สนามหลวงโมเดล : รูปแบบการทำงานด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ


คำถามที่ว่า อะไรคือสาเหตุของการมาเป็นผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ก็จะไม่พ้นคำตอบเดิม ๆ ซ้ำซาก ... ภาคการเกษตรล้มเหลว ... สถาบันครอบครัวล้มเหลว ... แต่ไม่ค่อยมีหน่วยงานไหน หรือใครกล้ายอมรับว่า เป็นเพราะความล้มเหลวของนโยบายของภาครัฐที่มุ่งเน้นการพัฒนาแบบผิดที่ผิดทาง เน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจตั้งแต่เริ่มต้นมีแผนพัฒนาฯ ทำให้ละเลยการพัฒนาภาคสังคม หรือละเลยการส่งเสริมความเข้มแข็งให้ภาคสังคม ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ทำให้ ผู้คนในชนบทดิ้นรนที่จะมีความเป็นอยู่ที่สุขสบายโดยดูแบบแผนจากคนเมืองเป็นแบบอย่าง แม้ในภายหลังจะมีความพยายามนำเรื่องการพัฒนาสังคมสอดแทรกให้อยู่ในแผนพัฒนาฯโดยเฉพาะการริเริ่ม เน้นการพัฒฯคน ตั้งแต่ปลายแผนพัฒนาฯฉบับที่ 7 เป็นต้นมา

สนามหลวงโมเดล : รูปแบบการทำงานด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ

โดย 

สมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน(องค์กรสาธารณประโยชน์)

 

บทนำ

เป็นที่ทราบกันดีว่า กรุงเทพมหานคร เป็นเสมือนสัญญลักษณ์ของความเจริญ มาตั้งแต่ยุคก่อน 2513 ที่เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับแรก ๆ ประกอบกับความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามามีบทบาททั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ประชาชนในชนบทตั้งใจเข้ามาแสวงหาทางเลือกทางรอดในชีวิตที่ยากแค้นในภาคการเกษตร ผ่านการเสพสื่อที่ผ่านไปหาชาวบ้านโดยหนังกลางแปลง หนังขายยา ฯลฯ

สนามหลวงกลายเป็นสัญญลักษณ์ของกรุงเทพมหานครผ่านการบอกเล่าของสื่อในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งสื่อบุคคล และสื่อสารมวลชน ต่างยุคต่างสมัย ทำให้ผู้คนในชนบทที่เข้ามาทำงาน เข้ามาขุดทองในกรุงเทพมหานคร มีความตั้งใจที่เดินทางมาที่ สนามหลวง พระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ประกอบกับ คำพูดที่พูดถึงสนามหลวงในแง่มุมต่าง ๆ รวมไปถึง ลักษณะทางกายภาพของสนามหลวงเองที่เอื้ออำนวยให้ผู้คนที่มานี่นี่ใช้ประโยชน์จากสนามหลวงได้อย่างหลากหลาย และไร้ขอบเขตข้อจำกัดใดใด รวมถึงเงื่อนไขของเวลาอีกด้วย

หากย้อนไปก่อน 2523 ในสมัยที่สนามหลวงยังถูกใช้ประโยชน์ในแง่มุมทางเศรษฐกิจชุมชนเพื่อเอื้อเฟื้อคนจนเมือง สนามหลวง เป็นแหล่งรวมข้าวของ เพื่อซื้อขายจับจ่ายกันในวันหยุดปลายสัปดาห์ ของคนเมือง และคนจนเมืองที่ใช้เป็นศูนย์กลางการค้าที่มีขนาดพอเหมาะในยุคนั้น และต้องมีการขยับขยายย้ายที่ไปในปี 2524 ก่อนเฉลิมฉลองครบรอบ 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ในปี 2525 จากนั้น สนามหลวงก็ถูกใช้เป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจสำหรับคนทุกระดับชั้นในกรุงเทพมหานคร รวมถึงคนเร่ร่อนไร้บ้านมาโดยตลอด

ในช่วงปี 2535 เรื่อยมาการใช้พื้นที่สนามหลวงเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองมีค่อนข้างถี่ จนกระทั่งปัจจุบัน สนามหลวง เป็นแหล่งพักพิงของคนจนเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เริ่มมีผู้คนจำนวนหนึ่ง พยายามกลับมาใช้สนามหลวง เป็นสถานที่จับจ่ายซื้อขาย ยามค่ำคืนอีกครั้งหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกัน พื้นที่โดยรวมของสนามหลวง ก็ยังเป็นพื้นที่ของการพักพิงของคนจนที่ไร้ที่อยู่อีกจำนวนไม่น้อยกว่า 300 คนในแต่ละปี  ซึ่งจำนวนดังกล่าวอาจจะมีเพิ่มจำนวนถึง 1,000 – 1,500 คนในบางช่วงบางเวลา แต่ จำนวนที่ค่อนข้างแน่นอน ก็จะมีไม่น้อยกว่า 200 – 300 คนในยามค่ำคืน ของแต่ละวัน  คนจนเมืองกลุ่มนี้ จะเข้ามาใช้พื้นที่สนามหลวง พักผ่อนนอนหลับ เนื่องมาจาก สนามหลวง เป็นสวนสาธารณะแห่งเดียวในกรุงเทพมหานคร ที่เป็นสวนสาธารณะแบบเปิด เปิด ตลอด 24 ชั่วโมง และยังเป็นแหล่งศูนย์กลางของการเดินทางของกรุงเทพมหานครทางฝั่งตะวันตกและใต้ อีกด้วย ด้วยเหตุนี้เอง สนามหลวงจึงกลายเป็น ที่พักพิงขนาดใหญ่ของ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ในเขตเมืองของกรุงเทพมหานคร

คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ทุกคณะมีความพยายามจะเข้ามาจัดระเบียบของสนามหลวง ไล่เรียงมาตั้งแต่ พลตรีจำลอง ศรีเมือง ,ร้อยเอกกฤษดา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ,ดร.พิจิตต รัตตกุล ,นายสมัคร สุนทรเวช ,นายอภิรักษ์ เกษะโยธิน และ ล่าสุด ม.รว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ต่างก็มีมาตรการที่จะพยายามจัดระเบียบสนามหลวง โดยเน้นการทำให้พื้นที่มีความสวยงาม เป็นสำคัญ เน้นให้คืนสนามหลวงเพื่อใช้เป็นสถานที่พักผ่อนของคนเมืองเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงการบริหารที่สาธารณะเพื่อเอื้อประโยชน์แก่คนจนเมือง ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ คนเร่ร่อนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่ง

 

สาเหตุของการมาเป็นผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ

                คำถามที่ว่า อะไรคือสาเหตุของการมาเป็นผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ก็จะไม่พ้นคำตอบเดิม ๆ ซ้ำซาก ... ภาคการเกษตรล้มเหลว ... สถาบันครอบครัวล้มเหลว ... แต่ไม่ค่อยมีหน่วยงานไหน หรือใครกล้ายอมรับว่า เป็นเพราะความล้มเหลวของนโยบายของภาครัฐที่มุ่งเน้นการพัฒนาแบบผิดที่ผิดทาง เน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจตั้งแต่เริ่มต้นมีแผนพัฒนาฯ ทำให้ละเลยการพัฒนาภาคสังคม หรือละเลยการส่งเสริมความเข้มแข็งให้ภาคสังคม ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ทำให้ ผู้คนในชนบทดิ้นรนที่จะมีความเป็นอยู่ที่สุขสบายโดยดูแบบแผนจากคนเมืองเป็นแบบอย่าง แม้ในภายหลังจะมีความพยายามนำเรื่องการพัฒนาสังคมสอดแทรกให้อยู่ในแผนพัฒนาฯโดยเฉพาะการริเริ่ม เน้นการพัฒฯคน ตั้งแต่ปลายแผนพัฒนาฯฉบับที่ 7 เป็นต้นมา หรือแม้กระทั่ง การเร่งรณรงค์ให้เกิดความเข้าใจในระบบเศรษฐกิจตามแนวพระราชดำริ ที่เรียกกันว่า เศรษฐกิจพอเพียง แต่การเริ่มก็เกิดขึ้นภายหลังหารลุกลามของปัญหาที่ เกาะกินเข้าถึงแก่นของสถาบันครอบครัวอันเป็นสถาบันหลักของสังคม ทำให้ ผู้คนในชนบทก็ยังหลั่งไหลเข้ามาสู่เมืองใหญ่ ๆ ที่แผ่นขยายออกไปตามหัวเมืองสำคัญ ๆ ทั่วประเทศไม่เฉพาะในกรุงเทพมหานครเพียงแห่งเดียว แต่ ในท้ายที่สุด  ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะตามหัวเมืองต่าง ๆ ก็ยังแอบมีความหวัง ความฝันที่จะเข้ามาหาทางพัฒฯชีวิตที่ดีกว่าในกรุงเทพมหานครเช่นกัน

                หากจะกล่าวโดยสรุปถึงสาเหตุสำคัญหลัก ๆ ของการมาเป็น ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ในพื้นที่ สนามหลวง ก็จะสามารพถแบ่ง ออกเป็นสาเหตุหลัก ๆ ได้ดังนี้

  1. ความยากจนและความล้มเหลวของภาคการเกษตรในชนบท
  2. การขาดความเข้าใจกันภายในครอบครัว
  3. ปัจจัยเสริมอื่น ๆ ที่เร่งเร้าจากภายในครอบครัว  เช่น มรดก เป็นต้น
  4. ความเชื่อพื้นฐานเดิมของชุมชน
  5. ปัจจับเสริมอื่น ๆ เฉพาะตัว เช่น รักอิสระ เป็นต้น

 

วิธีการทำงานเพื่อเข้าถึงรากแท้ของ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ

ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ ปลายปี 2545 มาจนถึงปัจจุบัน ที่อิสรชน เริ่มขยับเข้าพื้นที่เพื่อเตรียมตัวทำงานในพื้นที่ สนามหลวง และเริ่มลงทำงานอย่างจริงจังในปลายปี 2547 พบว่า การทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ โดยเฉพาะพื้นที่ สนามหลวง คลองหลอด และปริมณฑล คำตอบไม่ใช่ การหาที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว หากแต่ว่าคำตอบมีมากกว่านั้นมากมาย แต่กว่าจะได้มาซึ่งคำตอบนั้นจำเป็นต้องมีวิธีการทำงานเพื่อค้นหาคำตอบจากผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะอย่างเข้มข้นและลงลึก

                โดยการทำงานในช่วงเวลาที่ผ่านมา อิสรชน ได้ทดลองและริเริ่มรูปแบบกิจกรรมเพื่อค้นหารากเหง้าของปัญหาร่วมกับคนสนามหลวงอย่างหลากหลายวิธี ที่พอจะสรุปได้ ได้แก่

 

  1. การลงพื้นที่สำรวจข้อมูล
  2.  การสร้างความคุ้นเคยเบื้องต้น
  3. การคุยกลุ่มย่อยในพื้นที่
  4. การคุยกลุ่มย่อยนอกพื้นที่
  5. การทำประชาคมเพื่อระดมความคิดเห็นในพื้นที่
  6. การให้บริการพื้นฐานเฉพาะหน้า
  7. การออกหน่วยให้คำปรึกษาแบบเคลื่อนที่เร็ว
  8. การตั้งหน่วยบริการให้คำปรึกษาแบบประจำจุด

การลงพื้นที่ในแต่ละครั้ง พบว่า ปัญหาพื้นที่ ที่คนสนามหลวงต้องการเป็นการเร่งด่วน คือ การยืนยันสถานภาพบุคคลทางทะเบียนราษฎร เพื่อยืนยันความเป็นพลเมืองไทย และ นำไปสู่การได้รับสิทธิอื่น ๆ ที่พลเมืองไทยพึงได้จากรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการสร้างความมั่นใจในการหางานทำเพื่อพัฒนาตนเองในโอกาสต่อไป

รูปแบบการให้บริการเชิงรับเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ

จากการทำงานประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบกลุ่มผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ที่ภาครัฐเรียกว่า คนไร้ที่พึ่ง พบว่า สถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ ที่รัฐมีอยู่ ยังไม่สามารถรองรับสภาพปัญหาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะได้อย่างแท้จริง กล่าวคือ สถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ ของรัฐที่มีอยู่ มีเงื่อนไขที่ค่อนข้างขาดความยืดหยุ่น ไม่สามารถให้บริการ ครอบครัวผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ครอบครัวเร่ร่อนไร้บ้านได้ โดยฌฉพาะการแยกการให้การดูแลครอบครัวผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะออกจากกัน แม้จะมีในบางกรณีที่สามารถให้แม่เด็กและเด็กอยู่ด้วยกันได้ แต่ก็แยกผู้เป็นสามีออกจากครอบครัว จากการทำงานพบว่า เกือบจะ 100% ของครอบครัวผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ที่ได้รับการเชิญตัวเข้ารับการสงเคราะห์ในรูปแบบเดิม จากรัฐ จะกลายเป็นครอบครัวแตกในที่สุด เพราะเมื่อสามีหัวหน้าครอบครัว สามารถหาทางออกจากสถานแรกรับ หรือสถานสงเคราะห์มาได้ก่อน ภรรยามักจะมีครอบครัวใหม่ และเมื่อภรรยาเก่าออกมาพบ ก็เกิดการทะเลาะวิวาทกันในพื้นที่อยู่เป็นประจำ ยังไม่รวมการที่เด็กเมื่อได้รับการแยกให้การสงเคราะห์ออกไปมักจะได้รับการทอดทิ้งจากครอบครัว เป็นภาระของรัฐที่ต้องดูแลเด็กในฐานะเด็กถูกทอดทิ้ง

อิสรชน มีแผนการดำเนินการเปิด สถานพัฒนาคุณภาพชีวิตและฟื้นฟูผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ(บ้านปั้นปูน) เพื่อเป็นทางเลือกในการให้บริการด้านการสงเคราะห์เบื้องต้น แก่ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ โดยเปิดโอกาสให้สามารถอยู่ได้ในรูปแบบของครอบครัว โดยจะมีนักสังคมสงเคราะห์ ,นักพัฒนาคุณภาพชีวิต ประจำอยู่ในบ้านดังกล่าว เพื่อคอยให้คำแนะนำและประสานงานหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ หรือ ภูมิลำเนาของ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ กรณีมีความต้องการจะกลับภูมิลำเนา และ จัดให้มีการฝึกอาชีพเบื้องต้นในรูปแบบของการฝึกอบรมระยะสั้น เพื่อเสริมศักยภาพของ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ก่อนจะดำเนินการส่งต่อ หรือ ส่งกลับภูมิลำเนา โดยพยายามบริหารกรอบเวลาให้สามารถทำงานได้อย่างครอบคลุมปัญหาให้มากที่สุด

 

การระดมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อร่วมกันบรรเทาปัญหา

การแก้ไข หรือบรรเทาปัญหา ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ คนไร้ที่พึ่ง คนเร่ร่อนไร้บ้าน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมไปถึงภาคองค์กรธุรกิจด้วย เพื่อขยายพื้นที่การดูแลพลเมืองในสังคมอย่างทั่วถึงและสร้างทางเลือกให้ได้มากที่สุด

ในส่วนของภาครัฐมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนองค์กรภาคเอกชน องค์กรประชาสังคม ที่แสดงความจำนงจะเข้ามาช่วยแก้ไขและบรรเทาปัญหานี้ อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมถึงการพัฒนากลไกเดิมที่มีอยู่ในสอดรับสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา

รัฐต้องสร้างแรงจูงใจให้แก่องค์กรภาคธุรกิจให้ออกมาร่วมสนับสนุนทั้งงบประมาณวัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนการเปิดโอกาสให้ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะได้เข้าทำงาน เพื่อเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ อันจะนำไปสู่การยุติการใช้ชีวิตในที่สาธารณะอย่างถาวรในอนาคต

 

 

บทสรุป

การทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ คนไร้ที่พึ่ง คนเร่ร่อนไร้บ้าน ในปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐ ภาคเอกชน ต้องร่วมมือกันสร้างนวัตกรรม เพื่อรองรับสภาพปัญหาที่เคลื่อนไหวอย฿ตลอดเวลา และที่สำคัญที่สุด คือ การสื่อสารสาธารณะเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคม ที่มองว่า คนเหล่านี้ ขี้เกียจ หลักลอย ไม่เอาไหน ให้มองเสียใหม่ ด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่ากัน ซึ่งจะนำไปสู่การยอมรับ เมื่อคนเหล่านี้มีความพร้อมที่จะคืนกลับสู่สังคม เพราะเมื่อสังคมได้รับการเตรียมความพร้อมแล้ว ก็จะสามารถยอมรับซึ่งกันและกันได้ ที่สำคัญ ต่างฝ่ายจะเกื้อหนุนกัน จนเกิดเป็นพลังในการทำงานเพื่อพัฒนาประเทศชาติได้อย่างยั่งยืนและมีความสุข

 

เขียนและเรียบเรียงโดย

นที สรวารี

นายกสมาคมสร้างสรรค์กิจกรมอิสรชน

หมายเลขบันทึก: 313043เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2009 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท