ปัญญา : Inference


ปัญญาของคน  นอกจากจะมีลักษณะเป็น "ความสามารถ"ด้าน "การลงสรุปเป็นนัยทั่วไป"(Generalization) และด้าน "การจำแนก"(Discrimination) แล้ว  ยังมีความสามารถด้าน "การลงสรุปไปสู่ส่วนใหญ่"(Inference) อีกด้วย

สมมติว่า  เราไม่เคยเห็นต้นมะพร้าวมาก่อนเลยนับแต่เกิดมา  ต่อมาวันหนึ่ง เราเห็นต้นมะพร้าวครั้งแรก  เราเห็นว่า  มันไม่มีกิ่งเหมือนต้นไม้อื่นๆ  ดังนี้  เรียกว่า  เรามีความสามารถด้าน "จำแนก"

ถ้าวันต่อมาเราเห็นต้นมะพร้าวอีกต้นหนึ่ง  และจำแนกได้ว่ามันไม่เหมือนกับต้นมะขาม  ต้นสน  คือไม่มีกิ่งเหมือนกัน  เมื่อเห็นต้นมะพร้าวต้นที่สาม  ต้นที่สี่  ก็เป็นเช่นนั้นอีก คือไม่มีกิ่งเหมือนกัน  เขาจึง "คิดในใจ"ว่า  "ต้นมะพร้าวอื่นๆที่เราไม่เห็นทุกต้นทั่วโลกต้องไม่มีกิ่งเหมือนกัน"  และพูดว่า "ต้นมะพร้าวไม่มีกิ่ง"  ความคิดเช่นนี้เรียกว่า "การลงสรุปเป็นนัยทั่วไป" ในกรณีนี  ผู้พูด  "ไม่รู้" ส่วนใหญ่มาก่อน  เขา "สร้าง"ส่วนใหญ่ขึ้นมาเอง

ถ้าต่อมาคนๆนี้เกิดพลัดหลงไปที่เกาะแห่งหนึ่ง  คนเดียว  ทันใดนั้นเขาเห็นมะพร้าวลูกหนึ่งที่พื้นทราย  เขาจึง"คิด"ว่า "ต้องมีมะพร้าวบนเกาะนี้แน่"  ดังนี้เรียกว่า เขา "ลงสรุปไปสู่ส่วนใหญ่"  และส่วนใหญ่นี้คือ "ประชากร"มะพร้าวที่เขา "มีอยู่ก่อน"แล้วในอดีตก่อนที่จะมาที่เกาะนั้น  ถ้าเขาเดินต่อไปและพบรอยเท้าเสือ  เขาก็ "ลงสรุปไปสู่ส่วนใหญ่"ของเสือ  คือประชากรเสือว่า "มีเสือบนเกาะนี้ด้วย"

ในวิชาตรรกศาสตร์  มีอยู่คำหนึ่งที่เราคุ้นเคยกันดีคือ  "การอุปนัย"(Induction)  การอุปนัยจะมีความหมายคลุมเอาความหมายของ Generalization และ Inference เข้าไว้ด้วยกัน

ขอให้สังเกตว่า  ถ้าเขาคนนี้  ไม่สามารถ "จำแนก"รอยเท้าเสือกับไม่ใช่เสือได้  และไม่มี "ประชากรเสือ" อยู่ในความคิดให้เขาสามารถ Inference ได้  แล้ว  เขาคงจะ "เอาชีวิตไม่รอด"บนเกาะนั้นอย่างแน่นอน  ความสามารถเหล่านั้นจึงเป็นเครื่องมือสำหรับเอาชีวิตรอดอย่างแน่แท้

คิดว่าหลายคนคงเคยสอบแบบทดสอบความถนัด  หรือแบบทดสอบวัดปัญญามาบ้างแล้วจากโรงเรียน  หรือคราวสอบเข้ามหาวิทยาลัย  แบบทดสอบเหล่านั้นจะวัดความสามารถด้าน  การจำแนก  การลงสรุปเป็นนัยทั่วไป  และการลงสรุปไปสู่ส่วนใหญ่ ที่กล่าวเหล่านี้นั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 308763เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2009 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

ความสามารถเชิงปัญญา มีการกล่าวถึงลักษณะในเชิงมโนธรรมอยู่บ้างไหมครับ อาจารย์

"ความรู้สึกทางมโนธรรม" ประกอบด้วย "การคิด"(ด้านปัญญา) + "อารามณ์" + "แนวโน้มไปทางบวกของอารมณ์"(เรียกว่าเจตคติ)

หรือพูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า

{"ภาคพุทธิพิสัย"(ปัญญา: Cognitive Domain) } + {"วิภาววิสัย"(อารมณ์,เจตคติ: Affective Domain)

นั่นคือ "มโนธรรม" = ( Cognitive Domain ) + Z Affective Domain ) คือ ไม่ใช่ปัญญาอย่างเดียว หรืออารมณ์อย่างเดียว แต่ ทั้งสองอย่าง

  • ตามมาอ่านเรื่องปัญญา
  • อาจารย์หายไปนานจัง
  • พยายามสอนนิสิตให้เกิดทั้งพุทธิพิสัย จตคติพิสัยและทักษะพิสัยครับ
  • แต่บางครั้ง ค่อนข้างยาก

แต่ไม่ยากสำหรับคุณขจิต จริงไหม

ทราบแล้วครับอาจารย์ ขอถามท่านอาจารย์ต่อว่า ในหลายเหตุการณ์ในสังคมไทยปัจจุบัน ที่มี สัดส่วนระหว่าง cognitive สูง แต่ afffective น้อย แสดงว่าลักษณะเชิงมโนธรรมจะคุมตัวปัญญา หรือจะอธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างไร และพอจะแก้ไขได้ไหม

(๑) ถ้า พุทธิปัญญาสูง แต่ทางอารมณ์ต่ำ ก็น่าจะถูกควบคุมด้วยปัญญา จึงน่าจะดี และถ้าอารมณ์เข้าใกล้ศูนย์ ก็จะเหลือแต่บทบาทของปัญญา ก็จะเข้าใกล้พระพุทธองค์เข้าไปทุกทีครับ

(๒) ถ้าปัญญาสูง + อารมณ์โกรธ เกลียด ริษยา สูง + ความเมตา สงสาร(มโนธรรม) ตำ แล้ว ส่วนที่เป็นอารมณ์จะถูกควบคุมด้วย "ผลประโยชน์" ได้ง่าย ทำให้ปัญาถูกนำมาใช้เพื่อผลประโยชน์นั้นด้วย เช่น นายแดงเล่าเรียนมาสูงมาก (ปัญญาสูง) แต่เขามีความอยาก(โลภต่อผลประโยชน์)สูง อยากได้แต่เงินทองเพิ่มขึ้นไม่รู้จบ เขาจึงใช้ปัญญาออกแบบการโกงนานาชนิด เช่นวางแผนทำให้ตลาดหุ้นพังหลังจากที่ตนได้ขายห้นไปหมดแล้ว แล้วไปช้อนซื้อคืนเมื่อเลือดท่วมจอ ดังที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันมานี้ พูดกันว่าได้เงินมานับพันล้าน เป็นต้น

(๓) ที่ว่าปัญญาสูงเพราะเรียนมาสูงนั้น อาจจะไม่จริง เพราะปัจจุบัน บางแห่งไม่จำเป็นต้องปัญญาสูง ก็ได้ดีกรีดอกเตอร์เหมือนกัน

คำอธิบายปัญหาที่คุณถามก็น่าจะได้ดังที่ว่ามั้งครับ

ที่อาจารย์ว่าพุทธิปัญญาสูงและอารมณ์เข้าใกล้ศูนย์แสดงว่าบทบาทของปัญญาใกล้ไปทางพระพุทธองค์ก็เข้าใจได้ แต่พอมามองสภาพสังคม ทุกประเทศล้วนแล้วแต่ถือทุนนิยม ดังนั้นปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่เน้นผลประโยชน์จึงเป็นสิ่งที่ต้องเจออยู่เรื่อยไปและอาจจะมากขึ้นถ้ามีกลุ่มคนลักษณะที่ปัญญาสูงและมโนธรรมต่ำที่อาจจะถูกควบคุมด้วยผลประโยชน์เข้ามาที่มีบทบาทและอิทธิพลต่อสังคม ขอบคุณครับ

คัรบ ทุนนิยมกับผลประโยชน์นั้นคู่กัน ผลประโยชน์นั้น ใช้คำว่า Interest ซึ่งแปลว่าดอกเบี้ย แต่ในจิตวิทยาสังคม เราหมายถึง "สิ่งที่คนอยากได้" ถ้าเราอยากได้ดอกเบี้ย ๆก็เป็นผลประโยชน์ ถ้าเราอยากได้ตำแหน่งผู้กำกับ ตำแหน่งนั้นก็เป็นผลประโยชน์ ถ้าอยาได้เกรด เอ เกรดเอ ก็เป็นผลประโยชน์ ถ้าอยากได้สาวงามๆก็เป็นผลประโยชน์ ถ้าอยากได้ตำแหน่ง สส., ตำแหน่งรัฐมนตรี, ตำแหน่งนายก, ฯลฯ ตำแหน่งนั้นก็เป็นผลประโยชน์ ครับ ในจิตวิทยาสังคมมีความหมายไม่มากมายอย่งนี้ แต่ผมถือว่า "สิ่งใดก็ตามที่คนต้องการ" แล้ว สิ่งนั้นเป็นผลประโยชน์ทั้งสิ้น

ส่วนคำว่า ทุนนิยมนั้น เป็นภาษาทางเศรษฐศาสตร์ มีคติว่า การทำทุกสิ่งก็เพื่อให้ได้กำไร, ให้ได้ผลตอบแทน, หรือ "ผลประโยชน์" ให้มีค่า "สูงที่สุด" "การกระทำที่ดี" ของลัทธินี้คือ "การกระทำใดที่ได้กำไรมากที่สุด แล้ว การกระทำนั้น ดี" ใครรวย คนนั้นก็ดี

ดังนั้น ทุนนิยมกับผลประโยชน์" จึงไปกันได้แบบเนื้อเดียวกันทีเดียว และเจริญมากในยุโรป

คราวนี้เราพบว่า ในคนกลุ่มใดๆ จะมีพวกคล้อยตามต่อกลุ่ม ( Conformists) ประมาณ ๗๕% พวกขัดขืน (Nonconformists) ประมาณ ๒๕% คือ ถ้าคุณให้เงินเขา ๑ ล้านบาทเพื่อให้เขารับจ้างกระทำการอย่างใดๆ หรือซื้อบ้านให้หนึ่งหลัง พวกขัดขืนนี้อาจจะไม่ทำให้หากฝืนมโนธรรมที่เขายึดมั่น (แต่ถ้า ๑๐ ล้าน ก็ไม่แน่ครับ) คือ ผลประโยชน์จะไม่อาจจะ "ควบคุม" เขาได้ "ง่ายๆ" แต่สำหรับพวกคล้อยตาม ๗๕% นั้นแล้ว ไม่ถึงล้านหรอกครับ ๕๐๐ บาทเขาก็คล้อยตามแล้ว ถ้าคุณอยากรู้ว่าโดยประมาณแล้วคนไทย(หรือชาติใดๆ) ๖๐ ล้านคนนั้นจะมีพวกคล้อยตามเท่าไร ก็เอา ๖๐ล้าน X .๗๕ เข้าไป ก็จะรู้ พวกเหล่านี้ ทายว่า จะควบคุมได้ง่าย "ด้วยเงิน"

ถ้าใครมีเงินหมื่นล้านแล้ว ลองคิดดู เขาจะบังคับให้คนคลานเข้าไปซบได้เท่าไร ง่ายดายขนาดไหน

ถ้าคนมีเงินมากๆปฏิบัติการเช่นนี้อยูสักปีสองปีแล้ว พฤติกรรมของคน อย่างน้อยกลุ่ม ๗๕% นั้น "จะกลายไปเป็นพฤติกรรมแบบทุนนิยม" ได้แข็งขนาดไหน เมื่อแต่งงานลูหลาน คนพวกนี้ก็จะอวยพรว่า "ขอให้รวย ๆ" แบบพวกอเมริกันและยุโรปนั้นเทียว !!!

การที่คนพูดกันว่า เขามี "เสรีภาพๆๆๆ" นั้น จริงหรือ ???

ถ้าพฤติกรรมของเขาถูกควบคุมได้ด้วยเงินแล้ว ความเป็นเสรีในตัวเขาก็สูญสิ้นแล้ว !!!!!

สวัสดีครับอาจารย์ผมลองคูณตัวเลขดูแล้วก็ค่อนประเทศที่เป็นลักษณะคล้อยตาม ก็หวังว่ากลุ่มที่เหลือจะได้นำหลักชัยที่พ่อหลวงเรามอบไว้ในการนำชีวิตที่อยู่รอด และได้เพิ่มสัดส่วนให้มากขึ้นในอนาคต อาจารย์ได้ดูทีวีบ้างไหมครับ ช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมามีโฆษณาชิ้นหนึ่งทางทีวี ที่บอกว่าทันที่ที่คุณเกิดมา นั้นคือวันสุดท้ายที่คุณจะมีอิสรภาพ ดูไปดูมาก็คล้อยตามว่าน่าจะใช่จริง ๆ....

เรื่องของ "เสรี" ที่เราพูดถึงอยู่นี้ หมายถึง "เสรีในการคิด และเลือก" คือจะคิดเลือกสิ่งใดๆ ถ้าเราเลือกได้ตามที่เราคิดและต้องการโดยไม่มีสิ่งใดมาบังคับแล้ว เราก็มีเสรี ในประวัติของมนุษยชาติของโลกนี้ จะมีคนกลุ่มน้อย (คงจะพวก ๒๕% ?) เอาเปรียบคนกลุ่มใหญ่ (คงจะเป็นพวก ๗๕%?) เก็บส่วยสาอากร และบังคับเขาให้เป็นทาส ให้สร้งปิรมิดบ้าง, กำแพงเมืองจีนบ้าง, ปราสาทหินบ้าง,ฯลฯ ต่อมาเราเห็นว่าไม่เป็นธรรม จึงใช้ระบบเสรีประชาธิปไตยแทนโดยให้ "พวกเขามีสิทธิ์ในการเลือก" แต่คงจะเลือดทาสของพวกเขายังอยู่ เขาจึงชอบซบกับผลประโยชน์ดังที่เราเห็นกัน

สำหรับร่างกายของเรานั้น เป็นวัตถุ วัตถุย่อมอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ ยังต้องอาศัยสิ่งภายนอกกายมาทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลง เช่น อาหาร เชื่อไวรัสต่างๆ ดังนั้น ที่คุณว่า ทันใดที่เราเกิดนั้น เราสูญสิ้นเสรีภาพทันทีแล้ว นั้น ไม่จริงสำหรับร่างกาย เราสูสิ้นตั้งแต่เป็นเจ้าตัวสเปิร์มโน่นแล้ว แมความคิดหรือจิต ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่เหมือนกัน เช่นบางคน บังคับลูกให้ฟังเพลงตั้งแต่เป็นตัวฟีตุสอยู่โน่นครับ

ดูๆแล้ว การที่ใครๆเที่ยวร้องแรกแหกกระเฌอหาเสรีภาพนั้น ดูท่าจะตลกอยู่เหมือนกันนะ คิดว่า นี่ก็เป็นกระบวนการวิวัฒนาการทางสังคมอย่างหนึ่ง ถ้าคนส่วนใหญ่มีปัญญาพอที่จะมานั่งถกเรื่องนี้กันที่โต๊ะกาแฟกันแล้ว อีกพันปีข้างหน้าก็จะดีเองมั้งครับ

อาจารย์ครับเมื่อเรามุ่งเน้นที่ปัญญาเป็นหลัก การเรียนขั้นอุดมศึกษาปัจจุบันก็มุ่งวัดเพียงแต่ความถนัดทางการเรียนเป็นหลัก คนส่วนใหญ่ (75?) ก็จะเป็นคนที่มีเชาว์ดี แต่มิได้รู้ว่าเขาว่าในจิตใจเขามีมโนธรรมหรือความคิดดีอย่างไร ในระยะใกล้นี้อาจารย์คิดว่าพอเป็นไปได้หรือไม่ที่ สทศ. จะนำเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมมาเป็นส่วนหนึ่งในการให้กำลังใจหรือให้โอกาสเด็กดี แต่เชาว์อาจจะสูงไม่เท่ากับคนกลุ่มแรก

(๑) ปัญญา ที่วัดเป็นความถนัด กับ ที่วัดเป็น ไอคิว นั้น เป็น "ความสามารถที่จะเรียนรู้และที่จะคิด" ในมหาวิทยาลัยมีความรู้ลึกๆที่ต้องใช้ความสามารถดังกล่าวไปเรียนรู้ หากมีความสามารถนั้นไม่พอก็จะเรียนรู้ไม่ได้ ไม่เข้าใจ เช่น บางคนต้องฟังซ้ำๆหลายครั้งก็ยังไม่เข้าใจ บางคนต้องลงทะเบียนเรียนซ้ำจึงจะเข้าใจ ฯลฯ ดังนั้น ผู้สอนเขาจึงต้องการคนที่เข้าใจ "เร็ว" เขาจึง "เลือกเอาคนที่มีความสามารถที่จะเข้าใจได้เร็ว" จึงมีการสอบคัดเลือกกัน

(๒) ส่วนในด้านมโนธรรมนั้น "ไม่ใช่" เครื่องมือของ "การเรียนรู้" จึงไม่ได้ใช้เป็นตัวแปรคัดเลือกเข้าเรียน

(๓) แต่ในทุกสาขาวิชา จะมีรายวิชาที่ชื่อว่า "Ethic......" เช่น "จริยธรรมของแพทย์" "จริยธรรมของนักวิทยาศาสตร์" "จริยธรรมของ ....... " ฯลฯ

สวัสดีครับอาจารย์ ใจผมยังอยากเห็นการพิจารณาเรื่องการให้คุณค่าเรื่องคุณธรรมจริยธรรมเป็นคะแนนพิเศษ ให้แต่ละสถาบันการศึกษาได้พิจารณา เพราะไปการไปสอนที่หลังในรายวิชาจริยธรรมทางอาชีพ .....อาจจะช้าไป เพราะจะกลายเป็นว่าความรู้นำคุณธรรม มิใช่คุณธรรมเป็นช่วยกำกับความรู้ เช่นที่ประเทศเรามีสภาพปัจจุบันในปัจจุบัน ผมคิดว่าเราน่าจะทบทวนน่ะครับ อาจารย์ช่วยชี้แนะหน่อยครับ

โดยทั่วๆไปคนคิดกันอย่างนี้

(๑) ปัญญาทำให้สร้างรถ สร้างยานอวกาศ ฯลฯ คือทำให้โลกก้าวหน้าได้ แต่คุณธรรมจริยธรรมไม่

(๒) ปัญญาช่วยให้เอาชีวิตรอด แต่คุณธรรม ไม่

(๓) ปัญญาทำให้ได้เงิน เมื่อได้เงิน ก็ได้สิ่งที่ต้องการ และมีความสุข แต่คุณธรรม ไม่

(๔) การแสวงหาเงินมาหาความสุข เป็นตัวแปรกระตุ้นความอยาก หรือกิเลส แต่คุณธรรม ลดความอยาก

(๕) ตัวแปรกระตุ้นความอยากตัวสำคัญคือ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ฯลฯ

ปัญญาเป็นหนทางให้เงินไหลเข้ากระเป๋า (เช่นแพทย์)

แต่คุณธรรมเป็นหนทางให้เงินไหลออกจากกระเป๋า (เช่นพระเวสสันดร)

ปัญญาจึงเป็นเครื องมือให้บรรลุความอยาอมากกว่าคุณธรรม

คนส่วนใหญ่จึงเน้น ปัญญา มากกว่า คุณธรรม ด้วยเหตุผลง่ายๆดังนี้แล

พอเข้าใจได้ คนทั่ว ๆ ไป ผมอาจจะเป็นคนไม่ใช่ทั่ว ๆ ไป ตามทฤษฎี 75 ของอาจารย์ อาจารย์ครับเมื่อปลายปีที่แล้ว 2552 ผมได้เจอท่านอาจารย์ที่งานแต่งน้องสาวคนนึง ที่โรงแรมธรรมรินทร์ธนา จ.ตรัง งานน้องเมย์ เมื่อก่อนน้องเขาเคยทำงานที่ ม.วลัยลักษณ์ ปัจจุบัน กลับไปทำงานที่บ้าน ที่ มอ.ตรัง ระลึกถึงท่านอาจารย์เสมอครับ

สวัสดี คุณเอกราช แก้วเขียว

เห็นชื่อคุณก็รู้สึกอบอุ่น ดีใจ และขอบคุณมากที่บอกข่าว ผมฝากความคิดถึงไปยังคุณหนูด้วย อ้อ เวลาผมพูดถึงคนทั่วไป ผมหมายถึงกลุ่มคนตรงกลางโค้งปรกติประมาณ ๖๘ % ครับ ส่วนกลุ่มปลายโค้งทางบวก อย่างเช่นคุณเอกราชนั้น ยกเว้น ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท