู่ในวังวนของอบายมุข ความสัมพันธ์ระหว่างคนในหมู่บ้านล้มเหลว ไม่อาจช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ เพราะต่างก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน

            จนกระทั่งปี พ.ศ. 2541 เกิดความริเริ่มของ   นายประวัติ องคศาสตร์ อดีตผู้ใหญ่บ้าน บ้านสะพานหิน ที่ในอดีตต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆไม่ต่างจากคนในหมู่บ้านคนอื่นๆ  ติดสุรา มีสุขภาพร่างกายที่เสื่อมโทรม  มีปัญหาในครอบครัว ทะเลาะเบาะแว้ง  และปัญหาหนี้สิน  จนเมื่อมาถึงขีดสุดเพื่อแก้ปัญหาที่เรื้อรังมานาน นายประวัติ ได้เริ่มค้นหาปัญหาของตนเองด้วยการจดบันทึกบัญชีรับจ่ายของครัวเรือนทุกวัน โดยการใช้สมุดจดบันทึกของ ธ.ก.ส. ที่มีการส่งเสริมมาทดลองใช้  เมื่อนำผลของรายรับ-รายจ่าย มาดู เขาก็เห็นว่าครอบครัวเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นหลายรายการ ทั้งค่าเหล้า ค่าหวยใต้ดิน เขาจึงได้ตัดสินใจเลิกดื่มเหล้า และหันมารักษาสุขภาพร่างกายของตนเองให้ดีขึ้น

            นายประวัติ ใช้เวลากว่าปี เพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขาทำ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้กับชีวิตและครอบครัว   บันทึกบัญชีรับจ่ายครัวเรือนทำให้ครอบครัวของเขา สามารถลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง ปลูกผักกินเอง หลังทำนามีการปลูกพืชไร่ ช่วยกันทำมาหากิน สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น ความสัมพันธ์ในครอบครัวมากขึ้น การทะเลาะเบาะแว้งลดลง เริ่มมีรายได้ใช้หนี้ให้กับเจ้าหนี้  เขาจึงเริ่มให้คำแนะนำกับญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน เกี่ยวกับวิธีการจดบันทึกบัญชีรับจ่ายครัวเรือน  เมื่อคนในหมู่บ้านความเปลี่ยนแปลงของครอบครัวของเขา จึงเริ่มหันมาให้ความสนใจ เพราะต่างต้องการหลุดพ้นจากสภาพปัญหาเรื้อรังนี้ หลายครอบครัวเริ่มปฏิบัติตามวิธีของอดีตผู้ใหญ่บ้านมากขึ้น จนถึงปัจจุบัน มีเพียงคนจำนวนน้อยที่ยังคงดื่มสุรา แต่ปัญหาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหายาเสพติด ปัญหาการทะเลาะเบาะแว้ง ครอบครัวแตกแยก ปัญหาความยากจน หนี้สิน พึ่งพาตนเองไม่ได้ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด  ชุมชนกลับมาเป็นชุมชนที่มีความกลมเกลียว ทุกคนช่วยเหลือพึ่งพากันและกัน เกิดความสามัคคีกันอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน      

 

            นายถวัลย์ สาระวัน ผู้ใหญ่บ้าน บ้านสะพานหินคนปัจจุบัน ได้เล่าว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ถึงปัจจุบัน หมู่บ้านสะพานหินวันนี้ เป็นหมู่บ้านที่พึ่งพาตนเองได้ และเป็นหมู่บ้านที่ได้รับการส่งเสริมจากหลายหน่วยงาน ที่เข้ามาให้ความรู้ในหลายด้าน ทั้งเรื่องของการประกอบอาชีพ การสร้างอาชีพเสริม กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ การสร้างสวัสดิการให้กับชุมชนด้วยเงินออมของคนในหมู่บ้าน กิจกรรมลดรายจ่าย เพิ่มรายได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าร่วมโครงการความร่วมมือฯ ทำให้มีการสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับหมู่บ้านมากที่สุด คือ องค์การบริหารส่วนตำบล สถานีอนามัย ซึ่งได้นำข้อมูลจากการบันทึกบัญชีรับจ่ายของครัวเรือน ไปประมวลผลที่สำคัญที่สุด คือ การคืนการประมวลผลข้อมูลร่วมกับชาวบ้าน(หรือเรียกว่าการเปิดเวทีคืนข้อมูลแก่ชุมชน)  เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชาวบ้าน และไปสู่กระบวนการจัดทำแผนแม่บทชุมชน   ซึ่งแผนแม่บทชุมชนนี้จะถูกนำเสนอต่อหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหา ในกรณีที่เป็นโครงการซึ่งชาวบ้านไม่อาจดำเนินการได้เองในหมู่บ้าน 

             ช่วงปี 2548-49 ที่ผ่านมาหมู่บ้านสะพานหิน ได้จัดทำแผนแม่บทชุมชน โดยจัดทำโครงการถึง 37 โครงการ โดยแบ่งเป็นด้านต่างๆ ดังนี้ ด้านเศรษฐกิจพอเพียง เช่นโครงการ ขุดแหล่งน้ำ กลุ่มเลี้ยงโค กลุ่มพัฒนาสตรีและส่งเสริมอาชีพชุมชน เป็นต้น ด้านการสร้างโอกาสและเสริมศักยภาพ เช่น โครงการจัดกลุ่มการออมของชุมชน ปรับปรุงระบบน้ำประปาและสูบน้ำเพื่อการเกษตร ด้านสังคมและวัฒนธรรม  ด้านสงเคราะห์และสวัสดิการชุมชน เช่น  มีการสนับสนุนเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุ และผู้พิการ จัดสรรที่อยู่อาศัยให้ผู้ด้อยโอกาส การสนับสนุนด้านสาธารณสุข โครงการพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ธรรมชาติ  ด้านการบริการขั้นพื้นฐาน และ ด้านอื่นๆ  เช่นโครงการหมู่บ้านต้นแบบเลิกเหล้าหยอดกระปุกเพื่อพ่อหลวง เป็นต้น  

            นอกจากนี้ในหมู่บ้านยังมีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมา 11 กลุ่ม ประกอบไปด้วย กลุ่มส่งเสริมการลดรายจ่าย ส่งเสริมการเพิ่มรายได้ ส่งเสริมการประหยัดและออม ส่งเสริมการเรียนรู้ ส่งเสริมการอนุรักษ์ ส่งเสริมการเอื้ออารี ส่งเสริมการนำแผนสู่การปฏิบัติ ส่งเสริมสวัสดิการ ส่งเสริมสุขภาพ ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และส่งเสริมศาสนา/วัฒนธรรม ซึ่งกลุ่มต่างๆเหล่านี้ จะแยกออกเป็นกลุ่มย่อยตามโครงการอีกกลุ่มหนึ่ง เช่น กลุ่มพัฒนาอาชีพทอผ้าลายน้ำไหล กลุ่มบ้านเกษตรกร กลุ่มเห็ดฟาง เห็ดขอนขาว และเห็ดบด กลุ่มธนาคารหมู่บ้าน ฯลฯ เพื่อให้กลไกของหมู่บ้านพึ่งพาตนเองได้ยังคงดำเนินการอยู่ได้เพราะมีสมาชิกทำงานสืบต่อกันไปอย่างต่อเนื่อง 

            สำหรับการดำเนินงานร่วมกับโครงการความร่วมมือ ซึ่งเป็นการจัดเก็บข้อมูลครัวเรือน เพื่อสร้างการเรียนรู้ของชาวบ้าน ชุมชนนั้น ปัจจุบันหมู่บ้านนี้ได้บันทึกข้อมูลไปแล้ว 1 เดือน (กรกฎาคม 2550) ซึ่งเป็นช่วงเดือนหลังการเพาะปลูก ชาวบ้านจึงไม่มีรายจ่ายมากนัก ผลสรุปจากการเก็บข้อมูล จากจำนวนคนที่จดบันทึกข้อมูลรายรับจ่ายทั้งสิ้น 519 คน จาก 105 ครัวเรือน พบว่าหมู่บ้านสะพานหินมีรายรับรวม 1,054,557 บาท ขณะที่มีรายจ่าย 672,387 บาท คิดเงินออมเฉลี่ยได้ 3,323  บาท/คน 

            จากการแลกเปลี่ยนความเห็นของตัวแทนกลุ่มต่างๆ เช่น นางวิเศษ เทศารินทร์ อายุ 63 ปี ตัวแทนของกลุ่มส่งเสริมการเพิ่มรายได้ ที่ได้เล่าว่าที่ผ่านมาครอบครัวประสบปัญหาหนี้สิน เนื่องจากการเพาะปลูกที่ผ่านมาเสียเงินค่าซื้อปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง แต่เมื่อขายผลผลิตที่ได้กลับไม่เพียงพอที่จะใช้หนี้คืนให้กับเจ้าหนี้ เงินไม่พอใช้จ่าย เกิดปัญหาหนี้สินพอกพูน หาทางออกไม่ได้ จนกระทั่งเกิดกระบวนการบันทึกบัญชีรับจ่ายของครัวเรือน ตนเองจึงเห็นว่าครอบครัวมีรายจ่ายค่าปุ๋ยเคมีถึงปีละ 20 กระสอบ ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วพบว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก จึงร่วมหารือกับเพื่อนบ้านที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน และเมื่อมีเวทีของหมู่บ้านในการสรุปปัญหาและความต้องการของชาวบ้านในการจัดทำแผนแม่บทชุมชน จึงเกิดโครงการผลิตปุ๋ยชีวภาพ และยาฆ่าแมลงชีวภาพขึ้น เนื่องจากเกือบทุกครัวเรือนมีวัตถุดิบ เช่น มูลสัตว์ เศษวัชพืช เพาะปลูกสมุนไพร ที่สามารถผลิตได้ ปัจจุบันสมาชิกของกลุ่มส่งเสริมรายได้ สามารถลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ เหลือปีละ 7-10 กระสอบ และคาดหวังว่าต่อไปคงจะเลิกใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงได้ และยังสามารถขายปุ๋ยชีวภาพ และยาฆ่าแมลงชีวภาพให้กับบุคคลอื่นได้  นอกจากนี้ยังมีการระดมทุนในหมู่บ้าน ได้ยอดเงินรวมถึง 760,000 บาท เพื่อเปิดร้านขายสินค้าของหมู่บ้าน โดยให้สมาชิกนำสินค้าที่ผลิตเอง หรือ ของกลุ่ม มาจำหน่าย เช่น ผ้าทอลายน้ำไหล ดอกไม้ประดิษฐ์ เครื่องจักสาน ขนมขบเคี้ยว เครื่องใช้ในครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็น น้ำยาล้างจาน แชมพู ฯลฯ ซึ่งจะต้องมีการหักเงินส่วนหนึ่งเข้ากลุ่มเพื่อให้กลุ่มยังมีฐานะการเงินมั่นคง สามารถช่วยเหลือสมาชิกของกลุ่มในกรณีที่ต้องการกู้ยืมเงินของกลุ่มไปเพื่อผลิตสินค้ามาขาย  

            กลุ่มประหยัดและออม  จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ที่มียอดเงินรวมกว่า 414,000 บาท เพื่อช่วยเหลือสมาชิกในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ มากู้ยืมเงินภายในกลุ่มซึ่งดอกเบี้ยต่ำ และมีความเอื้อเฟื้อกันมากกว่าการกู้ยืมจากแหล่งเงินอื่น  

            กลุ่มการเรียนรู้ ที่มี นายชนินทร์ คะอังกุ ผู้อำนวยการโรงเรียนสะพานหินวิทยาคม เป็นหัวหน้ากลุ่ม เป็นการดึงโรงเรียนเข้ามาเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับชุมชน นอกจากการสอนให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการจดบันทึกบัญชีครัวเรือนแล้ว ยังสอนให้เด็กออมเงิน  นอกจากนี้ยังเปิดโรงเรียนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับชุมชน โดยการเชิญปราชญ์ท้องถิ่นมาให้ความรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ให้มีการรวมกลุ่มหารือ เจรจากันบ่อยครั้ง ลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างกัน ทำให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ชาวบ้านมีความรักความกลมเกลียวกัน การดำเนินการใดๆของหมู่บ้าน ชาวบ้านเข้ามาให้ความร่วมมือกัน ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง

            ด้านนางฉลวย โสภีพรรณ อาชีพเกษตรกร ทำนาและปลูกสวนยาง หนึ่งใน 6 ทหารเสือแกนนำหมู่บ้าน ซึ่งทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการที่ให้คำแนะนำกับคนในหมู่บ้านในการจัดเก็บข้อมูลครัวเรือน สะท้อนความเห็นทั้งน้ำตาว่า การริเริ่มจดบันทึกบัญชีครัวเรือนของตนเองนั้น เกิดจากที่เห็นความยากลำบากของคนรุ่นแม่ ที่แม้จะทำงานหนักมากสักเท่าใด ทำนา ทำไร่ แต่ก็ยังติดหนี้ ไม่เข้าใจว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร จนกระทั่งได้จดบันทึกค่าใช้จ่ายในครัวเรือนจึงได้เห็นว่ามีค่าใช้จ่ายหลายอย่างที่สามารถลดได้ และเพิ่มเติมในส่วนของการสร้างรายได้ นอกจากทำนา จึงทำสวนยางพารา ปลูกผักไว้กินเอง เข้ากลุ่มผลิตสินค้า ทำขนม ทำน้ำสมุนไพร ทำให้พอเริ่มเก็บเงินออม ชำระหนี้คืนได้ ฐานะทางบ้านจึงเริ่มดีขึ้น ไม่ยากลำบากเหมือนรุ่นพ่อแม่  จึงรู้สึกภาคภูมิใจกับสิ่งที่ตนเองและครอบครัว และชุมชนได้ร่วมกันทำให้ทุกบ้านมีความเป็นอยู่ดีขึ้น

            เราเดินทางออกจากหมู่บ้านพร้อมภาพที่เราอาจจะไม่ลืมไปอีกนาน โดยเฉพาะภาพที่ตัวแทนของแต่ละกลุ่มได้กล่าวถึงความรู้สึก ภาพสีหน้า แววตาขณะที่พวกเขาพูด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่ฉลวย โสภีพรรณ ภาพมือของเธอที่เช็ดน้ำตาที่ไหลออกมาด้วยความปลาบปลื้มและภาคภูมิใจต่อย่างก้าวของตัวเองที่เดินผ่านจุดที่ยากลำบากที่สุดของชีวิต  น้ำเสียงที่สั่นเครือแทบจะพูดบรรยายความรู้สึกออกมาไม่ได้ ขณะที่เพื่อนบ้าน คนที่นั่งข้างเธอ หรือแม้แต่ผู้ชายอกสามศอกหลายคน ยังอดหลั่งน้ำตาไม่ได้  ภาพของหมู่บ้านสะพานหินวันนี้ คือ ภาพของหมู่บ้านที่ได้ใช้กระบวนการเรียนรู้เพื่อเอาชนะอุปสรรคของตนเอง การร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์อันยากลำบาก  ทำให้ได้ข้อสรุปของตนเองว่า การสนับสนุนด้านงบประมาณและเครื่องมือ ตลอดถึงความรู้ด้านต่างๆ ที่หลายหน่วยงานเข้าไปให้ความช่วยเหลือนั้น อาจไม่มีวันประสบความสำเร็จได้ดังที่ตั้งความหวังไว้ได้เลย หากทุกคนในชุมชนไม่คิดจะลุกขึ้นออกก้าวเดิน เผชิญหน้าด้วยการแก้ปัญหาด้วยตนเอง  สุดท้ายภาพยอดโหระพาในกระถางหน้าบ้านทุกหลังที่กวัดแกว่งใบตามลม คล้ายโบกมือลาเราแทนชาวบ้าน บ้านสะพานหินทุกคน ตลอดทางสองฝั่งถนนลูกรังสีแดงที่เรานั่งรถผ่านหมู่บ้านไป เราได้แต่นึกในใจ ว่าหมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุขเป็นอย่างนี้เอง และหากทุกคนที่นี่สืบทอดสิ่งที่พวกเขาทำให้กับลูกหลาน หมู่บ้านนี้คงจะอยู่อย่างร่มเย็น และเป็นสุขจากการพึ่งพาตนเองได้อย่างนี้ไปตราบนานเท่านาน และจะดีเพียงใด หากทุกหมู่บ้านในประเทศไทย สามารถทำอย่างนี้ได้เช่นเดียวกัน

หมายเลขบันทึก: 316089เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2009 16:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 17:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท