เทียบ ดี-ด้อย ปี"40-50


รัฐธรรมนูญ นักศึกษา การเมือง ธุรกิจ นักเรียน มหาวิทยาลัย โรงเรียน ข้าราชการ อาจารย์ ครู พ่อ แม่ ลูก

ผมได้อ่านบทความแล้ว เห็นว่าน่าสนใจ จึงขออนุญาตนำเสนอตามบทความที่ยกมา

 

วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11543 มติชนรายวัน


หมอตำแย"รธน." เทียบ ดี-ด้อย ปี"40-50

สัมภาษณ์

โดย อริน เจียจันทร์พงษ์




การ แก้ไขรัฐธรรมนูญทำท่าสะดุด เมื่อพรรคเพื่อไทยหัวกลับ 180 องศา ไม่เอาด้วยแนวทางคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีข้อเสนอระยะเร่งด่วน แก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น

เป็นการกลับลำ หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้นำตัวจริง ชูธงการหยิบรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งฉบับ

"มติ ชน" ได้รับโอกาสจาก ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการผู้เป็นมันสมองของการร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี 2540 และ 2550

โดย ศ.ดร.สมคิด เป็นอดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540

ได้ชี้ให้เห็นถึงหลักการสำคัญของกระบวนการร่างทั้ง 2 ฉบับ ที่ว่า ต่างมีปัญหาด้วยกันทั้งคู่!!

เปรียบเทียบที่มาฉบับปี 2540 และ 2550

รัฐ ธรรมนูญ 40 ได้รับขนานนามว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ส่วนฉบับ 50 ได้รับขนานนามว่า เป็นฉบับประชามติ วันนี้ยังมีคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับกระบวนการเรื่องที่มาของทั้งสองฉบับมาก เอาสั้นๆ เพื่อให้เข้าใจตรงกันก่อนคือ ฉบับ 40 มี ส.ส.ร. 99 คน มาจากนักวิชาการ 23 คน ที่เหลือ มาจาก 76 จังหวัด จังหวัดละ 1 คน แต่ก็ไม่ได้เลือกตั้งโดยตรง เพราะใช้การเปิดรับสมัคร แล้วเลือกกันเองให้เหลือจังหวัดละ 10 คน แล้วเอาชื่อมาให้รัฐสภาเลือกเหลือจังหวัดละ 1 คน ส่วนฉบับ 50 ให้องค์กรทั้งหลายเสนอชื่อมาเป็นสมัชชาแห่งชาติ 2 พันคน แล้วเลือกกันเองเหลือ 200 คน และให้ คมช.เลือกเหลือ 100 คนมาเป็น ส.ส.ร.

หน้า ตาทั่วไป หากมองอย่างไม่อคติ แม้ที่มาของ ส.ส.ร. 50 อาจมองว่า มาจากอำนาจเผด็จการ แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะ คมช.ไม่ได้ตั้งทั้งหมด ส่วนฉบับ 40 ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง

ฉะนั้นในเชิงที่มา อาจมองว่า ฉบับ 40 ร่างบนสถานการณ์ปกติ คนเลยรู้สึกชอบ แต่ฉบับ 50 ก็ให้มีประชามติ ฉะนั้นประเมินแล้ว เรื่องที่มาไม่ค่อยบวกลบกันเท่าไหร่ แม้ว่า ที่มาของฉบับ 40 อาจจะดีกว่า

การร่างของทั้งสองฉบับ อยู่บนโจทย์ที่ต่างกัน จึงเปรียบเทียบกันยากใช่หรือไม่

ใช่ เพราะฉบับ 40 ร่างขณะการเมืองมีปัญหาเยอะ จึงวางระบบ 4 ประเด็นใหญ่คือ 1.ทำอย่างไรให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเพิ่มขึ้น 2.ทำให้คนดีเข้าสู่ระบบการเมืองมากขึ้น 3.ทำให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็ง 4.มีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็งตามมา ซึ่งสามอันหลัง เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบันการเมืองแท้ๆ ขณะที่ฉบับ 50 วางระบบบนความพยายามสร้างสมดุลทางการเมืองของ 3 อำนาจ 3 ฝ่าย และสร้างระบบวินัย จรรยาบรรณ และสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรตรวจสอบ ซึ่งก็เป็นเรื่องจุดเน้นของแต่ละฉบับ

วันนี้ฝ่ายค้านอยากแก้กลับไปเป็นระบบปี 40

ระบบ ปี 40 ใช้เขตเดียวเบอร์เดียว 400 คน รวมกับ บัญชีรายชื่อเขตประเทศ 100 คน ส่วนฉบับ 50 ให้เป็นเขตใหญ่เรียงเบอร์ 400 คน และสัดส่วนอีก 8 โซน รวม 80 คน ก็โดนวิจารณ์มาก แต่จริงๆ แล้ว ผู้ร่างปี 50 ก็รู้ดีว่า เขตละคนดีกว่าเพราะผู้มีสิทธิออกเสียง จะออกเสียงได้ตรงความต้องการ และเสมอภาคคนละ 1 เสียง และระบบนี้ทำให้รัฐบาลเข้มแข็ง ซึ่งเป็นจุดเด่นของปี 40 แต่มีปัญหาในเชิงข้อเท็จจริงว่า แบบนี้คนไม่มีเงินยิ่งสู้ไม่ได้ เป็นเขตเล็กยิ่งซื้อง่าย ใครที่ยึดเขตได้ 1-2 ครั้ง ก็จะยึดครั้งที่สามสี่ห้าไปได้ เพราะเขาวางระบบฐานเสียงลงตัว ฉะนั้นโอกาสที่คนใหม่จะมาต่อสู้ชนะนั้น ยากมาก หากใช้ระบบนี้ ในอนาคตจะเห็น ส.ส.เขตนั้นๆ อยู่กันยาว 10-20 ปี เยอะมาก ดังนั้นระบบ 40 และ 50 ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ส่วนระบบปาร์ตี้ลิสต์ ที่ฉบับ 50 เปลี่ยนเป็นระบบโซน 8 โซน ก็เป็นมาตรฐานต่างประเทศ เพราะเยอรมนี ญี่ปุ่น ก็แบ่งโซน แต่ที่เราต่างคือ เขาจะแบ่งจำนวนโซนแต่ละโซนไม่เท่ากัน แต่ของเราเท่ากัน เพราะกลัวว่า ถ้าแบ่งโซนไม่เท่ากันก็จะโดนครหาอีก แล้วการแบ่งโซนถูกพิสูจน์แล้วว่า ดีกว่าปี 40 เพราะระบบโซนสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนเสียงกับที่นั่งที่แท้จริงได้ดี กว่าฉบับ 40 ที่คะแนนที่ได้รับ กับที่นั่งในสภา ฉีกกันมาก

ส่วน เรื่องเกณฑ์ขั้นต่ำระบบบัญชีรายชื่อปี 40 ที่กำหนด 5% ลอกจากเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เพราะไม่อยากให้มีพรรคเล็ก ปรากฏว่า พรรคขนาดกลางแทบเข้ามาในสภาไม่ได้เลย เมื่อฉบับ 50 ตัดเรื่องนี้ทิ้ง ถ้าดูจากเลือกตั้งจากระบบ 40 มีพรรค 4-5 พรรค ส่วน 50 ที่คาดว่าจะมีพรรคมาก ปรากฏว่ามี 6-7 พรรค ฉะนั้นไม่มีปัญหา ส่วนที่ลดจำนวน ส.ส.ลงมา เพราะเป็นเสียงเรียกร้องของประชาชน เพื่อให้ประหยัดงบฯแผ่นดิน

ฉบับ 50 ให้อิสระ ส.ส.มากกว่าหรือไม่ น่าจะเป็นคุณมากกว่า

ฉบับ 50 เพิ่มอำนาจ ส.ส.ให้มากขึ้น เพราะเห็นว่า ฉบับ 40 ส.ส.มีบทบาทอำนาจหน้าที่น้อยมาก เช่น การลงมติ เดิมฉบับ 40 ต้องฟังมติพรรคในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับบุคคล แต่ฉบับ 50 ไม่ต้องฟังพรรค คือ เปิดให้ทำหน้าที่ตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง หรือการเสนอกฎหมาย พรรคต้องมีมติก่อน ฉบับ 50 ก็ตัดทิ้ง เพราะให้ทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ

แต่มองว่า ระบบ 40 กับ 50 ให้ผลไม่ต่างมาก ที่พรรคพลังประชาชน ได้ ส.ส.น้อยลง ไม่น่าจะเกิดระบบเลือกตั้ง แต่อาจเป็นเพราะระบอบทักษิณ พังลง แต่เลือกตั้ง 50 พรรคพลังประชาชนก็ไม่ได้ ได้ ส.ส.น้อยลงกว่าเดิมมาก ดังนั้นเปลี่ยนระบบไม่ใช่เหตุผลหลัก ผมมองว่า จะเป็นระบบเขตละคนหรือเขตละสามคนก็ใช้ได้ทั้งนั้น ยังไม่เห็นข้อต่างที่ชัดเจน แต่ระบบโซน แบบ 50 ผมคิดว่า สะท้อนเสียงของประชาชนและที่นั่งในสภาที่แท้จริงได้ดีกว่าเดิม จึงเห็นว่า ไม่ควรใช้แบบ 40 หรือ 50 เพียงอย่างเดียว แต่ควรผสมผสาน เช่น เขตเดียวเบอร์เดียวแบบ 40 ผสมกับแบ่งโซนแบบ 50 ก็ได้ และแก้ไขให้การแบ่งโซนจังหวัดชัดเจนขึ้น

ระบบ ส.ว.เลือกตั้ง แบบ 40 เละเทะที่สุด มีปัญหาการเลือกองค์กรอิสระ

ฉบับ 40 จุดแข็งที่สุดคือ เลือกตั้ง 100% ซึ่งสอดคล้องกับหลักการระบอบประชาธิปไตย ตามที่ อับราฮัม ลินคอน ประธานาธิบดีของสหรัฐ มีคำพูดว่า ประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน แต่เมื่อเลือกตั้ง ส.ว.ชุดแรก ข้อเท็จจริงที่ปรากฏเกิดคำถามใหญ่ว่า "เพื่อประชาชนหรือไม่" ผมคิดว่า ส.ว.เลือกตั้งชุดนั้นล้วนสอบตก ถ้าฟังจากเสียงประชาชนทั่วไป ผู้ร่างฉบับ 50 เห็นแหละว่า เลือกตั้งเป็นประชาธิปไตย แต่คำถามคือ จะทำอย่างไรให้ ส.ว.ของบ้านเรามีลักษณะพิเศษด้วย คือ ห้ามสังกัดพรรค ห้ามหาเสียง แล้วจะเอาคนที่เป็นกลางด้วยอีก ถามว่า ระบบเลือกตั้งทั้งหมดได้คนเป็นกลางหรือไม่ ซึ่ง ส.ว.ตามระบบ 40 พิสูจน์แล้วว่า เกิดสภาผัวเมีย และข้อครหามากมาย

ฉบับ 50 เลยเอาครึ่งทางคือ เลือกตั้งผสมสรรหา ซึ่งไม่ใช่แต่งตั้งนะ เพราะการแต่งตั้งแบบก่อนปี 2540 มาจากนายกฯคนเดียว แต่นี่คือ มีกรรมการสรรหา 7 คน และให้เสนอชื่อให้กรรมการ ไม่ใช่กรรมการอยากจะตั้งใครก็ได้ เพราะระบบ ประสงค์ให้ได้คนดีมีความสามารถมากกว่าให้ประชาชนเลือกตั้ง ฉะนั้น ข้อด้อยของ 50 คือ ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบในสายตาของคนทั่วไป แต่ข้อดี คือได้ ส.ว.ที่ทำหน้าที่เป็นกลางดีพอสมควร และรอบ 2 ปีที่ผ่านมา มีคนวิจารณ์ ส.ว.ชุดปัจจุบันน้อยมากในแง่การทำหน้าที่ ถ้าเทียบกับ ปี 40 ที่โดนวิจารณ์มากว่า ใบสั่ง โดนแทรกแซงจากพรรคการเมืองมาก ซึ่งผมคิดว่า มีดีเสียต่างกัน ใจผมคิดว่า ระบบปัจจุบันใช้ได้ในสังคมปัจจุบัน แต่ถ้าอยากได้ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ อาจเขียนเป็นบทเฉพาะกาลก็ได้ว่า 10 ปีหรือ 20 ปี ค่อยเลือกตั้งทั้งหมด

ผมมองว่า ระบบที่มา ส.ว.แบบปี 50 แม้ว่าจะ "โดยประชาชน" น้อยลง แต่ "เพื่อประชาชน" มากขึ้น แต่ฉบับ 40 "โดยประชาชน" จริง แต่ "เพื่อประชาชน" จริงหรือไม่คือคำถาม ประเด็นคือ เราจะทำอย่างไรให้ได้มาพร้อมกันทั้งเรื่อง "โดย" และ "เพื่อ" แต่คงไม่ใช่จะได้จากการกลับไปเลือกตั้ง 100% แน่

ฉบับ 40 ทำให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งมาก แต่ฉบับ 50 ฝ่ายบริหารอ่อนแอเกินไปหรือไม่

การ ที่อำนาจบริหารตามฉบับปี 40 เพิ่มมากขึ้น มันเป็นทั้งเรื่องที่สำเร็จและล้มเหลวไปในตัว เพราะฉบับ 40 ส่วนหนึ่งนำมาซึ่งระบอบทักษิณ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็ไม่ได้เข้มแข็งจากรัฐธรรมนูญ 40 เพียงอย่างเดียว แต่มาจากบุคลิก การทำงานรวดเร็ว นโยบาย การมีเงินจำนวนมาก ภาพพจน์นักธุรกิจ ผสมผสานกันทำให้ได้รับความนิยมจากประชาชน ประชุม ครม.คุณทักษิณ ก็พูดคนเดียว ใครค้านไม่ได้ และคุณทักษิณก็อาศัยฉบับ 40 ทำให้ตัวเองเข้มแข็ง เช่น การควบรวมพรรค การย้ายพรรคยาก และยังทำให้การอภิปรายนายกฯยากขึ้นกว่าปกติ

ถ้าตั้งโจทย์ให้ฝ่าย บริหารเข้มแข็ง ฉบับ 40 ทำได้ดี แต่การเข้มแข็งแล้วไม่ฟังใคร หาช่องโหว่แล้วอุดด้วยตัวเอง อภิปรายไม่ไว้วางใจ ถอดถอนก็ไม่ได้ ก็เกิดปัญหาขึ้น ยิ่งผสมกับปัญหาการแทรกแซง ส.ว. องค์กรอิสระ ระบบการเมืองของไทยจึงเกิดการผูกขาดอำนาจรัฐ คือ มีคนคนหนึ่ง ฝ่ายบริหาร บวก เสียงข้างมากในสภา มีการแทรกแซงองค์กรอิสระโจ๋งครึ่ม นั้น นี่คือปัญหาใหญ่ที่สุดฉบับปี 40 ฉะนั้น ถ้าเอาระบบปี 40 มาใช้ จะเกิดระบบนี้อีกครั้งหรือหลายๆ ครั้งในประเทศ

ฉบับ 50 จึงปลดล็อคเหล่านี้ แต่ไม่ใช่ต้องการให้ฝ่ายบริหารอ่อนแอ แต่ให้มีความสมดุล ระหว่าง 3 อำนาจ เช่น ยอมให้ ส.ส. เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ง่ายขึ้น ย้ายพรรคง่ายขึ้น ห้ามยุบรวมพรรค แต่หลายคนว่า ฉบับนี้ ทำให้รัฐบาลอ่อนแอ เช่น มาตรา 190 ซึ่งไม่จริง เพราะกรณีปราสาทพระวิหาร ตัดสินบนพื้นฐานเดียวกับปี 40 คือการเสียอำนาจอธิปไตยและดินแดน

ฉบับ 50 ถูกมองว่า ฝ่ายตุลาการเข้ามามากเกินไปในทางการเมือง โดยเฉพาะการสรรหาองค์กรอิสระ

ต้อง แยกอำนาจตุลาการเป็น 2 ประเภท คือ อำนาจแท้ๆ นั่นคือ การตัดสินคดี กับอำนาจองค์กรตุลาการที่ไม่เกี่ยวกับการตัดสินคดี เช่น เป็นกรรมการการสรรหา ซึ่งความจริง อำนาจการเสนอชื่อกรรมการสรรหา มีคนวิจารณ์เยอะมีทั้งพูดถูกและผิด คือ ฉบับปี 40 องค์กรตุลาการมีอำนาจสรรหาอยู่แล้ว แต่ตอนนั้นมีฝ่ายวิชาการ และฝ่ายการเมือง มาร่วมเป็นกรรมการสรรหาด้วย ส่วนฉบับ 50 ตัดส่วนวิชาการทิ้งไป และตัดฝ่ายการเมืองในการสรรหา จาก 4-5 เหลือเพียง 2 คน คือ ให้น้ำหนักฝ่ายองค์กรตุลาการมากกว่าเดิม คำถามใหญ่คือ ถ้ากลับไปแบบปี 40 จะดีกว่าเดิมหรือไม่ คนจะตอบเลยว่า ไม่ดี เพราะการสรรหามีฝ่ายการเมืองแทรกแซงเยอะ ซึ่งก็ทราบกันดีทุกคน ฉบับ 40 จึงบกพร่องจุดนี้

ส่วนฉบับ 50 ก็มีข้อบกพร่อง ไม่ได้ดีมาก การให้อำนาจองค์กรตุลาการมากไปก็ไม่ดี ซึ่งผมยังเห็นว่า ไม่ควรตัดนักวิชาการออกไป ฉะนั้นต้องหาโมเดลใหม่ ที่รัดกุม แต่ไม่ใช่โมเดลที่นักการเมืองชอบ จะมาแทรกแซงได้

เรื่องสิทธิเสรีภาพ ทั้ง 2 ฉบับมีพัฒนาการ แต่ยังไม่สามารถใช้ได้จริง

เรื่อง สิทธิเสรีภาพของฉบับ 50 ดีกว่าฉบับ 40 ชัดเจน เพราะฉบับ 40 มี 40 กว่ามาตรา แต่ ฉบับ 50 มีกว่า 70 มาตรา ดีว่าในแง่การรับรองและใช้ได้ง่ายกว่า

ควรแก้ 6 ประเด็น ของกรรมการสมานฉันท์ หรือควรแก้ทั้งฉบับ

รัฐ ธรรมนูญ แก้ได้ ซึ่งควรนำฉบับปี 40 และ 50 มาผสมผสาน แต่จะเอา 40 มา 100% รับไม่ได้ ลองอ่านหนังสือพิมพ์ปี 2548-2549 จะเห็นรูพรุนของฉบับปี 40 แม้แต่นักการเมืองเองก็เรียกร้องให้แก้ ไม่ปฏิเสธว่า ฉบับ 50 มีข้อบกพร่อง แต่การแก้ต้องตีโจทย์ให้แตก ไม่ใช่คิดกันง่ายๆ เอากันเป็นเกม เพื่อสร้างความได้เปรียบให้ตัวเอง ถามว่า แก้ 6 ประเด็น จะสมานฉันท์ได้ตามชื่อคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเสนอหรือไม่ รัฐธรรมนูญ 50 แก้ได้ แต่ไม่ใช่เหมือนทำแกงหม้อนึง 3 เดือน 6 เดือนเสร็จ 6 ประเด็นที่กรรมการสมานฉันท์พูด ก็คิดแบบแยกส่วน เพราะมีประเด็นพัวพันแวดล้อม ถ้าแก้ต้องใช้เวลา ใช้ความรู้

ลองดูว่า แก้ปั๊บ เหลืองค้าน แดงไม่เอา ถามว่า จะเกิดการปฏิรูปจริงหรือไม่

 

ที่มา

หมายเลขบันทึก: 306552เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2009 15:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ธรรมสวัสดีคุณ Mycorner

ขอแสดงความเห็นเฉพาะรัฐธรรมนูญปี ๕๐

๖ ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญดูยังไงประชาชนไม่ได้ประโยชน์

นอกจากนักการเมืองกังฉินที่เสพติดงานการเมืองจนร่ำรวย

มหาศาลด้วยการทุจริตฉ้อราษฏร์บังหลวง

๑.ประเด็็นยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค

(มาตรา ๒๓๗)

๒.ที่มาของ ส.ส.(มาตรา ๙๓-๙๘)

๓.ที่มาของ ส.ว. (มาตรา ๑๑๑-๑๒๑)

๔.การทำสนธิสัญญา ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา (มาตรา ๑๙๐)

๕.การดำรงตำแหน่งของ ส.ส. (มาตรา ๒๖๖)

๖.การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนของ ส.ส.(มาตรา ๒๖๖)

รัฐธรรมนูญปี ๕๐ ฉบับประชามติ ๑๔.๗ ล้านแสนเสียง ของประชาชน ทั้ง ๖ ประเด็นนี้

เป็นขวากหนามขวางกั้นท่านผุ้ทรงเกียรติเจ้าตัณหา(เอาแต่ได้ใส่ตัวถ่ายเดียว) มิให้เสพสมจมปลักผลประโยชน์ตนเหนือผลประโยชน์แผ่นดินทั้งสิ้น ทางที่ดีนักการเมืองต้อง

แก้ไขพฤติกรรมตนเองและต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์อย่างแท้จริง

อนุโมทนาสาธุกับข้อมูลที่นำมาให้ศึกษา..ธรรมรักษา

 

ผมก็ปวดหัวในเรื่องการแก้หรือไม่แก้ รธน.นี่ คือเป็นแบบว่า ปิดรูนี้ ไปโผล่รูโน้น ตามความเคยชินของนักการเมือง ใครเข้ามาก็มักห่วงแต่หน้าตาและเกียรติยศของกลุ่มตัวเอง ดูแต่จะประชุมสุดยอดอาเซียนซิ ประชาชนไม่รู้เรื่องเลย เพราะรัฐบาลมัวแต่ไปเถียงกับฝ่ายค้าน และวุ่นอยู่กับชาวเสื้อแดง น่าจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจ ว่าการประชุมครั้งนี้ดีอย่างไร เราจะได้ประโยชน์อะไร นี่ดันใช้กำลังตำรวจทหารเป็นร้อยเป็นพันเหมือนบ้านเมืองอยู่ในภาวะสงคราม แถมมาบอกประชาชนให้เป็นเจ้าบ้านที่ดี แต่ไม่บอกว่าเป็นเจ้าบ้านที่ดีแล้วประเทศชาติจะได้ประโยชน์อะไรจากการประชุมนี้ ชาวบ้านก็เลยมองเพียงว่าถ้างานราบรื่นก็รัฐบาลเท่านั้นได้หน้า ถ้างานเสียหายก็รัฐบาลเท่านั้นขายหน้า ทำเหมือนกับว่าปวงประชาเป็นไม้ประดับ หรือเป็นบริวารที่คอยเสริมบารมีให้รัฐบาลในยามต้องการเท่านั้น ควรเร่งทำความเข้าใจให้กับประชาชนได้แล้ว ไม่ใช่ทั้งคนเล็กคนใหญ่ใส่ใจแต่จะลุยกับฝ่ายค้านจนลืมปวงประชาอย่างทุกวันนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท