สำนักข่าวทะเลบัว : ใช้สื่อใหม่ สื่อพลเมือง หมุนชุมชน


“การทำงานนี้ทำให้ได้รู้จักการทำงานกลุ่ม การเข้าสังคม และการฝึกคิดเรื่องราวหรือประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนอีกด้วย จึงอยากจะของเชิญชวนให้เพื่อนๆ เยาวชนที่มีความฝันอยากเป็นนักข่าวเข้ามาร่วมทำงานกับสำนักข่าวทะเลน้อย และทำงานเพื่อชุมชนเพื่อพัฒนาชุมชนทะเลน้อยของเราให้ดีขึ้น”

สำนักข่าวทะเลบัว-ICT / โซน 6

สำนักข่าวทะเลบัว : ใช้สื่อใหม่ สื่อพลเมือง หมุนชุมชน

 

เมื่อภูมิศาสตร์และเป้าหมายของการสื่อสารเปลี่ยนแปลงไปจนไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิม !

ตั้งแต่กลางปี 2550 สำนักข่าวทะเลบัว (www.thalabua.com) จ.พัทลุง เกิดจากเยาวชนยี่สิบกว่าคนจาก 4 โรงเรียนในตำบลทะเลน้อย อ.ควนขนุน จังหวัดพัทลุง ได้แก่ โรงเรียนวัดทะเลน้อย โรงเรียนวัดประดู่หอม โรงเรียนพนางตุง และโรงเรียนอุดมวิทยายน 7 รวมตัวกันในนามของ "กลุ่มสื่อเยาวชนสีขาว" สามารถออกหนังสือพิมพ์รายเดือน "สื่อเยาวชน" อย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนปัญหาอบายมุข โดยเฉพาะการพนัน เหล้า และบุหรี่ในชุมชนของเขาอย่างมีพลัง กลายเป็นเอกสารที่ต้องแจกประจำเดือนในการประชุมระดับจังหวัด มากกว่านั้น ยังนำเนื้อหาจากหนังสือพิมพ์สื่อเยาวชนไปสร้างมูลค่าเพิ่มอ่านออกอากาศในหอกระจายข่าวของแต่ละโรงเรียนดังกล่าว และวิทยุชุมชนท้องถิ่นอย่างสม่ำเสมอ

โดยระยะแรกนั้น ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานส่งเสริมชีวิตมั่งคง ปลอดอบายมุข ที่เป็นการลงทุนร่วมระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

จาก “สื่อแนวราบ” ข้างต้น ปี 2551 สำนักข่าวชาวบ้าน โครงการก่อตั้งมูลนิธิสื่อสารสาธารณะ และมูลนิธิกระจกเงา ได้ร่วมพัฒนาทักษะการสื่อสารและเทคโนโลยีการสื่อสารมิติต่างๆ เพิ่มเติม จนยกระดับขึ้นเป็นสำนักข่าวเด็กออนไลน์ประจำจังหวัดพัทลุง ชื่อ "ทะเลบัวดอทคอม" (www.thalabua.com) ให้เป็นสื่อกลางขับเคลื่อนประเด็นปัญหาต่างๆ ในชุมชนสู่พื้นที่สาธารณะต่างๆ โดยคงความโดดเด่นเรื่องของการสร้างโครงข่ายของสื่อหลากหลายประเภท และวันนี้ พวกเขาสามารถเป็น “นักข่าวพลเมือง” สามารถเชื่อมเรื่องราวจากพื้นที่กับทีวีไทย ทีวีสาธารณะได้ เพื่อให้เนื้อหากลับไป "ขับเคลื่อน" ในชุมชน

ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงให้ "ชุมชนทะเลน้อย" กลายเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ สร้างจิตสาธารณะให้พิทักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น และรักษ์ชุมชนของเขา ทั้งหมดนี้คือ "เป้าหมาย" ของการเริ่มต้นการสื่อสารกับสังคมของเด็กกลุ่มนี้

แง่นี้แล้ว สำนักข่าวเยาวชน "ทะเลบัวดอทคอม" จึงเป็นชื่อที่สะท้อนวิถีของชุมชนและปรากฏการณ์ธรรมชาติของ พรุควนขี้เสี้ยน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดสงขลา-พัทลุง ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) แห่งแรกของประเทศไทย นอกจากนกน้ำนานชนิด พันธุ์ปลาจำนวนมากแล้ว ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีมักมีปรากฏการณ์ "ทะเลดอกบัว" ขนาดใหญ่ประมาณ 5 ตารางกิโลเมตร คือสิ่งที่ยากจะจินตนาการสำหรับคนที่ไม่เคยมาเยือนที่นี่

ก่อนที่จะเชื่อมตัวเองกับ “สื่อใหญ่” หรือ “สื่อแนวดิ่ง” เด็กๆ ปวารณาตัวเป็น “นักข่าวชุมชน” และแหล่งข่าวก็คือ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ครู อาจารย์ สมาชิกในชุมชน เจตนาของเด็กๆ ต้องการรายงานข่าวของดีของชุมชน ซึ่งกลายเป็นหนทางให้เขากลับไปหารากเหง้าและฟื้นวิถีของชุมชน ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ลวดลายของเสื่อกระจูดที่กำลังสาบสูญ ได้รู้จักพันธุ์นกน้ำหายากที่อพยพตามฤดูกาล เขาเข้าใจมากขึ้นว่าคนขับเรือท่องเที่ยวในชุมชน ไม่ใช่อาชีพที่มั่นคงเหมือนกับการทำประมงวิถีดั้งเดิม รวมทั้งไข่ปลาทอดสินค้าโอทอป เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปลาในพื้นที่ชุ่มน้ำลดน้อยลง และต้องนำไข่ปลาจากลุ่มน้ำอื่นมาขายแทน

เขาใส่ใจต่อสุขภาวะชุมชนมากขึ้น เมื่อรู้ว่าสีจากการย้อมกระจูดไหลลงและปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ขยะที่มาจากการท่องเที่ยวในชุมชน การแพร่ขยายของผักตบชวาและผักกระเฉดที่ยากต่อการจัดการเป็นต้นเหตุให้พื้นที่ชุ่มน้ำตื้นเขิน ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติจากสาเหตุนานาประการทำให้คนทะเลน้อยมีอายุขัยสั้นกว่าคนท้องถิ่นอื่นจนติดลำดับต้นๆ ของประเทศ ในโอกาสำคัญ เด็กๆ มักนำคลิปวิดีโอที่ถ่ายทำฉายเป็นหนังกลางแปลงในชุมชนด้วย เพราะมีพ่อเฒ่าแม่แก่ที่ไม่สามารถเข้าถึงสื่อสมัยใหม่ได้

“นักข่าวชุมชน” จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญให้ห้องเรียนชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนในโรงเรียน จากเดิมที่มีนักเรียนจาก 4 โรงเรียนร่วมกันทำงานก็กำลังขยายออกไปอีก 15 โรงเรียน จนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จ.พัทลุง พยายามจัดกระบวนการเพื่อร่าง “แนวคิดนักข่าวชุมชน” ออกมาเป็นหลักสูตรท้องถิ่นศึกษาในเร็ววันนี้

 

“ประสบการณ์ที่ได้รับจากสำนักข่าวทะเลบัว ทำให้กล้าแสดงออก และรู้จักฝึกการคิดประเด็น และการตั้งคำถามกับแหล่งข่าวที่เราไปสัมภาษณ์ ทั้งนี้ยังทำให้ผมรู้รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับชุมชนในมุมมองที่แตกต่างออกไป และเผยแพร่เรื่องราวของชุมชนให้ผู้อื่นได้รับทราบ พร้อมกันนี้ยังได้ชวนเพื่อนๆ ให้มาร่วมกิจกรรมเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และยังได้ประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากในห้องเรียนอีกด้วย”

ด.ช.พัฒนพงษ์ บุณเหลิ่มวงศ์ษาธรรม – “น้องอาร์ม”

 หนึ่งในทีมบรรณาธิการสำนักข่าวทะเลบัว 

“การทำงานนี้ทำให้ได้รู้จักการทำงานกลุ่ม การเข้าสังคม และการฝึกคิดเรื่องราวหรือประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนอีกด้วย จึงอยากจะของเชิญชวนให้เพื่อนๆ เยาวชนที่มีความฝันอยากเป็นนักข่าวเข้ามาร่วมทำงานกับสำนักข่าวทะเลน้อย และทำงานเพื่อชุมชนเพื่อพัฒนาชุมชนทะเลน้อยของเราให้ดีขึ้น”

นายธวัชชัย  ชุมคง – “น้องเบล”

หนึ่งในทีมเยาวชนสำนักข่าวทะเลบัว 

การทำงานนี้ทำให้ได้รู้จักการทำงานกลุ่ม การเข้าสังคม และการฝึกคิดเรื่องราวหรือประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนอีกด้วย จึงอยากจะของเชิญชวนให้เพื่อนๆ เยาวชนที่มีความฝันอยากเป็นนักข่าวเข้ามาร่วมทำงานกับสำนักข่าวทะเลน้อย และทำงานเพื่อชุมชนเพื่อพัฒนาชุมชนทะเลน้อยของเราให้ดีขึ้น

นายธวัชชัย  ชุมคง – “น้องเบล”

หนึ่งในทีมเยาวชนสำนักข่าวทะเลบัว

หมายเลขบันทึก: 312947เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2009 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ ป้าเหมียวแวะมาทักทายคนทำงานสื่อค่ะ...เดี๋ยวแวะมาใหม่ค่ะ

ร่วมปฎิวัติการศึกษาเพื่อความเป็นไท

http://gotoknow.org/blog/plays-learns/320506

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท