KM: Best Practice in Teaching Basic Nursing Care Course


KM: Best Practice in Teaching Basic Nursing Care Course

 

KM: Best Practice in Teaching Basic Nursing Care Course

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2552  สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในวิชาพื้นฐานทางการพยาบาลและเข้าเยี่ยมชม Learning Resources Center (LRC)  ของสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการนี้ได้มีการเจรจาที่จะให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการจัดการความรู้ร่วมกันระหว่าง 2 สถาบันโดย สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาพยาบาลที่ดำเนินการมาก่อนจะทำหน้าที่ Peer assisted ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนในวิชาพื้นฐานทางการพยาบาล จึงใคร่ขอเชิญอาจารย์ที่มีประสบการณ์ในการสอนวิชานี้ได้ใช้พื้นที่นี้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การสอนที่ดีๆแก่กันและนำสู่การจัดการความรู้ต่อไป

                ข้อมูลทีได้จากการศึกษาดูงานซึ่งเป็นสิ่งดีๆเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในวิชา พื้นฐานทางการพยาบาลและ LRC ซึ่ง อาจารย์พิมพ์รัตน์ บุณยภักดิ์ กรุณาสรุปให้มีดังนี้

                การจัดเรียนการสอนในรายวิชาพื้นฐานทางการพยาบาล ของสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำหรับนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 2 ภาคการศึกษาที่ 1 มีจำนวน 6 หน่วยกิต แบ่งออกเป็นภาคทฤษฎี 3 หน่วยกิต ภาคปฏิบัติ 2 หน่วยกิต และมีรายวิชาสำหรับการขึ้นฝึกปฏิบัติจริงบนหอผู้ป่วยอีก 1 หน่วยกิต รูปแบบการจัดการเรียนการสอน สรุปได้ดังนี้

ภาคทฤษฎี (3 หน่วยกิต) 

  1. การลำดับเนื้อหาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนจะเริ่มจากเนื้อหาที่ง่ายไปสู่เนื้อหาที่ยากตามลำดับ โดยดำเนินการควบคู่กันไประหว่างเนื้อหาเชิงทฤษฎีกับการฝึกปฏิบัติ
  2. การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในภาคทฤษฎี มีการนำเทคโนโลยีการศึกษาเข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน อาทิ การทำเทปบันทึกการสอน หรือสื่อสาธิตการปฏิบัติการพยาบาลต่างๆ เป็นต้น
  3. มีการส่งเสริมให้ผู้เรียนให้มีการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะการจัดการเรียนรู้ในหัวข้อ “การให้คำปรึกษา และการสร้างเสริมพลังอำนาจ” ซึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษาเขียนแผนการสอนภายใต้หัวข้อเรื่องที่นักศึกษาสนใจโดยมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษา หลังจากนั้น นักศึกษาจะสาธิตตามแผนการสอน (role play) และมีการประเมินสะท้อนกลับจากอาจารย์และนักศึกษาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน จุดมุ่งหมายของการจัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้เพื่อให้นักศึกษาเกิดทักษะและความเข้าใจในกระบวนการปฏิบัติกับผู้ป่วยมากกว่าการเน้นเฉพาะเนื้อหาเพียงอย่างเดียว เนื่องจากนักศึกษาที่เรียนวิชานี้ยังไม่ได้ขึ้นฝึกปฏิบัติการพยาบาลกับผู้ป่วยโดยตรง จึงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการพยาบาลน้อย

 

ภาคปฏิบัติ (2 หน่วยกิต) 

  1. กำหนดอัตราส่วนระหว่างผู้สอนและผู้เรียนอยู่ที่ 1 : 6
  2. จัดให้มีการเรียนการสอนภาคปฏิบัติควบคู่ไปกับการเรียนการสอนภาคทฤษฎี
  3. ในบาง procedures อาจมีการสาธิตรวมกลุ่มใหญ่ก่อนที่จะแยกฝึกปฏิบัติในกลุ่มย่อย แต่บาง  procedures เช่น การฉีดยา จะมีการสาธิตให้กับนักศึกษาภายในกลุ่มย่อยเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
  4. มีการเปิดโอกาสให้นักศึกษาจัดกลุ่มเข้าฝึกปฏิบัตินอกเวลาได้ โดยนักศึกษาจะต้องรวมกลุ่มกันให้ได้อย่างน้อย 10 คนขึ้นไปในการขอใช้ห้องปฏิบัติการ
  5. ห้องฝึกปฏิบัติการพยาบาล นักศึกษาสามารถบันทึกเทปการฝึกปฏิบัติของตนเองเพื่อใช้ในการประเมินตนเอง หรือการประเมินผลของอาจารย์ได้
  6. ภายในห้องฝึกปฏิบัติ( LRC) จะมีการจัดห้องให้มีความใกล้เคียงกับลักษณะของหอผู้ป่วยมากที่สุดเพื่อให้นักศึกษาเกิดความคุ้นเคยก่อนขึ้นฝึกปฏิบัติการพยาบาลจริงบนหอผู้ป่วย อาทิ ห้องสำหรับวิชาการพยาบาลเด็ก จะมีหุ่นเด็กเพื่อให้นักศึกษาฝึกหัดอาบน้ำเด็ก หรือห้องวิชาการศัลยกรรมจะมีเตียงและอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ เช่น striker-frame,  skeletal traction,  slap  เป็นต้น

การประเมินผล แบ่งเป็น

  1. การสอบข้อเขียน                 30 % 

เฉลี่ยโดยประมาณ 5 คะแนน / 1 procedure 

  1. การฝึกปฏิบัติ                        60%

ในการสอบจะเน้น procedures ที่สำคัญ เช่น การสวนปัสสาวะ การฉีดยา การวัดสัญญาณชีพ เป็นต้น

  1. Pre-test / Post-test              10%

เป็นการเตรียมความพร้อมของนักศึกษาในการทำความเข้าใจเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง และเป็นการสร้างเสริมให้นักศึกษามีวินัยในตนเองไม่เข้าเรียนสาย การประเมินผลในส่วนนี้จะนำคะแนนทั้ง pre-test และ post-testรวมกันและหาคะแนนเฉลี่ย

 

การเตรียมตัวนักศึกษาก่อนขึ้นฝึกปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วย

  1. การเปิดให้นักศึกษามีโอกาสทบทวนความรู้ก่อนขึ้นฝึกปฏิบัติบนหอผู้ป่วย ในช่วงภาคฤดูร้อนตามความสมัครใจ โดยจะมีพยาบาลพี่เลี้ยงที่อยู่ในหอผู้ป่วยเป็นผู้ทบทวนความรู้ใน procedures ต่างๆ ให้นักศึกษา จะใช้เวลาคนละ 1 – 2 สัปดาห์
  2. นักศึกษาสามารถขอเปิดใช้ห้อง LRC เพื่อฝึกทบทวน procedures ต่างๆได้โดยรวมกลุ่มนักศึกษาให้ได้ตั้งแต่10 คนขึ้นไป

 

รายวิชาการฝึกปฏิบัติ (1 หน่วยกิต: 8 วัน)

การเตรียมความพร้อมของนักศึกษาก่อนฝึกปฏิบัติจริงในหอผู้ป่วย มีลำดับขั้นตอนดังนี้

  1. อาจารย์คัดเลือกผู้ป่วยเพื่อเป็น model case ในการสาธิตให้นักศึกษาดูก่อน โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการสร้างสัมพันธภาพกับผู้ป่วย การซักประวัติและการตรวจร่างกาย
  2. การสอนให้นักศึกษาทำการศึกษาข้อมูลต่างๆของผู้ป่วยจาก chart ผู้ป่วย
  3. อธิบายให้นักศึกษาเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติงานต่างๆ บนหอผู้ป่วย
  4. มอบหมายให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติ

 

 

คำสำคัญ (Tags): #basic nursing care
หมายเลขบันทึก: 312080เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2009 09:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท