การสร้างคำในภาษาไทย (3)


คำซ้ำ

คำซ้ำ

ความหมายของคำซ้ำ

            บรรจบ (2544)   อธิบายว่า คำซ้ำ   คือ   คำคำเดียวกันนำมากล่าว 2 ครั้ง  มีความหมายเน้นหนัก หรือบางทีต่างกันไปกับคำเดี่ยวเพียงคำเดียว  จึงถือว่าเป็นคำสร้างใหม่  มีความหมายใหม่ทำนองเดียวกับคำซ้อน  ต่างกันก็แต่เพียงคำซ้ำใช้คำคำเดียวกันซ้อนกันเท่านั้น  และเพื่อให้รู้ว่าคำกล่าว 2 ครั้งนั้น เป็นคำซ้ำ  ไม่ใช่คำเดี่ยวๆ เรียงกัน  จึงต้องคิดเครื่องหมายกำกับไว้ในภาษาไทย  ใช้ไม้ยมกแทนคำท้ายที่ซ้ำกับคำต้น

            ปรีชา (2522)   กล่าวว่า  คำซ้ำ หมายถึง การออกเสียงคำคำเดียวซ้ำกัน  ซึ่งเป็นลักษณะวิธีของการประสมคำวิธีหนึ่ง   เช่น   ขาวๆ  ,  หมู ๆ ,  สูงๆ    ฯลฯ  พยางค์แรกของคำที่ยกมานี้  คือ  ขาว   หมู   สูง   เป็นหน่วยคำอิสระ   ส่วนพยางค์หลังที่ซ้ำเสียงกับพยางค์แรกเป็นหน่วยคำไม่อิสระเพราะไม่สามารถเกิดตามลำพังได้

            ธวัช  (2545)  ให้ความหมายของคำซ้ำไว้ว่า  คำซ้ำ  คือ การออกเสียงคำมูลซ้ำกัน  2  ครั้งขึ้นไป  คำซ้ำนี้สร้างขึ้นเพื่อเน้นความหมายของคำ  และบางครั้งยังมีความหมายต่างไปจากคำมูลด้วย

           สรุปได้ว่า  คำซ้ำ  หมายถึง  คำมูลคำเดียวกันที่ออกเสียงซ้ำกันสองครั้ง   ทำให้เกิดคำใหม่ที่มีความหมายต่างไปจากคำมูลเดิม

 

 ลักษณะของคำซ้ำ

            บรรจบ (2544)   อธิบายลักษณะของคำซ้ำไว้ดังนี้

            1.  คำซ้ำที่ซ้ำคำนาม  แสดงพหูพจน์  บอกว่านามนั้นมีจำนวนมากกว่าหนึ่ง   ได้แก่   เด็กๆ  หนุ่มๆ  สาวๆ  เช่น  เห็นเด็กๆ เล่นอยู่ในสนาม   มีแต่หนุ่มๆ สาวๆ เดินไปเดินมา

            2.  คำซ้ำที่ซ้ำคำขยายนาม  แสดงพหูพจน์ก็มี  เน้นลักษณะก็มี  เช่น  ฉันให้เสื้อดีๆ เขาไป   มีแต่ปลาเป็นๆ     บางทีเปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์ที่คำต้นด้วย  เมื่อต้องการเน้นลักษณะคำขยายนั้นๆ ดังกล่าวแล้ว  ในเรื่องวรรณยุกต์  ส่วนมากแล้วเสียงจะเปลี่ยนเป็นเสียงตรี  ดังนี้  ดี๊ดี   เก๊าเก่า   ซ้วยสวย

            3.  คำซ้ำที่ซ้ำคำขยาย   นาม  หรือสรรพนาม   แสดงความไม่เจาะจง

ที่ซ้ำคำขยาย     ได้แก่    แดงๆ  เช่น  เสื้อสีแดงๆ 

 ที่ซ้ำคำนาม       ได้แก่    ผู้ใหญ่ๆ   เด็กๆ   เช่น  พวกเด็กๆ  นั่งคนละทางกับพวกผู้ใหญ่ๆ 

ที่ซ้ำคำสรรพนาม  ได้แก่  เราๆ   ท่านๆ   

ที่เป็นคำซ้ำซ้อนกัน 2 คู่     เช่น  สวยๆ งามๆ    ผิดๆ ถูกๆ  

            4.  คำซ้ำที่ซ้ำคำนามหรือคำบอกจำนวนนับ  จะแยกความหมายออกเป็นส่วนๆ   เมื่อมีคำ  เป็น  มาข้างหน้า    เช่น                                

ชั่งเป็นกิโลๆ             (ชั่งทีละกิโล  และมีมากกว่ากิโลหนึ่ง)

ซื้อเป็นร้อยๆ            ( ซื้อหลายร้อย  แต่ชั่งหรือนับกันทีละร้อย)

            5.  คำซ้ำที่ซ้ำคำบุพบท  หรือคำขยาย  ใช้ขยายกริยาบอกความเน้น  เมื่อเป็นคำสั่ง

ที่ซ้ำคำบุพบท   ได้แก่    นั่งในๆ    เย็บตรงริมๆ    หยิบบนๆ

ที่ซ้ำคำขยาย      ได้แก่   เขียนดีๆ    พูดดังๆ    เดินเร็วๆ    วิ่งช้าๆ 

            6.   คำซ้ำที่ซ้ำจากคำซ้อน  2   คู่    ใช้เป็นคำขยายบอกความเน้น  เช่น  ออดๆ แอดๆ     แสดงว่าป่วยไข้เสมอ   ยิ่งกว่า  ออดแอด      

            7.  คำซ้ำที่ซ้ำคำซ้อน  2  คู่   มีความหมายต่างออกไปไม่เนื่องกับความเดิม   ใช้เป็นคำขยาย    เช่น

ไปๆ มาๆ  มาลงที่ฉันคนเดียว    ไปๆ มาๆ   หมายความว่า  ในที่สุด

รู้งูๆ ปลา ทำอะไรก็ไม่ได้         งูๆ ปลา   หมายความว่า  รู้บ้างแต่ไม่สันทัด

           8.  คำซ้ำที่ซ้ำคำนามก็มี   คำกริยา  หรือคำขยายก็มี  ความหมายต่างออกไปไม่เนื่องกับความหมายเดิม  ใช้เป็นคำขยาย  ได้แก่ 

ที่ซ้ำคำนาม      พื้นๆ  (ธรรมดา)      กล้วยๆ     ( ง่าย สะดวก)   

ที่ซ้ำคำกริยา     ลวกๆ  ( หยาบๆ  ไม่เรียบร้อย)  อยู่ๆ ( ไม่มีเค้าหรือสาเหตุมาก่อน)        

ที่ซ้ำคำขยาย   เลาๆ ( คร่าวๆ พอเห็นเป็นเค้า )   พลางๆ  ( ทำไปชั่วคราวก่อนรอเวลา )                                 

                ประเภทของคำซ้ำ

           ประสิทธิ์ ( 2516 ) แบ่งคำซ้ำออกเป็น 2  พวกใหญ่ ๆ  คือ       

1 .  คำซ้ำที่ซ้ำเหมือนกันทั้งพยางค์  เช่น   เด็กๆ    ,   แดงๆ  ,   คิดๆ   เป็นต้น

2.   คำซ้ำที่ซ้ำบางส่วนของพยางค์   เช่น    โซเซ  ( เสียง ซ  / s /  ในพยางค์หน้าและพยางค์หลังซ้ำกัน  ,  พึมพำ  (เสียงพยัญชนะต้นและท้ายในพยางค์แรกกับพยางค์หลังซ้ำกัน )  เป็นต้น   คำซ้ำที่ซ้ำกันบางส่วนของพยางค์  แบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ดังนี้ ( Marry    Hass , 1951 อ้างถึงใน ประสิทธิ์ , 2516 ) 

       2.1   คำซ้ำต่างกันระหว่างสระหน้ากับสระหลัง    เช่น 

               อุ -  อิ      เช่น    ยู่ยี่  ,  จู้จี่

               โอ – เอ    เช่น   โซเซ  , โหรงเหรง

      2.2.    คำซ้ำต่างกันระหว่างสระใดๆ กับสระ อะ  หรือ  อา  เช่น

                เอะ – อะ   เช่น  เกะกะ  ,  เปล่งปลั่ง

                อึ  -  อะ     เช่น   พึมพำ  ,  ปึงปัง

      2.3   คำซ้ำต่างกันระหว่างสระใดๆ กับสระ ออ  หรือ  แอะ , แอ   เช่น

                เออะ  - แอะ    เช่น   เยอะแยะ  ,  เฉอะแฉะ

      2.4   คำซ้ำต่างกันที่สระซึ่งเกิดในที่เดียวกัน แต่ออกเสียงสั้นยาวต่างกัน   เช่น  

                ป๊อดป๊อด  / p t   p:t /     หรือ  ปุ๊ดปู๊ด  / put    pu:t /   เป็นต้น

      2.5   คำซ้ำที่สระต่างกันและเสียงวรรณยุกต์ต่างกัน   เช่น

                กระซิบกระซาบ   เป็นต้น

 

   รู้จักคำซ้อนกับคำซ้ำไปแล้ว แต่การสร้างคำในภาษาไทยยังไม่หมดเพียงเท่านี้
ติดตามเรื่องการสร้างคำด้วยวิธีการประสมต่อไปนะคะ


โปรดติดตามตอนต่อไป

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างมิตรภาพค่ะ


หมายเลขบันทึก: 312964เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2009 12:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ่านครบสามบทความได้ความรู้มากจริงได้ทั้งปลูกและปลุกสมองขี้เลื่อยของกระผม ยินดีแลกเปลี่ยนความรู้นะครับ(ทั้งที่อยากถามว่าเรียน ป.เอก ที่ ม.เกษตรฯ ยากหรือเปล่า...มันก็ต้องยากอยู่แล้ว...)

เอาเป็นว่าผมอยากฟังเรื่อง "วาทกรรม" เพราะเห็นสำนักเรียน ม.ช. ในสาขาปรัชญาเขามักสอนทฤษฎีนี้กันแต่ในทางภาษาไทยเรายังจำกัดความกันมิได้เสียเลย ช่วยเมตตาเล่าให้ผมและผองเพื่อนด้วยนะครับ

สวัสดีค่ะ คุณพิมล

วาทกรรม เหรอคะ แหะ น่าสนใจ

ขอเกี่ยวเก็บความรู้และรวบรวมให้มันแจ่มๆอีกสักนิดนะคะ

เห็นมีรุ่นที่เกษตรบางคนทำเกี่ยวกับวาทกรรมของทหารบก

วาทกรรมการเมืองอะไรแบบนี้

อย่างไรจะพยายามรวบรวมเท่าที่รู้มาแลกเปลี่ยนกันนะคะ

ป.ล. สนใจเรื่องวัจนกรรมไหมคะ กำลังจะทำทีสีสเกี่ยวกับเรื่องนี้

ถ้าอย่างไรแลกเปลี่ยนกันนะคะ

^^

สนใจฟังวัจนกรรมอยู่ครับ แต่เอ... จำกัดนิยามและเล่าให้ฟังได้หรือเปล่าครับ(อยากรู้จังว่าภาษาประกิตเค้าเขียนกันอย่างไร) เหมือนหรือต่างจากวาทกรรมหรือเปล่าครับเพราะค่อนข้างใกล้ชิดกันเหลือเกิน)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท