ชีวิตที่พอเพียง : ๘๗๖. ประสบการณ์การเป็นกรรมการกำกับดูแลองค์กร



          เมื่อเย็นวันที่ ๒๐ ต.ค. ๕๒ ท่านประธาน IOD 116 คือ ดร. เทียนไชย จงพีร์เพียง นัดประชุมสังสรรค์เพื่อนร่วมรุ่น (ซึ่งผมเป็นคนหนึ่งในนั้น) และขอให้ผมเล่าประสบการณ์การเป็นกรรมการเรียกน้ำย่อย    จึงนำเรื่องเล่าของผมมาบันทึกไว้ ลปรร.  

          ผมมีประสบการณ์การเป็นกรรมการกำกับดูแลองค์กร ๓ แบบ   คือ (๑) ด้านอุดมศึกษา   (๒) มูลนิธิ  และ (๓) ธุรกิจ  

 

ความเหมือน

          การทำหน้าที่เป็นกรรมการกำกับดูแลองค์กร ๓ แบบนี้ แตกต่างกันมาก   แต่ในหลักการแล้ว มีความเหมือนอยู่ด้วย   ได้แก่

 ใช้หลักการธรรมาภิบาล (good governance) เหมือนกัน   โดยทำหน้าที่ ๓ ด้าน   คือ (๑) ดูแลความมั่นคง (fiduciary)  (๒) ช่วยกำหนดและหนุนให้องค์กรบรรลุยุทธศาสตร์ (strategic)  (๓) ช่วยด้านความสร้างสรรค์ (generative) แก่องค์กร
 ใช้หลักการทำหน้าที่กำกับดูแล ๔ ประการเหมือนกัน คือ (๑) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรอบคอบระมัดระวัง (Duty of Care)  (๒) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้น (Duty of Loyalty)  (๓) ปฏิบัติตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับ และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น (Duty of Obedience)  (๔) เปิดเผยข้อมูลต่อผู้ถือหุ้นอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และโปร่งใส (Duty of Disclosure)    โดยที่ในความเหมือนมีความต่าง    ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป    และเนื่องจากหลัก ๔ ประการนี้เอามาจากระบบธุรกิจ เวลาเอาไปใช้กับอีก ๒ กลุ่มองค์กร จึงต้องมีการตีความและปรับให้เหมาะสม
 งานกำกับดูแล (governance) ต่างจากงานจัดการ (management)   โดยที่ผมมีความเชื่อว่า งานทั้ง ๒ ด้านนี้ต้องทำให้เกิดพลังเสริม (synergy) ต่อกัน

     ผมชอบงานกำกับดูแล   เพราะเหมาะกับวัยสูงอายุ    ที่ไม่ต้องลงมือบริหารจัดการหรือทำงานเอง    คล้ายๆ เราไม่ได้เป็นนักฟุตบอลล์  ไม่ได้ลงสนามเตะลูก   แต่เรามีหน้าที่นั่งเชียร์อยู่ข้างสนาม  และช่วยกำหนดยุทธศาสตร์ของเกม    เป็นการทำหน้าที่สร้าง value-added จากมุมของการทำหน้าที่กำกับดูแล   ซึ่งในมุมมองของผม คล้ายๆ การฝึกปฏิบัติธรรม   คือต้องมีสติ และยึดทางสายกลาง 
     เพราะนิสัยขยันทำงาน   ผมจึงได้โอกาสฝึก “ทำงานแบบไม่ลงมือทำเอง”   ได้สนุกสนานไปอีกแบบ   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ฝึกทำใจ ว่าคนเรามีหลายความคิด หลายสไตล์   ต้องยอมรับว่า ในการทำหน้าที่กำกับดูแล เราต้องไม่เข้าไปยุ่งหรือล้วงลูกในภาคปฏิบัติ   


ความต่าง

 ความระมัดระวัง และมีหลักวิชาในการทำหน้าที่กรรมการต่างกัน    โดยผมมีประสบการณ์เป็นกรรมการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์บริษัทเดียว คือธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)    ดังนั้นความเห็นของผมจึงเป็นความเห็นจากประสบการณ์ในองค์กรเดียว    แต่ผมเคยเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยกว่า ๑๐ แห่ง    และเวลานี้เป็นอยู่ ๔ แห่ง    ในจำนวนนี้เป็นนายกสภาฯ ๑ แห่ง  และเป็นประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ด้วย    ส่วนกรรมการมูลนิธิผมก็เป็นอยู่ ๘ แห่ง โดยใน ๒ แห่งเป็นประธานกรรมการ    ดังนั้น คงจะให้ความเห็นในด้านการกำกับดูแลมูลนิธิ และองค์กรด้านการศึกษาได้อย่างมั่นใจกว่า

     ผมมีประสบการณ์ว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอาจริงเอาจังในการใช้กรรมการให้เป็นประโยชน์มากกว่าองค์กรอีก ๒ กลุ่มมาก   มากอย่างเทียบกันไม่ได้เลย   มีการจัดเวลาทำ induction หรือ orientation ให้แก่กรรมการใหม่อย่างจริงจัง    คือกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะกรรมการบริหารเป็นผู้มานำเสนอด้วยตนเอง    และมีการให้ข้อมูลเชิงลึก หรือในชั้นความลับแก่กรรมการ
     นอกจากนั้น ตอนเชื้อเชิญให้เข้าร่วมเป็นกรรมการ ก็บอกชัดเจน ว่าต้องการให้มาช่วยดูแลงานด้านใด   รวมทั้งมีเงื่อนไขขออย่าขาดการประชุม ยกเว้นจำเป็นจริงๆ 


    ผมมองว่า ระบบกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีกลไกพัฒนาระบบ พัฒนาความรู้และความรับผิดชอบ โดย IOD (สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย), คณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ    โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย  
     ในขณะที่การพัฒนาระบบกำกับดูแลมหาวิทยาลัยยังอยู่ระหว่างเริ่มต้น ดำเนินการโดยสถาบันคลังสมองของชาติ   กำลังอยู่ระหว่างจัดตั้งสถาบันส่งเสริมธรรมาภิบาลมหาวิทยาลัย   
     ส่วนระบบกำกับดูแลมูลนิธิยังล้าหลัง   ยังไม่มีการดำเนินการพัฒนาอย่างในองค์กร ๒ กลุ่มแรก   ทั้งๆ ที่ในอนาคตหน่วยงานสาธารณะแบบไม่แสวงหากำไร ที่เป็น social entrepreneur จะมีความสำคัญต่อสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ
    ผลประโยชน์ของกรรมการแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง   กรรมการมูลนิธิทำงานเพื่อความสุขใจ ที่ได้ทำงานเพื่อสังคมส่วนรวม โดยที่เบี้ยประชุมกรรมการมีน้อยมาก ถือเป็นค่าเดินทางเท่านั้น เช่น ๕๐๐ บาท หรือ ๑,๐๐๐ บาท   กรรมการสภามหาวิทยาลัยมีเบี้ยประชุมมากขึ้นหน่อย เช่น ๒,๐๐๐ บาท ที่สูงสุดคือ ๕,๐๐๐ บาท   นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดลได้มากหน่อยเป็นค่าตอบแทนรายเดือน ๔๐,๐๐๐ กว่า    และประธาน กกอ. ได้ ๖,๕๐๐ บาท   โดยขอบันทึกไว้ว่าไม่มีรถประจำตำแหน่งใดๆ ครับ    ส่วนกรรมการธนาคารมีค่าตอบแทนเป็นกอบเป็นกำครับ   มีทั้งค่าตอบแทนรายเดือน  เบี้ยประชุม และโบนัสประจำปี

     แต่สำหรับผม การทำงานทุ่มเทในฐานะกรรมการไม่ได้ขึ้นอยู่กับค่าตอบแทนเป็นตัวเงิน   ผมพยายามสอนตัวเองให้เน้นทำงานเพื่อผลตอบแทนเป็นผลประโยชน์ที่จะได้แก่สังคมเป็นหลัก

 
    ผลตอบแทนที่ไม่เป็นตัวเงิน ได้แก่ห้องทำงานและเลขานุการ    ผมได้รับห้องทำงาน ๔ ที่   คือที่ สกอ., ที่มหาวิทยาลัยมหิดล, ที่ มสช. (มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ)  และที่ สคส. (มูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม)    สามที่แรกเป็นห้องทำงานใหญ่โตโอ่โถง   แต่ผมไปน้อยมาก และใช้เลขานุการเฉพาะเรื่องงานเท่านั้น   ผมหลีกเลี่ยงการใช้เป็นเลขานุการส่วนตัว    ที่ไป ๒ แห่งแรกน้อย ไม่ไปใช้เป็นสำนักงานประจำ เพราะผมถือว่าประธานกรรมการไม่ใช่ผู้บริหาร ไม่ได้ทำงานประจำ    ไม่ควรไปนั่งทำงานประจำ เพราะจะเป็นการเชื้อเชิญให้ผู้คนมาวิ่งเต้นหรือมานินทาฝ่ายบริหาร    ผมคิดว่าการที่ประธาน บอร์ด เข้าไปใกล้ชิดฝ่ายปฏิบัติงานมากเกินไป จะทำให้ฝ่ายบริหารอึดอัด    และเป็นการเชื้อเชิญเรื่องหยุมหยิมเข้าสู่การทำงานกำกับดูแล
หากมีเวลาว่างผมจะไปนั่งทำงานที่ สคส.   ที่ซึ่งผมไม่มีโต๊ะนั่งประจำ (ที่นั่นมีห้องห้องเดียว คือห้องประชุมเล็กๆ   ผู้ปฏิบัติงานทุกคนนั่งที่โต๊ะของตนร่วมกันในห้องโล่ง)    แต่ใช้โต๊ะร่วมกันแบบผลัดกันใช้ กับเจ้าหน้าที่บัญชี ที่มาทำงานเพียงบางวัน   
    ผมสนุกกับการทำหน้าที่กรรมการมูลนิธิ    เพราะผมเชื่อว่าสังคมในอนาคตภาคส่วนที่ ๓ (Third Sector) ของสังคมจะมีความสำคัญต่อบ้านเมืองมากขึ้นอย่างมาก   มูลนิธิคือองค์กรที่ทำงานเพื่อประโยชน์ของสังคม   ไม่มีเรื่องผลกำไรที่จะนำไปแบ่งให้ใครๆ    ผมฝันอยากเห็นสังคมมีหน่วยงานที่เป็นมุลนิธิที่ทำงานอย่างมืออาชีพ   มีรายได้เลี้ยงตัวได้   พนักงานทำงานอย่างมืออาชีพ   และมีระบบการจ้างงานที่เป็นอาชีพหรือวิชาชีพ   เงินเดือนสูงพอสมควรที่จะดึงดูดคนเก่ง (และมีใจ) เข้ามาสู่อาชีพนี้ได้    ไม่รู้สึกน้อยหน้าหรือต่ำต้อย   แต่รู้สึกภูมิใจในอาชีพของตน   ในมูลนิธิเช่นนี้ กรรมการก็จะต้องมืออาชีพด้วย    คือกรรมการทำงานกำกับดูแลอย่างมืออาชีพ   แต่สวมวิญญาณทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพราะตนเองมีเพียงพอแล้ว   อย่างผมนี่แหละ แม้จะมีไม่มากนัก แต่ก็รู้สึกเพียงพอและพอใจความเป็นอยู่ของตนเอง    พอที่จะทำงานเจือจานสังคมได้
    คณะกรรมการ กกอ. ให้ความรู้แก่ผมมาก   เพราะเป็นองค์คณะที่แปลกมาก   และไม่น่าจะเป็นองค์คณะที่เข้มแข็ง   ต่างจากองค์คณะกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์  และองค์คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล   ที่ผมได้เห็นวิธีคิดในการสรรหาตัวบุคคล    ที่ไม่ได้มองแค่ความเก่งเฉพาะตัว    แต่มองที่องค์ประกอบขององค์คณะว่าจะได้ส่วนผสมที่ดีหรือไม่   คณะกรรมการ กกอ. ได้มาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา    เสนอชื่อ ๓๐ ชื่อ ให้ รมต. ศึกษาธิการเลือก ๑๕ ชื่อ  และอีก ๑ ชื่อเป็นประธาน   ไม่มีใครรู้ว่า รมต. มีวิธีเลือกอย่างไร    แต่ในกรรมการชุดที่ผมเป็นประธานไม่มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นนักกฎหมายเลย  
    สภามหาวิทยาลัย เป็นกลไกกำกับดูแลที่แปลกในแง่ที่สมาชิกหรือผู้ปฏิบัติงานขององค์กร เข้ามานั่งเป็นกรรมการกำกับดูแลกันสลอน    อย่างของมหาวิทยาลัยมหิดล มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ๑๕ คน   นายกสภาฯ ก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก   และมีกรรมการสภาฯ จากผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย ๑๓ คน    คืออธิการบดี  ประธานสภาคณาจารย์  กรรมการที่เลือกจากผู้บริหารหน่วยงาน ๕ คน  จากคณาจารย์ประจำ ๕ คน  และจากบุคลากรที่ไม่ใช่สายอาจารย์ ๑ คน   และนายกสมาคมศิษย์เก่าเป็นกรรมการด้วย    รวมเป็น ๒๙ คน
     การสรรหากรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยมหิดล   มีข้อบังคับกำหนดให้นายกสภามหาวิทยาลัยเป็นประธาน  มีกรรมการสรรหามาจาก ประธานสภาคณาจารย์  และฝ่ายคณาจารย์ กับฝ่ายผู้บริหารหน่วยงานอย่างละครึ่ง   ตรงนี้จะเป็น politics ระหว่าง ๒ ฝ่าย    โดยฝ่ายคณาจารย์จะมีการเตรียมข้อตกลงกันมาก่อนแล้ว   ที่เรียกว่า block vote   ในการสรรหาครั้งที่แล้ว   ผมได้ชี้ให้คณะกรรมการสรรหาเห็นว่าต้องไม่ใช่แค่ได้ตัวคนเก่งเท่านั้น  แต่ต้องได้องค์คณะที่เหมาะสมด้วย   เช่นมีนักกฎหมายที่เก่งและเข้าใจเรื่องราวในมหาวิทยาลัย   ต้องการนักบริหารงานภาคธุรกิจเอกชน  เพื่อมาช่วยดูด้านการบริหารงาน และด้านการเงิน    ต้องการนักวิชาการสายวิทยาศาสตร์    นักวิชาการสายสังคมศาสตร์  มนุษยศาสตร์  เป็นต้น   ดังนั้นการโหวตจะไม่ช่วยให้ได้องค์ประกอบที่ดี    ต้องใช้วิธีกำหนดเกณฑ์การกระจาย expertise หรือ specific competency ของกรรมการไว้ล่วงหน้า    แล้วจึงโหวตหรือทำความตกลงเลือกตัวบุคคล
    การประชุมคณะกรรมการของภาคธุรกิจเป็นการประชุมที่มีบรรยากาศ exclusive   คือเฉพาะกรรมการเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าประชุม    ในขณะที่กรรมการขององค์กรอีก ๒ กลุ่มมีบรรยากาศตรงกันข้าม คือ inclusive   ซึ่งหมายความว่า    ในสภามหาวิทยาลัย และในการประชุมมูลนิธิ เราส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานหรือฝ่ายบริหารเข้าร่วมรับฟังการประชุมให้มากๆ    จะได้มารับฟังคำแนะนำของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโดยตรง    เพราะการประชุมจะมีคำแนะนำที่ creative มาก   ถ้าไม่ฟังด้วยตนเอง ได้รับคำบอกเล่าต่อจากคนอื่น จะได้สาระไม่ครบถ้วน
    การประชุมใหญ่ของบริษัท กับของมูลนิธิแตกต่างกัน    ส่วนของมหาวิทยาลัยไม่มี    ของบริษัทเป็นการประชุมผู้ถือหุ้น   เป็นเรื่องใหญ่ ที่ผู้ถือหุ้นได้มีโอกาสใช้สิทธิ์เสียงของความเป็นเจ้าของ   โดยการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกรรมการ    และลงมติรับรองผู้สอบบัญชี ที่คณะกรรมการเสนอ    และซักถามข้อมูลเรื่องราวต่างๆ ของบริษัท    การประชุมใหญ่ประจำปีของมูลนิธิมีองค์ประชุมไม่แตกต่างจากคณะกรรมการ    ส่วนมหาวิทยาลัย ไม่มีการกำหนดให้ประชุมใหญ่ เพราะไม่มีเจ้าของโดยตรง   แต่สภามหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับสภาคณาจารย์ได้จัดการประชุมเสวนาแบบเปิดโอกาสให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยมาร่วมกันแสดงความคิดเห็นและซักถามกิจการของมหาวิทยาลัย ปีละครั้ง
    การเป็นกรรมการบริษัท และกรรมการสภามหาวิทยาลัย จะต้องเป็นกรรมการชุดย่อยด้วย  

                 
          เอาเข้าจริง ในวันนัดผมพูดสั้นๆ เท่านั้น   ไม่ได้พูดตามที่เตรียมตัวไป เพราะบรรยากาศไม่อำนวย   จึงนำเอาสาระที่เตรียมไว้มาเผยแพร่ทาง บล็อก

 

วิจารณ์ พานิช
                                       


 

หมายเลขบันทึก: 312077เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2009 09:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 15:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท