การเพิ่มชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน ภาค ๒


การเพิ่มชื่อ

การเพิ่มชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน ภาค ๒ (ต่อจากภาคแรก)

๙. กรณีบุคคลที่มีรายการ ”ตายหรือจำหน่าย” ในทะเบียนบ้านฉบับที่มีเลข ๑๓ หลัก เนื่องจากแจ้งตายผิดคนหรือสำคัญผิดในข้อเท็จจริงขอเพิ่มชื่อ

         สถานที่ยื่นคำร้อง ได้แก่ สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่บุคคลนั้นเคยมีชื่อในทะเบียนบ้านก่อนถูกจำหน่าย

         ผู้ยื่นคำร้อง ได้แก่ เจ้าบ้าน หรือผู้ที่ขอเพิ่มชื่อ

         หลักฐานประกอบการแจ้ง

         (๑) สำเนาทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) ของบ้านที่จะขอเพิ่มชื่อ

         (๒) บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร้อง (ถ้ามี)

         (๓) ทะเบียนบ้านที่มีบันทึกรายการตายหรือจำหน่ายของบุคคลที่ขอเพิ่มชื่อ 

         (๔) มรณบัตร (กรณีบุคคลที่ถูกจำหน่ายตาย) หรือใบรับแจ้งการตาย

         (๕) เอกสารที่ราชการออกให้ (ถ้ามี) เช่น หลักฐานการศึกษา หลักฐานทางทหาร เป็นต้น

         (๖) พยานบุคคลที่น่าเชื่อถือซึ่งสามารถรับรองและยืนยันตัวบุคคลได้

นายทะเบียน 

         (๑) ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานที่ผู้ร้องนำมาแสดง

         (๒) ตรวจฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรเพื่อตรวจสอบว่าผู้ร้องมีชื่อในทะเบียนบ้านแห่งอื่นหรือไม่

         (๓) สอบสวนผู้ร้อง เจ้าบ้าน และบุคคลที่น่าเชื่อถือให้ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและรายการบุคคลของผู้ขอเพิ่มชื่อ และสาเหตุที่มีการแจ้งตาย หรือขอจำหน่ายรายการบุคคลของผู้ที่ขอเพิ่มชื่อเพื่อตรวจสอบว่ามีการแจ้งโดยทุจริตหรือไม่      

         (๔) รวบรวมหลักฐานพร้อมความเห็นเสนอนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตพิจารณา

         (๕) เมื่อนายอำเภอพิจารณาอนุมัติแล้ว ให้รายงานสำนักทะเบียนกลางเป็นการเฉพาะรายเพื่อแก้ไขฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรก่อน เมื่อได้รับแจ้งจากสำนักทะเบียนกลางจึงดำเนินการปรับปรุงสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน (ท.ร.๑๔)  โดยหมายเหตุในช่องบันทึกการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการว่า “บุคคลลำดับที่.. ยกเลิกการตายหรือการจำหน่ายตาย .. ตามคำร้องที่...ลงวันที่..” แล้วให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อและวันเดือนปีกำกับไว้

         (๖) มอบสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านพร้อมหลักฐานให้แก่ผู้ร้องพร้อมแนะนำให้ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไป

         (๗) กรณีการจำหน่ายตายผิดข้อเท็จจริงโดยใช้หลักฐานมรณบัตร ให้นายทะเบียนดำเนินการยกเลิกมรณบัตรตามระเบียบกำหนดไว้

๑๐. กรณีคนที่ ได้รับสัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ หรือโดยการแปลงสัญชาติ ขอสัญชาติไทยตามสามี หรือขอกลับคืนสัญชาติไทย

         สถานที่ยื่นคำร้อง  ได้แก่  สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่บุคคลนั้นมีภูมิลำเนาอยู่

         ผู้ยื่นคำร้อง ได้แก่ เจ้าบ้าน บิดา มารดา หรือผู้ที่ขอเพิ่มชื่อ

         หลักฐานประกอบการแจ้ง

         (๑) สำเนาทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) ของบ้านที่จะขอเพิ่มชื่อ

         (๒) บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร้อง (ถ้ามี)

         (๓) เอกสารที่ราชการออกให้ซึ่งแสดงว่าเป็นผู้ได้สัญชาติไทย (ถ้ามี) เช่น หนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติ ประกาศกระทรวงมหาดไทย สำเนาคำสั่ง หรือคำพิพากษาของศาล เป็นต้น

         (๔) หลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) เช่น บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย สำเนาทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติ ใบสำคัญถิ่นที่อยู่หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หลักฐานการศึกษา เป็นต้น

         (๕) พยานบุคคลที่น่าเชื่อถือซึ่งสามารถรับรองและยืนยันตัวบุคคลได้

๑๐.๑ กรณีผู้ร้องมีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน (ท.ร. ๑๔) และได้รับสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ  

นายทะเบียน

         (๑) เรียกและตรวจสอบหลักฐานของผู้แจ้ง  

         (๒) สอบสวนเจ้าบ้านและบุคคลที่ขอเพิ่มชื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติ และรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้ขอเพิ่มชื่อและบิดา มารดา

         (๓) เมื่อนายทะเบียนอนุญาต ให้แก้ไขรายการสัญชาติและเลขประจำตัวประชาชนในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) โดยกำหนดเลขประจำตัวประชาชน ให้ใหม่เป็นบุคคลประเภท ๘ แต่ถ้าบุคคลดังกล่าวมีเลขประจำตัวประชาชนบุคคลประเภท ๘ อยู่แล้ว ให้แก้ไขเฉพาะรายการสัญชาติในทะเบียนบ้าน

         (๔) มอบสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน (ท.ร. ๑๔) พร้อมด้วยหลักฐานประกอบการแจ้งคืนให้แก่ผู้ร้องและแนะนำให้ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไป

 ๑๐.๒ กรณีผู้ร้องมีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๓) และได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ หรือโดยการขอคืนหรือขอมีหรือขอถือสัญชาติไทยตามสามี

 นายทะเบียน

         (๑) เรียกและตรวจสอบหลักฐานของผู้แจ้ง  

         (๒) สอบสวนเจ้าบ้านและบุคคลที่ขอเพิ่มชื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติและรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้ขอเพิ่มชื่อและบิดา มารดา

         (๓) เมื่อนายทะเบียนอนุญาต ให้จำหน่ายชื่อและรายการบุคคลออกจากทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๓) หรือทะเบียนบ้านกลาง (ท.ร.๑๓) แล้วแต่กรณีโดยประทับ คำว่า “จำหน่าย” หน้ารายการบุคคลและบันทึกในช่องย้ายออก ว่า  “คำร้องที่..ลงวันที่..” พร้อมลงลายมือชื่อกำกับไว้

         (๔) ดำเนินการเพิ่มชื่อและรายการบุคคลเข้าในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) หรือทะเบียนบ้านกลาง (ท.ร.๑๔) กำหนดเลขประจำตัวประชาชนให้เป็นบุคคลประเภท ๘ โดยหมายเหตุในช่องย้ายเข้ามาจาก  ว่า “คำร้องที่...ลงวันที่...”  พร้อมลงลายมือชื่อกำกับไว้   

         (๕)  มอบสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน (ท.ร. ๑๔) พร้อมด้วยหลักฐานประกอบการแจ้งคืนให้แก่ผู้ร้อง และแนะนำให้ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไป

๑๑.  คนที่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดโดยบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยสัญชาติซึ่งไม่อาจพิจารณาเป็นอย่างอื่นขอเพิ่มชื่อ

         สถานที่ยื่นคำร้อง ได้แก่  สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่บุคคลนั้นมีภูมิลำเนาอยู่

         ผู้ยื่นคำร้อง ได้แก่ เจ้าบ้าน บิดา มารดา หรือผู้ที่ขอเพิ่มชื่อ

         หลักฐานประกอบการแจ้ง

         (๑) สำเนาทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) ของบ้านที่จะขอเพิ่มชื่อ

         (๒) บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร้อง (ถ้ามี)

         (๓) หลักฐานทะเบียนที่มีรายการบุคคลของผู้ขอเพิ่มชื่อ (ถ้ามี) เช่น บัญชีสำมะโนครัว ทะเบียนสมรส หนังสือสำคัญการจดทะเบียนรับรองบุตร เป็นต้น              

         (๔) เอกสารทะเบียนราษฎร (ถ้ามี) เช่นทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๓ ) ทะเบียนประวัติ (ท.ร. ๓๘/๑ หรือ   ท.ร. ๓๘ ข)

         (๕) เอกสารที่ราชการออกให้ (ถ้ามี) เช่น หลักฐานการศึกษา หลักฐานทางทหาร ใบสำคัญถิ่นที่อยู่หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของบิดา และมารดา (กรณีผู้ขอเพิ่มชื่อมีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว)

         (๖) พยานบุคคลที่น่าเชื่อถือซึ่งสามารถรับรองและยืนยันตัวบุคคลได้

นายทะเบียน 

         (๑) เรียกและตรวจสอบหลักฐานของผู้แจ้ง  

         (๒) สอบสวนเจ้าบ้าน บิดา มารดา (ถ้ามี) ผู้ขอเพิ่มชื่อ   และบุคคลที่น่าเชื่อถือให้ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของผู้ขอเพิ่มชื่อและบิดา มารดา โดยเฉพาะข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานที่เกิด และสัญชาติ

         (๓) เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นอนุญาต ให้ดำเนินการเพิ่มชื่อบุคคลดังกล่าวในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน (ท.ร.๑๔)  กำหนดเลขประจำตัวประชาชนเป็นบุคคลประเภท ๕ โดยหมายเหตุในช่องย้ายเข้ามาจาก ว่า “คำร้องที่.. ลงวันที่..” แล้วให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อและวันเดือนปีกำกับไว้

         (๔) มอบสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน (ท.ร. ๑๔) พร้อมด้วยหลักฐาน ประกอบการแจ้งคืนให้แก่   ผู้ร้อง และแนะนำให้ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไป

ข. คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยขอเพิ่มชื่อ แบ่งออกเป็น

    ๑. กรณีคนที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและเคยมีชื่อในทะเบียนบ้านขอเพิ่มชื่อ

    ๒. กรณีคนที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยขอเพิ่มชื่อ

    ๓. กรณีคนที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอยู่อาศัยในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษขอเพิ่มชื่อ

    ๔. กรณีคนที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ชั่วคราวในราชอาณาจักรไทยขอเพิ่มชื่อ

กฎหมาย

๑. กฎกระทรวงกำหนดให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรและกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม พ.ศ. ๒๕๕๑

     ข้อ ๒  คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยในกฎกระทรวงนี้ หมายถึง

                (๑) คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และมีใบสำคัญถิ่นที่อยู่หรือใบสำคัญประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองหรือกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว แล้วแต่กรณี และบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

                (๒) คนต่างด้าวซึ่งได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

                (๓) คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

                (๔) คนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

                                                        ฯลฯ

     ข้อ ๔  ให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยดังต่อไปนี้ ปฏิบัติเกี่ยวกับการเพิ่มชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน ...และการจัดทำทะเบียนประวัติ

               (๑) คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามข้อ ๒ (๑)

               (๒) คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามข้อ ๒ (๒) ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านตามมาตรา ๓๘  วรรคหนึ่ง

     ข้อ ๕  ให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยดังต่อไปนี้ ปฏิบัติเกี่ยวกับการสำรวจตรวจสอบหรือปรับปรุงการทะเบียนราษฎร การจัดทำทะเบียนประวัติ ...

               (๑) คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามข้อ ๒ (๒) ที่นอกจากข้อ ๔ (๒)

               (๒) คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามข้อ ๒ (๔) ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดให้มีทะเบียนประวัติตามมาตรา ๓๘ วรรคสอง

     ข้อ ๖  คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามข้อ ๒ (๓) หากมีความประสงค์จะปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรตามข้อ ๔ ให้ร้องขอต่อนายทะเบียนเพื่อดำเนินการให้ได้

 

๒. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการจัดทำทะเบียนบ้าน และการจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ ลงวันที่  ๑๘ กันยายน ๒๕๕๑

      ข้อ ๑ คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ให้นายทะเบียนอำเภอและนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านและบันทึกรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๓) ตามมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง ได้แก่

               (๑) คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยเนื่องจากการสละสัญชาติไทย การถูกถอนสัญชาติไทยหรือการเสียสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ และยังไม่ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว

               (๒) คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว

                (๓) คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งมีเงื่อนไขว่าไม่สามารถส่งกลับประเทศต้นทางได้ หรือมีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้สถานะการอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรได้ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองหรือกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

                (๔) บุตรของคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตาม (๑)  (๒) หรือ (๓) ที่เกิดในราชอาณาจักร และไม่ได้สัญชาติไทย                               

      ข้อ ๒ คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดทำทะเบียนประวัติตามมาตรา ๓๘ วรรคสอง ได้แก่

               (๑) คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองโดยมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของการผ่อนผันไว้อย่างชัดเจนเป็นเวลาน้อยกว่าห้าปี หรือไม่มีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้สถานะการอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองหรือกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้สัญชาติไทย

               (๒) คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยกลุ่มอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร นอกจากกลุ่มบุคคลตามข้อ ๑ และ (๑) ของข้อนี้

ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติ

๑. กรณีคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและเคยมีชื่อในทะเบียนบ้านขอเพิ่มชื่อ

         สถานที่ยื่นคำร้อง ได้แก่ สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่บุคคลนั้นมีภูมิลำเนาอยู่

         ผู้ยื่นคำร้อง ได้แก่ เจ้าบ้าน หรือผู้ที่ขอเพิ่มชื่อ

         หลักฐานประกอบการยื่นคำร้อง

         (๑) สำเนาทะเบียนบ้าน (ท.ร. ๑๔) ของบ้านที่จะขอเพิ่มชื่อ

         (๒) บัตรประจำตัวของเจ้าบ้าน (ถ้ามี)

         (๓) ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของผู้ขอเพิ่มชื่อ หรือหนังสือรับรองที่หน่วยงานของรัฐออกให้เพื่อรับรองการได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่

         (๔) สำเนาทะเบียนบ้านที่คนต่างด้าวผู้นั้นเคยมีชื่อปรากฏอยู่ (ถ้ามี)

         (๕) สำเนาทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๓) หรือสำเนาทะเบียนประวัติ (ถ้ามี)

         (๖) พยานบุคคลที่น่าเชื่อถือซึ่งสามารถให้การรับรองและยืนยันตัวบุคคลได้

นายทะเบียน

         (๑) ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานที่ผู้ร้องนำมาแสดง

         (๒) ตรวจฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรเพื่อตรวจสอบว่าผู้ร้องมีชื่อในทะเบียนบ้านแห่งอื่นหรือไม่

         (๓) สอบสวนผู้ร้องและเจ้าบ้าน ให้ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและรายการบุคคลของผู้ขอเพิ่มชื่อ และความยินยอมให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (กรณีสอบสวนเจ้าบ้าน)

         (๔) รวบรวมหลักฐานและความเห็นเสนอนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตพิจารณา

         (๕) เมื่อนายอำเภออนุญาตตามคำร้อง ให้นายทะเบียนเพิ่มชื่อบุคคลดังกล่าวในทะเบียนบ้าน (ท.ร. ๑๔) ตามรายการที่ปรากฏในใบสำคัญถิ่นที่อยู่หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว  กำหนดให้เลขประจำตัวประชาชนเป็นบุคคลประเภท 8 โดยหมายเหตุในทะเบียนบ้านตรงช่องย้ายเข้ามาจาก ว่า “คำร้องที่...ลงวันที่...” แล้วลงลายมือชื่อและวันเดือนปีกำกับไว้

         (๖) มอบสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านพร้อมหลักฐานประกอบการแจ้งคืนให้แก่ผู้ร้องพร้อมแนะนำให้ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๕ ปีขึ้นไป

๒. กรณีคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวรขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔)

          สถานที่ยื่นคำร้อง ได้แก่  สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่บุคคลนั้นมีภูมิลำเนาอยู่

          ผู้ยื่นคำร้อง ได้แก่ เจ้าบ้าน บิดา มารดา หรือผู้ที่ขอเพิ่มชื่อ

          หลักฐานประกอบการยื่นคำร้อง

          (๑) สำเนาทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) ของบ้านที่จะขอเพิ่มชื่อ

          (๒) บัตรประจำตัวของเจ้าบ้าน (ถ้ามี)

          (๓) ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของผู้ขอเพิ่มชื่อ หรือหนังสือรับรองที่หน่วยงานของรัฐออกให้เพื่อรับรองการได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่

          (๔) สำเนาทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๓) หรือสำเนาทะเบียนประวัติ บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ถ้ามี)

          (๕) พยานบุคคลที่น่าเชื่อถือ ได้แก่ เจ้าบ้าน

นายทะเบียน

          (๑) ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานที่ผู้ร้องนำมาแสดง

          (๒).ตรวจฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรเพื่อตรวจสอบว่าผู้ร้องมีชื่อในทะเบียนบ้านแห่งอื่นหรือไม่

          (๓) สอบสวนผู้ร้องและเจ้าบ้าน ให้ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและรายการบุคคลของผู้ขอเพิ่มชื่อ และความยินยอมให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (กรณีสอบสวนเจ้าบ้าน)

          (๔) เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นอนุญาตตามคำร้อง ให้นายทะเบียนเพิ่มชื่อบุคคลดังกล่าวในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) ตามรายการที่ปรากฏในใบสำคัญถิ่นที่อยู่หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว  กำหนดให้เลขประจำตัวประชาชนเป็นบุคคลประเภท 8 โดยหมายเหตุในทะเบียนบ้านตรงช่องย้ายเข้ามาจาก ว่า “คำร้องที่...ลงวันที่...” แล้วให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อและวันเดือนปีกำกับไว้

          (๕) มอบสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน (ท.ร. ๑๔) พร้อมหลักฐานประกอบการแจ้งคืนให้แก่      ผู้ร้อง และแนะนำให้ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๕ ปีขึ้นไป

๓. กรณีคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยได้รับการผ่อนผันให้อยู่พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หรือกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ รวมทั้งบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักร และไม่ได้สัญชาติไทย มีความประสงค์ขอเพิ่มชื่อ

          สถานที่ยื่นคำร้องด้แก่ สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่บุคคลนั้นมีภูมิลำเนาอยู่

          ผู้ยื่นคำร้อง ได้แก่ เจ้าบ้าน บิดา มารดา หรือผู้ที่ขอเพิ่มชื่อ

          หลักฐานประกอบการยื่นคำร้อง

           (๑) สำเนาทะเบียนบ้านของบ้านที่จะขอเพิ่มชื่อ

           (๒) บัตรประจำตัวของเจ้าบ้าน (ถ้ามี)

           (๓) หลักฐานทะเบียนบ้าน หรือทะเบียนประวัติ และบัตรประจำตัวของบิดา มารดา และของผู้ขอเพิ่มชื่อ (ถ้ามี)

           (๔) หลักฐานอื่นที่ทางราชการออกให้ (ถ้ามี) เช่น ใบอนุญาตทำงาน หลักฐานการศึกษา เป็นต้น

           (๕) พยานบุคคลที่น่าเชื่อถือซึ่งสามารถรับรองและยืนยันตัวบุคคลได้

นายทะเบียน

           (๑) ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานที่ผู้ร้องนำมาแสดง

           (๒) ตรวจฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรเพื่อตรวจสอบว่าผู้ร้องมีชื่อในทะเบียนบ้านแห่งอื่นหรือไม่

           (๓) สอบสวนผู้ร้องและพยานบุคคล ให้ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและรายการบุคคลของผู้ขอเพิ่มชื่อ สถานที่เกิด สถานะการอาศัยอยู่ในประเทศไทยของผู้ขอเพิ่มชื่อ และความยินยอมให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (กรณีสอบสวนเจ้าบ้าน)

           (๔) ตรวจสอบคุณสมบัติขอผู้ขอเพิ่มชื่อว่าเป็นบุคคลที่ได้รับผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษหรือไม่ เป็นกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาไม่สามารถส่งกลับประเทศต้นทางหรือเป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่น้อยกว่า ๕ ปี หรือไม่ (ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่รัฐบาลมีนโยบายให้สถานะตามกฎหมาย)

           (๕) รวบรวมหลักฐานพร้อมความเห็นเสนอนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตพิจารณา

           (๖) เมื่อนายอำเภออนุญาตตามคำร้อง ให้นายทะเบียนเพิ่มชื่อบุคคลดังกล่าวในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๓) ตามรายการที่ปรากฏในทะเบียนประวัติหรือแบบสำรวจ (ถ้ามี) กำหนดให้เลขประจำตัวประชาชนเป็นบุคคลประเภท ๖ โดยหมายเหตุในทะเบียนบ้านตรงช่องย้ายเข้ามาจาก ว่า “คำร้องที่...        ลงวันที่...” แล้วลงลายมือชื่อและวันเดือนปีกำกับไว้

           (๗) มอบสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านพร้อมหลักฐานให้แก่ผู้ร้องพร้อมแนะนำให้ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๕ ปีขึ้นไป

           (๘)  กรณีนายอำเภอแจ้งผลการพิจารณาว่าผู้ขอเพิ่มชื่อเป็นบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศให้จัดทำทะเบียนบ้าน (ท.ร. ๑๓) ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร. ๓๘ ก) ให้แก่บุคคลนั้นโดยกำหนดเลขประจำตัวเป็นบุคคลประเภท ๐

๔. กรณีคนต่างด้าวที่มีหนังสือเดินทางเข้ามาในประเทศไทยซึ่งระยะเวลาการอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยยังไม่สิ้นสุด มีความประสงค์ขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน

           สถานที่ยื่นคำร้อง ได้แก่  สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่บุคคลนั้นมีภูมิลำเนาอยู่

           ผู้ยื่นคำร้อง ได้แก่ เจ้าบ้าน หรือผู้ที่ขอเพิ่มชื่อ

           หลักฐานประกอบการยื่นคำร้อง

           (๑) สำเนาทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔ หรือ ท.ร.๑๓) ของบ้านที่จะขอเพิ่มชื่อ

           (๒) บัตรประจำตัวของเจ้าบ้าน (ถ้ามี)

           (๓) หนังสือเดินทางของผู้ขอเพิ่มชื่อพร้อมสำเนาซี่งแปลเป็นภาษาไทยโดยสถาบันที่น่าเชื่อถือ

           (๔) พยานบุคคลที่น่าเชื่อถือ ได้แก่ เจ้าบ้าน

นายทะเบียน

           (๑) ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานที่ผู้ร้องนำมาแสดง

           (๒) ตรวจฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรเพื่อตรวจสอบว่าผู้ร้องมีชื่อในทะเบียนบ้านแห่งอื่นหรือไม่

           (๓) สอบสวนผู้ร้องและเจ้าบ้าน ให้ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและรายการบุคคลของผู้ขอเพิ่มชื่อรวมทั้งเหตุผลความจำเป็นที่ขอเพิ่มชื่อ  และความยินยอมให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน

           (๔) เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นอนุญาตตามคำร้อง ให้นายทะเบียนเพิ่มชื่อบุคคลดังกล่าวในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๓) ตามรายการที่ปรากฏในหนังสือเดินทาง กำหนดให้เลขประจำตัวประชาชนเป็นบุคคลประเภท ๖ โดยหมายเหตุในทะเบียนบ้านตรงช่องย้ายเข้ามาจาก ว่า “คำร้องที่...ลงวันที่...” แล้วลงลายมือชื่อและวันเดือนปีกำกับไว้

           (๕) มอบสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านพร้อมหลักฐานประกอบการแจ้งคืนให้แก่ผู้ร้องโดยไม่ต้องแนะนำให้ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เนื่องจากบุคคลกลุ่มนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎกระทรวง

กรณีศึกษาเรื่องการเพิ่มชื่อ

            กรณีที่ ๑. นางสายอรุณ  แสงนิมิต ยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านให้แก่บุตรของตนเองจำนวน ๓ คนที่เกิดกับสามีสัญชาติพม่า ได้แก่ นายสุรัตน์  นางสาววนิดา และนายเอกพล โดยแจ้งว่าบุตรทั้งสามคนเกิดที่ประเทศพม่า คนแรกเกิดปี พ.ศ.๒๕๓๒ คนที่สองเกิดปี พ.ศ.๒๕๓๔ และคนที่สามเกิดปี พ.ศ.๒๕๓๖ นางสายอรุณฯ มีหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเก่าที่ไม่มีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก และมีบัตรประจำตัวประชาชนรุ่นขาว-ดำ ที่หมดอายุแล้ว ส่วนบุตรทั้งสามคนไม่มีหลักฐานเอกสารใดๆ  นายทะเบียนสามารถเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านได้หรือไม่ อย่างไร

            แนวการวินิจฉัย  เมื่อพิจารณาตามหลักกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ จะเห็นว่านายสุรัตน์ และนางสาววนิดา  เกิดในช่วงของการบังคับใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งตามมาตรา ๗ (๒) กำหนดว่าผู้เกิดนอกราชอาณาจักรไทยโดยมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือบิดาไม่มีสัญชาติย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด นายสุรัตน์ และนางสาววนิดา มีมารดาสัญชาติไทย บิดาสัญชาติพม่า บุคคลทั้งสองจึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา ๗ (๒)  ส่วนนายเอกพล เกิดในช่วงของการบังคับใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งตามมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘  ที่ถูกแก้ไขโดยพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดว่าผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทยย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด นายเอกพล มีมารดาสัญชาติไทย จึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา ๗ (๑)  เมื่อเป็นเช่นนี้ นายทะเบียนจึงสามารถเพิ่มชื่อบุคคลทั้งสามในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) ในสถานะเป็นผู้มีสัญชาติไทยได้โดยปฏิบัติตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๕ ข้อ ๑๐๓  เพียงแต่มีประเด็นเรื่องหลักฐานของผู้ยื่นคำร้องที่จะพิสูจน์ว่านาย   สุรัตน์ นางสาววนิดา และนายเอกพล เป็นบุตรของนางสายอรุณ แสงนิมิต จริง ซึ่งนอกจากการสอบสวนพยานบุคคลที่รู้เห็นการเกิดเพื่อยืนยันความเป็นมารดาและบุตรของบุคคลดังกล่าว (น่าจะทำได้ยากเนื่องจากเป็นการเกิดนอกราชอาณาจักร) อาจจะต้องใช้วิธีการตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งหากผลการตรวจปรากฏว่ามีความสัมพันธ์เป็นมารดาและบุตรกันจริง อาจไม่จำเป็นต้องใช้พยานบุคคลรับรอง

หมายเลขบันทึก: 308456เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2009 16:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 10:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 กรณีคนต่างด้าวที่มีหนังสือเดินทางเข้ามาในประเทศไทยซึ่งระยะเวลาการอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยยังไม่สิ้นสุด มีความประสงค์ขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน

           สถานที่ยื่นคำร้อง ได้แก่  สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่บุคคลนั้นมีภูมิลำเนาอยู่

           ผู้ยื่นคำร้อง ได้แก่ เจ้าบ้าน หรือผู้ที่ขอเพิ่มชื่อ

 *** ผมมีทะเบียนอยู่ที่อำเภอเชียงดาว จ.เชียงใหม่(ผมเป็นเจ้าบ้าน) แต่ผมอยู่ที่กรุงเทพ20ปี(บ้านเช่าเดือนละหมื่น) ผมต้องเอาภรรยา(สัญชาติพม่าจดทะเบียนสมรส.สามีไทย)เข้าทะเบียน.ผมต้องเดินทางไปเชียงใหม่.ไปมาค่าใช้จ่ายหลายบาท.การแจ้งหรือเพิ่มชื่อ กรณีคนต่างด้าวที่มีหนังสือเดินทางเข้ามาในประเทศไทยซึ่งระยะเวลาการอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยยังไม่สิ้นสุด มีความประสงค์ขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ควรจะให้แจ้งหรือเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนในทุกๆอำเภอหรือทั่วประเทศ ประหยัดค่าใช้จ่าย และ เวลา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท