การศึกษา : วิจัยดี ๆ


การทดลองด้วยชีวิตของเขา ใช้ปากกัดและตีนถีบ เพื่อที่จะได้ผลงานเจ๋ง ๆ มาสักชิ้น

การเสาะหาผลงานวิจัยดีๆ จากทั่วประเทศ...
ฉุกคิดขึ้นมาได้แว๊บหนึ่งว่าการวิจัยในประเทศนี้ดีแล้วหรือ...?

การวิจัยในประเทศนี้ที่ยอมรับกันต้องทำโดยนักวิชาการที่มีชื่อ มีตำแหน่ง มีคำนำหน้าชื่อนั้นดีแล้วหรือ...?
การวิจัยไม่ว่าจะในทางใด ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคม วัฒนธรรม หรือแม้กระทั่ง R2R คนในชุมชนที่เขาไม่มียศ มีตำแหน่ง เขาทำดี ดี ๆ ดีมาก ถึงดีที่สุด แต่ทว่า การทำโดยคนต่าง ๆ ที่ไม่มีปริญญาเหล่านี้ นักวิชาการไม่สามารถยอมรับและเรียกได้ว่า “การวิจัย (Research)”

นักวิชาการหัวใส ก็เลยปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า เฮ๊ย...! เราไปถอดความรู้เขามาดีกว่า อ้างชื่อเขาบ้าง เพื่อให้เป็นผลงานของเรา…

ตราบใดที่เรายังไม่ยอมรับคนที่ความเป็นคน
ตราบใดที่เรายังยอมรับคนที่กระดาษคือใบปริญญาหรือคำนำหน้าชื่อ
เราจะไม่รู้จักการวิจัยที่ดี ๆ ได้เลย

การวิจัยของนักวิชาการที่ทำเป็น Part time ทำเพื่อหาเงิน ทำโดยถูกผู้บริหารบังคับ หรือทำเพื่อหาผลประโยชน์จากรายได้หรือตำแหน่งที่มากขึ้น จะดีมีคุณค่าสู้กับคนในชุมชนที่เขาทดลองซ้ำแล้ว ซ้ำอีก ทำเพื่อชีวิตของเขา ทำเพื่อลมหายใจของเขาได้หรือ...?

เขาผิดหรือ ที่เขาไม่มีปริญญา กระดาษแผ่นบาง ๆ ที่ได้มาเพียงแค่ท่องหนังสือแล้วไปสอบ
การทดลองด้วยชีวิตของเขา ใช้ปากกัดและตีนถีบ เพื่อที่จะได้ผลงานเจ๋ง ๆ มาสักชิ้น
เจ๋งพอที่จะให้ชีวิตของเขาและครอบครัวอยู่รอดได้

เขาผิดหรือที่เขาเขียนหนังสือไม่เป็น แต่งตำราไม่เก่ง ไม่รู้ว่าจะเรียบเรียงและนำเสนอผลงานผ่านสื่ออย่างไร...?
คนที่เรียบเรียงเก่งที่จริงน่าจะเป็นผู้ไปช่วยเรียบเรียงให้
เชิดชูเขา ว่าเขาเก่ง
มิใช่ถือ TOR เขาไปว่าไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แล้วกลับไปเหยียบย่ำความรู้....

เพียงแค่เราพูดว่า เราจะไปทำงานกับ “ชาวบ้าน” แค่นี้เราก็เหยียบย่ำและดูถูกเขาตั้งแต่เรายังไม่ก้าวเท้าลงไปในชุมชนเสียอีก

นักวิชาการน่าจะเป็นตัวช่วยที่ดี ที่จะไปเสาะแสวงหาการวิจัยเจ๋ง ๆ R2R ดี ๆ ที่เนียนเข้าไปกับชีวิตประจำวัน
ต้องลงไปคลุกคลีตีโมง ไปเจ๊าะแจ๊ะ รวมหัวกัน เขาทำเก่ง เราเขียนเก่ง คุณนำเสนอเก่ง ใช้ทุนความเก่งของแต่ละคนให้ถูกต้อง

จะให้นักวิชาการที่พูดเก่ง เขียนเก่ง ไปทำเก่งเหมือนกับคนที่เขาทำด้วยชีวิตนั้นไม่มีทางเป็นไปได้
นักวิชาการทำอย่างมากก็ได้แค่ทดลอง
การทดลองเป็นอะไรที่ Sample ทำไม่ได้ก็ไม่เห็นตาย
การทำอะไรที่มันไม่ต้องแลกด้วยความตายนั้น ความพยายามจะเทียบเท่ากับคนที่ถ้าทำไม่ได้แล้วจะต้องตายได้เลย
เวลาคนเราจะตาย อะไรต่ออะไรก็ผุดขึ้นมา สรรหาวิธีการต่าง ๆ นานาเพื่อที่จะทำให้ตนเองรอดพ้นจากความตาย

นักวิชาการที่ไม่มีเงิน ไม่มีตำแหน่งก็เหมือนกัน
เวลาใกล้ตาย ก็จะเข้าไปหาผลประโยชน์ในชุมชน ความคิดแบบนี้ไม่น่าจะผุดขึ้นมาจากผู้ที่สังคมสมมติว่าเขามีความรู้ มีปัญญา

การให้ทุนวิจัยของ สกว. น่าจาชูประเด็นการวิจัยในธรรมชาติเป็นเบื้องต้น
เชิดชูการวิจัยที่ธรรมด๊า ธรรมดา ทำโดยคนธรรมดาทั่ว ๆ ไป
การเอาชีวิตรอดของคนที่เดินด้วยเท้าสองเท้า อยู่กับดิน กินกับทราย
ถ้าเราหว่านทุนวิจัยไปให้นักวิชาการ คนในสังคมรุ่นหลังก็จะติดอยู่แค่ว่า ทำแบบนักวิชาการทุกวันนี้นี่แหละคือการวิจัย นี่แหละคือวิชาการ

ภูมิปัญญาไทยก็จะถูกเหยียบย่ำ ย่ำยีจากเด็กรุ่นหลัง ดูถูกพ่อแม่ ดูถูกโครต ดูถูกสกุลของตนเอง

มีนักวิชาการคนไหนบ้างไหม ที่รู้สึกตัวเองจริง ๆ ว่า เรานั้นโง่กว่าชุมชน โง่กว่าลุง กว่าป้าที่เราไปคุยด้วยในชุมชน
คนเก็บขยะ เขาเก็บขยะเก่งกว่าเราไหม แต่ก็น่าแปลกใจที่นักวิชาการไทยสามารถไปสอนคนเก็บขยะได้ ทั้ง ๆ ที่มือตนเองยังไม่เคยสกปรก...

เป็นประเด็นทางวิชาการที่น่าคิด เพราะทุกวันนี้ เราฝากโอกาสทางการศึกษา ฝากอนาคตของชาติไว้กับครู อาจารย์ และนักวิชาการ
แต่นักวิชาการไม่ยอมคลุกฝุ่น นักวิชาการยังสำคัญตนว่าฉลาดกว่าคนอื่น ๆ แล้วประเทศไทยนี้จะพัฒนาบนฐานของคนที่คิดว่าตนฉลาดแล้วได้อย่างไร...?

เมื่อใดที่เราคิดว่าตนฉลาดแล้ว เมื่อนั้นก็เท่ากับการปิดประตูเพื่อรับความรู้ใหม่ ๆ

ถ้าพูดไป การวิจัยของนักวิชาการที่เห็นน้ำเห็นเนื้อ ก็น่าจะมีแต่ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะทางการแพทย์ เพราะมีคนกลุ่มหนึ่งท่านมี “ความกตัญญู” เป็นพื้นฐาน
ท่านเหล่านี้คือผู้ที่ได้รับทุนอานันทมหิดล
ความกตัญญู เป็นพื้นฐานจิตของคนดี
คนดีทำอะไรก็ดี
นักวิชาการบ้านเราน่าจะเรียนรู้พื้นฐานจิตใจที่ดี ๆ ของท่านเหล่านี้เพื่อที่จะทำให้ทุนวิจัยที่ได้รับมานั้นมีคุณค่าและประโยชน์มากขึ้น

เมื่อเรามีความกตัญญู เราจะตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่
ความกตัญญูเป็นพื้นฐานแห่งการเสียสละ
นักวิจัยดี ๆ เขาทุ่มเทและเสียสละเพื่อทดแทนบุญคุณผู้ที่ให้งาน ให้ชีวิต

สรุปสองประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมด คือ
หนึ่ง การวิจัยธรรมดาของคนธรรมดา ก็คือ พี่น้องในชุมชน (ทุกชุมชน) เป็นการวิจัยชั้นเลิศ นักวิชาการพร้อมหรือยังที่จะก้มหัวคำนับลุง ๆ ป้า ๆ ที่ทำวิจัยธรรมดาในชีวิตเหล่านี้
สอง การวิจัยโดยคนดี คนที่มีความกตัญญู เป็นรูปแบบ เป็นตัวอย่าง ที่จะสร้างพลังให้นักวิจัยรุ่นใหม่ หรือนักวิจัยรุ่นเก่าที่คิดจะกลับตัวกลับใจ ใช้เงินทุนวิจัยที่ได้มาอย่างกตัญญู...

หมายเลขบันทึก: 315785เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2009 19:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท