จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

การศึกษากับทุนทางสังคม(1)


จากปัญหาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหลายฝ่ายพยายามที่จะระดมหลากหลายวิธีเพื่อการแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพให้ทัดเทียมกับส่วนอื่นๆ ของประเทศ ผมเองก็มีความเห็นสอดคล้องกับหลายๆ ท่านว่า สังคมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีทุนทางสังคมที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นอยู่บ้าง แต่ทุนทางสังคมดังกล่าวมีคุณค่ามากพอที่จะใช้ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่นี้ได้ ผมใช้ความเชื่อนี้สู่การปฏิบัติมาตลอดระยะเวลาที่ผมได้ทำงานในฐานะผู้ผลิตครูในมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา แล้วผมก็ยิ่งมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นว่า แนวทางนี้ดีที่สุด

เมื่อคืนมีโทรศัพท์มาจากนักศึกษา ป.เอก มหาวิทยาลัยในประเทศไทยท่านหนึ่ง ซึ่งเธอกำลังเตรียมข้อมูลเพื่อจะทำวิทยานิพนธ์ โทรมาขอคำปรึกษาจากผมครับ เธอเห็นงานวิจัยชิ้นหนึ่งของผมคือ ระบบและกลไกการประกันคุณภาพภายในสำหรับ รร. เอกชนสอนศาสนาอิสลาม คำถามหนึ่งในนั้นถามผมว่า อาจารย์ทำให้โรงเรียนฯ มาร่วมโครงการวิจัยกับอาจารย์แล้วผลิตผลงานออกมาได้ขนาดนี้ได้อย่างไร จากประสบการณ์ของเขาที่ทำงานในพื้นที่ เขาบอกได้ว่า รร.ไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ และที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเป็นเรื่องยากมาก

ผมตอบไปว่า เพราะผมไม่ได้ทำงานในหน่วยงานรัฐ ที่ใช้คำสั่งในการให้ใครต่อใครต้องทำตาม แต่ผมใช้สิ่งที่ทุนเดิมของโรงเรียนสู่การขยายผลต่อยอด ทุนเดิมที่ผมและโรงเรียนมีเหมือนกันคือ "ศาสนาอิสลาม" ซึ่งใครที่ศรัทธาในศาสนานี้ก็ย่อมเชื่อมั่นว่า เป็นศาสนาที่สมบูรณ์แบบและครอบคลุมในทุกมิติของชีวิต ดังนั้นคำถามที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน เป็นเพราะศาสนาอิสลามไม่สมบูรณ์หรือ? คำตอบที่ทุกโรงเรียนตอบคือ "ไม่ใช่" แล้วทำไม? คำตอบที่ผมโยนกลับไปยังโรงเรียนที่ผมได้ทำงานร่วมด้วยคือ "เพราะเราไม่ได้ทำตามหลักคำสอนของศาสนาที่ปรากฏในอัลกุรอานและแบบอย่างของท่านศาสนทูต (ซ.ล) ใช่หรือเปล่า เพราะผมเชื่อว่าถ้าเราทำตามหลักคำสอนของศาสนาแล้ว คำตอบต้องไม่ใช่อย่างที่เป็นและเห็นในปัจจุบัน" ทุกโรงเรียนเห็นด้วยกับผมครับ และนั้นความร่วมมือในการผลักดันการบริหารจัดการในโรงเรียนเพื่อตอบสนองต่อการประกันคุณภาพก็เกิดขึ้น จนผมเองยังประหลาดใจกับผมที่ได้รับเลยครับ เพราะตอนผมเริ่มโครงการ ก็ยังมีผู้บริหารระดับ สพฐ. ในพื้นที่บอกกับผมว่า อย่าทำทั้งโรงเรียนเลยอาจารย์ เอาเฉพาะสายสามัญก็พอ สายศาสนาไม่ต้องยุ่งกับเขาหรอก เพราะงานวิจัยของอาจารย์อาจจะไม่สำเร็จก็ได้ ซึ่งผมไม่เชื่ออย่างนั้นครับ

ผมคิดว่า เมื่อโรงเรียนต้องรับนวัตกรรมใหม่ซึ่งมีความแตกต่างจากฐานความเชื่อเดิมจากหน่วยงานรัฐ (ซึ่งแน่นอนว่า ในพื้นที่ก็จะเชื่อว่า มีฐานความเชื่อที่แตกต่างจากคนในพื้นที่) ผลในทางปฏิบัติจึงไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ดังนั้นหากเพียงการใช้ทุนทรัพยากรที่มีในสังคมสามจังหวัด การผลักดันงานก็จะมีความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

ตลอดการทำงานที่ผ่านมาก ผมนำเสนอแนวทางเพื่อเพิ่มคุณภาพการศึกษาครับ โดยมองไปยังห้องเรียน ที่ผมคิดว่าหากในห้องเรียนสามารถหลอมรวมคำว่า "วิชาศาสนา" กับ "วิชาสามัญ" เ้ป็นเนื้อเดียวกันได้ คุณภาพก็จะเกิดขึ้นกับการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่นี้ครับ ระยะแรกๆ ผมก็ใช้โอกาสจากการที่ได้รับเชิญไปบรรยาย นำเสนอแนวคิดนี้ ซึ่งก็ได้รับการยอมรับ และครั้งหนึ่งท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ท่านอ.มัสลัน มะหะมะ ให้คำแนะนำว่า น่าจะผลักดันการทำงานให้มียุทธศาสตร์มากขึ้น โดยอาจจะใช้งานวิจัยเป็นตัวขับเคลื่อนมาก ข้อแนะนำนี้เหมือนเป็นเชื้อไฟอย่างดีเลยครับ ผมเลยนำแนวคิดนี้เสนอไปยังแหล่งทุนสำหรับงานวิจัยครับ ฮือ แต่ยากครับที่จะได้แหล่งทุนสนับสนุนแนวคิดนี้ หรือจะมีบ้างแต่ก็ไม่ค่อยจะตรงใจผมสักเท่าไร

ต่อมาผมได้รับข่าวดีมาว่า มีแหล่งทุนวิจัยที่สนใจแนวคิดนี้ครับ แต่พอสำรวจตัวเองแล้วพบว่า ไม่มีความพร้อมใดๆ ที่เป็นชิ้นเป็นอันพอจะเสนอแนวคิดให้เป็นกิจลักษณะเลย และที่สำคัญผมคิดคนเดียวคงไม่สามารถทำให้ชิ้นงานนี้สมบูรณ์ขึ้นมาได้ ดังนั้นเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 52 การสัมมนาก็เกิดขึ้นครับ ในเรื่องการสัมมนาว่า "แนวทางการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา 3 จชต ด้วยกระบวนการวิจัย"

ขออนุญาตเล่าต่อในบันทึกต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 313739เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2009 20:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขอบคุณค่ะ...อ่านแล้วทำให้เปิดโลกทัศน์ทางการศึกษาเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่น่ายินดีหากหลอมรวมวิชาศาสนา กับวิชาสามัญด้วยกันได้

ขอบคุณครับ noktalay 

การหลอมรวมยังเป็นเป้าหมายอยู่ครับ ความสำเร็จยังคงต้องใช้พลังและความร่วมมืออีกเยอะครับ

รออ่านตอนต่อไปครับ... อยากมีส่วนร่วมในการผลักดันการศึกษาในพื้นที่นี้ต่อไปครับเท่าที่คนธรรมดาคนนึงจะสามารถช่วยขับเคลื่อนอะไรได้บ้างครับ อย่างน้อยคนละไม้คนละมือด้วยทุนที่ทุกคนต่างมีอยู่ คือความเื่ชื่อและศรัทธาในความเมตตาของพระเจ้า

ด้วยความหวังและดุอาอฺ เป็นกำลังใจให้ครับ

ขอบคุณครับอาจารย์เสียงเล็กๆ فؤاد 

งานนี้ให้ผู้วิเศษช่วยไม่ได้หรอกครับ ต้องคนธรรมดาๆ ที่จะต้องมาร่วมไม้ร่วมมือกัน จึงจะสร้างคุณภาพให้กับการศึกษาได้ เพราะอัลลอฮ์บอกแล้วว่า พระองค์จะไม่ทรงเปลี่ยนแปลงกลุ่มชนใด เว้นแต่เราเปลี่ยนแปลงมันเอง

สลามครับอาจารย์ จารุวัจน์ อยากเห็นเป็นจริงในรุ่นนี้ครับ

วาอาลัยกุมุสลาม วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei-- 

ผมก็อยากให้เกิดขึ้นเร็วๆ ครับ แต่สิ่งที่เราจะสร้างนั้น ต้องใช้รากฐานที่แข็งแกร่งครับ ไม่อย่างนั้นภาพฝันอาจจะพังทลายด้วยความล้มเหลวได้ครับ แต่คิดได้ว่า เราน่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ในคนรุ่นนี้แหละครับ อินชาอัลลอฮ์

  • มาอ่าน รออ่านมาหลายวันแล้ว
  • เห็นด้วยอย่างยิ่งกับที่ อ. นำเสนอ
  • การทำงานกับโรงเรียนกลุ่มนี้ เราต้องคำนึงสิ่งหลักๆที่เขายึดถืออยู่สามอย่าง
  1. วัฒนธรรม ประเพณี สิ่งที่คนเก่าก่อนเคยทำ ถูกผิดหรืออย่างไรนั้น อีกเรื่อง
  2. ศาสนา เราต้องนำเสนอสิ่งที่ถูกต้องมากที่สุด
  3. ความต้องการของชาติประเทศชาติหรือทางการ

 

ต้องขอมาอัฟด้วยครับท่านอาจารย์ Ibm ครูปอเนาะ ڬوروفوندق ที่บันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ช้ากว่าที่คิด เริ่มตั้งแต่เน็ทใช้ไม่ได้ครับ และตอนนี้ดูท่าว่าจะแย่ใหญ่ครับ เพราะรู้สึกว่า อาการหวัดเริ่มแล้ว

ขอบคุณสำหรับข้อสรุปสามประการครับ ชัดเจนมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท