เรื่องเล่าชาวอีสานฟันดี 1


ขอบคุณ....ความงดงามในความแตกต่างของเมล็ดพันธุ์ที่ดีพอเห็นได้ชัด

เรื่องเล่าชาวอีสานฟันดี

(ตอนที่ 1 ขอบคุณ)

อากาศครึ้มสลัวฝนท่าจะตก เสียงคุยสองสาวกับหนึ่งพี่ชายหนุ่มในรถประหยัดพลังงานเติมแก้ส มุ่งหน้ากลับบ้านหนองคาย หนองบัวลำภูและอุดรธานี เป็นบ่ายแก่ วันดีอีกวันที่น่าจดจำ หลังสองวันหนึ่งคืนในการใช้ชีวิตร่วมกันของทีมทันตแพทย์พี่เลี้ยงและทันตแพทย์ผู้นำอำเภอของภาคอิสาน ที่ราชาวดีรีสอร์ทติดกับสนามบินขอนแก่น แวดล้อมด้วยหมู่ต้นปีบส่งกลิ่นหอมกรุ่นกำจาย เรือนไม้น่าอยู่ สนามเขียวน่าเดิน เก้าอี้ไม้รูปทรงแปลกตาน่านั่งทุกมุม สะพานโค้งสวยราวภาพวาด น้ำตกไหลแรงชุ่มฉ่ำ หงส์ขาวไซ้ขนเล่นน้ำมีชีวิตชีวา พรั่งพร้อมด้วยการต้อนรับอบอุ่น

ช่วงเวลา 15 – 16 ตุลาคม 2552 ได้พบเจอแต่คนดี ๆ เหตุการณ์ดี ๆ มีแง่มุมดี ๆ ให้น่าทึ่งน่าค้นหา เพียงเสี้ยวหนึ่งที่เห็นเป็นจุดเด่นเท่าที่ค้นพบ ขอบคุณพี่แดงมานิตช่างเชื่อมช่างประสาน ทั้งส่วนกลางกองทันตสาธารณสุขและพี่ ๆ น้อง ๆ ทั่วภาคอิสาน ให้พวกเราได้พบกัน บางคน 2 บางคน 3 ครั้งหรือมากกว่า พี่เฮาส์มหาราชช่างเปลี่ยน (แปลง) ผู้นำการเปลี่ยนแปลง Change agent ทำให้โครงการในกระดาษ สู่การปฏิบัติ ทำให้พวกเราออกจากที่ทำงาน เดินทางมาปฏิบัติราชการตั้งวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้การส่งเสริมสุขภาพช่องปากได้ในทั้ง 2 ครั้งระดับภาค และอีก 3 จุดเชื่อม (Node) ของภาค พี่เอื้อกองทันตฯ ช่างเอื้อช่างขยาย (ความสำเร็จ) ให้ขจรขจายออกในวงกว้างเชื่อมโยงทั้ง 4 ภาคและส่วนกลางระดับประเทศ ขอบคุณพี่ล่าหนองคายช่วยขับรถ เป็นช่างหนุน (สนับสนุน) ไม่เคยขีดเส้นทำให้รู้สึกอยู่ในกรอบ เอื้ออำนวยทุกสิ่งให้น้องได้ปลดปล่อยศักยภาพ

ขอบคุณพี่แอ็ดลำปลายมาศช่างซัก (ถาม) ด้วยความรู้สึกดี ๆ ต่อกัน ด้วยความนบน้อม ไม่ยกตัวว่าเป็นพี่หรือเหนือกว่าชาวบ้าน คนฟังอยากตอบ น้องจุ๋มมัญจาคีรีช่างตี (ความ) ให้ความหมายแตกยอดต่อกิ่ง ยิ่งแตกต่างยิ่งงดงาม ต่างฉากทัศน์ความหมายต่าง ฝึกสมองประลองรอยหยัก น้องกวนท่าคันโท น้องตั๊กพนมไพร ช่างสำรวจ ขยันขันแข็งตระเวนหาความรู้ในทุก ๆ ที่ มีมานะใส่ใจเก็บเกี่ยวความรู้เพิ่มพูนใส่ตัว ช่างเสาะหาสิ่งดีมองโลกแง่งามแม้ยามคับขัน ช่างชื่นชม (เชิงบวก) ชื่นชมคนอื่นเป็น เป็นพรสวรรค์ที่น่ายินดี ขอบคุณน้องหนิงครบุรีช่างเปิด (ใจ) กล้าเล่าสิ่งที่เคยท้อ เคยถอย เคยข้ามอุปสรรค ให้บทเรียนอันมีค่าแก่เพื่อนได้ใช้เป็นทางลัด น้องหนิงม่วงสามสิบช่างแลกเปลี่ยน (เรียนรู้) ยอมรับความรู้อีกด้าน ในมุมอื่น ในมุมต่าง ในมุมที่ยังไม่เห็นเอง แต่ยอมรับฟังก่อน ยอมสละซึ่งตัวตนในบางคราว เพื่อผลสุขสบายใจของหมู่เพื่อน

ขอบคุณพี่เล้งราษีไศลช่างก่อ เห็นการก่อร่างสร้างฐานแน่นหนา เสาหลักหยั่งลึกมั่นคงแข็งแรง ทั้งการงานและชีวิตส่วนตัว น้องเยาว์โพนทองช่างทดลอง (ปฏิบัติ) กล้าหาญชาญชัย กล้าลงมือทำไม่หยุดหย่อน รวบรวมเปรียบเทียบคัดกรองสิ่งดี น้องแบงค์ยางสีสุราชช่างปรับ (ประยุกต์) ไม่คาดว่าจะมีฟันเทียม Delivery และหลายสิ่งที่ถิ่นกันดารจะทำได้ น้อง Nook อินเตอร์ High technology ช่างสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ให้นวัตกรรมเผยแพร่แก่ชาวโลกไม่เฉพาะร้อยเอ็ด น้องหนิงยโสธรช่างคิด (นอกกรอบ) ไม่กลัวลมพายุมืดสายฟ้าฟาด เห็นแสงสว่างหลังฟ้าเปิด มีกำลังใจเต็มเปี่ยม แสวงหาช่องทางและโอกาสเสมอ

ขอบคุณพี่ต่วงเดชอุดมช่างทำ (งานเป็นทีม) ทุ่มเทสานพลังผลิตผลงานอันทรงคุณค่าที่ 1 + 1 สิบสามตัว ได้มากกว่า 13 น้องเอ๋ห้าสิบพรรษาช่างเล่า (เรื่องดี) ประมวล วิเคราะห์ สังเคราะห์ เรียบเรียง รวบยอด ใช้สมองสองซีกกลั่นให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย น้องส้มด่านขุนทดช่างฝัน คิดยาว คิดกว้าง คิดไกล กล้าที่จะฝัน แบ่งปัน และฝันร่วมกับทีมงาน น้องเหรียญนากลางช่างเขียน (บันทึก) จด จด จดและจดบันทึก ย่อยสลาย จินตนาการสร้างสรรค์ ผลิตงานเขียนอันน่าชื่นชม มีสาระ ทักษะสื่อสารเป็นเลิศ เข้าใจดี กระชับเป็นขั้นเป็นตอน

ขอบคุณน้องอ้อศูนย์อนามัยขอนแก่น พี่สุรัตน์กองทันตฯช่างเก็บ (บทเรียน) มืออาชีพ ช่างฟัง (อย่างลึกซึ้ง) เพื่อจับประเด็น ซักถามเพิ่มเติมแล้วเขียนอย่างว่องไว แถมเป็นผู้ให้แก่นสารที่มีค่ายิ่ง ขอบคุณพี่จิน จอมพระ สุรินทร์ช่างจุด (ประกาย) จากภายใน ให้ได้สัมผัสความนิ่ง สงบ สมาธิ เรียนรู้เท่าทันอารมณ์ เรียนรู้ตัวตน เข้าใจเพิ่มขึ้น ขอบคุณพี่ฝนหนองบัวลำภูช่างออกแบบ (การเรียนรู้) หลากหลายกิจกรรม ตามความสนใจผู้เรียน ตามประสบการณ์และศักยภาพผู้ร่วมกระบวนการ ขอบคุณพี่เถ่าเจ้าภาพจัดสถานที่ ช่างเจาะเสาะหาแก่นความจริง ความดี ความงามที่แท้ ช่างตั้งคำถามที่แหลมคม ช่างทบทวน (ตัวเอง) รอคอยน้ำหยดลงหินทุกวันหินมันยังกร่อน กระทั่งเป็นถ้ำมีแสง

หลากหลายคุณลักษณะที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน ความงอกเงยเพิ่มจากการสานพลังของทีม วัดได้ในระดับหนึ่งแล้ว แม้ความยั่งยืนไม่อาจวัดได้ในเร็ววัน แต่ความงดงามในความแตกต่างของเมล็ดพันธุ์ที่ดีพอเห็นเด่นชัดดังกล่าวมา ขอบคุณเพื่อนร่วมงานที่ทำงานของเรา ครอบครัวที่บ้าน แหล่งงบประมาณจากภาษีประชาชน ที่ให้โอกาสพวกเรามาแลกเปลี่ยนความรู้ ใช้เป็นอาหารหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงาม ที่กำลังหยั่งรากแก้ว แทงยอดอ่อนโผล่พ้นผืนดินทั่วภาคอิสาน ในการสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก สร้างเสริมสุขภาวะคนอิสาน ขอบคุณตัวเองที่ช่างรวบรวมมาจนถึงบรรทัดนี้ ไว้พบกันอีกในตอนที่ 2 ต่อไปเร็ว ๆ นี้นะคะ.....สวัสดีค่ะ

น้องอ้อ สระใคร หนองคาย

หมายเลขบันทึก: 306635เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2009 01:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2015 00:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

ขอบคุณพี่อ้อ ช่างร้อยเรียงรวบรวม บันทึกดีๆ ให้รำลึกบรรยากาศดีๆ ความรู้สึกดีๆ ที่พวกเราได้ไปพบกัน

ขอบคุณเยาวพาที่มาไว....เป็นกำลังใจนะคะเนี่ย

ตกลงกันว่าอ้อจะเริ่มเขียน Blog ก่อน ขออนุญาตเริ่มที่ชื่อ "เครือข่ายคนอิสานฟันดี"

เนื่องจากคิดไกลว่า....ด้วยคนอิสานเอง ที่ต้องลงมือทำด้วยตัวเองที่จะมีฟันดี มีสุขภาวะ

พอเชื่อมกับคนเหนือ กลาง ปักษ์ใต้ กทม. ทั้งประเทศก็จะฟันดี....ด้วยตนเอง ด้วยครอบครัว ด้วยชุมชนเอง

หมายถึง ทั้งชุมชนทางภูมิศาสตร์ หรือชุมชนทางอากาศรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น

เพื่อน ๆ มีเรื่องราวดี ๆ ที่น่าแบ่งปัน เชิญเพิ่มบันทึก/ความเห็นได้เลยนะคะ

รออ่านเสมอ.....อ้อ

บันทึกเพิ่มเติมจากล่า

กลับจากขอนแก่นมาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นที่ราชาวดีรีสอร์ต ต้องบอกว่าเกินที่คาดไว้จริงๆ เสียดายแทนที่หลายๆคนไม่ได้มา คนที่มาช้า(เกือบไม่มา) ก็ยังได้รับประโยชน์ แม้จะเป็นแค่ช่วงสั้นๆ โชคดีของภาคอีสานเรา ต้องขอบคุณหมอฝน และพี่จินดา ที่ช่อยทำให้ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นมีคุณค่าทุกช่วงนาที ประกอบได้ไปทบทวนดูสไลด์เรื่องการจัดการความรู้สู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ของ ดร.ประพนธ์ ผาสุกยืด สรุปได้ว่าการจัดการความรู้ของทีมอีสานน่าจะไปในทางที่ถูกต้องของการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาทันตแพทย์ผู้นำในการจัดการระบบบริการสุขภาพช่องปากในหน่วยปฐมภูมิ (ดูจากประเด็นที่แลกเปลี่ยนกันคงไม่ใช่เฉพาะด้านการส่งเสริมสุขภาพช่องปากในหน่วยบริการปฐมภูมิ)

เหตุผลคือ การเรียนรู้ของเครือข่ายอีสานเป็นระดับการเรียนรู้ระดับสูงสุดคือการรู้แจ้ง เพราะมีความกล้าในการเปลี่ยนแปลง ไม่ยึดติดกรอบโดยเรียนรู้จากผู้รู้จริง และทำเป็น การรับรู้สัมผัสได้โดยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ไม่วาจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่สำคัญคือมีประสาทสัมผัสที่ 6 คือรับรู้ด้านใจ

อีกเหตุผลหนึ่งคือการจัดกระบวนการเรียนรู้มีความสมดุลระหว่าง “2P” People & Processes และ “2T” Tool & Technology เดิมที่เคยทำเน้นการใช้เครื่องมือในการจัดการความรู้ แลกเปลี่ยนกันเสร็จต่างก็ได้ความรู้สิ่งใหม่ๆ รวมถึงแรงบันดาลใจกลับไปพัฒนาปรับปรุงงานของใครของมัน ซึ่งเป็นเรื่องของความสำเร็จของงานเสียส่วนใหญ่ ขาดเรื่องการพัฒนาคนหรือตัวตน พอดีได้ฝนและพี่จินดา อาสาเข้ามาช่วยจัดกระบวนการ เกิดการผสมผสานเรื่องงานและเรื่องตัวตนเข้าไปในกระบวนการพัฒนาด้วยแล้ว ผมว่าสิ่งที่พี่จินดาอยากค้นหารูปแบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่มีประสิทธิภาพ น่าจะเป็นคำตอบได้แล้ว เพียงปรับกระบวนการหรือกิจกรรม การแบ่งหน้าที่ที่จัดเจนตามความเหมาะสม ปัญหาอยู่ที่ว่าทีมที่จะทำอยู่คนละที่เท่านั้นเอง อีกอย่างบางคนเก่งในกระบวนการหรือกิจกรรมหนึ่งๆ แต่บางคนก็ถนัดในกิจกรรมหนึ่ง เช่นตัวผมเองยังรู้ตัวเองเลยว่าไม่มีพรสวรรค์ในการเป็นกระบวนกรเท่าไหร่ คงต้องค้นหาคนเก่ง หรือไม่ก็สร้างหรือพัฒนาให้มีคนที่มีทักษะการเป็นกระบวนกรให้เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเครือข่างทันตแพทย์ผู้นำการพัฒนาของภาคอีสาน มีประสิทธิภาพอย่างที่ต้องการ เป็นการจัดการความรู้ ที่เดินควบคู่ไปกับการพัฒนาปัญญา และ บูรณาการงานและชีวิต “Systems Thinking” อย่างสมดุล

ต่อไปคงจะเป็นหน้าที่ของทุกๆคน ที่ช่วยกันสร้างสมดุลของภารกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้เครือข่ายคงอยู่ เป็นประโยชน์สาธารณะที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้โดยไม่มีกำแพงขวางกั้น แต่ทุกอย่างก็คงจะไม่อาจหลีกเลี่ยงหลักของไตรลักษณ์ไปได้ ที่จะต้องมีความไม่เที่ยง ความทุกข์ และไม่ใช่ของของเราอย่างแน่นอน การทำประโยชน์ตนในปัจจุบันจึงควรทำให้ดีที่สุดเท่าที่กำลังความสามารถจะทำได้

วันที่ 18 ต.ค.52 บันทึกเพิ่ม ฉ.1

ณ วัดป่าหนองสองห้อง

วัชรพงษ์(ล่า)

มาเยี่ยมชมค่ะ กลับมาจากขอนแก่นยังไม่หายเหนื่อยเลย อ้าวมีบล๊อกมาให้อ่านแล้วหรือเนี่ย ไวจัง

ขอบคุณจิน เถ่า ฝน ล่า พี่ๆเพื่อนๆน้องๆทุกคนที่มาเจอและได้ทำงานร่วมกัน

ดีใจจังเลย ได้อ่านอะไรดีๆจากทุกคน ล่า สรุปได้ดีมากค่ะ(เธอมีความรู้ มากจริงๆ) แต่ละคนก็มีบทบาทที่แตกต่างกันไปช่วยเหลือเสริมความรู้ ดูแลกัน ได้เจอพี่ๆน้องๆในกลุ่มนี้รู้สึก ดีจังเลย (ต้องขอขอบคุณ พี่ๆ ที่กองทันตฯ )

ตอนนี้ กำลังนำ สิ่งที่พี่แดง กับ ล่า ที่สรุป (AAR)แนะนำเรื่องกระบวนการ นำมาปรับกระบวนการ world cafe มาใช้ในการแลกเปลี่ยนเครือข่ายครูอำเภออื่นๆที่มาแลกเปลี่ยนกับที่อ.จอมพระ ใครสนใจบ้าง ทำแผนให้เสร็จก่อน (ตอนนี้ มีแผนเรื่อง เครือข่ายชุมชนคนจอมพระฟันดี ใครสนใจส่ง mailมาหาได้นะจ๊ะ

หวัดดีครับทุกคน

โหมีเว็บเร็วมากเลยครับ ดีใจจัง

ชอบเรื่องเล่ามากๆเลยอ่าพี่อ้อนี่ละเอียดในความทรงจำดีจังชอบคิคิ

ขอบคุณพี่น้องทุกคน....ที่มอบโอกาสดีๆให้ค่ะ  ขอให้เครือข่ายเราจงเจริญ

หวัดดีค่ะ.. แวะเข้ามาทักทาย ขอบคุณสำหรับเรื่องดีๆ จากพี่อ้อและพี่ล่าค่ะ..

แล้วจะแวะเข้ามาใหม่นะ bye!!

ดีใจจัง ได้เห็นความสำเร็จที่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ขยายโตขึ้น อีกไม่นานก็จะเป็นไม้ใหญ่ที่แข็งแรง แผ่กิ่งกว้างไกลแล้ว

แวะมาเยี่ยมเยือนบลอกชาวอีสาน จากสาวน้อยภาคกลาง อิอิ

ไม่ถนัดทำบลอก เขียนไม่เก่งอะค่ะ แต่ชอบอ่าน

เมล็ดพันธุ์ภาคกลางและตะวันออกก็กลับบ้านตัวเองหมดแล้วแบบเงียบๆ

แต่เปี่ยมด้วยพลังปิ๊งแว้บบบบบ

อิอิ ไม่รู้เมื่อไหร่จะได้เจอกันอีก

ส่วนเราออกจะชอบถ่ายรูปมากกว่า

ใครเล่นมัลติพลายมั่งจ๊ะ

แวะเยี่ยมบ้านได้ที่ http://prinezze.multiply.com/

แบบว่า ชอบเที่ยวน่ะ

ขอบคุณ....ทุก ๆ คนที่มาทักทายนะค้า

น้อง Bank คะ....พี่ฝนเคยบอกว่า  พี่อ้อน่าจะมีลักษณะของ "หมี" มากกว่าชนิดอื่น

                      ส่วนพี่สุรัตน์บอกว่า...เอ๊ !!! หรือจะ "หนู" ด้วย นิดหน่อย

เดี๋ยวจะต้องรีบ Mail ไปหาพี่จินซะแล้ว....น่าสนใจมั่ก ๆ ....เครือข่ายคนจอมพระฟันดี

โอ๊ะ....โอ !!!!  ดีใจจัง....มีเพื่อน ๆ จากภาคกลาง มาด้วย....ยินดีที่รู้จักนะคะ  จะไปเยี่ยมนะ  มีอะไรเอามาแลกกัน

มีกำลังใจจัง.....คืนนี้จะเขียนบันทึกเพิ่มเรื่องเล่าอีก

            Bye....ชั่วคราว

                 อ้อ

แวะมาทักทาย และเป็นกำลังใจให้ทุกคน 2-4 พย.พบกันที่ อยุธยา

มาช้า ยังดีกว่าไม่มา นะ

หมอต่วง รับเป็นผู้สรุป เรื่องราวของชาวผู้นำทันตอีสาน เสนอที่อยุธยา วันที่ 2 พย.

พวกเราใครมีข้อมูลเพิ่มเติม ส่งให้หมอต่วงด้วย โดยเฉพาะ เราได้อะไรจากการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ปกติไม่เข้ามานะเนี่ย เพราะไม่ค่อยใช้คอมที่บ้านเนื่องจากไหล่มันแย่น่ะ แต่ช่วงนี้กำลังสรุปผลการสำรวจส่งกองทันตฯ จึงต้องใช้คอม ก็เลยเข้ามาดูซะหน่อย

โห อ้อ เก็บรายละเอียดได้ดีมากเลย ไม่ใช่เขียนเรื่องเล่าธรรมดานะเนี่ย (ภาษากวีเลย ซึ่งพี่ไม่มีทางเขียนได้อย่างนี้แน่นอน) ส่วนล่าก็ช่วยเสริมด้านวิชาการ การจัดการความรู้ (ไอ้เราน่ะมันภาคปฏิบัติ) มีทฤษฎีมาเสริมแล้วก็ช่วยเติมเต็ม ยังไม่เคยเจอ workshop ไหนที่มีการสรุปเร็วขนาดนี้ (คงเพราะที่ผ่านมาเป็นผู้จัด มักจะต้องเป็นคนสรุปเอง ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์แหละ) พี่จิน active จริง ๆ ดีใจที่ได้รู้จักพี่ๆน้องๆ ทุกคน ทุกคนมีความสนใจและเชี่ยวชาญในเรื่องราวที่ไม่เหมือนกัน เมื่อมาเจอกันแล้วเติมเต็มกันได้อย่างดี และตัวเองก็รู้สึกดีที่ได้มีโอกาสจัดให้คนได้มาคุยกัน ตั้งแต่เริ่มจัดหลังอ่านตำรา (จัดไป 15 เวทีแล้วล่ะ (สภากาแฟ) และไม่ผิดหวังซักครั้งตอนรอดูช่วงแบ่งปันสู่กลุ่มใหญ่หลังรอบ 3 รอฟังความมหัศจรรย์ของการผสมเกสรทางความคิด ทุกครั้งก็อื่มเอมทุกครั้ง (แต่ถ้าทำให้คนร่วมวงเหนื่อยก็ขอโทษนะคะ) ตอนนี้กำลังจะไปดูของจริงจากผู้นำเครื่องมือนี้เข้ามาใช้ในเมืองไทย (อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์) ในช่วง 2-4 ธ.ค. ของเครือข่ายจิตตปัญญา พี่จินชวนไปประชุมวิชาการ

ขอบคุณพี่ๆ ทุกคนที่ช่วยกันทำให้เกิดเครือข่ายของภาคอีสาน และน้องๆ ทุกคนที่ร่วมถักทอเครือข่ายของพวกเรา ถ้าเครือข่ายพวกเราได้พบกันสม่ำเสมอ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน น่าจะทำให้เกิดการพัฒนางาน และมีพลังในการจัดการกับปัญหาทันตสุขภาพของคนอีสาน

กลับไปหนองบัว คำว่า "สมดุลชีวิต" มันติดหัวมากเลย และสนทนาเรื่องสมดุลของชีวิตก้บหลายคนมาก เช่น ประธาน อสม.ตำบลหนึ่ง ,พี่ที่ทำงานด้วยกัน ทำให้เข้าใจว่า ทุกคนต้องปรับสมดุลของตัวเองให้ได้ แล้วชีวิตจะมีความสุข

ขอบคุณอะไรก็ตามที่ทำให้ได้มาเจอคนจริตเดียวกัน

พี่ฝน หนองบัว

  • มาช่วย confirm ...
  • กลุ่มนี้ เยี่ยมจริงๆ ค่ะ
  • อิอิ ไปฟังมาแล้ว ที่ อยุธยา ...

ชื่นชมคนจัด ชื่นชมคนทำ กระจายเครือข่ายให้เพิ่มเรื่อย ๆ

สวัสดีค่ะพี่ฝน  พี่แดง  พี่หมอเพื่อนร่วมทาง  พี่หมอเป็ด

     ดีใจจังที่ได้ทำงานกับคนจริตเดียวกัน 

     ได้พบกับคนที่น่าจะคอเดียวกันทาง Blog นี้

     พี่แดงคะ...อ้อเอาสรุปภาคอิสานขึ้น Blog เรื่องเล่าชาวอิสานฟันดี 3 แล้วนะคะ

     มีภาพและเรื่องเล่าเกี่ยวกับพี่แดง  พี่จิน  พี่ล่า พี่แอ๊ด  พี่ต่วง  น้องตั๊ก  น้องนุ๊ก  คุณหมอฟันทีมภาคอิสาน  ที่นี่นะคะ http://gotoknow.org/blog/sustain9/311430  โดยอาจารย์ศิลา  ภูชยา  ที่เป็น FA ถอดบทเรียนที่อยุธยาน่ะค่ะ  แล้วถ้าสนใจจะตามไปที่อาจารย์เอก  จตุพร  วิศิษฏ์โชติอังกูร  อีกก็ได้นะคะ

     ขนาดไม่ได้ไปด้วย....อ่านแล้วน้ำตายังซึมเลย 

                       ปลาบปลื้มใจ

                             อ้อ

คุณครูอ้อม (สคส.) ......ของทีมพี่เลี้ยง   นำเสนอ Slide ทั้ง 4 ภาค   โดยการอนุญาตของพี่บุญเอื้อ  ที่นี่นะคะ  http://gotoknow.org/blog/play/313233

                    อ้อ

  • "...ความงอกเงยเพิ่มจากการสานพลังของทีม..."
  • นี่คือแนวทางสู่ความสำเร็จ ที่เสนอแนะโดย... P ทพญ.ธิรัมภา

ขอบคุณค่ะ  อาจารย์ Atozorama P ที่เน้นย้ำ

ทวีคูณจากพลังทีม...ชื่นใจจริง ๆ นะคะ....เบาแรง  เบาใจกว่าทำอะไรคนเดียวเยอะเลยล่ะค่ะ

              ธิรัมภา

บันทึกเก่าเก็บที่ยังทันสมัยอยู่ ;)...

เป็นความงดงามหลากหลายประสบการณ์ที่แต่ละคนมีและนำมาแบ่งปันกัน รู้สึกถึงบรรยากาศอันอบอุ่นและพลังอันเข้มแข็งของทีม สุดยอดเลยค่ะคุณหมอธิ

ขอบคุณมากค่ะ ^_,^ คุณครูเงา Wasawat Deemarn

ทีมหมอฟันภาคอีสาน ภาครัฐกระทรวงสาธารณสุขนี่ พี่ ๆ น้อง ๆ กันทั้งนั้นค่ะพี่กุหลาบ กุหลาบ มัทนา

โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชนที่สนใจสมัครมาร่วมโครงการพัฒนาทันตแพทย์ผู้นำการสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก (ปี ๒๕๕๒) ยังเชื่อมความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำงานกันอย่างสนุกสนาน เพื่อชาวบ้าน เพื่อประชาชนค่ะ

ขอบคุณมาก ๆ ค่ะพี่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท