“การแพทย์ไร้เชื้อชาติ”


จากการที่ได้ทราบข้อมูลทั้งหมด ประกอบกับเห็นสีหน้าและแววตาของผู้ป่วยรายนี้ บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า กำลังอยู่ในช่วงที่มีความทุกข์ แต่แววตาของเธอก็ยังฉายแววแห่งความหวัง หวังที่จะได้รับการรักษาและหายจากโรคนี้

         สองปีก่อน  ขณะที่ข้าพเจ้าทำงานโดยตรวจรักษาผู้ป่วยที่ตึกผู้ป่วยนอก  ได้มีหญิงพม่าอายุประมาณ 35 ปี  รูปร่างผอม  ผิวคล้ำ  มาตรวจรักษาพร้อมกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง  จากการซักประวัติทราบว่าเธอคนนี้เป็นชาวพม่า  เข้ามาทำงานรับจ้างหลายปี  แต่ยังพูดไทยไม่ได้  ไม่มีบัตรต่างด้าว  นายจ้างไม่รับผิดชอบเรื่องค่ารักษาพยาบาลเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย  ปัญหาของผู้ป่วยรายนี้ คือ จะมีอาการปวดและปัสสาวะลำบากทุกครั้ง  เวลาปัสสาวะจะทำให้เธอทุกข์ทรมานมาก  อาการเป็นมาหลายปี  จากการตรวจและ X-Ray ทำให้ทราบว่า  มีนิ่วขนาดเท่าไข่ไก่ใบใหญ่ๆอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ  ซึ่งสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยรายนี้  และจากการซักถามเพิ่มเติมทำให้เราได้ทราบว่า  ผู้ป่วยรายนี้เคยไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐบาลมาแล้วหลายครั้ง  ครั้งสุดท้ายแพทย์ให้นอนโรงพยาบาลบอกว่าจะผ่าตัด  ให้เตรียมตัวงดน้ำงดอาหารและขึ้นไปรอที่ห้องผ่าตัด  แต่แล้วเธอก็ถูกเข็นกลับลงมาโดยที่ไม่ได้รับการผ่าตัด  และให้กลับบ้านโดยที่เธอเองก็ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ได้รับการผ่าตัด  เธอจึงกลับไปทำงานพยายามเก็บเงินเป็นเวลา 2 ปี  ซึ่งช่วงเวลานี้เองที่เธอต้องต่อสู้กับอาการปัสสาวะบ่อยและความเจ็บปวดเวลาปัสสาวะมาโดยตลอด  จนเธอเก็บเงินได้ประมาณ 5,000 บาท  เธอจึงขอความช่วยเหลือจากเพื่อนให้พาเธอมาตรวจ  ซึ่งระยะทางจากบ้านพักมาถึงโรงพยาบาลมีระยะทางที่ไกลพอสมควรประมาณ  40  กว่ากิโลเมตร  และจากการที่ได้ทราบข้อมูลทั้งหมด  ประกอบกับเห็นสีหน้าและแววตาของผู้ป่วยรายนี้  บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า กำลังอยู่ในช่วงที่มีความทุกข์  แต่แววตาของเธอก็ยังฉายแววแห่งความหวัง  หวังที่จะได้รับการรักษาและหายจากโรคนี้  สิ่งนี้กระมังที่ทำให้ข้าพเจ้าตัดสินใจว่า  จะต้องช่วยผู้ป่วยรายนี้ให้ดีที่สุด  ข้าพเจ้าจึงนำเรื่องราวของผู้ป่วยรายนี้ไปปรึกษากับผู้บริหารของโรงพยาบาล  คำตอบที่ได้รับก็คือ  “หมอ  หมอรักษาผู้ป่วยรายนี้ได้อย่างเต็มที่เลย  ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย”

         ในที่สุดผู้ป่วยรายนี้ก็ได้รับการผ่าตัด  การผ่าตัดผ่านพ้นไปด้วยดี  วันที่ผู้ป่วยกลับบ้าน  ข้าพเจ้าทราบดีว่าผู้ป่วยขอบคุณและรู้สึกอย่างไรกับโรงพยาบาล  ถึงเธอจะพูดภาษาไทยไม่ได้  แต่สีหน้าและแววตาที่ใสซื่อของเธอก็ฉายแววแห่งความขอบคุณและซาบซึ้งใจเป็นที่สุดกับการช่วยเหลือในครั้งนี้  ข้าพเจ้าสัมผัสและรับรู้ได้ในทันทีที่เห็น  จะมีโรงพยาบาลเอกชนสักกี่แห่งที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ด้อยโอกาสเช่นนี้  และจะมีผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนแห่งใดที่จะเข้าถึงและมองเห็นความลำบากของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  เฉกเช่นที่นี่  “โรงพยาบาลซานคามิลโล”

                                                                                   

                                                                     นายแพทย์มานัส  รัตนโชคธรณี

                                                                        โรงพยาบาลซานคามิลโล 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 312584เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2009 09:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นับเป็นเรื่องราวดีๆที่น่าประทับใจครับ การช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยเฉพาะด้านการแพทย์นับเป็นกุศลอันใหญ่หลวงนัก ซึ่งการแพทย์ไม่มีพรมแดนไม่มีชาติพันธุ์ ขอบคุณเรื่องราวดีๆครับ

ด้วยจิตคารวะ

นึกถึงความเป็นมนุษย์ และได้ช่วยเพื่อนมนุษยชาติ โดยไม่หวังเพียงเงิน ซาบซึ้งจริงๆค่ะ

เห็นด้วยค่ะว่าจะมีกี่ รพ.เอกชนที่ทำแบบนี้ การแพทย์ไร้พรมแดนและเชื้อชาติจริงๆ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท