18 นักศึกษาเข้ารับทุน "ถวัลย์ -ไทยพาณิชย์" ประจำปี 52 ต่อยอดโอกาสทางการศึกษาด้านศิลปะ


บนเส้นทางการศึกษาด้านศิลปะนั้น ปัญหาสำคัญประการหนึ่งสำหรับนักศึกษาซึ่งครอบครัวมีรายได้น้อยคือค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ประกอบการเรียนซึ่งปัญหานี้บางครั้งเป็นอุปสรรคที่ทำให้เยาวชนผู้มีใจรักศิลปะหลายคนไม่สามารถแสดงศักยภาพในการสร้างสรรค์งานศิลปะได้อย่างเต็มที่ และบางคนไม่สามารถศึกษาในสาขานี้จนสำเร็จการศึกษาได้ เพราะครอบครัวแบกภาระไม่ไหว

"กองทุนถวัลย์ -ไทยพาณิชย์" ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2541 โดยความประสงค์ของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2544 และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยมอบหมายให้มูลนิธิสยามกัมมาจลเป็นผู้บริหารจัดการกองทุนฯ จึงเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาด้านศิลปะ ผู้มีความประพฤติดี เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

 

 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดพิธีมอบทุนการศึกษา "กองทุนถวัลย์ -ไทยพาณิชย์" ประจำปี 2552 ขึ้นเป็นปีที่ 11 ติดต่อกัน ณ ห้องสยามกัมมาจล 1 ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ โดยมีอาจารย์ถวัลย์ให้เกียรติเป็นประธานการมอบทุนการศึกษาแก่นักศึกษาคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, นิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, และนักศึกษาวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยราชมงคลรัตนโกสินทร์ รวม 18 ทุน

อาจารย์ถวัลย์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสมอบทุนการศึกษาในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยตนเองเมื่อครั้งอายุ 14 ปีและยังศึกษาอยู่ในต่างจังหวัดเคยได้รับทุนจังหวัดให้เข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง กรุงเทพฯ ต่อมาเมื่ออายุประมาณ 16 -17ปี ขณะกำลังเข้าศึกษาต่อชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยศิลปากร ยังได้รับความเมตตาจาก ม...คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้ติดสอยห้อยตามและเรียนรู้จากท่าน หากไม่ได้รับโอกาสเหล่านั้นก็คงจะไม่มีตนเองในวันนี้ เมื่อมีโอกาสอันสมควร จึงมอบรายได้จำนวนหนึ่งจากการวาดภาพเพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับเยาวชนที่สนใจงานด้านศิลปะขึ้นทั้งในระดับประถมฯ มัธยมฯ วิชาชีพ และอุดมศึกษา การมามอบทุนครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนการเห็นกระจกสะท้อนภาพชีวิตตนเองในอดีตอีกครั้ง ซึ่งเชื่อว่าเยาวชนที่ได้รับทุนวันนี้ก็จะเติบโตและค้นพบวิถีทางชีวิตของตนเองต่อไป

นายอัฐเศรษฐ์ แสนจันทร์ นักศึกษาชั้นปี 5 คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งได้รับทุนจากกองทุนถวัลย์ -ไทยพาณิชย์เป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน บอกว่า พื้นเพของเขาเป็นคนเชียงรายอยู่กับแม่ซึ่งป่วยจนไม่สามารถทำงานได้ ฐานะทางบ้านจึงค่อนข้างขัดสน ยิ่งเมื่อเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีรายจ่ายสูง เขาจึงต้องหารายได้ส่งเสียตัวเองและส่งเงินไปให้แม่ที่บ้านได้ใช้

 

"ปกติผมจะรับงานพิเศษจากรุ่นพี่ที่รู้จักกันเพื่อให้มีเงินไว้ใช้และพอสำหรับซื้ออุปกรณ์ศิลปะที่จำเป็น ซึ่งบางครั้งต้องใช้ถึง 6-7 พันบาท ที่มากหน่อยก็จะเลยหมื่นบาทขึ้นไป ข้อดีของการทำงานให้กับรุ่นพี่ช่วยทำให้ผมมีรายได้ แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ต้องขาดเรียนบ่อยๆ จนภาคเรียนที่ผ่านมามีวิชาหนึ่งที่ติดเอฟ อาจารย์ให้เหตุผลว่าเพราะขาดเรียนมากเกินไป" เขากล่าว โดยทุนการศึกษากองทุนถวัลย์ - ไทยพาณิชย์ที่ได้รับนี้ทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจ เพราะชื่นชอบผลงานและนับถืออาจารย์ถวัลย์เป็นการส่วนตัวมานานแล้ว ขณะเดียวกันยังช่วยลดความตึงเครียดทางการเงิน ทำให้เขามีสมาธิกับการเรียนหนังสือมากขึ้น

ส่วน นางสาวกมลชนก พฤกษ์เงิน นักศึกษาที่เข้ารับทุนจากชั้นปี 1 คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เธอ แม่ พี่ชาย และน้องสาว อาศัยอยู่ในเขตบางพลัดกรุงเทพฯ แม่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของครอบครัวตั้งแต่เธออายุ 9 ขวบ โดยยึดอาชีพขายข้าวแกงหารายได้ส่งเสียลูกทั้ง 3 คนให้ได้รับการศึกษา ส่วนตัวเธอเองทุกเช้าจะตื่นนอนตอนตี 4 เพื่อไปจ่ายตลาด ช่วยแม่จัดร้าน และช่วยขายของก่อนไปโรงเรียน ทำเช่นนี้เรื่อยมาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยมฯ อย่างไรก็ดีเมื่อเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาพบว่ามีรายจ่ายเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก ประกอบกับรายได้จากการค้าขายไม่สม่ำเสมอ จึงรู้สึกไม่สบายใจและพยายามแบ่งเบาภาระของแม่เท่าที่ทำได้

ถึงจะรู้ดีว่าแม่ดีใจที่หนูสอบสอบติดในสถาบันที่ดี มีชื่อเสียง มีสังคมที่ดีและกว้างขวาง แต่ก็อดเห็นใจแม่ไม่ได้ จึงบอกกับท่านว่าหนูจะไม่เรียนต่อและจะทำงานหาเลี้ยงท่านเอง แต่แม่ก็ยืนยันอยากให้หนูได้เรียนแม้เป็นภาระที่หนักมาก เพราะรายจ่ายทุกอย่างในบ้าน แม่ต้องหามาด้วยตัวเพียงคนเดียว” เธอกล่าว ทั้งนี้เมื่อได้ทราบว่าได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาในครั้งนี้ก็รู้สึกดีใจ โดยจะขอนำทุนที่ได้เป็นค่าเล่าเรียนและให้สัญญาว่าจะตั้งใจเรียนอย่างเต็มที่

เช่นกันกับความมุ่งมั่นตั้งใจดีของ นางสาวมินตรา พรหมชาติ นักศึกษาชั้นปี 2 คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาหัตถศิลป์ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยราชมงคลรัตนโกสินทร์ อีกหนึ่งเยาวชนที่ได้รับทุนซึ่งกล่าวว่า ครอบครัวของเธอมีสมาชิกทั้งหมด 4 คน คือ พ่อ แม่ เธอ และน้องสาวซึ่งมีอายุเพียง 7 เดือน โดยอาศัยอยู่ในเขตบางขุนเทียนกรุงเทพฯ พ่อและแม่เป็นพนักงานบริษัทละแวกบางบอน มีรายได้รวมกันเพียงเดือนละ 14,000บาท ไม่เพียงพอกับรายจ่ายในครอบครัวและไม่สามารถส่งเสียให้เธอได้เรียนต่อ

 

ด้วยเหตุนี้เธอจึงต้องทำงานเก็บเงินศึกษาต่อด้วยตัวเอง ที่ผ่านมาจะทำงานกับอาจารย์หลังเลิกเรียนทุกวันทำให้มีรายได้อาทิตย์ละ 1,000 บาท อย่างไรก็ดี ในภาคเรียนใหม่เธอไม่สามารถเก็บเงินเพื่อชำระค่าเทอมได้ เพราะมีรายจ่ายมาก ทั้งที่เป็นรายจ่ายในบ้าน และรายจ่ายในการเรียน จึงต้องขอกู้ยืมเงินจำนวน 10,000 บาทจากอาจารย์ ซึ่งเมตตาให้ยืม โดยให้เธอทยอยผ่อนคืนเดือนละ 500 บาท

 

"ทุนที่ได้ หนูจะเก็บไว้เป็นค่าเทอมสำหรับภาคเรียนต่อไป ส่วนที่เหลือจะส่งไปให้เแม่ที่บ้านใช้จ่ายในบ้าน สุดท้ายนี้ ต้องขอขอบพระคุณผู้ให้การสนับสนุนทุนการศึกษาในครั้งนี้ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาให้พวกเราได้เรียนต่อ และขอสัญญาว่าจะสืบสานงานไทยให้คงอยู่ต่อไป และเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้เห็นถึงความสำคัญของศิลปะไทยด้วย" เธอกล่าว

ขณะที่การขยายผลการดำเนินการของกองทุน ถวัลย์ -ไทยพาณิชย์ ในระยะต่อไป นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า ได้มีการหารือกับอาจารย์ถวัลย์เพื่อขยายผลการดำเนินการด้านการส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมไทยให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยจะประสานงานกับมหาวิทยาลัยในการให้ทุนสนับสนุนนิสิตนักศึกษาใช้ความรู้และทักษะด้านศิลปะไปทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับชุมชน อาทิ การใช้ศิลปะเสริมสร้างความเข้มแข็งในชุมชนแออัด และการเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัย ซึ่งจะทำให้นักศึกษาได้ประสบการณ์จากการลงชุมชนและนำไปพัฒนาความรู้ความสามารถด้านศิลปะของตนให้พอกพูนมากยิ่งขึ้นอีกก้าว และจะได้พัฒนาไปสู่ความมีจิตอาสาในที่สุด /////

 

หมายเลขบันทึก: 313050เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2009 18:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 18:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ท่านถวัลย์..เป็นผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่จริงจ้ะ...ในภาคบ่าย ในงานพุทธรรม พุทธศิลป์ เพื่อแผ่นดินไทย..ท่านได้ให้ข้อคิดเรื่องพุทธศิลป์ที่น่าคิดมาก..พี่ใหญ่มีเรื่องจะเล่าอีก...

 

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท