การสร้างคำในภาษาไทย (2)


คำซ้อน

คำซ้อน

ความหมายของคำซ้อน

            บรรจบ (2544)   อธิบายความหมายของคำซ้อนไว้ว่า   คำซ้อน (คำคู่)  คือ  คำที่มีคำเดี่ยว 2  คำ  อันมีความหมายหรือเสียงคล้ายกันใกล้เคียงกันหรือเป็นไปในทำนองเดียวกัน ซ้อนเข้าคู่กัน เมื่อซ้อนแล้วมีความหมายใหม่เกิดขึ้น  แม้ว่าบางคำความหมายจะไม่แปลกไปกว่าความหมายเดิม ( คือ ความหมายของคำเดี่ยวแต่ละคำ ) มากนัก แต่ก็ต้องมีความหมายและที่ใช้ต่างออกไปบ้าง

            สุธิวงศ์ (2531)  กล่าวว่า  คำซ้อน  คือ  การนำคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันมาคู่กัน  ซึ่งการสร้างคำซ้อนนี้มีความมุ่งหมายเพื่อเน้นความหมายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น  เช่น  เสื่อสาด   ใหม่เอี่ยม  ละเอียดลออ  และ ทำให้เกิดความหมายใหม่ในเชิงอุปมาอุปไมย เช่น  ตัดสิน  เบิกบาน  เกี่ยวข้อง

           ปรีชา   (2522)  อธิบายว่า  คำซ้อน  คือ คำประสมชนิดหนึ่งที่เกิดจากการนำเอาคำสองคำ  ซึ่งต่างเสียง  แต่มีความหมายเหมือนกัน  หรือคล้ายคลึงกัน  มาซ้อนเข้าคู่กัน  ทั้งนี้เพื่อช่วยไขความหรือขยายความในอีกคำหนึ่งให้ชัดขึ้น  บางทีเรียกคำซ้อนชนิดนี้ว่า  คำไวพจน์ผสม  ( Synomynous  compound )   

           สรุปได้ว่า  คำซ้อน คือ  คำที่เกิดจากการนำคำสองคำมาซ้อนกัน โดยที่คำเหล่านั้น ต้องมีความหมายคล้ายกันหรือต่างกันในทางตรงกันข้าม  หรือมีเสียงที่คล้ายกัน  เมื่อซ้อนกันแล้วทำให้เกิดคำที่มีความหมายใหม่  แม้ว่าจะไม่แปลกไปกว่าความหมายเดิม แต่ต้องมีความหมายและการใช้ต่างจากคำเดิมไปบ้าง


 ประเภทของคำซ้อน

บรรจบ (2544)   จำแนกประเภทของคำซ้อนออกเป็น  2  ประเภท  ได้แก่  

           1.              คำซ้อนเพื่อความหมาย

           ลักษณะของคำซ้อนเพื่อความหมายที่เป็นคำไทยซ้อนด้วยกัน

           1. 1   ซ้อนแล้วความหมายจะปรากฏอยู่ที่คำต้นหรือคำท้ายตรงตามความหมายนั้นเพียงคำใดคำเดียว  

                      ที่ความหมายปรากฏอยู่ที่คำต้น   เช่น     ใจคอ     หัวหู           

                      ที่ความหมายปรากฏอยู่ที่ท้ายคำ   เช่น     หูตา       เนื้อตัว       

           1.2  ความหมายของคำซ้อน ปรากฏที่คำใดคำเดียวตรงตามความหมายนั้นๆ  เช่น ข้อ1.1   ต่างกันก็แต่ คำที่มาซ้อนเข้าคู่กันเป็นคำตรงกันข้าม  

                      ที่ปรากฏที่คำต้น    ได้แก่    ผิดชอบ  (ในคำ  ความรับผิดชอบ)

                      ที่ปรากฏที่ท้ายคำ  ได้แก่    เท็จจริง   (ในคำ  ข้อเท็จจริง) 

           1.3 ความหมายของคำซ้อนปรากฏอยู่ที่คำทั้งสอง  ทั้งคำต้นและคำท้าย แต่ความหมายต่างกับความหมายของคำเดี่ยวอยู่บ้าง  เช่น     พี่น้อง    ลูกหลาน

           1.4    ความหมายของคำซ้อนปรากฏเด่นอยู่ที่คำใดคำเดียว   ส่วนอีกคำหนึ่งถึงจะไม่มีความหมายปรากฏ  แต่ก็ช่วยเน้นความหมายยิ่งขึ้น  เช่น   เงียบเชียบ     ดื้อดึง     คล้ายคลึง        

           1.5    ความหมายของคำซ้อนกับคำเดี่ยวต่างกันไป  บางคำอาจถึงกับเปลี่ยนไปเป็นคนละความ  เช่น   พร้อม  กับ พร้อมเพรียง   ,   แข็ง   กับ   แข็งแรง  

           1.6   คำซ้อนที่คำต้นเป็นคำคำเดียวกัน แต่คำท้ายต่างกัน ความหมายย่อมต่างกันไป  เช่น

 จัดจ้าน   (ปากกล้า ปากจัด)     กับ    จัดเจน  (สันทัด  ชำนาญ)      

  เคลือบแคลง (ระแวง  สงสัย)   กับ   เคลือบแฝง  (ชวนสงสัยเพราะความจริงไม่กระจ่าง)

           1.7    ความหมายของคำซ้อนขยายกว้างออก    ไม่ได้จำกัดจำเพาะความหมายของคำเดี่ยว 2  คำมาซ้อนกัน   ได้แก่    เจ็บไข้     ทุบตี     ฆ่าฟัน  

           1.8     ความหมายของคำซ้อนเป็นไปในเชิงอุปมา

           ที่ใช้เป็นคำกริยา     เช่น      อยู่กิน    คือ  ดำเนินชีวิตฉันสามีภรรยา ไม่ได้หมายเพียงอยู่และกิน

           ที่ใช้เป็นคำขยาย   เช่น     ดูดดื่ม     ไม่ได้ใช้เกี่ยวกับการดูด  หรือดื่ม  แต่มาใช้เกี่ยวกับความรู้สึกซึ้งใจ  ซาบซึ้งใจ  อันเปรียบได้กับการดูด หรือดื่มนั้น

            ลักษณะคำซ้อนเพื่อความหมายที่เป็นคำไทยซ้อนกับคำภาษาอื่น

           คำไทยกับคำบาลีสันสกฤต    เช่น     ซากศพ      โศกเศร้า      ทรัพย์สิน

           คำไทยกับคำเขมร   เช่น     แสวงหา   เงียบสงัด   เงียบสงบ   ถนนหนทาง  

           คำภาษาอื่นซ้อนกันเอง

           -   คำภาษาบาลีกับสันสกฤตซ้อนกันเอง   เช่น   อิทธิฤทธิ์  ( อิทธิ บ. + ฤทธิ ส.)

           -   คำเขมรกับคำบาลีสันสกฤต  ได้แก่   สุขสงบ  สรงสนาน  เสบียงอาหาร

           -    คำเขมรกับคำเขมร   ได้แก่  สะอาดสอาง  สนุกสบาย   เลิศเลอ  สงบเสงี่ยม

             2.         คำซ้อนเพื่อเสียง

           ลักษณะของคำซ้อนเพื่อเสียง      

           1.   เสียงของคำที่มาซ้อนกัน มีที่เกิดใกล้เคียงกัน  ที่ถือว่าเป็นเสียงใกล้เคียงกัน  ดังนี้

           สระหน้ากับกลาง

           อิ + อะ                 เช่น     จริงจัง      ชิงชัง

           เอะ เอ + อะ อา       เช่น     เกะกะ       เปะปะ      เก้งก้าง      เหง่งหง่าง

            สระกลางกับกลาง

           อึ + อะ                   เช่น     ขึงขัง      ตึงตัง     ตึกตัก    

           เออะ เออ + อะ อา     เช่น     เงอะงะ     เทอะทะ     เร่อร่า

            สระหลังกับกลาง

           อุ + อะ อา                    เช่น       ตุ๊ต๊ะ        รุงรัง      ปุบปับ     ซุ่มซ่าม     

           โอะ โอ + อะ อา         เช่น     โด่งดัง      โผงผาง

           2.   เสียงของคำที่มาซ้อนกันมีเสียงที่เกิดระดับเดียวกัน     แต่คำที่นำมาซ้อนกัน  เสียงสระหลังจะเป็นคำต้น  เสียงสระหน้าเป็นคำท้าย   ดังนี้

           อุ อู + อิ อี     เช่น     ดุกดิก      กรุ้มกริ่ม     อุบอิบ     อู้อี้                                                                                                                                โอะ โอ + เอะ เอ   เช่น    โงกเงก     โอนเอ โอ้เอ้                                    

           เอาะ ออ + แอะ แอ     เช่น    ง่อกแง่ก     กรอบแกรบ                

            3.    เสียงของคำที่มาซ้อนกันมีที่เกิดอื่นๆ นอกจากที่กล่าวแล้ว  คำที่มีตัวสะกด  ตัวสะกดคำท้ายกับคำต้นต่างกันก็มี   เช่น

           สระกลางกับหน้า

                      อะ + เอีย       เช่น     พับเพียบ     ยัดเยียด     ฉวัดเฉวียน

           สระกลางกับหลัง

                      อะ + อัว         เช่น     ผันผวน

           สระหน้ากับกลาง

                      เอีย กับ อา      เช่น     เรี่ยราด   ตะเกียกตะกาย

           สระหน้ากับหลัง

                      เอ + ออ           เช่น     เร่ร่อน

           สระหลังกับกลาง

                      อัว + อา           เช่น     ชั่วช้า     ลวนลาม

                      โอ + เอา          เช่น     โง่เง่า

            4.    คำที่นำมาซ้อนกันมีสระเดียวกันแต่ตัวสะกดต่างกัน  มี   2   ลักษณะด้วยกัน คือ

                 ก.  ตัวสะกดต่างกันในระหว่างแม่ตัวสะกดวรรคเดียวกัน  เช่น

แม่กก กับ แม่กง       เช่น     แจกแจง      กักขัง  ,      

แม่กบ กับ แม่กม      เช่น     รวบรวม     ปราบปราม                     

                  ข.    ตัวสะกดต่างกัน ไม่จำกัดวรรค    เช่น

แม่กก กับ แม่กม      เช่น     ชุกชุม ,        

แม่กก กับ แม่กน      เช่น    ลักลั่น   ยอกย้อน

            5.    คำที่นำมาซ้อนกัน ต่างกันทั้งเสียงสระ  และตัวสะกด    เช่น

แม่กก กับ แม่กง              เช่น     ยุ่งยาก      ยักเยื้อง      กระดากกระกระเดื่อง

แม่กก  กับ  แม่กน           เช่น     รุกราน     บุกบั่น     ลุกลน

            6.    คำที่ซ้อนกัน    มีสระเดียวกันแต่ตัวสะกดคำท้ายกร่อนเสียงหายไป      ได้แก่

ร่อยหรอ        เลินเล่อ         โยกโย้        ทนโท่     

           ธวัช ( 2545 )   กล่าวถึงคำลักษณะดังกล่าว โดยเรียกว่า คำคู่ และมีการอธิบายไว้ว่า   คำคู่  คือ

การสร้างคำตามธรรมชาติของการเกิดเสียง  หากคำมูลนั้นอยู่เดี่ยวๆ มักจะไม่แสดงความหมาย  ถ้านำมารวมกันก็จะมีความหมาย  และคำเหล่านั้นต้องเป็นเสียงคู่กันตามการเกิดหน่วยเสียงสระด้วย   เช่น

           เสียงสระ  อุ  อู    คู่กับเสียงสระ  อิ  อี  เช่น     จู้จี้     จุกจิก      นุ่มนิ่ม    ฯลฯ

           เสียงสระ   โอะ  โอ    คู่กับเสียงสระ  เอะ  เอ           เช่น     โมเม    โยกเยก   โลเล    ฯลฯ

           เสียงสระ    เอาะ  ออ    คู่กับเสียงสระ  แอะ  แอ       เช่น     วอกแวก    ร่อแร่   ท้อแท้   ฯลฯ

           เสียงสระ    เออะ  เออ    คู่กับเสียงสาระ  อะ  อา      เช่น     เซ่อซ่า   เงอะงะ    เนิบนาบ   ฯลฯ

           เสียงสระ   เอะ  เอ    คู่กับเสียงสระ  อะ  อา             เช่น    เกะกะ    เอะอะ    เคว้งคว้าง  ฯลฯ

           เสียงสระ  โอะ โอ    คู่กับเสียงสระ  อะ  อา             เช่น   โผงผาง    โครมคราม   ฯลฯ

           คำคู่ที่เกิดจาก  เปลี่ยนพยัญชนะต้น  และสระ  แต่ตัวสระคงเดิม    เช่น แ ร้นแค้น   อ้างว้าง  ฯลฯ

             

        สุธิวงศ์  (2531)  ได้แบ่งลักษณะของคำซ้อนเป็น  6   ประเภท    ดังนี้

           1.    ใช้คำไทยเดิมคู่กับคำไทยปัจจุบัน  เช่น    เสื่อสาด  ว่องไว   ฝืดเคือง     อ้วนพี                                                         

           2.     นำคำภาษาถิ่นคู่กับคำไทยกลาง   เช่น   เข็ดหลาบ    ครูบา    อดทน                       

           3.    ใช้คำไทยคู่กับคำภาษาต่างประเทศ   เช่น    ฉับไว   สร้างสรรค์    คงกระพัน           

            4.    ใช้คำภาษาต่างประเทศกับคำภาษาต่างประเทศคู่กัน    เช่น     ทรัพย์สิน   อิทธิฤทธิ์

           5.    ใช้คำไทยปัจจุบันด้วยกันเข้าคู่กัน   เช่น    คับแคบ    ขาดแคลน     คุ้นเคย

           6.     ซ้อนคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน   เพื่อให้ออกเสียงสะดวก    เช่น   จุกจิก   โอ้เอ้

 

           ปรีชา (2522)   แบ่งประเภทคำซ้อนออกเป็น  2   ประเภท    คือ

           1.    ซ้อนกันหนึ่งคู่   ได้แก่  การนำคำ  2  คำซ้อนกัน  โดยที่คำหนึ่งคำใดหรือทั้งคู่เป็นคำไทยเดิม   คำไทยถิ่น   คำไทยปัจจุบัน   หรือคำต่างประเทศก็ได้   คำที่เข้าคู่กันแล้วจะได้เป็นรูปคำใหม่   มีความหมายเด่นชัดขึ้นกว่าเดิม   เช่น    เติบโต    เสื่อสาด    สร้างสรรค์   เงียบสงัด

           2.    ซ้อนกันสองคู่    ได้แก่  การนำคำที่มีความหมายเหมือนกัน   หรือใกล้เคียงกันสองคู่มาซ้อนกัน    มักมีเสียงสัมผัสคล้องจอง   เช่น     อิ่มหมีพีมัน      เชิดหน้าชูตา      เลี้ยงดูปูเสื่อ

 

การสร้างคำแบบการสร้างโดยวิธีการซ้อนคำเป็นเพียงวิธีแรกเท่านั้น

ในภาษาไทยยังมีวิธีการสร้างคำแบบอื่นอีก ....

   โปรดติดตามต่อไป

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างมิตรภาพค่ะ

หมายเลขบันทึก: 312957เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2009 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 06:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

-ขอบคุณมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆครับที่ทำให้รู้จักคำซ้ำเพิ่มมากขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท