การศึกษา : comment กับ ตัวตน


ถ้ามีการถกเถียงกัน หรือที่นักวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในบล็อกเยอะ ๆ น่าจะสามารถทำให้งบประมาณการประชุมสัมมนาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หรือหน่วยงานต่าง ๆ ลดลงไปได้อย่างมาก

ชุมชนเสมือนแห่งนี้ บุคคลที่เข้ามาล้วนมีตัวตน
การมีตัวตนนั้นทำให้เราไม่กล้าที่จะ comment แสดงความคิด หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันหรือเปล่า...?

การมีตัวมีตน เวลาที่จะถกเถียงกันนั้นจะทำให้โกรธเคืองกัน บาดหมางน้ำใจกันไหม...?
ถ้านักวิชาการที่เข้ามาในชุมชนเสมือนแห่งนี้สามารถถกเถียงกันโดยไม่โกรธเคืองกัน หัวสมองของคนจะถูกฉุดถูกดึงจากการถกเถียงกันได้อย่างมาก

การที่ใครเข้ามาถกเถียงกับเรา หรือเรียกง่าย ๆ ว่าคิดไม่ตรงกับเรา ทำให้เราต้องคิดต่อ
การที่ใครเข้ามาคุยกับเรา หรือเรีกง่าย ๆ ว่าแค่หาเพื่อนคุย ก็ทำให้เราแค่คุยตอบ
หรือว่าการที่ใครเข้ามาชมเรา หรือเรียกง่าย ๆ ว่ามาป้อย่อเรา ความคิดของเราแทบหยุดชะงักไปเลย

หยุดเพราะสำคัญตนผิดคิดว่าสิ่งที่เขียนออกมานั้นดีแล้ว เจ๋งแล้ว
เจ๋งเพราะคนอื่นยอมรับ เจ๋งเพราะมีคำชมจากคนมากมาย

แต่ถ้ามีใครสักคนคิดไม่ตรงกับเรา สงสัย ตั้งคำถาม โอ้โห มันเป็นอะไรที่ต้องเคลียร์
เคลียร์มีอยู่สองอย่าง อย่างแรก ด่ากลับ
เคลียร์อย่างที่สอง คือ ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม หาแล้ว หาอีก อันที่สองนี่เจ๋งจริง อยากให้ชุมชนเสมือนแห่งนี้มีคนแบบที่สองเยอะ ๆ

หรือบางคนอาจจะแย้งว่ามีแบบที่สาม คือ คนปล่อยวาง อยู่เฉย ๆ เขาชมก็ช่าง เขาจะด่าก็ช่าง เขาชมก็ยิ้มอยู่ในใจ เขาติก็แอบกลับไปร้องไห้ที่บ้าน แบบที่สามนี้น่าจะมีอยู่เยอะเหมือนกัน

ถ้ามีการถกเถียงกัน หรือที่นักวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในบล็อกเยอะ ๆ น่าจะสามารถทำให้งบประมาณการประชุมสัมมนาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หรือหน่วยงานต่าง ๆ ลดลงไปได้อย่างมาก

ชีวิตของผู้ที่รักการเรียนรู้จะมีสีสันขึ้นอีกมาก ถ้ามีใครเขามาถกเถียงกันอย่างเปิดเผย เปิดอก
หรือว่านักวิชาการไทยไม่รักการเรียนรู้ คือ คิดว่าตนเองสุดยอดแล้ว เจ๋งแล้ว ใช้บล็อกนี้เป็นเพียงที่นำเสนอความเจ๋งของตนเอง คนที่เข้ามาอ่าน มาดู มีหน้าที่เชียร์และชมเท่านั้น อันนี้ก็ไม่แน่

แต่นั่นก็แล้วแต่ว่าใคร ผู้ใด คนใดจะใช้ชุมชนนี้ไปเพื่อหาผลประโยชน์ในทางใด
ถ้าใครจะใช้ในการเรียนรู้ ก็ขอให้ภาวนาว่า ให้มีคนเขามาถกเถียงกับเราเยอะ ๆ เราจะได้ตอบ จะได้หาความรู้มาเคลียร์บ่อย ๆ
บล็อกของผู้รักการเรียนรู้จะสดใส และมีชีวิตชีวา ถ้าหากมีคนที่เห็นแย้ง หรือเห็นต่าง และกล้าที่จะเขามาพูด มาคุยกัน
บล็อคในชุมชนนี้จะตื่นเต้นขึ้นอีกมาก ถ้าหากเรากล้า comment กันอย่างตรงไป ตรงมา ไม่โกรธ หรือมีด่ากันลับหลัง

คุณค่าของวงการวิชาการอย่างหนึ่งคือการเห็นต่าง และต้องเป็นการเห็นต่าง ๆ ที่สามารถเปิดเผยพูดคุยสอบถามกันได้ในทุกวิถีทาง
วิถีทางแห่งบล็อคนี้ เป็นวิถีที่คนเห็นต่างจะเข้ามาคุย เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

แต่ว่าไป จะไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับใครถ้าเขาไม่บอก ไม่ชวน จะเข้าไปถก ไปเถียงกับเขาก็กลัวจะโดนด่า
เราก็ไม่รู้ว่าเขาจะแฟร์เหมือนกับเราหรือเปล่า
อันนี้เป็นประเด็นที่น่าคิด หรือว่านี่คือปัญหาสำคัญที่เราไม่ค่อยจะ comment กันอย่างเป็นวิชาการ

ถ้าเป็นประเด็นนี้ก็แก้ยากสักหน่อย คนไทยยังไม่ค่อยเปิดใจรับแนวคิดการถกเถียงกัน ทางวิชาการแบบนี้สักเท่าไหร่ นักวิชาการไทยรักสันติ คิดไม่ตรงกันหน่อยก็โกรธกันแล้ว อยากให้คนอื่นเห็นด้วยกับความคิดหรือความรู้ของเราตลอดเลย
ยิ่งคนที่ไม่มียศ ไม่มีตำแหน่ง ไม่มี ดร. ไม่มี ผศ. รศ. หรือ ศ. นำหน้า จะไปเห็นต่างก็จะถูกเหยียดหยามว่าโง่แล้วอวดฉลาด

บ้านเมืองนี้จึงถูกนักวิชาการมียศครอบครอง
คนไม่มียศ ก็ขวนขวาย ตะเกียก ตะตายให้มียศ ไม่มีหัวโขน ก็ต้องเสียเงินไปร่ำ ไปเรียนให้มีหัวโขน
แบบนี้ก็เขาทางมหาวิทยาลัยที่อาศัยน้ำเลี้ยงจากบัณฑิตศึกษา เปิด ป.โท ป.เอก ภาคพิเศษกันจ้าละหวั่น
ทำ Thesis เล่มหนึ่งเสร็จก็ได้เป็น ดร. แล้ว


พอพูดแล้วก็เริ่มมีคนฟัง คำพูดเดิม ของคนเดิม แต่มี ดร. เพิ่มเติมนี่น่าเชื่อถือ
แล้วตอนนี้เกือบทุกมหาวิทยาลัยผลิต ดร. กันออกมาเยอะมาก โดยเฉพาะในอีกสามถึงห้าปีข้างหน้า ถ้าโยนก้อนหินขึ้นไปบนฟ้า ก็จะหล่นลงมาโดนหัว ดร. เต็มไปหมด แล้วอนาคตต่อไปใครจะฟังใครกันล่ะนี่

คนที่มีความรู้แบบเดิม ๆ วิสัยทัศน์แบบเดิม ๆ พอได้ ดร.นำหน้าแล้ว ก็เปรียบเสมือน ได้โซ่ที่มาล่ามขาของตัวเองไว้ไม่ให้เรียนรู้

แต่ในทางกลับกัน การหยุดเรียนรู้เมื่อเรียนจบปริญญาเอกแล้วนั้น เรายังต้องทำงานต่อไปอีกนาน คำพูดจากวิสัยทัศน์ที่ไม่เปลี่ยนแปลง ถูกทำให้น่าเชื่อถือขึ้นเพราะใครต่อใครก็เรียกว่า ด็อกเตอร์

ความคิดเดิม ความรู้เดิม แต่ได้รับการยอมรับมากขึ้น จากผิดก็กลายเป็นถูกได้ จากเคยถูกเหยียดหยามก็กลับได้รับการชมเชยและเชิดชู

สังคมไทยกำลังเจอกับสภาวะ ดร. เกลื่อนเมือง และมิหนำซ้ำคนไทยกลาดเกลื่อนเมืองก็ยอมรับคำพูดจาก ดร.เหล่านั้น

ปริญญาเอกสอนปริญญาโท ปริญญาโทสอนปริญญาตรี ปริญญาตรีสอนมัธยมและประถม สภาวะลูกโซ่แบบนี้จะทำลายวงการวิชาการบ้านเราไปได้อีกหลายทศวรรษ

ยิ่งมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบต้องหาเงินเลี้ยงตัวเองมาก ก็ยิ่งเปิดหลักสูตรพิเศษ โท เอก กันมาก

Adviser ตั้งแต่ รศ. ขึ้นไปก็ยิ่งจะมีมาก เพราะมหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ ค่อนข้างมีอิสระในการอนุมัติตำแหน่งทางวิชาการ

น่าสนใจว่าทศวรรษหน้าของการศึกษาไทยจะเป็นเช่นไร ยิ่ง ดร.มาก ผศ. รศ. และ ศ. รุ่นใหม่มากขึ้น มากขึ้น ผนวกกับ ศ. แท้ ๆ เจ๋ง ๆ วัยของท่านก็ล่วงเลยไปมาก

ศ.รุ่นใหม่ จะไฉไล เท่า ศ. รุ่นเก่า ๆ ไหม ต้องคอยดู... 

หมายเลขบันทึก: 315794เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2009 20:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท