กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน (ตอนที่ 1)


กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน (ตอนที่ 1)

เอกสารประกอบการเรียนวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมพื้นฐาน
รหัสวิชา ส 41101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
หน่วยการเรียนที่ 9
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน

------------------------------------------------------

หัวเรื่อง
                                1.  หลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

                                2.  บุคคลและสภาพบุคคล
                                3.  นิติกรรมและความสามารถของผู้เยาว์
                                4.  มรดกและพินัยกรรม

สาระสำคัญ

                                กฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นกฎหมายเอกชนที่ใช้บังคับความสัมพันธ์ระหว่างเอกชน จึงเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันที่ทุกคนควรรู้   โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเพื่อจะได้นำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

จุดประสงค์ปลายทาง

                                เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ หลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน 

จุดประสงค์นำทาง

                         1.  รู้และเข้าใจหลักกฎหมายแพ่ง และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับตนเอง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน                               

                            2.  รู้และเข้าใจกฎหมายแพ่งเกี่ยวกับครอบครัวและมรดก

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์สำหรับเด็กและเยาวชน
1.  หลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
                กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเรื่องที่กำหนดนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยได้กำหนด
ลักษณะต่างๆไว้ คือ สัญญา จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ และละเมิด ลักษณะที่สำคัญมี 2 เรื่อง คือ นิติกรรมสัญญาและละเมิด     
             คดีแพ่งเป็นคดีที่มีการโต้แย้งสิทธิ หรือหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่ง เช่น การฟ้องให้ผู้กู้ชำระเงินตามสัญญากู้ หรือ การฟ้องเรียกให้ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหาย เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์ของการฟ้องมุ่งให้จำเลยชำระเงิน มิใช่มุ่งที่จะให้จำเลยต้องถูกลงโทษ เช่น จำคุก ดังเช่นคดีอาญา คดีแพ่ง นอกจากจะเป็นเรื่องพิพาทกันดังกล่าวแล้ว อาจเป็นเรื่องทีกฎหมายกำหนดให้บุคคลใช้สิทธิทางศาลเพื่อรับรองคุ้มครองสิทธิของตน เช่น การร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยการครอบครองปรปักษ์ซึ่งถือว่าเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท

              สิทธิในการฟ้องคดีแพ่ง

              บุคคลที่มีสิทธินำคดีแพ่งขึ้นฟ้องร้องต่อศาลจะต้องมีเหตุตามกฎหมายกำหนดไว้ 2 ประการ คือ

              1. มีการโต้แย้งสิทธิ หรือ

              2. มีความจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล

              การโต้แย้งสิทธิ หมายถึง การกระทำของบุคคลใดบุคคลหนึ่งกระทบกระเทือนหรือละเมิดต่อสิทธิที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมายของบุคคลอื่นสิทธินี้มิได้หมายถึงสิทธิในทรัพย์สินเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงสิทธิอื่นๆ ด้วย เช่น สิทธิในชีวิตร่างกาย สิทธิในครอบครัว หรือสิทธิในเกียรติยศ ชื่อเสียง

              การต้องใช้สิทธิทางศาล หมายถึง กรณีที่กฎหมายกำหนดให้การกระทำบางอย่างต้องได้รับอนุญาตหรือได้รับการรับรองจากศาลก่อน เช่น การขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย การขอเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ การขอทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ การขอให้ศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ เสมือนไร้ความสามารถ หรือสาบสูญ หรือการขอให้แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นต้น  กรณีเช่นนี้ ผู้ขอไม่ต้องฟ้องใครเป็นจำเลย เพียงแต่ยื่นคำร้องขอต่อศาลเท่านั้นและศาลจะนัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้อง จึงเรียกว่าเป็น "คดีไม่มีข้อพิพาท" ส่วนคดีที่มีการโต้แย้งสิทธิและต้องฟ้องบุคคลอื่นเป็นจำเลยนั้นเรียกว่า "คดีมีข้อพิพาท"  ผู้ที่จะฟ้องคดีหรืออาจถูกฟ้องคดีได้  ต้องเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล           

2.  บุคคลและสภาพบุคคล

                2.1  ประเภทของบุคคล

              บุคคลตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มี 2 ประเภท คือ บุคคลธรรมดา (Natural Persons) และนิติบุคคล (Juristic Persons)

                บุคคลธรรมดา  คือผู้ที่เราเรียกว่ามนุษย์เป็นผู้ที่เกิดจากครรภ์มารดาที่เรียกว่าคลอดออกมามีชีวิตรอดอยู่ เมื่อผู้ใดคลอดออกมาจากครรภ์มารดาและมีชีวิตรอดอยู่ กฎหมายถือว่าผู้นั้นมีสภาพบุคคล มีสิทธิและหน้าที่ได้ตามกฎหมาย การศึกษากฎหมายในเรื่องบุคคลธรรมดาจึงเริ่มต้นตั้งแต่กรณีสภาพบุคคล การสิ้นสุดสภาพบุคคล โดยศึกษาถึงการตายการสาปสูญ เมื่อมีสภาพบุคคลก็ย่อมต้องมีส่วนประกอบแสดงสถานะของบุคคลนั้นๆ ว่ามีอยู่อย่างไร อันได้แก่ สัญชาติ ชื่อ ภูมิลำเนา สถานะของบุคคลย่อมแสดงให้เห็นถึงสิทธิและหน้าที่ตากกฎหมายว่าจะมีอยู่มากน้อยเพียงใร การมีสถานะเช่นไรย่อมแสดงถึงความสามารถในการมีสิทธิหรือใช้สิทธิของผู้นั้น บุคคลจึงมีความสามารถไม่เท่าเทียมกันตามแต่สถานะ เช่น ผู้ที่มีสถานะเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ ผู้บรรลุนิติภาวะย่อมมีความสามารถในการมีสิทธิและใช้สิทธิแตกต่างกัน

                นิติบุคคล  เป็นบุคคลตามกฎหมายไม่มีชีวิตจิตใจเหมือนบุคคลธรรมดา แต่เป็นกองงานหรือกองทรัพย์สิน ซึ่งกฎหมายเล็งเห็นความสำคัญในแง่ที่เห็นสมควรกำหนดให้มีสิทธิและหน้าที่ต่างๆ ได้อย่างเช่นบุคคลธรรมดาทั่วไปเว้นแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งว่าโดยสภาพแล้วจะพึงมีได้เฉพาะบุคคลธรรมดา เช่น สิทธิในครอบครัว เป็นต้น การศึกษาเรื่องนิติบุคคลจึงเริ่มตั้งแต่นิติบุคคลตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่ามีประเภทใดบ่าง สิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคล การแสดงเจตนาของนิติบุคคลและในท้ายที่สุดคือการสิ้นสุดสภาพของนิติบุคคล

                ประเภทของนิติบุคคลเกิดขึ้นได้โดยอาศัยกฎหมายให้อำนาจไว้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว่ว่า “นิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น” เพราะฉะนั้นนิติบุคคลจะเกิดขึ้นตามกฎหมายได้สองทาง คือ

                                1.  ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้แก่ สมาคมที่ได้จดทะเบียนแล้วและมูลนิธิที่จดทะเบียนเรียบร้อยแล้วเช่นกัน

                                2.  ตามกฎหมายอื่น เช่น มหาวิทยาลัยต่างๆ  องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น วัดวาอารม กระทรวง ทบวง กรม หเงหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด

                นิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แบ่งออกเป็น 6 จำพวกดังนี้

                                1.  ทบวงการเมือง คือกระทรวงและกรมในรัฐบาล ตัวอย่างเช่น กระทรวงศึกษาธิการ กรมการปกครอง จังหวัด เทศบาล

                                2.  วัดวาอาราม คือวัดในพระพุทธศาสนา เช่น วัดเกาะหลัก วัดคลองวาฬ

                                3.  ห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนแล้ว มี 2 ประเภท คือห้างหุ้นส่วนสามัญ และ

ห้างหุ้นส่วนจำกัด

                                4.  บริษัทจำกัด เช่นบริษัทสหพัฒนพิบูลจำกัด ธนาคารกสิกรไทย

                                5.  สมาคม เช่น สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย  สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนต่างๆ

                                6.  มูลนิธิที่ได้รับอำนาจจากรัฐบาลแล้ว เช่น มูลนิธิสายใจไทย มูลนิธิโกมลคีมทอง

                ข้อแตกต่างระหว่างบุคคลธรรมดากับนิติบุคคลอยู่ที่ว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นมนุษย์ สามารถแสดงเจตนาด้วยตนเองและมีสิทธิหน้าที่ทุกอย่างตามกฎหมาย ส่วนนิติบุคคลนั้นมิใช่มนุษย์ การแสดงเจตนาต้องกระทำโดยผู้แทนของนิติบุคคลนั้นๆ เช่น วัด มีผู้แทนนิติบุคคลคือเจ้าอาวาส บริษัท ผู้แทนนิติบุคคลคือกรรมการผู้จัดการ มูลนิธิประธานมูลนิธิเป็นผู้แทนนิติบุคคล              

                2.2  ความสามารถและบุคคลผู้หย่อนความสามารถ

                ความสามารถ  หมายถึงการมีและการใช้สิทธิ เมื่อกฎหมายกำหนดให้สิ่งใดมีสภาพบุคคล สิ่งนั้นก็มีความสามารถในการมีสิทธิและหน้าที่ต่างๆ ตามกฎหมายได้ แต่จะมีความสามารถใช้สิทธิเหล่านั้นได้แค่ไหน จะต้องดูบทบัญญัติของกฎหมายอีกทีหนึ่ง สาเหตุที่กฎหมายต้องจำกัดการใช้ความสามารถของบุคคลบางประเภทไว้เพื่อต้องการให้ความคุ้มครองมิให้ถูกเอาเปรียบและกฎหมายเรียกบุคคลประเภทนี้ว่า “บุคคลผู้หย่อนความสามารถ”

                บุคคลผู้หย่อนความสามารถ หมายถึง บุคคลธรรมดาบางจำพวกที่กฎหมายจำกัดการใช้สิทธิในการทำนิติกรรมเอาไว้ ทำให้ไม่สามารถทำนิติกรรมโดยลำพังตนเองได้ บุคคลผู้หย่อนความสามารถที่กฎหมายกำหนดไว้มี 3 จำพวก คือ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ และผู้เยาว์

                                1. คนไร้ความสามารถ หมายถึงบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลได้มีคำสั่งแล้วให้เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความดูแลของผู้อนุบาล คนไร้ความสามาคไม่อาจใช้สิทธิของตนได้เลย การใช้สิทธิของคนไร้ความสามารถจะต้องกระทำโดยผู้อนุบาล  ตัวอย่างเช่น ก เป็นคนไร้ความสามารถ ยกทรัพย์สินของตนให้ ข ซึ่งกฎหมายเรียกว่าเป็นนิติกรรมนั้นย่อมเป็นโมฆียะกรรม  นิติกรรมที่เป็นโมฆียกรรม หมายถึงนิติกรรมที่เกิดขึ้นโดยมีเหตุบกพร่องบางประการ เช่น เรื่องความสามารถหรือในเรื่องการแสดงเจตนา มิใช่นิติกรรมที่สูญเปล่า หรือใช้บังคับไม่ได้แต่อย่างใด ดังเช่นในกรณีโมฆะกรรม นิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มีผลใช้บังคับตามกฎหมายได้ตลอดมาแต่เริ่มแรกจนกว่าจะมีการบอกล้าง

                                2.  คนเสมือนไร้ความสามารถ หมายถึงบุคคลผู้ไม่สามารถจัดทำการงานของตนเองได้เพราะกายพิการ เช่น ขาขาด จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ เช่นคุ้มคลั่งเป็นบางขณะไม่ถึงขั้นวิกลจริต สุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ เช่นใช้จ่ายมากกว่ารายได้ตลอดเวลา หรือเป็นคนติดสุรายาเมา เช่นติดยาบ้าจนทำการงานไม่ได้ เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ศาลจะแต่งตั้งผู้พิทักษ์ให้มีหน้าที่ให้ความยินยอมเมื่อคนเสมือนไร้ความสามารถจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ผลของการใดๆ ที่คนเสมือนไร้ความสามารถทำลงโดยผู้พิทักษ์ไม่ให้ความยินยอมย่อมเป็นโมฆียะกรรม

                                3.  ผู้เยาว์  หมายถึงผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ คืออายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ผู้เยาว์อาจจะบรรลุนิติภาวะโดยการสมรสตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ การที่กฎหมายถือว่าผู้เยาว์เป็นผู้หย่อนความสามารถ ก็เพื่อจะได้คุ้มครองให้มากเป็นพิเศษ โดยการกำหนดให้มีผู้แทนโดยชอบธรรมเข้ามาใช้สิทธิต่างๆ แทน หรือว่าให้ความเห็นชอบในการที่ผู้เยาว์นั้นจะใช้สิทธิ เพื่อที่จะได้ไม่เกิดความสียหายขึ้นแก่ทรัพย์สินของผู้เยาว์หรือตัวผู้เยาว์ กฎหมายกำหนดว่าผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมมิฉะนั้นจะเกิดผลเป็นโมฆียกรรม

                การที่กฎหมายกำหนดให้มีบุคคลตามที่กฎหมายแต่งตั้งเข้ามาใช้สิทธิแทนบุคคลผู้หย่อนความสามารถ หรือให้ความยินยอมในการใช้ความสามารถของบุคคลผู้หย่อนความสามารถแต่ละจำพวก ย่อมเป็นการเข้ามาช่วยปกป้องคุ้มครองการใช้สิทธิของบุคคลผู้หย่อนความสามารถแต่ละจำพวกมิให้เกิดผลเสียหายทั้งต่อตัวบุคคลผู้นั้นเองหรือผู้มีส่วนได้เสีย

                2.3  ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ความสามารถของบุคคล 

                ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ความสามารถของบุคคล หมายถึงปัญหาที่เกิดจากการใช้สิทธิของบุคคลผู้หย่อนความสามารถ 3 ประเภท คือผู้เยาว์ คนไความสามารถ และคนเสมือนไร้ความสามารถ ที่ได้ทำนิติกรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือ   ผู้พิทักษ์ จึงมีผลทำให้นิติกรรมที่ทำตกเป็นโมฆะกรรม หรือตกเป็นโมฆียะกรรมแล้วแต่กรณี

                ผู้เยาว์

                ตัวอย่างการใช้ความสามารถของผู้เยว์ที่เป็นโมฆะกรรม เช่น

                สมชายเป็นเด็กกำพร้าบิดามารดา แต่โชคดีที่ได้รับมาดกจากปู่เป็นเงินห้าแสนบาทถ้วน เมื่อสมชายอายุได้สิบสี่ปีเขาเริ่มป่วยอยู่เสมอ สมชายจึงตัดสินใจเขียนพินัยกรรมยกทรัพย์ให้กับนางสมหญิงผู้เป็นป้า สมชายมีชีวิตอยู่จนเขาอายุได้สิบหกปีจึงเสียชีวิต พินัยกรรมที่สมชายทำไว้จึงตกเป็นโมฆะ หมายความว่าพินัยกรรมนั้นไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย เพราะขณะที่ทำพินัยกรรมสมชายมีอายุไม่ถึงสิบห้าปีบริบูรณ์ตามที่กฎหมายกำหนด

                ตัวอย่างการใช้ความสามารถของผู้เยาว์ที่เป็นโมฆียกรรม เช่น

                เด็กชายต้อมไปขอยืมเงินจากนายแต้ม ซึ่งเป็นเพื่อนของบิดาเป็นจำนวนเงินห้าพันบาท  นายแต้มให้เด็กชายต้อมทำสัญญากู้ยืมเงินเป็นหนังสือไว้ ถือว่าสัญญากู้ยืมเงินนั้นเป็นโมฆียะตามกฎหมายเพราะเด็กชายต้อมยังเป็นผู้เยาว์ไม่สามารถทำนิติกรรมสัญญาได้ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน  ที่ว่าสัญญากู้ยืมเงินเป็นโมฆียะ หมายความว่าสัญญากู้ยืมเงินนั้นมีผลสมบูรณ์อยู่จนกว่าจะมีการบอกล้างโดยผู้มีอำนาจ เมื่อบอกล้างแล้วสัญญากู้ยืมเงินนั้นตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก

                อย่างไรก็ตามถึงแม้กฎหมายจะจำกัดการใช้ความสามารถของผู้เยาว์ในการทำนิติกรรมว่าไม่สามารถทำนิติกรรมโดยลำพังตนเองได้เอาไว้เป็นหลักทั่วไป แต่ก็มีนิติกรรมหรือกิจการบางอย่างที่ผู้เยาว์ทำเองได้เหมือนกับผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว เช่นรับทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้โดยเสน่หาหรือทำพินักรรมเมื่ออายุสิบห้าปีบริบูรณ์

                คนไร้ความสามารถ

                เมื่อศาลได้สั่งให้บุคคลวิกลจริตคนใดตกเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว บุคคลนั้นไม่สามารถทำนิติกรรมหรือกิจการใดได้เลย การดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวกับคนไร้ความสามารถแล้วนั้น ต้องให้ ผู้อนุบาล เป็นผู้ทำแทน เพราะกฎหมายมีเจตนารมณ์มุ่งคุ้มครองประโยชน์ของบุคคลนั้นมิให้ตกเป็นเหยื่อของบุคคลภายนอกโดยอาศัยความวิกลจริตของคนไร้ความสามารถ ตัวอย่าง เช่น อ่อนเป็นคนไร้ความสามารถทำสัญญาขายบ้านและที่ดินของตนให้เดช นิติกรรมที่อ่อนทำย่อมตกเป็นโมฆียกรรม

                คนเสมือนไร้ความสามารถ

                เนื่องจากบุคคลประเภทนี้ยังไม่ถึงกับเป็นบุคคลวิกลจริต แต่เป็นบุคคลที่มีเหตุบกพร่องในทางร่างกายหรือในทางความประพฤติทำให้ไม่สามารถจัดการงานของตนเองได้ กฎหมายจึงเข้าช่วยเหลือคุ้มครองในการทำนิติกรรมต่างๆ โดยศาลจะต้องแต่งตั้งผู้พิทักษ์ ขึ้นเพื่อคอยปกครองดูแลและระวังผลประโยชน์ของคนเสมือนไร้ความสามารถ เพื่อมิให้ทรัพย์สินหมดสิ้นไป อันจะเป็นเหตุให้บุคคลนั้นและครอบครัวต้องประสบความยากไร้ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ มีข้อสังเกตว่าผู้พิทักษ์ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะทำกิจการแทนคนเสมือนไร้ความสามารถหรือจัดการทรัพย์สินของคนเสมือนไร้ความสามารถได้ เว้นแต่นิติกรรมซึ่งกฎหมายกำหนดไว้บางชนิดที่คนเสมือนไร้ความสามาถจะทำได้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน ดังนั้นหากคนเสมือนไร้ความสามารถกระทำการดังกล่าวลงไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ การนั้นย่อมตกเป็นโมฆียะ ตัวอย่าง เต้ย เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและอยู่ในความพิทักษ์ของโต้ง  เต้ยจะใช้เงิน 10,000 บาท เพื่อซื้อหุ้นจะต้องได้รับความยินยอมจากโต้งก่อน การนั้นจึงจะมีผลสมบูรณ์ ซึ่งการใช้จ่ายเงิยทองอันเป็นทุนของคนเสมือนไร้ความสามารถนี้ มีความสำคัญและเป็นอันตรายที่มองเห็นได้ง่าย เพราะการใช้เงินทุนแต่ละครั้งทำให้ทรัพย์สมบัติของคนเสมือนไร้ความสามารถลดน้อยลง หากปล่อยให้คนเสมอนไร้ความสามารถทำนิติกรรมประเภทนี้โดยปราศจากการควบคุม จะเป็นทางให้คนเสมือนไร้ความสามารถสิ้นเนื้อประดาตัวได้

หมายเลขบันทึก: 310110เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2009 11:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 23:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท