ควรเรียน-สอนกันอย่างไรในระดับอุดมศึกษา


ถ้าเปรียบพวกเขาเป็นต้นไม้ ก็อยากให้เขาได้ออกจากกระถาง มาสัมผัสพื้นดินจริงๆดูบ้าง เขาจะได้ไม่แขวนลอยด้วยความเสี่ยงอยู่กลางอากาศ

    ก่อนอื่นขออย่าได้คาดหวังว่าบันทึกนี้จะมีคำตอบเบ็ดเสร็จต่อคำถามที่ว่า "ควรเรียน-สอนกันอย่างไรในระดับอุดมศึกษา" นะครับ  เพราะผมไม่อาจหาญไปแนะนำว่าจะต้องทำอย่างไร และขอให้ใครเชื่อและทำตาม  เพียงแค่อยากนำเสนอสิ่งที่คิดได้หลังจากมีเรื่องให้ต้องคิด อันเนื่องมาจากการพูดคุยกึ่งให้คำปรึกษากับนักศึกษาปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมเครื่องกลคนหนึ่งที่กำลังมีปัญหาเรื่องการทำโครงงานหรือ Project

    น้องสะใภ้ผมซึ่งเป็นเพื่อนของแม่ของนักศึกษาคนนั้น เป็นคนโทรมาขอให้ผมช่วยแนะนำหน่อย ผมก็รับปากด้วยความเต็มใจ  ทั้งๆที่ตัวเองไม่ได้ร่ำเรียนมาทางสาขาดังกล่าว  แต่ก็เชื่อว่าคงพอจะแนะนำอะไรๆในระดับหลักการ และวิธีคิดได้บ้าง  พร้อมกับจะได้เรียนรู้ว่า ความเป็นไปในการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา ในมหาวิทยาลัยใหญ่ของรัฐที่ "หลาน" คนดังกล่าวร่ำเรียนอยู่นั้นเป็นอย่างไร

    เท่าที่รับทราบ ปัญหาอยู่ที่ว่าอาจารย์ผู้สอนไม่อยากให้ทำโครงงานอันเป็นงานกลุ่ม 3 คน นำเสนอเค้าโครงเข้าไป  ดูเหมือนจะเป็นเรื่องการศึกษาประสิทธิภาพการแพร่กระจายความร้อนของท่ออะไรสักอย่างหนึ่ง ที่โรงไฟฟ้าแห่งหนึ่ง  อาจารย์ให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจ  ไม่มีคุณค่าต่อการนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง  ถามไปถามมาก็ได้ทราบความจริงว่า อาจารย์ที่ปรึกษาของนักศึกษาคนนี้เป็นผู้คิดโครงการให้  และเห็นบอกว่าอาจารย์ดังกล่าวไม่ถนัดหรือไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการทำงานในลักษณะการประดิษฐ์คิดค้น ทำแต่งานวิจัยแบบทดลอง  ส่วนอาจารย์ผู้สอนถนัดอีกแนวหนึ่ง

    ผมถามว่าทำไมไม่คิดโครงการกันเอง  พร้อมแนะนำว่า การทำงานถ้าจะให้สนุกต้องทำสิ่งที่เราเห็นคุณค่าในผลของงานนั้นๆ และการจะได้มาซึ่งโครงงานดีๆมีคุณค่าควรจะได้ เริ่มจากปัญหา  คือมองไปรอบๆตัวว่ามีเรื่องใดของผู้คนในสาขาวิชาชีพใดที่ยังเป็นปัญหา ต้องการวิธีการปฏิบัติใหม่ๆเพื่อแก้ หรือลดปัญหาดังกล่าว  โดยใช้ความรู้ในศาสตร์ที่เรากำลังศึกษาอยู่  พร้อมยกตัวอย่างว่า  เมื่อผมเรียนรู้ว่า ทรัพยากรน้ำเป็นสิ่งที่จะเป็นปัญหามากในอนาคต  เกษตรกรจะต้องเดือดร้อน วุ่นวายเพราะจัดการอย่างไม่เหมาะสมกับเรื่องการใช้น้ำ  ประกอบกับการเรียนรู้ว่ามีผลงานวิจัยจนผลงานเครื่องกระจายน้ำฝอยแบบ ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อย และใช้ปริมาณน้ำน้อย และมีจำหน่ายในราคาประหยัด เพียงประมาณชุดละ 300 บาท  ผมก็คิดว่าสมควรเข้าไปมีส่วนร่วมทำงานในบางส่วนเพื่อให้มีการนำเครื่องมือดังกล่าวไปใช้ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น และมีความสะดวกและประหยัดในการติดตั้ง จึงเริ่มคิดค้น ดัดแปลงเครื่องจ่ายกำลังไฟฟ้า และระบบควบคุมเวลาการทำงานให้กับระบบกระจายน้ำฝอยดังกล่าว  จึงเริ่มทำงานไปด้วยความสนุกและความหวังว่า ผลงานที่คิดค้น ดัดแปลงแต่ละรุ่น จะได้มีโอกาสช่วยให้ผู้คนได้ใช้ทรัพยากรน้ำอย่างประหยัด และลงทุนไม่สูงมากเกินไปในการซื้อหาอุปกรณ์ที่เราผลิต และนำมาติดตั้งใช้งานด้วยตัวเอง  แถมด้วยตัวอย่างเรื่องอื่นๆเพื่อตอกย้ำว่า เรื่องที่ผมทำ  ล้วน เริ่มจากการมองให้เห็นปัญหา ก่อนเสมอ  ตามด้วยการ มองให้เห็นสาเหตุของปัญหา  และการกำหนดให้ได้ว่า เป้าหมายหรือผลจากการทำงานนั้นๆเราจะได้ผลลัพธ์อะไรออกมา ชนิดที่ช่วยให้ผู้อื่นพ้นความทุกข์ ความยากลำบากได้  ตามด้วยการ กำหนดวิธีการหรือขั้นตอนว่าจะทำอะไรเป็นลำดับไปอย่างไร  จนกระทั่งได้ผลงานตามที่คาดหวัง  และย้ำว่า  ด้วยวิธีคิดดังกล่าวนั่นเอง  ทำให้ผมสนุกกับงานทุกชิ้นทุกเรื่องที่ทำ  โดยไม่ต้องรอให้ใครมาสั่งการ ควบคุม กระตุ้นหรือคอยเสริมกำลังใจ  เนื่องด้วยในกระบวนการดังกล่าวมันมี ยาเร่ง ยาชูกำลังอยู่เรียบร้อยแล้ว  ทำไปพร้อมกับได้เปล่งคำว่า "ถูกต้อง - พอใจ" ให้กับตัวเองได้ไปเรื่อยๆ  ทั้งยังสามารถ พักผ่อนไปกับการทำงาน ได้เสมอ

    แนะนำเสร็จผมก็บอกว่าให้ลองไปคุยกับเพื่อนอีก 2 คนดูอีกครั้งโดยใช้แนวทางดังกล่าวในการคิดโครงงานที่จะทำ  ได้ผลอย่างไรให้โทรมาคุยใหม่  ตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับโทรศัพท์ครับ

    จากกรณีดังกล่าวทำให้ผมคิดต่อและเห็นว่าระบบการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษานั้น ..ไม่น่าจะปล่อยให้เกิดการเรียนกันไปแบบไร้ความหมายและเป้าหมาย เพราะจะก่อให้ เกิดความเบื่อหน่าย และไม่อาจก้าวไปถึงความรู้จริง หรือสติปัญญาในศาสตร์ที่เรียนได้ มักจะวนเวียนอยู่ในระดับ จำได้ บอกได้ว่า อะไรเป็นอะไร เสียมาก มีส่วนน้อยที่ไปถึงการตอบโจทย์ได้ว่า ทำไม ? และ อย่างไร ? 

   และเพื่อให้ การเรียนอย่างทนทุกข์ทรมาน ลดน้อยลง  ก็ไม่ควรไปหลงเพลินกับการเรียนทฤษฎี(ล้วนๆ)มากเกินไปไปจนผู้เรียนอ่อนล้า  ควรให้นักศึกษาได้ออกจากห้องสี่เหลี่ยมไปสู่โลกภายนอกที่เป็นจริง เป็นธรรมชาติ เพื่อสัมผัส สภาพจริงที่มีปัญหาต่างๆแฝงเร้นอยู่ให้มากขึ้น  ให้มีโอกาสได้ฝึกคิด ฝึกมองอะไรๆที่เชื่อมโยงอยู่กับชีวิตจริงของผู้คนในสังคมไปตามลำดับ ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ในปีแรกๆ  ไม่ใช่รอว่าเอาไว้ให้ถึงปีสุดท้ายค่อยออกไปหาประสบการณ์ภาคปฏิบัติ 

    ถ้าเปรียบพวกเขาเป็นต้นไม้  ก็อยากให้เขาได้ออกจากกระถาง มาสัมผัสพื้นดินจริงๆดูบ้าง  เขาจะได้ไม่แขวนลอยด้วยความเสี่ยงอยู่กลางอากาศ  แบบรอคอยการป้อนน้ำและอาหารจากผู้อื่นเสียบ้าง

    ได้สัมผัสดินบ่อยๆ อีกหน่อยเขาจะรู้สึกเองว่า การมีรากหยั่งลงในพื้นแผ่นดินที่เป็นธรรมชาตินั้น จะทำให้เขาสามารถดำรงตนอยู่อย่างมั่นคง ปลอดภัย ช่วยตัวเองและเผื่อแผ่ เกื้อกูลต่อผู้อื่นได้ และค้นพบคุณค่าของตนเองได้ ในที่สุด

   

หมายเลขบันทึก: 306631เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2009 23:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • อาจารย์สบายดีนะคะ
  • การเรียนการสอน...มันเริ่มกันผิดใช่ไหมคะ
  • ผู้เรียน..ถ้าระดับพื้นฐาน...ทำไว้ดี  ต่อไปถึงระดับอุดมศึกษาก็ไม่น่ามีปัญหา
  • ระดับอุดมศึกษา  .... ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของสถาบันหรือเปล่าคะ ที่ผู้เรียนมีความรู้ไม่เท่ากับวุฒิการศึกษา  คือระดับอ่อนแอ
  • ด้วยความระลึกถึงอาจารย์ค่ะ

เป็นการเรียนรู้ที่ทรมานมากจริงๆๆพี่บ่าว สบายดีหรือเปล่าครับ ไม่ค่อยได้ข่าวเลย...

สวัสดีค่ะอ.

ครูปฐมอยากรู้ว่าครูอุดมเขาสอนกันอย่างไร

คนสอนเป็นไงไม่รู้

แต่รู้ว่าตอนเรียนมันสนุก ๆๆ

ไม่แพ้ตอนนี้

ที่เป็นครูปฐม

อ.สบายดีนะคะ

ขอบคุณค่ะ

สรุปงานเสวนา ๙ วิธีฟื้นฟูชาติ ตามแนวพระราชนิพนธ์เรื่อง"พระมหาชนก"ที่ผ่านมาครับ

http://gotoknow.org/blog/plays-learns/307280

ขอขอบคุณทุกท่านครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท