การสร้างคำในภาษาไทย (1)


ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการสร้างคำในภาษาไทย

 

 

การสร้างคำในภาษาไทย

  1.     การศึกษาตำราที่เกี่ยวข้องกับการสร้างคำในภาษาไทย

          เนื่องจากภาษาไทยมีลักษณะเป็นคำพยางค์เดียว  การสร้างคำขึ้นใช้จึงต้องอาศัยวิธีนำเอาส่วนประกอบต่างๆ ของคำ จากหน่วยที่เล็กที่สุดทางภาษา  คือ “หน่วยเสียง”  ได้แก่  สระ  พยัญชนะ  และวรรณยุกต์  มาประกอบกันขึ้นเป็นพยางค์  เป็นคำ  เป็นวลี และเป็นประโยค  ตามลำดับ  (อนันต์ , ม.ป.ป.)      

จากการศึกษาตำราไวยากรณ์ไทยในสมัยแรกๆ   วิธีการนำคำมูลมาประสมกันเป็นคำใหม่หรือเป็นวิธีที่เราเรียกว่า “การสร้างคำในภาษาไทย”  นั้น  มีคำเพียงคำเดียวที่ใช้เรียกคำที่เกิดจากวิธีการสร้างคำดังกล่าว  นั่นคือ  “คำประสม”

          อุปกิตศิลปสาร , พระยา  (2539)   อธิบายเรื่องลักษณะคำไทยว่า   คำที่เกิดจากการเอาคำมูลมาประสมกันเข้าเป็นอีกคำหนึ่งเรียกว่า “ คำประสม”  เช่น    คำมูล  ‘แม่’  กับ ‘น้ำ’   รวมกันเข้าเป็นคำประสม ‘แม่น้ำ’  หมายความว่า ทางน้ำใหญ่  คำมูล ‘แสง’ กับ ‘อาทิตย์’  รวมเป็นคำประสมว่า ‘แสงอาทิตย์’  ชื่องูชนิดหนึ่ง       คำประสมแบ่งเป็น 5  อย่าง   ดังต่อไปนี้

          1.  คำประสมที่เอาคำมูลมีเนื้อความต่างๆ  มาประสมกันเข้า  มีใจความเป็นอีกอย่างหนึ่งไป   เช่น  คำมูล ‘หาง’ ส่วนท้ายของสัตว์ กับ ‘เสือ’  สัตว์ชนิดหนึ่ง  รวมกันเข้าเป็นคำประสม ‘หางเสือ’   แปลว่า เครื่องถือท้ายเรือ คำประสมพวกนี้ถึงแม้ว่ามีใจความแปลกออกไปจากคำมูลเดิม แต่ต้องอาศัยเค้าความของคำมูลเดิมเป็นหลัก

          2.  คำประสมที่เอาคำมูลหลายคำ  ซึ่งทุก ๆ คำก็มีเนื้อความคงที่  แต่เมื่อเอารวมกันเข้าเป็นคำเดียวก็มีเนื้อความผิดจากรูปเดิมไป  เช่น  ตีชิง  สู่ขอ   สมสู่   ยินดี   ยินร้าย   หายใจ   ใจหาย  ฯลฯ ซึ่งถ้าแยกออกเป็นคำๆ  แล้ว  จะไม่ได้ความดังที่ประสมกันอยู่นั้นเลย

          3.  คำประสมที่เอาคำมูลมีรูปหรือเนื้อความซ้ำกันมารวมเป็นคำเดียว  คำเหล่านี้บางทีก็มีเนื้อความคล้ายกับคำมูลเดิม  บางทีก็เพี้ยนออกไปบ้างเล็กน้อย  เช่น  ดำๆ  แดงๆ  เร็วๆ  ช้าๆ  และอีกอย่างหนึ่งใช้คำมูลรูปไม่เหมือนกัน   แต่เนื้อความอย่างเดียวกันรวมกันเข้าเป็นคำประสม  ซึ่งมีความหมายต่างออกไปโดยมาก   เช่น  ถ้อยคำ   ดูแล  ว่ากล่าว   เป็นต้น

          4.  คำประสมที่ย่อมาจากใจความมาก  คำพวกนี้มีลักษณะคล้ายกับที่เรียกว่า ‘คำสมาส’ หรือ ‘ตัทธิต’  ในภาษาบาลี  เพราะเป็นคำย่ออย่างเดียวกัน  เช่น  ‘ชาวป่า’  ย่อมาจาก ‘คนอยู่ในป่า’  ‘ชาววัง’  ย่อมาจาก ‘คนอยู่ในวัง’  เป็นต้น  รวมทั้งคำอาการนามที่มีคำว่า  ‘การ’  หรือ  ‘ความ’  นำหน้า  เช่น  การกิน  ความคิด เป็นต้น

          5.  คำประสมที่มาจากคำสมาสของภาษาบาลี  สันสกฤต  เช่น  ราชกุมาร (ลูกหลวง)  เศรษฐิภริยา    ( เมียเศรษฐี)  ฯลฯ   คำสมาสของบาลีและสันสกฤตนั้น  ก็นับเข้าในพวกคำประสมพวกหนึ่ง

          กำชัย ( 2545 )   กล่าวถึงคำประสมว่า   การนำคำมูลตั้งแต่ 2  คำขึ้นไปมารวมกันเป็นคำเดียว เรียกว่า  คำประสม  โดยคำมูลที่นำมารวมกันเป็นคำประสมนั้น  จะใช้คำภาษาเดียวกันหรือต่างภาษาประสมกันก็ได้   คือ  ไทย + ไทย  ,   ไทย +  สันสกฤต  ,  ไทย + บาลี  ,  ไทย +  เขมร  ,  บาลี +  เขมร   ,  บาลี  +  สันสกฤต    ฯลฯ   ก็ได้

 คำประสมแบ่งออกเป็น   5   ชนิด   ตามวิธีที่เอาคำมูลมาประสมกัน    คือ

          1.  คำประสมที่เกิดจากคำมูลซึ่งมีรูป  เสียง  และความหมายต่างกัน  แต่เมื่อประสมกันแล้ว   ทำให้เกิดความหมายใหม่   ซึ่งไม่ตรงกับคำเดิมของแต่ละคำ   เช่น

       ลูก    =   บุตร  , น้อง   =    ผู้ที่เกิดทีหลัง       ลูกน้อง   =   ผู้ที่ติดสอยห้อยตาม

          2.   คำประสมที่เกิดจากคำมูลซึ่งมีรูป    เสียง    ความหมายต่างกัน    เมื่อประสมกันแล้วทำให้เกิดความหมายใหม่ขึ้นอย่างหนึ่ง   แต่ยังคงรักษาความหมายของคำเดิมแต่ละคำไว้   เช่น     

     ตี   =    ทำร้าย  , ชิง     =     แย่งเอาไป   ตีชิง   =      ทำร้ายแล้วแย่งเอาทรัพย์ไป

          เหตุที่รวมกันเข้าเป็นคำเดียว   จึงเกิดความหมายใหม่ซึ่งผิดกับคำเดิมที่แยกกันอยู่แต่ละคำ  คำชนิดนี้ยังมีอีกมาก เช่น   ชาวนา    ผู้ดี   นักร้อง    หมอผี     ช่างทอง    การพูด    ความเร็ว    เครื่องผ่อนแรง   ของกิน    ที่นอน    ร้อนใจ  แค้นใจ    ดูหมิ่น  เร่งมือ   จดจำ   ราชบุตร     เภสัชกร   ฯลฯ

          3.    คำประสมที่เกิดจากคำมูลซึ่งมี  รูป   เสียง   และความหมายเหมือนกัน   เมื่อประสมกันแล้วทำให้เกิดความหมายผิดไปเดิมที่ยังมิได้ประสมกัน   แต่ยังคงรักษาความหมายของคำเดิมแต่ละคำไว้    เช่น    สูง ๆ   ต่ำ ๆ     ดำ ๆ     ขาว ๆ     ยาว ๆ      ฯลฯ

          4.   คำประสมที่เกิดจากคำมูลซึ่งมีรูปและเสียงต่างกัน   แต่มีความหมายเหมือนกัน   เมื่อประสมกันแล้ว  ความหมายไม่เปลี่ยนแปลง  คือ  คงมีความหมายเท่ากับคำเดิมที่ยังมิได้ประสมกัน  เช่น    คัดเลือก    อ้อนวอน    ว่ากล่าว     เสื่อสาด   ฯลฯ

          5.  คำประสมที่เกิดจากคำมูล   ซึ่งมีรูป    เสียง   และความหมายต่างกัน   แต่ตัดพยางค์ หรือย่นพยางค์ของคำให้สั้นเข้า   คล้ายวิธีสมาสของบาลี   แต่ความหมายคงมีเท่ากับคำเดิมที่ยังมิได้ตัด   เช่น             

     จิโรจ          มาจาก           จรัส        +             โรจน์   (  รุ่งเรือง   )

     ชันษา        มาจาก           ชันม       +             พรรษา   (  อายุ  )

          จากการจัดแบ่งชนิดคำประสมของพระยาอุปกิตฯ และ อ.กำชัย จะสังเกตเห็นได้ว่า  อ.กำชัยนั้นได้อาศัยหลักเกณฑ์บางส่วนจากพระยาอุปกิตฯ  นั่นคือ  แบ่งตามวิธีที่นำคำมูลมาประสมกัน แต่มีส่วนที่ต่างกันดังนี้

          1.  อ.กำชัย จะแบ่งชนิดของคำประสม โดยพิจารณา รูป  เสียง   ความหมายของคำมูลเดิมกับความสัมพันธ์ของคำใหม่ที่ประสมได้   เช่น  คำประสมชนิดที่ 2  ของ อ.กำชัย   เกิดจากคำมูลซึ่งมีรูป    เสียง    ความหมายต่างกัน    เมื่อประสมกันแล้วทำให้เกิดความหมายใหม่  แต่ยังคงรักษาความหมายของคำเดิมแต่ละคำไว้  เช่น  ตีชิง   ชาวนา    ผู้ดี   นักร้อง    หมอผี     ช่างทอง    การพูด    ความเร็ว  ราชบุตร   คำเหล่านี้จะจัดอยู่ในคำประสมชนิดที่ 2  , 4   และ 5   ของพระยาอุปกิต ฯ

          2.  การแบ่งชนิดคำประสมชนิดที่ 3  ของพระยาอุปกิตฯ  นั้น อ.กำชัย จะแบ่งออกเป็น 2  ชนิด ดังในข้อ 3 , 4

          จากการแบ่งชนิดของคำประสมออกเป็น  5  ชนิดดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น  ตำราไวยากรณ์ไทยในสมัยต่อมา พบว่า  มีคำที่ใช้เรียกคำที่ถูกสร้างขึ้นใหม่เพิ่มมากขึ้น  ได้แก่   คำประสม    คำประสาน   คำซ้อน   คำซ้ำ   คำสมาส   คำสนธิ   ซึ่งคำเรียกเหล่านี้ล้วนมาจากชนิดของคำประสมดังที่ได้กล่าวไปแล้วทั้งสิ้น

          วิธีการสร้างคำใหม่ของภาษาไทย  ตามแบบไทยแท้นั้นสร้างโดยนำคำมูลซึ่งเอาคำที่มีความหมายอยู่แล้วมาประสมกัน  เกิดเป็นคำใหม่ความหมายใหม่  เราไม่ได้สร้างคำโดยเติมหน่วยเสียงแบบอุปสรรคหรือปัจจัยหรือลงอาคม  โดยเอาหน่วยคำมาต่อกันอย่างภาษาคำติดต่อ (สุธิวงศ์ : 2531)

          การประสมคำขึ้นใช้ในภาษาไทยวิธีหลายวิธี   ดังนี้>>>>


โปรดติดตามต่อไป...

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างมิตรภาพค่ะ

หมายเลขบันทึก: 312954เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2009 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท