กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน (ตอนที่3)


กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน (ตอนที่3)

4.  มรดกและพินัยกรรม  

                4.1  มรดก

                มรดก คือ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดจนสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆเว้นแต่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวผู้ตายโดยแท้ อย่างไรก็ดีความรับผิดของทายาทจะมีขอบเขตจำกัด คือ  กฎหมายกำหนดว่าทายาทไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน
                การตกทอดมรดก

                มรดกจะตกทอดแก่ทายาท  เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ความตาย   ในที่นี้หมายความรวมถึงความตายซึ่งตามกฎหมายถือว่าบุคคลนั้นได้ตายแล้วด้วย   เมื่อบุคคลใดต้องถึงแก่ความตายดังกล่าว กองมรดกของบุคคลนั้นย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมาย หรือโดยพินัยกรรม   โดยทายาทซึ่งมีสิทธิตามกฎหมายเรียกว่า ทายาทโดยธรรม ทายาทซึ่งมีสิทธิตามพินัยกรรมเรียกว่าผู้รับพินัยกรรม มรดกซึ่งไม่มีพินัยกรรมเมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ มรดกของบุคคลนั้นจะตกทอดแก่ทายาทในกรณีที่มีทายาทตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งเรียกว่า ทายาทโดยธรรม ได้แก่ ญาติและคู่สมรส
            การเป็นทายาท
บุคคลที่จะเป็นทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกนั้น    ถ้าเป็นทายาทโดยธรรมต้องเป็นบุคคลธรรมดา และบุคคลธรรมดาที่จะเป็นทายาทได้ต้องมีสภาพบุคคล ซึ่งสภาพบุคคลนี้ย่อมเริ่มมีขึ้นตั้งแต่เมื่อบุคคลนั้นได้คลอดออกมาแล้วอยู่รอดเป็นทารก
          ทายาทโดยธรรมซึ่งมีสิทธิได้รับมรดก ได้แก่
          1. ผู้สืบสันดาน คือ ลูก หลาน เหลน ลื้อ
          2. บิดามารดา
          3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
          4. พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือร่วมแต่มารดา
          5. ปู่ ย่า ตา ยาย
          6. ลุง ป้า น้า อา
          การแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทโดยธรรมในลำดับและชั้นต่าง ๆ
          1. ถ้าเจ้ามรดกมีทายาทโดยธรรมในลำดับชั้นต่าง ๆ หลายชั้น ทายาทโดยธรรมในลำดับต้นจะได้รับมรดกไปก่อน ส่วนทายาทโดยธรรมในลำดับรองลงมาไม่มีสิทธิได้รับมรดก
          2. กรณีที่ผู้ตายมีคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งยังมีชีวิตอยู่   แม้ผู้ตายจะมีทายาทโดยธรรมในลำดับใดก็ตาม คู่สมรสของผู้ตายมีสิทธิได้รับมรดกเสมอ ส่วนจะได้ส่วนแบ่งเป็นจำนวนเท่าใด ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ กล่าวคือ
             (1)  ถ้าผู้ตายมีทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 1 คือ ผู้สืบสันดาน และมีคู่สมรส    กรณีเช่นนี้คู่สมรสมีสิทธิได้รับมรดกเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นบุตรของผู้ตาย
             (2)  ถ้าผู้ตายมีทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 3 คือ      พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันหรือมีทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 2 คือ บิดามารดาและผู้ตายมีคู่สมรสซึ่งยังมีชีวิตอยู่ กรณีเช่นนี้คู่สมรสมีสิทธิได้รับมรดกครึ่งหนึ่ง
             (3)  ถ้าผู้ตายมีทายาทโดยธรรมลำดับที่ 4 คือ    พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกันหรือมีทายาทโดยธรรมลำดับที่ 5 คือ  ปู่  ย่า  ตา ยาย หรือมีทายาทโดยธรรมลำดับที่ 6 คือ ลุง ป้า น้า อา  และมีคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่  กรณีเช่นนี้คู่สมรสมีสิทธิได้รับมรดก 2 ใน 3 ส่วน
             (4)  ถ้าผู้ตายไม่มีทายาทโดยธรรมอยู่เลย      คงมีแต่คู่สมรสเท่านั้น กรณีเช่นนี้คู่สมรสได้รับมรดกทั้งหมด
          3.ในกรณีที่มีทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันหลายคน   ทายาทโดยธรรมเหล่านั้นจะได้รับมรดกคนละส่วนเท่า ๆ กัน
          4. ในกรณีที่มีทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 1 ผู้สืบสันดานหลายชั้น เช่นเจ้ามรดกมีทั้งลูกและหลาน ลูกมีสิทธิได้รับมรดกก่อน    หลานจะไม่มีสิทธิได้รับมรดก เว้นแต่ ลูกจะได้ตายไปก่อนเจ้ามรดก   หลานจึงจะเข้ารับมรดกได้โดยการรับมรดกแทนที่
          5. ทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 1 คือ ผู้สืบสันดานนั้นในกรณีที่เป็นบุตรบุตรซึ่งจะมีสิทธิได้รับมรดกจะต้องเป็นบุตรในกรณีดังต่อไปนี้ คือ
             (1) บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่ บุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่ได้จดทะเบียนสมรสกัน
             (2) บุตรบุญธรรม    ซึ่งผู้รับบุตรบุญธรรมได้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
             (3) บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว
          6. ในกรณีที่สามีภริยาร้างกัน    หรือแยกกันอยู่โดยมิได้หย่าขาดจากกันตามกฎหมาย กรณีเช่นนี้ทั้งสามีและภริยายังคงมีสิทธิได้รับมรดกซึ่งกันและกัน
          7. ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิได้รับมรดกของบุตรบุญธรรม   แต่บุตรบุญธรรมมีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม     และทั้งมีสิทธิได้รับมรดกของบิดามารดาเดิม
          8. บุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิได้รับมรดกของคู่สมรส    ของผู้รับบุตรบุญธรรม เว้นแต่คู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมจะได้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมด้วย
           9. ในกรณีที่ผู้ตายไม่มีทายาทโดยธรรมอยู่เลย และผู้ตายก็มิได้ทำพินัยกรรมไว้ กรณีเช่นนี้มรดกจะตกทอดได้แก่แผ่นดินแบบพินัยกรรม

               4.2  พินัยกรรม   
                พินัยกรรม คือการกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง ซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ว่า “บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรม กำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเองหรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้”  ในการทำพินัยกรรมนั้น พินัยกรรมจะต้องทำเป็นหนังสือโดยมีแบบในการทำพินัยกรรม ดังนี้
                       3.2.1  พินัยกรรมแบบธรรมดา
                           (1) ต้องทำพินัยกรรมเป็นหนังสือ
                           (2) พินัยกรรมที่ทำขึ้นต้องลงวันที่ เดือน ปี  ขณะที่ทำพินัยกรรม ถ้าไม่ลงไว้พินัยกรรมเป็นโมฆะ
                           (3) ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน แล้วให้พยานทั้งสองนั้นลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมในขณะนั้นด้วย ซึ่งพยานที่ลงลายมือชื่อรับรองดังกล่าว    จะต้องเขียนชื่อตัวเองเป็นมิฉะนั้นแล้วไม่สามารถเป็นพยานในพินัยกรรมได้
                           (4) ถ้าจะมีการแก้ไขพินัยกรรมโดยการขูดลบตกเติมจะต้องทำเป็นหนังสือ ลงวัน เดือน ปี  และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน
                  3.2.2  พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ
                          (1) ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนข้อความในพินัยกรรมเป็นหนังสือด้วยลายมือตนเองจะให้ผู้อื่นเขียนให้มิได้
                          (2) ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงวันที่ เดือน ปี    และลายมือชื่อของตนในพินัยกรรม จะใช้ลายพิมพ์นิ้วมือโดยมีพยานรับรอง 2 คนไม่ได้
                          (3) กรณีที่จะมีการขูดลบ ตกเติม  หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขพินัยกรรม ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องทำเอง แล้วลงลายมือชื่อกำกับ มิฉะนั้นพินัยกรรมในส่วนนี้ไม่สมบูรณ์
                   3.2.3  พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง
                         (1) ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ลงไว้ในพินัยกรรมของตนต่อนายอำเภอต่อหน้าพยานอีกอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน
                         (2) การแจ้งข้อความตามข้อ (1) ก็เพื่อให้ผู้อำนวยการเขต หรือนายอำเภอจดข้อความเสร็จแล้วต้องอ่านให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง
                        (3) เมื่อผู้ทำพินัยกรรมและพยานทราบแน่ชัดว่า ข้อความนั้นถูกต้องแล้ว ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ
                        (4) ผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอ ต้องลงลายมือชื่อและลงวัน เดือน ปี พร้อมกับเขียนลงไปในพินัยกรรมด้วยว่า      พินัยกรรมนั้นได้ทำถูกต้องเสร็จแล้ว ประทับตราประจำตำแหน่ง
                        (5) กรณีที่มีการขูดลบ ตกเติม หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองนี้ ผู้ทำพินัยกรรม พยาน   และผู้อำนวยการเขต   หรือนายอำเภอจะต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ มิฉะนั้น พินัยกรรมในส่วนนี้ไม่สมบูรณ์
                  3.2.4 พินัยกรรมแบบเอกสารลับ
                        (1) ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรม
                        (2) ผู้ทำพินัยกรรมต้องทำพินัยกรรมใส่ซองแล้วปิดผนึก เสร็จแล้วลงลายมือชื่อคาบรอยผนึกนั้น
                        (3) ผู้ทำพินัยกรรมต้องนำพินัยกรรมที่ผนึกนั้น  ไปแสดงต่อผู้อำนวยการเขต หรือนายอำเภอ   และพยานอีกอย่างน้อย 2 คน และให้ถ้อยคำต่อบุคคลทั้งหมดเหล่านั้นว่าเป็นพินัยกรรมของตน  ถ้าพินัยกรรมนั้นผู้ทำพินัยกรรมไม่ได้เป็นผู้เขียนเองโดยตลอด ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องแจ้งชื่อและที่อยู่ของผู้เขียนให้ทราบด้วย
                     (4) เมื่อผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอ จดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรมและวัน เดือน ปี  ที่นำพินัยกรรมมาแสดงไว้บนซอง และประทับตราประจำตำแหน่งแล้ว ผู้ทำพินัยกรรม พยานและผู้อำนวยการเขต หรือนายอำเภอต้องลงลายมือชื่อ
                     (5) การขูดลบ ตกเติม หรือแก้ไขพินัยกรรมแบบเอกสารลับ  ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือกำกับไว้ มิฉะนั้นพินัยกรรมในส่วนนี้ไม่สมบูรณ์
               3.2.5 พินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา
                    (1) ผู้ทำพินัยกรรมต้องแสดงความประสงค์จะทำพินัยกรรมต่อหน้าพยาน 2 คนพร้อมกัน ซึ่งอยู่ ณ ที่นั้น
                    (2) พยานทั้ง 2 คนนั้นต้องไปแสดงตัวต่อผู้อำนวยการเขต  หรือนายอำเภอโดยไม่ชักช้าและแจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมได้สั่งไว้ด้วยวาจา   ทั้งต้องแจ้งวัน เดือน ปี สถานที่ทำพินัยกรรมและ พฤติการณ์พิเศษด้วย
                    (3) ผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอ      ต้องจดข้อความที่พยานแจ้งดังกล่าว
                    (4) พยานทั้ง 2 คนต้องลงลายมือชื่อไว้ ถ้าเขียนชื่อตนเองไม่เป็นจะลงลายพิมพ์นิ้วมือโดยมีพยานลงชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมืออย่างน้อย 2 คนก็ได้
                ความสามารถในการทำพินัยกรรม
                บุคคลที่ทำพินัยกรรมได้  กฎหมายกำหนดว่าต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์

                คนไร้ความสามารถ  โดยหลักทั่วไปแล้วคนไร้ความสามารถไม่สามารถนำนิติกรรมด้วยตนเองได้ ผู้อนุบาลเป็นผู้ทำแทน แต่ในเรื่องพินัยกรรมกฎหมายกำหนดเป็นเรื่องเฉพาะตัว ผู้อนุบาลก็ไม่สามารถทำแทนได้ดังนั้นคนไร้ความสามารถจึงไม่สามารถทำพินัยกรรมได้ถ้าฝ่าฝืนทำไปก็จะทำให้พินัยกรรมนั้นเสียเปล่า

                คนวิกลจริต  คนวิกลจริตสามารถทำพินัยกรรมได้ แต่ถ้าฝ่ายที่กล่าวอ้างพิสูจน์ได้ว่าผู้ทำพินัยกรรมเป็นคนวิกลจริตในขณะที่ทำพินัยกรรมแล้ว พินัยกรรมนั้นเป็นอันเสียเปล่า ดังนั้นเพื่อมิให้เกิดปัญหา ผู้ทำพินัยกรรมซึ่งเป็นคนวิกลจริตจะต้องให้แพทย์รับรองสภาพจิตในขณะทำพินัยกรรม

                คนเสมือนไร้ความสามารถ  สามารถทำพินัยกรรมด้วยตัวเองได้ เพราะกฎหมายมิได้บัญญัติห้ามไว้

                ผลของพินัยกรรม  ผลของพินัยกรรมเกิดขึ้นเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายแล้ว ดังนั้นในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมยังไม่ตายและได้ทำพินัยกรรมขึ้นสมบูรณ์แล้ว พินัยกรรมนั้นก็ยังไม่มีผลบังคับ สิทธิของผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมยังไม่เกิดขึ้น

 

บรรณานุกรม

 

ปกรณ์  มณีปกรณ์,พันตำรวจโท.  (2550).  ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป.  กรุงเทพฯ:

                ห้างหุ้นส่วนจำกัดเวิลด์เทรด ประเทศไทย. 

พรพิมล  บุญนิมิต.  (2541).  การสร้างชุดการสอนเรื่อง กฎหมายแพ่งสำหรับเยาวชน ในรายวิชา

                ส 043 กฎหมายน่ารู้ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวัดราชาธิวาส    

                กรุงเทพมหานคร.  วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (หลักสูตรและการสอน)    

                มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ราชบัณฑิตยสถาน.  (2544).  พจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน.  กรุงเทพ:

                ห้างหุ้นส่วนจำกัดอรุณการพิมพ์.

สุโขทัยธรรมาธิราช,มหาวิทยาลัย.  (2539).  เอกสารการสอนชุดวิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ

                กฎหมายทั่วไปหน่วยที่ 1-8.  นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

หยุด  แสงอุทัย.  (2535).  ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป.  กรุงเทพฯ: ประกายพฤกษ์

http://www.bp-smakom.org/BP_School/Social/Law1/Law-General.htm 

               (วันที่ 18  มิถุนายน 2551). 

http://www.pslc.coj.go.th/PSLC%202/SourceLaw.htm  (วันที่ 18  มิถุนายน  2551).

หมายเลขบันทึก: 310113เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2009 12:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท