บุหรงซีงอ: เชื่อมเสียงเยาวชนและความจริงชุมชนชายแดนใต้


“ยิ่งยุคโลกาภิวัตน์ทำให้ความเป็นตัวตนของเยาวชนในพื้นที่ลดลง จนขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ทั้งการขาดโอกาสในการสื่อสาร บวกความไม่เข้าใจของสังคมที่มีต่อเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจเป็นช่องโหว่ทำให้เยาวชนถูกผลักไปอยู่อีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่ตั้งใจ”

ความยาวนานของเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในฐานะ “เหยื่อ” ที่สูญเสียคนในครอบครัวจากความรุนแรง และส่วนหนึ่งกลายเป็น “เหยื่อ” ที่ถูกสังคมตีตราว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งนำไปสู่การควบคุมตัวและดำเนินคดีในฐานะผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแนวร่วมของผู้ก่อความไม่สงบ กลายเป็นช่องว่างระหว่างเยาวชนกับรัฐเพราะความไม่เข้าใจ ทว่า ความซับซ้อนของสถานการณ์ดังกล่าวถูกสื่อกระแสหลักนำเสนอเพียงแง่มุมของความรุนแรงเป็นหลัก

            “ยิ่งยุคโลกาภิวัตน์ทำให้ความเป็นตัวตนของเยาวชนในพื้นที่ลดลง จนขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ทั้งการขาดโอกาสในการสื่อสาร บวกความไม่เข้าใจของสังคมที่มีต่อเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจเป็นช่องโหว่ทำให้เยาวชนถูกผลักไปอยู่อีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่ตั้งใจ

            มณฑิรา มลิวรรณ์ – ‘อ้อม’ นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ วิชาเอกชีววิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หนึ่งใน ‘กลุ่มบุหรงซีงอ’ เล่าถึงความคิดที่ทำให้สนใจเรื่องการสื่อสารเป็นพิเศษ

            “ วันหนึ่ง มะเขือ - จงรักษ์ ศรีจันทร์งาม (นักศึกษาแผนกวิชาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์ฯ ม.อ.ปัตตานี) เพื่อนในกลุ่ม กำลังทำวิจัยในวิชาเรียนของ ‘อ.อลิสา หาสะเมาะ’(อาจารย์แผนกวิชาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์ฯ ม.อ.ปัตตานี) เกี่ยวกับประเด็นของนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ไปรู้ว่า ‘ด้า - อารีด้า สาเมาะ’ (นักศึกษา วิชาเอกวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี) เพื่อนของเราคนหนึ่งเป็นลูกกำพร้าขาดเสาหลักของครอบครัว และยังต้องทำงานช่วยเหลือครอบครัวด้วย คือ ผลกระทบของปัญหาไม่ใช่เรื่องไกลตัวของพวกเราอีกต่อไป”

และจากการเรียนวิชาพัฒนาสังคม ทำให้มีโอกาสเข้าไปในชุมชนหลายครั้ง แต่ละครั้งก็พบเจอเรื่องราวมากมาย  ทั้งผลกระทบที่เกิดแก่เยาวชนจำนวนมากในหลายมิติ ‘ฮัน- เจ๊ะมัยฮัน มาหิเละ’ (ศิษย์เก่าแผนกวิชาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์ฯ ม.อ.ปัตตานี) อีกหนึ่งสาวของกลุ่ม ย้อนความเป็นมาซึ่งช่วยต่อภาพวิธีคิดของกลุ่มได้มากขึ้น “เราพบว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นที่สวยงาม  เช่น มีหญิงมุสลิมร้อยและขายพวงมาลัยในตลาดพิธาน จ.ปัตตานี เพื่อเลี้ยงปากท้อง ครอบครัว และการศึกษาของลูกๆ แม้จะเป็นการซ้อนทับระหว่างวัฒนธรรมและศาสนาก็ตาม เพราะอิสลามเชื่อว่าการขายของที่ให้ผู้อื่นนำไปเพื่อการบูชาเป็นสิ่งที่ผิดหลักศาสนา  เป็นต้น ตลอดจนความรู้สึกต่างๆ ที่ชาวบ้านสะท้อนออกมาครั้งแล้วครั้งเล่า ช่างต่างเหลือเกินจากสิ่งที่เราได้ยินได้เห็นผ่านสื่อ”

“เหล่านี้กลายเป็นโจทย์ให้คิดต่อว่า พวกเราจะทำอย่างไร ให้เสียงสะท้อนของชาวบ้าน ที่เกิดจากความอึดอัด คับข้องใจ ส่งต่อไปยังสังคมส่วนใหญ่ได้รับรู้ บนฐานของหลักคิดที่ว่า ความจริงนั้นมีหลายชุด’ แต่ชุดความจริงของชาวบ้านทำไมกลับดังก้องอยู่เฉพาะในหมู่บ้านในระดับท้องถิ่นเท่านั้น

จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้นักศึกษาและอาจารย์ทั้ง 5 คน รวมตัวกันเป็น “กลุ่มบุหรงซีงอ” (Burongsinga)  หรือ “นกสิงห์” มีรูปร่างคล้ายราชสีห์ มีหัวเป็นนก แต่ตัวเป็นราชสีห์ “เพราะต้องการรักษาและแสดงถึงความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นที่ไม่มีที่ไหนในโลก และยังเป็นความภาคภูมิใจที่จะแข่งขันกับกระแสวัฒนธรรมภายนอกได้อย่างไม่อายใคร  เรายังให้ความหมายกำกับว่า ‘นก’ หมายถึง ความมีอิสระ และ ‘สิงห์’ หมายถึงความเป็นผู้นำ” อ้อม อมยิ้ม อธิบายที่มาและความหมายของชื่อกลุ่ม

อ่านต่อที่นี่..บุหรงซีงอ: เชื่อมเสียงเยาวชนและความจริงชุมชนชายแดนใต้ เรื่องราวกลุ่มนี้เข้มข้นจริงๆ

คนเล่าเรื่อง ฐิตินบ โกมลนิมิ (พี่แจง)

หมายเลขบันทึก: 312945เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2009 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 10:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท