ข้อเท็จจริงว่าด้วยกรณี 2012
ตอนที่ 2
บัญชา ธนบุญสมบัติ
E-mail : [email protected]
*บทความนี้จะนำไปตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ หากต้องการอ้างอิง โปรดแจ้งผู้เขียนตามที่อยู่ที่ให้ไว้
ข้อเท็จจริงว่าด้วยกรณี 2012 : ตอนที่ 1
ลองมาฟังกลุ่มที่มองโลกแง่บวก หรือ กลุ่มนิวเอจ (New Age) กันก่อน
ทฤษฎีหนึ่งของกลุ่มนี้ ได้แก่ การเรียงตัวในแนวเดียวกันในระดับกาแล็กซี (Galactic Alignment) ซึ่งเสนอโดย จอห์น เมเจอร์ เจนกินส์ (John Major Jenkins)
ทฤษฎีนี้มีสาระสำคัญคือ ในวันเหมายัน (อ่านว่า "เห-มา-ยัน") ของปี 2012 ดวงอาทิตย์จะอยู่ในตำแหน่งพิเศษตำแหน่งหนึ่งในท้องฟ้า ตำแหน่งพิเศษนี้เป็นจุดตัดระหว่างเส้นสุริยวิถี (ecliptic) กับแถบมืดบนทางช้างเผือกใกล้กับกลุ่มดาวซิกนัส (Cygnus) แถบมืดดังกล่าวนี้ชาวมายาเรียกว่า Xibalba be แปลว่า ถนนสีดำ (ในภาพเรียกว่า Dark Rift)
ภาพทางช้างเผือกบริเวณกลุ่มดาวซิกนัส
วันเหมายัน หรือวันทักษิณายัน (winter solstice) เป็นวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ใต้เส้นศูนย์สูตรมากที่สุด ตรงกับวันที่ 21 หรือ 22 ธันวาคม ของทุกปี ในซีกโลกทางเหนือ (Northern Hemisphere) วันนี้เป็นวันที่กลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุด
เจนกินส์อ้างว่าชาวมายารู้ล่วงหน้าว่ามวลมนุษยชาติจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณครั้งสำคัญในวันดังกล่าว จึงได้ออกแบบปฏิทินแบบลองเคาท์ให้วันสุดท้ายของบัคทูนที่ 13 คือ วันที่ 13.0.0.0.0 ตรงกับวันดังกล่าว
อย่างไรก็ดี มีข้อเท็จจริงทางดาราศาสตร์ที่ต้องรู้ไว้ด้วยว่า ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ในลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในปี 2012 เท่านั้น แต่จะเกิดซ้ำเป็นรอบทุกๆ 36 ปี
ผู้ที่สนใจแนวคิดนี้ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก http://en.wikipedia.org/wiki/2012_phenomenon ภายใต้หัวข้อ Galactic Alignment
.................................................................................................
อีกทฤษฎีหนี่งของกลุ่มนิวเอจ ได้แก่ ไทม์เวฟซีโร (Timewave Zero) หรือเรียกสั้นๆ ว่า ไทม์เวฟ (Timewave) ซึ่งเสนอโดย เทเรนซ์ เคมป์ แมคเคนนา (Terrence Kemp McKenna)
Terrence Kemp McKenna
สาระสำคัญของทฤษฎีนี้กล่าวถึง “สภาพความใหม่” หรือ “novelty” ซึ่งมีนิยามว่าเป็นการเพิ่มขึ้นของความเชื่อมโยงระหว่างกันและกันของสิ่งต่างๆ ในเอกภพ (universe’s interconnectedness) บางครั้งทฤษฎีนี้จึงเรียกว่า ทฤษฏีสภาพความใหม่ (Novelty Theory)
ทฤษฎีสภาพความใหม่อ้างว่า หากนำเอาค่าสภาพความใหม่ หรือค่าโนเวลทีมาพล็อกเป็นกราฟเทียบกับเวลา ก็จะสามารถเชื่อมโยงกับเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เปลี่ยแปลงโลกได้
กราฟไทม์เวฟกับเหตุการณ์สำคัญๆ ของโลก
ทฤษฎีนี้ทำนายว่า สภาพความใหม่ดังกล่าวจะพุ่งสูงสุดเป็นอนันต์ในปี 2012 อันหมายความว่าโลกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในปีดังกล่าวนั่นเอง
ภาพแสดงผลการคำนวณจากทฤษฎีโนเวลที (Novelty Theory) หรือไทม์เวฟซีโร (Timewave Zero)
ควรรู้ด้วยว่า เดิมทีแมคเคนนาได้คำนวณไว้ว่าสภาพความใหม่ดังกล่าวจะพุ่งขึ้นจนถึงจุดสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2012 แต่ต่อมาเมื่อเขาทราบว่าช่วงเวลาที่ทำนายไว้ใกล้เคียงกับวันสุดท้ายของบัคทูนที่ 13 ตามปฏิทินมายา เขาจึงปรับวันของเขาใหม่ให้วันทั้งสองตรงกัน
มีข้อสังเกตว่า ทฤษฎีสภาพความใหม่ของแมคเคนนามีการนำคำศัพท์จากเรขาคณิตแฟรกทัล (Fractal Geometry) และทฤษฎีเคออส (Chaos Theory) มาใช้หลายคำ เช่น หลักการพื้นฐานบางข้อของทฤษฎีนี้อ้างว่
- That fluctuations in novelty over time are self-similar at different scales. Thus the rise and fall of the Roman Empire might be resonant with the life of a family within a single generation, or with an individual's day at work. (การกระเพื่อมค่าของสภาพความใหม่เมื่อเวลาผ่านไปมีลักษณะคล้ายกับตนเองที่สเกลต่างๆ ดังนั้น การถือกำเนิดและการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันย่อมสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของครอบครัวหนึ่งๆ ในหนึ่งรุ่นคน หรือสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตการทำงานของคนๆ หนึ่ง) [ข้อสังเกต : คำว่า self-similar เป็นคำพื้นฐานใน Fractal Geometry]
- This End of History was to be the final manifestation of The Eschaton, which McKenna characterized as a sort of strange attractor towards
which the evolution of the universe developed. (จุดจบของประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงนี้เป็นการปรากฏของ เอสคาตอน (The Eschaton) ซึ่งแมคเคนนาระบุว่าเป็นตัวดึงดูดประหลาดที่ทำให้เอกภพพัฒนาไป) [ข้อสังเกต : คำว่า strange attractor เป็นแนวคิดทางคณิตศาสตร์ในทฤษฎีเคออส]
ใครสนใจรายละเอียดเกี่ยวกับ Novelty Theory หรือ Timewave Zero สามารถศึกษาได้จากเว็บต่อไปนี้ : http://www.2012supplies.com/what_is_2012/timewave_zero.html
สำหรับทฤษฎีทั้งสองที่นำเสนอไปนี้มีข้อสังเกตโดยทั่วไปว่า....
การนำ "คำ" "แนวคิด" หรือ "ทฤษฎี" ทางคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ (ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง) มาตีความตามอำเภอใจเพื่อสนับสนุนคำกล่าวอ้างของตน (ไม่ว่าจะเป็นการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ หรือการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือทางปรัชญา-ศาสนา) ในลักษณะเช่นนี้ เป็นเทคนิคยอดนิยม และเข้าข่ายความ(ไม่)รู้ที่เรียกว่า วิทยาศาสตร์เทียม (Pseudo-Science)
โปรดติดตาม ตอน 3
ตามความสะดวกของผู้เขียน...อีกเช่นเคย ;-)