ใจได้ยิน


ใช้ใจนำทาง งานอะไรก็แล้วแต่ถ้าใช้ใจในการทำงานแล้วผลสัมฤทธิ์ย่อมดี

"ใจได้ยิน"

                เมื่อเริ่มทำงานที่โรงพยาบาลแห่งนี้ภาพที่เห็นคุ้นตาอยู่ทุกๆวัน คือ ภาพคนงานผู้ชายที่อายุมากกว่าเรายกมือไหว้เราก่อนเมื่อรู้ว่าเราเป็นหมอ บางครั้งเมื่อพบกันเราเป็นฝ่ายทักก่อนต้องพูดอยู่ตั้งนานกว่าจะเข้าใจกันมาทราบทีหลังว่าหูท่านไม่ค่อยดี  และสังเกตว่าต้องพบกันในระยะใกล้ๆจึงจะทราบว่าเป็นใครก็มาทราบทีหลังอีกว่าตาท่านไม่ค่อยเห็น  สอบถามสาเหตุว่าทำไมเป็นแบบนี้ลุงเล่าให้ฟังว่า

“ ตอนเรียนอยู่โดนครูตบบ้องหู ตั้งแต่นั้นมาจึงมีอาการแบบนี้ และด้วยความยากจนจึงไม่ได้รับการรักษาทันทีมารักษาเมื่อได้เข้าทำงานที่โรงพยาบาลแล้ว” ปรากฏว่าทุกอย่างสายเกินแก้เสียแล้ว เส้นประสาทตาเสื่อม   ประสาทหูก็เสื่อมไม่สามารถทำการแก้ไขได้  เวลาอ่านหนังสือต้องใช้เลนส์ส่องพระ เวลาฟังใครก็ไม่สามารถใช้เครื่องช่วยฟังได้ต้องอาศัยการพูดดังๆ และช้าๆ ในการสื่อสาร ซึ่งทุกคนที่ทำงานก็เรียนรู้ที่จะสื่อสารกับท่านอีกทั้งตัวท่านเองก็เรียนรู้ที่จะพยายามสื่อสารกับพวกเรา  มีคำถามว่าเมื่อร่างกายเป็นอย่างนี้ทำไมโรงพยาบาลจึงยังจ้างให้ทำงานอยู่   คำตอบท่านผู้อ่านจะทราบหลังจากนี้ 

     เรื่องความพิการของท่านไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานเนื่องจากเดิมทางโรงพยาบาลมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นคนสวนดูแลเรื่องต้นไม้และตัดหญ้าท่านก็รับผิดชอบดี เมื่ออายุมากขึ้นเราก็พยายามมอบหมายงานให้ลดลงเหลือแต่เรื่องเก็บขยะมูลฝอยบริเวณบ้านพัก ซึ่งท่านก็สามารถทำงานได้อย่างดีประจวบเหมาะกับช่วงนั้นทางโรงพยาบาลมีปัญหาเรื่องน้ำประปาเนื่องจากเดิมเราเคยใช้น้ำประปาภูมิภาคแต่ระยะหลังราคาน้ำแพงมากเราจึงมีนโยบายผลิตน้ำเอง เมื่อมองหาผู้รับผิดชอบก็มาลงตัวที่คุณลุงท่านนี้ซึ่งมีนามว่า ลุงสุรัตน์ ศรีสาธร  แต่พวกเราจะเรียกว่า “ ลุงทิด ” ซึ่งความรู้ลุงทิดไม่มีแต่เราได้เห็นความวิริยะอุตสาหะในการที่จะเรียนรู้  ลุงทิดจะมาทำงานที่โรงพยาบาลตั้งแต่ตีสอง  ขอย้ำว่าตีสองจริงๆ  ถามว่าทำไมต้องตีสองเหตุผลคือถังเก็บน้ำโรงพยาบาลเก็บน้ำได้ไม่มากกลัวน้ำจะหมดแล้วเจ้าหน้าที่ , คนไข้ , ญาติคนไข้ จะไม่มีน้ำใช้ลุงทิดกลัวว่าจะเสียชื่อเสียงโรงพยาบาล   เมื่อมาถึงลุงทิดจะเริ่มต้นทำงานคือสูบน้ำเข้าไปเก็บในถังหลังจากนั้นจะเริ่มล้างหน้าทรายและตรวจสภาพถังคลอรีน เสร็จแล้วไปหุงข้าวให้แม่ครัวเพื่อที่เวลาแม่ครัวมาจะได้ทำกับข้าวและแจกอาหารผู้ป่วยได้ทันเวลา  ลุงทิดจะเป็นห่วงเรื่องน้ำไม่เพียงพอหรือมีน้ำให้ใช้ได้ตลอดเวลาดังนั้นเวลาโรงพยาบาลจัดกิจกรรมนอกสถานที่ลุงทิดจะไม่ไปเพราะกลัวประปาเสียหรือกลัวคนสูบน้ำแทนทำไม่เป็นและน้ำไม่มีใช้   ในแต่ละวันถ้ามีท่อน้ำแตกหรือมีการชำรุดเสียหายของอุปกรณ์ต่างๆลุงทิดจะซ่อมแซมให้เสร็จถึงจะกลับบ้าน  

    ในบางครั้งตอนกลางคืนลุงทิดจะโดนโทรศัพท์ตามว่าน้ำหมดไม่ว่าจะกี่โมงลุงทิดก็จะมาถามว่าทำไมถึงมาลุงทิดบอกว่า “คิดถึงภาพว่าถ้าเรากำลังอาบน้ำอยู่และน้ำหมดเราก็คงทำอะไรลำบากดั้งนั้นไม่ว่าใครจะตามกี่โมงยามลุงทิดก็จะมา” นั่นคือลุงทิดถือคติเอาใจเขามาใส่ใจเรา  หรือภาษาของผู้เขียนคือ “ ใจได้ยิน ” นั่นคือถึงแม้จะหูไม่ดีตาไม่ดีแต่ใช้ใจในการทำงาน  ดังนั้นงานอะไรก็แล้วแต่ถ้าใช้ใจในการทำงานแล้วผลสัมฤทธิ์ย่อมดี   กว่าลุงทิดจะได้กลับบ้านในแต่ละวันก็ประมาณ 18.00 – 20.00 น. เพราะต้องคอยสูบน้ำให้เต็มถังก่อน   ลุงทิดทำอย่างนี้มาเป็นเวลานานมาก ( มากกว่า 20 ปี )  ในช่วงปีนี้ผู้เขียนสังเกตเห็นว่าลุงทิดจะหงุดหงิดง่ายมากขึ้นหน้าตามีความวิตกกังวลก็พยายามวิเคราะห์และค้นพบว่า  ลุงทิดกังวลต่ออนาคตตัวเองเนื่องจากปีนี้ลุงทิดจะเกษียณอายุราชการและอยู่ตัวคนเดียวเนื่องจากภรรยาได้เสียชีวิตแล้วลูกเต้าก็ไม่มีแล้วจะอยู่อย่างไรเงินบำเหน็จที่จะได้ใช้หนี้สินก็เกือบหมดแล้วตัวเองก็แก่ลงไปทุกวันจะไปทำอะไรกิน เมื่อทราบเช่นนี้จึงหาทางช่วยโดยการนำเข้าหารือในกรรมการบริหารขอจ้างเป็นลูกจ้างชั่วคราวของโรงพยาบาลต่อและพยายามหาผู้ช่วยให้ลุงทิดแต่ลุงทิดจะหวงและห่วงระบบประปามากจะพยายามทำเองเพราะกลัวคนอื่นทำจะออกมาไม่ดี

   จนถึงขณะนี้ลุงทิดก็ยังคงทำงานตามปกติถึงแม้สังขารจะไม่เอื้ออำนวยแต่ใจยังสู้อยู่เวลาเห็นลุงทิดปีนขึ้นถังสูงเราก็อดเป็นห่วงไม่ได้  ถามว่าปีนได้อย่างไรตาก็ไม่ดีลุงทิดตอบ “ใช้ใจนำทาง”  จากการที่ลุงทิดทุ่มเทให้กับการทำงานในหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบอย่างดียิ่งและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง  ถึงวันนี้ผลบุญได้ตอบสนองท่านแล้วเพราะมติครม. ออกมาทันเวลาพอดี ลุงทิดเป็นลูกจ้างประจำรุ่นแรกที่มีสิทธิ์เลือกที่จะรับบำเหน็จพิเศษรายเดือน หรือจะรับบำเหน็จไปเลย   ปรากฏว่าเมื่อลุงทิดทราบข่าวท่านดีใจมากและเลือกที่จะรับบำเหน็จพิเศษรายเดือน  หลังจากนั้นจะสังเกตเห็นว่าอารมณ์ลุงทิดดีขึ้นเพราะโซ่ใจที่ท่านกังวลได้รับการปลดปล่อย   เมื่องานเลี้ยงแสดงมุทิตาจิตแด่ลุงทิดท่านร้องไห้ด้วยความดีใจเพราะท่านสัมผัสได้ด้วยใจว่าทุกคนรักและเคารพลุงทิดประดุจญาติผู้ใหญ่ท่านไม่ได้อยู่ในโลกใบนี้อย่างโดดเดี่ยวอ้างว้างท่านยังมีพวกเราที่ถือเสมือนท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ที่จะต้องดูแลกันตลอดไปตราบชั่วชีวิตจะหาไม่

ด้วยความขอบคุณ

แพทย์หญิง  ดวงรัตน์  เชี่ยวชาญวิทย์

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางกระทุ่ม

คำสำคัญ (Tags): #ใจได้ยิน
หมายเลขบันทึก: 308827เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2009 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
  • ประทับใจการมีใจให้กับงานของลุงทิด ประทับใจรพ.ที่ดูแลให้กำลังใจคนทำงานเป็นอย่างดี
  • ขอบคุณตัวอย่างดีๆครับ

นี่เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่ายิ่ง ความบกพร่องทางกายใช่ปัญหา ลุงทิดทำด้วยใจที่พร้อมจะทำงาน และคิดเพื่อส่วนร่วมโดยไม่สนใจว่าตัวเองจะได้อะไร นี่เป็นอีกหนึ่งแห่งคนดีที่นับวันหายากลงทุกทีขอชื่นชมด้วยหัวใจครับ

"ลุงทิด" สุดยอด!!

ชื่นชมลุงทิดมากเลยค่ะ

ฮ่า รู้สึกแย่จังเวลาทำเสื้อเปื้อน

เพราะลุงทิดต้องซักกก

รู้สึกไม่ดีอีกทีที่ลุงทิดเรียกคุณไหม

แค่ลูกหมอเอง ก็คนเหมือนกัน เฮ้ออออ = =

แต่ทุกคนก็รักลุงทิดเหมือนคนในครอบครัว

มีของอะไรได้มาก็จะแบ่งลุงทิดตลอด

เห็นรอยยิ้มลุงทิดแล้วรู้สึกดีอ่า ฮ่าๆ

คนแบบนี้หายาก ดีใจจริงๆเล้ย

ก็เค้าอยู่กับเรามาตั้งแต่เกิด

ก็ต้องรักและผูกพันเป็นธรรมดาอ่า

เนอะ ^^

ลุงทิดนี่นอกจากจาขยัน จากที่อ่านแกก็คมคายอีกด้วยนะครับ หุหุ

ชอบคนแบบลุงทิดจัง

เริ่ดมากกกกกกกกกกกกก ค่าาา ^____________________________^

(IP เพื่อนเม้นไม่ได้ค่ะ เลยเม้นให้)

ถึงจะไม่รู้จัก

แต่พออ่านแล้วก็....

สะท้อนตัวเองเหมือนกัน

ว่าวันนี้เราทำอะไรบ้าง

แต่หลายคนชอบใช้ ปาก นำทาง หู ก็ไม่ได้ยิน แล้ว ใจ จะเป็นยังไงเนี่ย

ลุงทิดน่ารักจัง

^-^

แต่หลายคนชอบใช้ ปาก นำทาง หู ก็ไม่ได้ยิน แล้ว ใจ จะเป็นยังไงเนี่ย

หูไม่ได้ยิน ตาไม่ค่อยเห็น แต่ใจได้ยิน ดีกว่าคนปกตินะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท