การกำจัดเพลี้ยแป้งสีชมพูมันสำปะหลัง (3)


การกำจัดเพลี้ยแป้งสีชมพูมันสำปะหลัง (3)

การกำจัดเพลี้ยแป้งสีชมพูมันสำปะหลัง (3)

          การกำจัดเพลี้ยแป้งสีชมพูมันสำปะหลัง  มีอยู่ด้วยกัน 3 วิธี  ประสพผลสำเร็จมากน้อยเพียงไร  ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ถูกต้อง  “บนพื้นฐานความเป็นจริง”  วิธีการ  “ลองผิดลองถูก”  ยังไม่ควรนำมาใช้ในขณะนี้

                   วิธีที่ 1  โดยการใช้สารชีวภัณฑ์  (ชีวินทรีย์)  ประเทศไทยมีนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถด้านวิชาสัตววิทยา  หรือจุลชีววิทยาจนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก  อีกทั้งการผลิตสารชีวภัณฑ์นั้นเป็นการส่งเสริมการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ  สารชีวภัณฑ์ของไทยที่ขึ้นทะเบียนรับรองจากกรมวิชาการเกษตร  ส่งออกไปสร้างชื่อเสียงโด่งดังทั้งในยุโรปและอเมริกา  รวมไปถึงประเทศในแถบเอเชีย  อย่างน่าภูมิใจ

                   การใช้สารชีวภัณฑ์ให้ผลระยะยาวกว่าการใช้สารเคมี  เพราะเมื่อแมลงสัมผัสสารชีวภัณฑ์     จะ ติดเชื้อจนตายภายใน 4-14 วัน และมีสปอร์งอกออกมาจากตัวแมลงที่ถูกพิษและจะเกาะตายอยู่กับต้น    เมื่อใดก็ตามถ้ามีแมลงอื่นมาสัมผัสก็จะติดเชื้อราและตายในลักษณะเดียวกัน  เป็นการป้องกันหลังการฉีดพ่น   ได้     ระยะหนึ่ง  ซึ่งจะได้ผลดีมาก  สำหรับผู้ที่เข้าใจวิธีการใช้  อย่างไรก็ตามยังเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับเกษตรกร        ที่ไม่ชอบรอ  ส่วนใหญ่ชอบที่จะเห็นผลในทันทีทันใด  สารชีวภัณฑ์จึงเป็นที่นิยมใช้ในวงแคบๆ  กับเกษตรกร  ที่มีความรู้มีการศึกษา  อย่างเช่นในยุโรปหรืออเมริกา  และญี่ปุ่น  เท่านั้น  แต่มีแนวโน้มจะขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ

                   เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด  ขั้นตอนการใช้ต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขของมัน  เช่น  ความชื้นขณะที่ใช้ต้องมีไม่น้อยกว่า 70%  และอุณหภูมิต้องไม่เกิน 27  องศาเซลเซียส  พ่นช่วงบ่ายหรือเย็น  (เกษตรกรคิดว่ายุ่งยาก)  สารเสริมประสิทธิภาพ (สารจับใบ)  ที่ใช้กับเชื้อราที่มีชีวิตควรพิจารณาใช้สารที่ไม่เป็นอันตรายกับ   เชื้อราที่ใช้ด้วย

                   วิธีที่ 2  โดยสารกำจัด (เคมี)  ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศและราคาแพง  (มาก)  แต่การใช้      จะง่ายกว่าสามารถพ่นเมื่อใดก็ได้  (ถ้าขยัน)  แมลงตายเร็วกว่า  แต่การป้องกันระยะยาวได้น้อยกว่าสารชีวภัณฑ์  อย่างไรก็ตามการใช้ต้องอยู่บนเงื่อนไข  เช่น  ให้พ่นในอัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร  80  ลิตรต่อไร่  แต่เกษตรกรใช้ 80 ลิตรพ่นในพื้นที่ 2 ไร่  ในอัตราเดียวกัน  หรือ  แนะนำให้ใช้ร่วมกับสารเสริมประสิทธิภาพ (สารจับใบ)  ป้องกันการชะล้างจากน้ำค้างหรือน้ำฝน  เกษตรกรกลับไปใช้กับสบู่หรือน้ำยาล้างจาน  (แล้วบอกว่าใช้ไม่ได้ผล)

                   วิธีที่ 3  ที่ประสพผลสำเร็จมาแล้ว  หลังจากการใช้ 2 วิธีการแรกไม่ได้ผลเท่าที่ควร  คือชีววิธี  โดยการใช้ศัตรูธรรมชาติกำจัด  แตนเบียน   (ทราบว่ากรมวิชาการเกษตรนำเข้ามาแล้วเมื่อวันที่ 30 กันยายน 52 นี้)  แต่ต้องรอการขยายพันธุ์  ซึ่งอีกนานแค่ไหน  (แล้วแต่พระเจ้า)  อย่างไรก็ตามขออย่างให้เหมือนการรอคำตอบเรื่องสายพันธุ์ก็แล้วกัน  เพราะอีก 4-5  เดือน  เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวผลผลิต  (ที่รอดที่เหลืออยู่ในชีวิต  ของเขา)  แล้ว

                   อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุด  คือการจัดการในการกำจัด  นอกเหนือจากเงื่อนไขที่ต้องทำตามให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในแต่ละชนิดของสารนั้นๆ แล้ว  การจัดการในการพ่นสารกำจัดก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านั้นเลย  โดยเกษตรกรจะต้องระลึกเสมอว่าการใช้สารกำจัดในแต่ละชนิด  ต้องพ่นให้สัมผัสตัวแมลงศัตรูพืช  หรือต้องเน้นให้ถูกตัวแมลงมากที่สุด  มีวิธีการแนะนำดังนี้

                             1.  เด็ดยอดมันสำปะหลังที่มีกลุ่มเพลี้ยแป้งซ่อนตัวอยู่ออก ใส่ถุงพลาสติก  มัดปาก เพื่อไม่ให้เพลี้ยไต่ออกมาอีก (เพลี้ยจะตายเพราะความร้อนในถุง)  นำไปเผาให้แน่ใจ

                             2.  พ่นสารตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด (ช่วงนี้ไม่ควรลองผิดลองถูกกับสารที่ยัง      ไม่แน่ใจ)

                             3.  หงายหัวพ่นให้สารถูกใต้ใบ  (เพลี้ยแป้งวัยอ่อนที่มองแทบไม่เห็นจะอาศัยเกาะ     ใต้ใบ)

                             4.  พ่นครั้งที่สองเมื่อเห็นว่ายังไม่ตายหมด (สารกำจัดตัวได้แต่ไข่ไม่ฝ่อ 6-10 วันจะออกมาอีก)  ระยะที่เหมาะสมในการพ่นยา  ควรเป็นระยะที่เพลี้ยแป้งยังอยู่ในวัยอ่อน (1-2) ยังไม่มีแป้งปกคลุมป้องกันตัว 

                             5.  หมั่นตรวจแปลงปลูกเพื่อให้แน่ใจว่ายังมีเพลี้ยเหลืออยู่หรือไม่  และพ่นซ้ำถ้าจำเป็น

                   ขอกลับมาที่สารชีวภัณฑ์อีกครั้ง  กรมส่งเสริมการเกษตร  โดย  ศูนย์บริหารศัตรูพืช (ศบพ.)   ได้ผลิตเชื้อราบิวเวอเรีย (สด)  แจกให้พี่น้องเกษตรกรไปใช้ปราบเพลี้ยแป้ง  เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล  เกษตรกรนำไปใช้ได้ผลบ้างไม่ได้บ้าง เพราะวิธีการใช้ของแต่ละบุคคลที่ต่างกันออกไป  ใครใช้ตามเงื่อนไขก็บอกว่าได้ผล  ใครใช้แบบ  ใช้ไปงั้นๆ ก็บอกว่าไม่ได้เรื่อง  ในส่วนตัวเห็นว่าเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีที่กรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนให้ทำเรื่องนี้  แต่จะให้ดีกว่านี้ต้องสนับสนุนงบประมาณให้ด้วย  เพราะเมื่อใดมีความต้องการใช้จริงๆ ก็ไม่สามารถตอบสนองให้เกษตรกรได้  (งบหมด)  และการสอนให้เกษตรกรไปผลิตใช้เองนั้น  น่าจะมีการติดตามผลด้วย  ส่วนใหญ่เกษตรกรเขี่ยเชื้อตามได้ถุนบ้านหรือใต้ต้นไม้  แล้วจะหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนจากเชื้อราชนิดอื่นได้อย่างไร  และคุณภาพจะออกมาอย่างไร (มีทหารไว้ออกรบปราบศัตรูแต่ไม่รู้ว่าในค่ายของตัวเอง       มีทหารจำนวนเท่าใด  มีคุณภาพศักยภาพแค่ไหน แล้วใครจะกล้ารับประกันว่าออกรบแล้วจะชนะข้าศึก)

สารกำจัด (เคมี)  และราคาที่เกษตรกรซื้อได้ที่ร้านเคมีเกษตร 

      ชื่อสาร              ขนาด        ราคา/ ลิตร/ กล่อง      ราคา/ ก.ก./ ลิตร

ไทอะมีโทแซม      100  กรัม               530                        5,300

ไทอะมีโทแซม      20  กรัม          150-230                     7,500-11,500

ไดโนทีฟูแรน        100  กรัม         165-170                      1,650-1,750

ไวท์ออยล์             1  ลิตร           150-160                     150-160

หมายเหตุ

                   เกษตรกรนิยมที่จะซื้อขนาด 20 กรัมมากกว่าเป็นกิโลกรัม  เพราะดูเหมือนราคาถูก  ใช้ง่าย  (ซองละ 2 กรัม)  แต่แท้ที่จริงกลับแพงมาก  และราคาจะขึ้นลงอยู่กับจังหวัดที่มีการระบาด  เช่นในภาคตะวันออก  จันทบุรี  ขนาด  20  กรัม  ราคา  180  แต่ที่ระยองกลับมีราคากล่องละ 200-230  บาท  ในขณะที่ทั่วไป  (นอกพื้นที่ระบาด)  ราคาเฉลี่ยอยู่ที่  150  บาท  หรือ  7,500/  กก.  แต่สารชีวภัณฑ์กลับมีราคาหลักร้อย (3-400 เศษ/ กก.) ฉะนั้นราคาที่จะนำมาคำนวณ  ของนักคำนวณต้นทุนต่อไร่  จึงต้องเป็นราคาท้องตลาดมิใช่ราคาขายส่งที่เกษตรกรไม่มีโอกาสซื้อจากบริษัทผู้นำเข้าโดยตรงได้เลย  ส่วนสารชีวภัณฑ์กำจัดแมลงควรเน้นคุณภาพและความเข้มข้นตามมาตรฐานที่สามารถตรวจสอบได้เช่นกัน

การเก็บเกี่ยว

                   ในกรณีที่แปลงของเกษตรกรมีการระบาดขณะเก็บเกี่ยว  เพื่อป้องกันการระบาดในฤดูปลูกต่อไป  เกษตรกรไม่ควรให้มีชิ้นส่วนของพืชที่มีกลุ่มเพลี้ยแป้งติดอยู่ในแปลงปลูก  ไม่ควรไถกลบต้นหรือใบ เพราะจะทำให้เพลี้ยแป้งมีอาหารดำรงชีพอยู่ในดินได้นาน  (รอการปลูกใหม่)  เกษตรกรควรเก็บออกและเผาทำลาย  (แม้จะเป็นภาระก็ต้องทำ)  ควรตากดินอย่างน้อย 2-3 ครั้ง  เพื่อให้เพลี้ยแป้งที่ยังหลงเหลืออยู่ในดินตาย  และแน่ใจว่าจะไม่กลับมาหาเกษตรกรอีกเมื่อมีการปลูกใหม่

ก่อนการปลูก

                   เตรียมดินและต้นพันธุ์สะอาดให้พร้อม  หลังจากตัดท่อนพันธุ์ต้องเช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมี  หรือชีวินทรีย์ตามอัตรา  และเวลาที่กำหนด  เพื่อกำจัดเพลี้ยที่ติดมากับท่อนพันธุ์ก่อน

                   เกษตรกรต้องหมั่นตรวจแปลงของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ  และกำจัดทันทีที่พบการระบาด  เช่นเด็ดยอดและพ่นสารชีวินทรีย์ (ใช้สารเคมีกำจัดเมื่อจำเป็นเท่านั้น)  พึงระลึกไว้เสมอ  การใช้สารเคมีบ่อยครั้ง  เป็นสาเหตุหนึ่งให้แมลงสร้างภูมิต้านทาน  และดื้อยาในที่สุด (กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้)

 

หมายเลขบันทึก: 312089เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2009 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท