รสวรรณคดีแห่งสามัคคีเภทคำฉันท์


รสวรรณคดีแห่งสามัคคีเภทคำฉันท์

รสของวรรณคดีไทย  แบ่งออกเป็น ๔ รส คือ

๑.      เสาวรจนี (รสแห่งความเพลิดเพลิน) ได้แก่บทชมโฉม ชมความงามของวัตถุสิ่งของ หรือชมธรรมชาติ

ตัวอย่าง เสาวรจนีในเรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์

๑.๑  ตอนบรรยายความงดงามของปราสาทราชมณเทียรของเมืองราชคฤห์

          อำพนพระมนทิรพระราช                   สุนิวาสน์วโรฬาร์

อัพภันตรไพจิตรและพา                               หิรภาคก็พึงชม

เล่ห์เลื่อนชะลอดุสิตฐา                                 นมหาพิมานรมย์

มารังสฤษฎ์พิศนิยม                                     ผิจะเทียบก็เทียมทัน

สามยอดตลอดระยะระยับ                            วะวะวับสลับพรรณ

ช่อฟ้าตระการกลจะหยัน                             จะเยาะยั่วทิฆัมพร

บราลีพิลาศศุภจรูญ                                     นภศูลประภัสสร

หางหงส์ผจงพิจิตรงอน                                ดุจกวักนภาลัย

๑.๒  ตอนบรรยายการจัดกองทัพของพระเจ้าอชาตศัตรู

        ทัพช้าง

          ราชามาคธภูบาล                                เถลิงหลังคชาธาร

ประเสริฐสง่างามทรง

                ควรขัตติยยานยรรยง                  เพียงพาหนาสน์องค์

สหัสนัยน์ใดปาน

                ครบเต็มเครื่องตั้งหลังสาร           กูบแพรแลลาน

ละล้วนบรรเจิดเฉิดฉัน

                โอภาสอาภรณ์อัครภัณฑ์            คชลักษณ์ปิลันธน์

ก็ล้วนก็ล้ำลำยอง

                แพร้วแพร้วพรายพรายข่ายกรอง ก่องสกาวดาวทอง

ทั้งพู่สุพรรณสรรถกล

                สองพลุกสุกวลัยเลอยล               ลาดพัสตร์รัตคน

และปกขนองซองหาง

                งวงเสยเงยเศียรส่ายพลาง          เทิดทันต์ท่าทาง

สง่าบ่ล้ากำลัง

                ขุนคอคชคุมกุมอัง                       กุสกรายท้ายยัง

ขุนควาญประจำดำรี 

                เครื่องสูงครบสรรพ์อันมี              ตามบุรพประเพณี

พยูหบาตรยาตรา

                จาตุรงคิกแสนเสนา                     เนื่องสุดสายตา

ตลอดตะลึงแลลาน      

ทัพม้า

                พลหัยพิศเห็นเช่นเหิน                 หาวเหาะเหยาะเดิน

เดาะเตือนก็เต้นตีนซอย

                ต่างตัวดีดโลดโดดลอย                เริงเล่นเผ่นคอย

จะควบประกวดอวดพล

                สีกายฝ้ายแซมแกมขน                ดำบ้างด่างปน

กระเลียวเหล่าเหลืองแดงพรรณ

                โสภาอัศวาภรณ์สรรพ์                  ตาบหน้าพร่าวรร

ณเด่นดำกลกาญจน์มณี

                ยาบย้อยห้อยพู่ดูดี                        ขลุมสวมกรวมสี

สะคาดกนกแนมเกลา

                สายถือสายง่องถ่องเพรา              คล้องสอดสายเหา

งามทั้งพนังโกลนอาน

                ขุนอัศว์อาตม์โอ่โอฬาร                  รำทวนเทิดปาน

ประหนึ่งจะโถมโจมแทง

                ต่างขับและขี่เข้มแขง                      ควงแส้สำแดง

ดุรงควิธีโรมรณ

๒.    นารีปราโมทย์ (รสแห่งความพิศวาส) ได้แก่ บทเกี้ยวพาราสี โอ้โลม เป็นรสในทางรักใคร่ 

เนื้อเรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์เน้นเรื่องความรักในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความสามัคคีในหมู่คณะเป็นสำคัญ  จึงไม่มีรสวรรณคดีนารีปราโมทย์

๓.    พิโรธวาทัง (รสแห่งความพิโรธ) ได้แก่ บทโกรธ ฉุนเฉียว บริภาษต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากอารมณ์เป็นส่วนใหญ่  

ตัวอย่าง พิโรธวาทังในสามัคคีเภทคำฉันท์  ตอนพระเจ้าอชาตศัตรูกริ้ววัสสการพราหมณ์ที่บังอาจแสดงความคิดเห็นโต้แย้งเรื่องการรุกรานแคว้นวัชชี

               ผันพระกายกระทืบพระบาทและอึง

พระศัพทสีหนาทพึง                                                 สยองภัย

                เอออุเหม่นะมึงชิช่างกระไร

ทุทาสสถุลฉะนี้ไฉน                                                   ก็มาเป็น                

                ศึกบ่ถึงและมึงก็ยังมิเห็น

จะน้อยจะมากจะยากจะเย็น                                     ประการใด           

                อวดฉลาดและคาดแถลงเพราะใจ

ขยาดขยั้นมิทันอะไร                                                 ก็หมิ่นกู

                กลกะกากะหวาดขมังธนู

บห่อนจะเห็นธวัชริปู                                                 สิล่าถอย

                พ่ายเพราะภัยพะตัวและกลัวจะพลอย

พินาศชิพิตประดิษฐ์ประดอย                                    ประเด็นขัด          

                กูก็เอกอุดมบรมกษัตริย์                                      

วิจาระถ้วนบควรจะทัด                                              จะทานคำ

                นี่น่ะเห็นเพราะเป็นอมาตย์กระทำ

พระราชการมาฉนำ                                                  สมัยนาน

                ใช่กระนั้นละไซร้จะให้ประหาร

ชิวาตม์และหัวจะเสียบประจาน                                 ณทันที

                นาคราภิบาลสภาบดี

และราชบุรุษแน่ะเฮ้ยจะรี                                          จะรอไย

                ฉุดกระชากกลีอปรีย์เถอะไป

บพักจะต้องกรุณอะไร                                              กะคนคด

                ลงพระราชกรรมกรณบท

พระอัยการพิพากษกฎ                                              และโกนผม

                ไล่มิให้สถิตณคามนิคม

นครมหาสิมานิยม                                                      บุรีไร

                มันสมัครสวามิภักดิใน                                      

อมิตรลิจฉวีก็ไป                                                         บห้ามกัน

๔.  สัลลาปังคพิสัย (รสแห่งความโศกเศร้า) ได้แก่ บทเศร้าโศก คร่ำครวญ เวทนา สงสาร

   ตัวอย่างสัลลาปังคพิสัยในสามัคคีเภทคำฉันท์

   ๔.๑  ตอนวัสสการพราหมณ์ถูกลงอาญา

          พวกราชมัลโดย                                พลโบยมิใช่เบา

สุดหัตถแห่งเขา                                          ขณะหวดสิพึงกลัว

                บงเนื้อก็เนื้อเต้น                         พิศเส้นสรีร์รัว

ทั่วร่างและทั้งตัว                                         ก็ระริกระริวไหว

                แลหลังละลามโล                         หิตโอ้เลอะหลั่งไป

เพ่งผาดอนาถใจ                                        ระกะร่อยเพราะรอยหวาย

                เนื่องนับอเนกแนว                      ระยะแถวตลอดลาย

เฆี่ยนครบสยบกาย                                     สิรพับพะกับคา   

         ๔.๒  ตอนวัสสการพราหมณ์กราบทูลขอความเมตตาจากกษัตริย์ลิจฉวี

                ข้าแต่พระจอมจุฬมกุฎ                 บริสุทธิกำจาย

ปรากฏพระยศระบุระบาย                             ตระบะเบิกระบือบุณย์

                เมตตาทยาลุศุภกรรม                   อุปถัมภการุณย์

สรรเสริญเจริญพระคุณสุน                           ทรพูนพิบูลงาม

                เปรียบปานมหรรณพนที               ทะนุที่ประทังความ

ร้อนกายกระหายอุทกยาม                            นรหากประสบเห็น

                เอิบอิ่มกระหยิ่มหทยคราว            ระอุผ่าวก็ผ่อนเย็น

ยังอุณหมุญจนะและเป็น                               สุขปีติดีใจ

                อันข้าพระองค์กษณะนี้                  ภยมีจะร้อนใด

ยิ่งกว่าและหามนุษย์ไหน                              จะเสมอเสมือนตน

                ใคร่เปลื้องประเทืองประณุททุกข์ ภยมุขประมวลดล

ไร้ญาติและขาดมิตรสกล                              ชนผู้จะดูดาย

                โดยเดียวเพราะอาดุรณแด           และก็แก่ชรากาย

ที่ซึ่งจะพึงสรณะหมาย                                  อนุสรบห่อนเห็น

                ทราบข่าวขจรกิรติบา                    รมิว่าพระองค์เป็น

เอกอัครกษัตริย์สุขุมเพ็ญ                             กรุณามหาศาล

                หวังพึ่งพะพิงบพิตรพึ่ง                 อภิโพธิสมภาร

มอบกายถวายชีวิตปราณ                             นิจกาลปรารมภ์

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 315486เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2009 14:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นเนื้อหาที่ดีมากค่ะ

ขอบคุณค่ะ

เป็นเนื้อหาที่ดีมากค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท