คนตานี
saifuddeen Abu Ni-nasreen (سيف ألدين) ibn ni-umar ibn ni-kejik An-nuree

ชมดาวตกพร่างพรู : ฝนดาวตกสิงโต (Leonids) คืน 17 พฤศจิกายน - เช้ามืด 18 พฤศจิกายน 2552


ชมดาวตกพร่างพรู : ฝนดาวตกสิงโต (Leonids) คืน 17 พฤศจิกายน - เช้ามืด 18 พฤศจิกายน 2552

 

 

ฝนดาวตกสิงโต 2552

รายงานโดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด

ฝนดาวตกสิงโตหรือฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonids) ในปีนี้อาจกลายเป็นข่าวดังและได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากนักดาราศาสตร์คำนวณพบว่าอัตราการเกิดดาวตกในฝนดาวตกกลุ่มนี้อาจสูงกว่าระดับปกติ และคาดว่าสามารถสังเกตเห็นได้ชัดในแถบตะวันออกของยุโรปจนถึงเกือบทั้งหมดของเอเชียโดยไม่มีแสงจันทร์รบกวน

ฝนดาวตกเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติซึ่งทำให้มองเห็นดาวตกจำนวนหนึ่งพุ่งออกมาจากบริเวณเดียวกันบนท้องฟ้า ฝนดาวตกเกิดขึ้นทุกปีและมีอยู่หลายกลุ่ม จำนวนดาวตกมีหลายระดับ ตั้งแต่ต่ำมากเพียงไม่กี่ดวงต่อชั่วโมงจนถึงมากกว่า 100 ดวงต่อชั่วโมง ฝนดาวตกเกิดขึ้นเมื่อโลกเดินทางฝ่าเข้าไปในบริเวณที่มีสะเก็ดดาวอยู่หนาแน่นในอวกาศ สะเก็ดดาวเหล่านี้มีต้นกำเนิดจากดาวหาง เมื่อดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ น้ำแข็งที่ผิวจะระเหิดและนำพาเศษชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่เรียกว่าสะเก็ดดาว (meteoroid) หลุดออกมาและทิ้งไว้ตามทางโคจร เราเรียกแนวของสะเก็ดดาวเหล่านี้ว่าธารสะเก็ดดาว (meteoroid stream) ฝนดาวตกสิงโตเกิดจากดาวหางเทมเพล-ทัตเทิล (55P/Tempel-Tuttle) มีคาบประมาณ 33 ปี ล่าสุดได้ผ่านเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อ พ.ศ. 2541 ฝนดาวตกส่วนมากมีชื่อตามดาวหรือกลุ่มดาวที่จุดกระจายฝนดาวตก (radiant) ปรากฏอยู่ ฝนดาวตกสิงโตจึงมีจุดกระจายอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต

ในอดีตนักดาราศาสตร์ไม่สามารถพยากรณ์เวลาและอัตราการเกิดดาวตกจากฝนดาวตกได้ หรือทำได้ก็ไม่แม่นยำนัก เทคนิคการพยากรณ์ซึ่งนำมาใช้กับฝนดาวตกสิงโตตั้งแต่ปี 2542 ด้วยการสร้างแบบจำลองเพื่อพยากรณ์การเคลื่อนที่ของสะเก็ดดาวโดยคำนึงถึงแรงภายนอกที่ส่วนใหญ่คือแรงโน้มถ่วงกระทำต่อสะเก็ดดาว ทำให้การพยากรณ์ฝนดาวตกสิงโตตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาค่อนข้างใกล้เคียงกับปรากฏการณ์จริง แม้จะยังมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้

ดาวหางเทมเพล-ทัตเทิล มีธารสะเก็ดดาวอยู่หลายสาย ธารสายหลักที่โลกจะเข้าไปใกล้ในปีนี้กำเนิดขึ้นเมื่อดาวหางโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อ ค.ศ. 1466 และ 1533 โดยทั่วไปธารสะเก็ดดาวจะมีเส้นทางอยู่ใกล้วงโคจรของดาวหาง แต่เบี่ยงเบนไปเนื่องจากแรงรบกวนจากวัตถุต่าง ๆ ในระบบสุริยะ

ผลงานวิจัยโดยนักดาราศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญการพยากรณ์ฝนดาวตกจากอย่างน้อย 3 กลุ่ม ให้ผลใกล้เคียงกันว่าฝนดาวตกสิงโตในปีนี้จะมีดาวตกถี่มากที่สุดในเวลาเกือบตี 5 ของเช้ามืดวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน 2552 ตามเวลาประเทศไทย ด้วยอัตราประมาณ 130 - 200 ดวงต่อชั่วโมง (เดิมคาดหมายว่าอาจสูงถึง 500 ดวง แต่ผลการพยากรณ์ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนลดลงมาที่ 200 ดวงต่อชั่วโมง) นอกจากนั้น ตัวเลขนี้ยังใช้กับสถานที่ที่ท้องฟ้ามืดสนิท ไม่มีสิ่งใดบดบังท้องฟ้า ไม่มีแสงรบกวน และจุดกระจายดาวตกอยู่ที่จุดเหนือศีรษะ

ฝนดาวตกสิงโตเริ่มขึ้นราววันที่ 10 พ.ย. โดยมีอัตราต่ำมาก แล้วจะค่อย ๆ สูงขึ้นจนสูงที่สุดในราววันที่ 17-19 พ.ย. หลังจากนั้นจึงลดลงและสิ้นสุดในราววันที่ 21 พ.ย. ช่วงวันที่มีดาวตกถี่มากที่สุด ประเทศไทยจะเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่คืนวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน 2552 โดยเริ่มในเวลาประมาณ 00:30 น. (เข้าสู่วันที่ 18) คาดว่าดาวตกในชั่วโมงแรกจะมีน้อยมาก อาจเห็นเพียงไม่กี่ดวงแต่มักพุ่งเป็นทางยาวบนท้องฟ้าโดยมีทิศทางมาจากซีกฟ้าตะวันออก

เมื่อเวลาผ่านไป จุดกระจายฝนดาวตกซึ่งอยู่ในกลุ่มดาวสิงโตจะเคลื่อนสูงขึ้นตามการหมุนของโลก อัตราการเกิดดาวตกก็จะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จากการคำนวณคะเนว่าช่วงเวลา 03:00 - 04:00 น. ควรนับได้อย่างน้อย 5 ดวง และอาจถึง 10 ดวง ดาวตกสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วท้องฟ้า แต่เมื่อลากเส้นตามแนวของดาวตกแต่ละดวงย้อนกลับไปจะบรรจบกันที่บริเวณหัวสิงโตซึ่งมีลักษณะคล้ายเคียว มีดาวหัวใจสิงห์เป็นส่วนของด้ามเคียว

เมื่อใกล้เช้า กลุ่มดาวสิงโตจะเคลื่อนขึ้นไปอยู่สูงเหนือศีรษะ ผลการพยากรณ์ระบุว่าดาวตกอาจมีจำนวนมากที่สุดในช่วงเวลา 04:00 - 05:00 น. หากสังเกตในที่มืด ห่างไกลจากเมืองใหญ่ ช่วงเวลาดังกล่าวควรนับได้อย่างน้อย 60 ดวง และอาจสูงถึง 100 ดวง โดยในช่วงใกล้ตี 5 จะมีอัตราสูงสุดราว 1-2 ดวงต่อนาที และอาจสูงกว่านี้ที่ 2-3 ดวงต่อนาที นักดาราศาสตร์คาดว่าจะมีลูกไฟ (fireball) ซึ่งเกิดจากสะเก็ดดาวขนาดใหญ่ให้เห็นได้บ้าง

หากเป็นไปตามการพยากรณ์ ช่วงเวลา 05:00 - 05:30 น. ควรนับดาวตกได้เป็นจำนวนราวครึ่งหนึ่งของช่วงเวลา 04:00 - 05:00 น. ก่อนท้องฟ้าสว่าง สำหรับในเมืองที่มีแสงไฟฟ้าและมลพิษรบกวน ดาวตกที่นับได้จะต่ำกว่านี้ประมาณ 6-7 เท่า สำหรับผู้ที่ต้องการดูฝนดาวตกครั้งนี้ เนื่องจากคาดหมายว่าดาวตกจะมีจำนวนมากที่สุดในช่วงใกล้เช้ามืด ดังนั้นหากไม่สะดวกที่จะเฝ้าสังเกตตลอดทั้งคืน แนะนำให้นอนเอาแรง แล้วตั้งนาฬิกาปลุกเพื่อตื่นมาดูตั้งแต่ตี 4 เป็นต้นไป

แม้ว่าการพยากรณ์ฝนดาวตกอาจมีความแม่นยำเชื่อถือได้มากขึ้นตามที่ได้พิสูจน์มาแล้ว แต่เราต้องตระหนักว่าฝนดาวตกแตกต่างจากปรากฏการณ์อื่นอย่างสุริยุปราคาหรือจันทรุปราคาที่สามารถระบุเวลาได้แม่นยำถึงระดับทศนิยมของวินาที เรามองไม่เห็นสะเก็ดดาวในอวกาศ จึงไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าแท้จริงแล้วมันเคลื่อนที่และอยู่กันหนาแน่นมากน้อยเพียงใด การพยากรณ์ที่กล่าวมานี้อาศัยแบบจำลองซึ่งพอจะใช้เป็นแนวทางได้ แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะตรงกับปรากฏการณ์จริง หากตรงก็แสดงว่าวิธีการพยากรณ์ที่ทำมานั้นได้เดินมาถูกทางแล้ว หากไม่ตรงก็เป็นข้อมูลสำคัญที่สามารถนำไปใช้ปรับปรุงการพยากรณ์ในอนาคต ดังนั้นไม่ว่าดาวตกจะมีจำนวนมากหรือน้อย การสังเกตดาวตกก็เป็นประโยชน์สำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลทางดาราศาสตร์เสมอ

 

 -----------------------------------------------------------------------

วิธีการดู

ชมดาวตกพร่างพรู : ฝนดาวตกสิงโต (Leonids) คืน 17 พฤศจิกายน - เช้ามืด 18 พฤศจิกายน 2552

นางสาวประพีร์ วิราพร นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย แจ้งข่าวว่ามีปรากฎการณ์ฝนดาวตกสิงโตที่มองเห็นด้วยตาเปล่า ช่วง คืนวันที่ 17 พฤศจิกายนถึงเช้ามืดวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 ช่วงเวลาประมาณ 04:00 ถึง 05:30 น. จะสังเกตเห็นฝนดาวตกสิงโตได้ประมาณ 200 ดวงต่อชั่วโมง

วิธีการดู ช่วงเวลาหลังเที่ยงคืน ถึง 04:00 น.ให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก กวาดสายตาจากขอบฟ้าจนถึงกลางฟ้า และเวลา 04:00 น. - 05:30 น. มองไปที่กลางฟ้า (เหนือศีรษะ) ฝนดาวตกจะมีลักษณะแสงสว่างวาบเคลื่อนที่ผ่านอย่างรวดเร็ว มีสีสันสวยงาม เช่น สีน้ำเงินเขียว สีส้มเหลือง และมีลูกไฟ (Fireball)

เงื่อนไขในการดู ท้องฟ้าแจ่มใส ไม่มีเมฆ หมอก และแสงไฟฟ้ารบกวน 

 

ที่มา

http://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/meteors/2009leonids.html

หมายเลขบันทึก: 313480เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2009 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชอบมากเลยค่ะดาวตก คอยติดตามดูข่าวตลอดเวลาว่าจะมีฝนดาวตกอีกเมื่อใด ครั้งนี้ก็จะได้ดูแล้วดีใจที่สุดเลยค่ะ

สวัสดีคุณอัง

นานๆที่ครับ ไม่ควรพลาด

เคยดูที่ไร่เพียงฟ้า บนเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ปี2541 มีฝนดาวตกเป็นลูกไฟพุ่งยาวเป็นประกายสีรุ้งเลย สวยมาก ปีนี้จะไปดูที่เขาค้ออีกค่ะ แต่ไม่รู้จะทน ถึง 04.00 น.ได้หรือเปล่า เพราะเป็นเวลาที่กำลังฝันสบาย คร่อก !! ฟี้ !!!

สวัสดีครับ คุณ แม่แดน

อย่าลืมละครับ คืนนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท