หมากล้อมสี่มิติ


ผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่า กุนซือคือผู้มีวิชา 4 และนิติ 3, วิชาทั้ง 4 คือ พิชัยสงคราม ธรรมะ หมากล้อม และอี้จิงหรือโหราศาสตร์ ส่วนนิติ 3 คือ โลกนิติ ธรรมนิติ และราชนิติ

ผมเคยเล่นเกมกระดานมามาก

เสือตกถัง เป็นเกมกระดานอย่างง่าย หากจับทางออกแล้วสามารถจะเล่นให้เสมอกันได้ทุกกระดาน

เช่นเดียวกับหมากฮอส ที่เป็นหมากซับซ้อนขึ้น หากจับทางได้และฝ่ายตรงข้ามฝีมือพอกัน ก็สามารถวางหมากให้มีผลลัพธ์ปลายกระดานที่เสมอกันได้

สำหรับหมากที่ซับซ้อนขึ้นไปอีกอย่าง "หมากรุก" อันนี้น่าสนใจ

หมากรุกฝรั่ง รุนแรง เกรี้ยวกราด เพราะมีควีน ที่เดินได้ทุกทิศ ทุกทาง และระยะทางเท่าใดก็ได้ พลังทำลายล้างสูงสุด

หมากรุกจีน กฎระเบียบหยุมหยิม ขุนถูกกักอยู่เพียงในวัง ไม่มีบทบาทแก่ศึกสงครามเท่าที่ควร มีปืนใหญ่ที่สามารถ "กระโจน" ข้ามไปทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามได้ หมาก "ม้า" แม้มีทิศทางกระโดดเดินซับซ้อนไปมา เช่นเดียวกับหมากรุกฝรั่งและหมากรุกไทย แต่ที่ไม่เหมือนคือสามารถถูก "ขัดขา" ได้

หมากรุกไทย เน้นการรบประชิดตัว มีลูกล่อลูกชน

แม้จะมีลักษณะเช่นเดียวกับทุกหมากคือ ต้นกระดาน กลางกระดาน ปลายกระดาน มีความสำคัญ แต่ปลายกระดานนี่สิสนุก ตื่นเต้น เร้าใจ

หมากรุกไทยให้ความสำคัญกับไพร่ราบ เพราะหากเข้าถึงแดนศัตรูสามารถกลายเป็น "เบี้ยหงาย" ศักยภาพเช่นเดียวกับเม็ด ถ้าผูกเม็ดเทียมได้อานุภาพไม่เป็นรอง "โคน" เลย (อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำในบางกรณี)

พวกเบี้ยหงายนี้เอง จะมีผลชี้ชัดในช่วงปลายกระดาน เพราะธรรมเนียมหมากรุกไทย พอรบไปจนถึงช่วงปลายกระดาน ก็จะเหลือแค่ขุนฝ่ายเรา กับฝ่ายตรงข้าม และเหลือพวกหมากที่ดูเหมือนมีศักย์น้อยอย่าง "เบี้ยหงาย" พวกนี้นั่นแหละ

ความสนุกจะเริ่มขึ้นตอนท้ายกระดาน ซึ่งเป็นช่วงการใช้ขุนและเบี้ยหงาย (ควรมีเป็นคู่เทียมขึ้นไป ไม่เช่นนั้นผลลัพธ์จะออกมาเป็นเสมอ)  ในการไล่ขุนอีกฝ่ายให้ "จน"  แถมยังต้องระมัดระวังไม่ให้ขุนฝ่ายตรงข้าม "อับ" (คือหมดทางเดิน) อีกด้วย เพราะไม่เช่นนั้นผลก็จะเป็นเสมอเช่นกัน

ลักษณะการไล่ขุนท้ายกระดาน ไม่ให้อับ แต่มีเป้าหมายให้จน จึงเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของหมากรุกไทย

การใช้ขุนรุกไล่กันช่วงท้ายกระดานนี่แหละ สะท้อนถึงลักษณะนิสัยของชนชาติว่า ผู้นำของคนไทยผูกพันและลงมารบเองด้วยไพร่ทหารแต่โบราณ

นอกจากใช้ เบี้ยเทียมไล่ ก็อาจใช้ เบี้ยผูกกับม้า หรือโคนก็ไล่ได้

สำหรับม้า (ของฝรั่งเรียกอัศวิน) ถ้าเดินให้เป็นแล้ว สามารถ "โขก" เดินไปได้ทุกช่องในตารางหมากรุกทั้ง 64 ช่อง ภายใน 64 ครั้ง โดยไม่ซ้ำกันแม้แต่ครั้งเดียว นั่นถือว่ามีฝีมือในทางเดินหมากอย่างแท้จริง

 

แต่หมากรุกก็ยังไม่ซับซ้อนเท่า "หมากล้อม" เพราะถ้าใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีการคำนวณกระดานเดินล่วงหน้า "ทุกรูปแบบ" ไปเป็นสิบๆชั้น อาจชนะแชมป์หมากรุกฝรั่งโลก เช่นคาสปารอฟ ที่แพ้ดีพบลูของไอบีเอ็มเป็นต้น แต่หมากล้อมคอมพิวเตอร์ยังแพ้มนุษย์อยู่

 

หมากล้อม มีหลายสมรภูมิ แม้พ่ายศึก แต่อาจชนะสงคราม ในหนึ่งกระดานอาจต้องบริหารจัดการ ถึงอย่างน้อยสี่สมรภูมิ เขตแดนสมรภูมิ เลื่อนไหลแปรเปลี่ยนตลอดเวลา

ลงหมากจุดสำคัญเพียงจุดเดียว อาจพลิก "พื้นที่" ที่เสียเปรียบนั้น กลายเป็นได้เปรียบอย่างมหาศาล พลิกพื้นที่เขา เป็นพื้นที่เราได้พริบตา

หมากล้อมจึงเน้นรังสีการฆ่าฟันไม่มากเท่าหมากรุก เพราะหากเน้นเอาชัยชนะมากเกินไป กลายเป็นการเน้นขยายพื้นที่ มากกว่าการรักษาพื้นที่ ก็อาจจะพลิกกลายเป็นฝ่ายแพ้ไปได้

การเล่นหมากล้อมจึงต้องเน้นการรักษาสมดุลระหว่าง การขยายพื้นที่ และการรักษาพื้นที่

ไม่มากไปไม่น้อยไป รูปแบบการขับเคลื่อนหมากมีได้หลากหลาย เชื่อมต่อ สร้างห้อง เดินภาพใหญ่ ฯลฯ

เดินหมากล้อมจึงช่วยขัดเกลาให้จิตใจสงบมากกว่ามีจิตสังหาร

หมากรุกเป็นเกมกระดานของขุนพล แต่หมากล้อมเป็นเกมของราชัน และเป็นหนึ่งในวิชากุนซือ

ผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่า กุนซือคือผู้มีวิชา 4 และนิติ 3, วิชาทั้ง 4 คือ พิชัยสงคราม ธรรมะ หมากล้อม และอี้จิงหรือโหราศาสตร์   ส่วนนิติ 3 คือ โลกนิติ ธรรมนิติ และราชนิติ

 

หมากล้อมเคลื่อนอยู่บนกระดานจึงดูเหมือนมีสองมิติ แต่ความจริงมีสามมิติ คือมิติเวลา เมื่อเวลาแปรเปลี่ยนไป สภาพแวดล้อมก็เปลี่ยนไป เป็นได้ทั้งคุณและเป็นได้ทั้งโทษ

มนุษย์เรามักลืมคิดในมิติเรื่องเวลา คิดว่าเราจะต้องอยู่ในสภาพนี้ตลอดไป

แท้จริงแล้วมนุษย์เราถูกครอบงำด้วย ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความชราภาพ และความตาย อยู่เสมอ

น่าจะมีคนคิดหมากล้อมสามมิติ คือวางกระดานแนวตั้งซ้อนขึ้นไปอีกด้วย 8 ชั้น

ทั้งหมดจึงเป็นหมากล้อมสี่มิติ คือสามมิติ บวกเวลาอีกหนึ่งมิติ

 

หมายเหตุ : ข้อมูลบางส่วนในที่นี้ได้รับจากการเสวนาผ่านทวิตภพจาก @paisalvision, @pichai, @mktmag และ @charoenchai

หมายเลขบันทึก: 310050เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2009 02:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท