ประสานเสียงขึงไว้ 38 บาท ตรึงยาวนาน 3 เดือน


ค่าเงินบาท
       “ทนง-ปรีดิยาธร” ประสานเสียงสะกดค่าเงินบาทไว้ที่ระดับ 38 บาทต่อเหรียญสหรัฐ บวกลบได้ 50 สตางค์ ช่วยให้ผู้ส่งออกมีเวลาหายใจทำ ธุรกิจ 3 เดือน หวังดึงตัวเลขการลงทุนไตรมาส 2 ให้ขยายตัว
       นายทนง พิทยะ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ ได้เข้าพบเพื่อรายงานสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในภาวะที่นิ่งมีเสถียรภาพแล้ว หลังจากช่วงต้นปีค่าเงินบาทแข็งค่าเกินไปเมื่อเทียบกับค่าเงินของภูมิภาค ซึ่งจากการหารือกับผู้ประกอบการมองว่า ค่าเงินบาทที่ระดับ 38 บาทต่อเหรียญสหรัฐ บวกลบไม่เกิน 50 สตางค์ เป็นระดับที่นักลงทุนสามารถรับได้ “เราคาดว่าค่าเงินบาทจะนิ่งและมีเสถียรภาพเป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นจะต้องประเมินใหม่อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากทุกอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็วไม่สามารถคาดการณ์ระยะยาวได้” นายทนงกล่าว
       นายทนง เชื่อว่า ผลจากการที่ค่าเงินบาทนิ่งและมีเสถียรภาพ จะทำให้นักลงทุนมั่นใจและกลับมาลงทุนอีกครั้ง ทำให้การลงทุนในไตรมาส 2 ช่วงเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน กลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้การขาดดุลการค้า และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดดีกว่าที่ประมาณการไว้มาก   สำหรับการที่นักลงทุนต่างชาติโยกเงินกลับไปสหรัฐ ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งภูมิภาค และเป็นการปรับตัวทางเทคนิคเท่านั้น ไม่เชื่อว่าค่าเงิน   จะไหลเข้าสหรัฐเป็นการถาวร เพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐไม่มีความชัดเจน “ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนต่างชะลอการนำเข้า เพื่อรอให้ค่าเงินบาทแข็งค่าที่สุด จะได้สั่งของราคาถูกที่สุด แต่ตอนนี้เมื่อนักลงทุนรู้ว่าค่าเงินบาทนิ่งแล้ว ก็จะมีความมั่นใจกลับมาลงทุนใหม่อีกครั้ง” นายทนง กล่าว
       ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าอยู่ตรงกลางเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น โดยแข็งค่าขึ้น 7% เทียบกับค่าเงินภูมิภาคเอเชียที่แข็งค่าประมาณ 5-6%  ขณะที่ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้น 8%  เงินปอนด์แข็งขึ้น 9%  ทำให้ขณะนี้ผู้ประกอบการไทยไม่เสียเปรียบเรื่องความสามารถการแข่งขัน
       ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังเปิดเผยว่า แบงก์ชาติเห็นด้วยกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เพราะเป็นเรื่องดีกับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาวะที่ต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐบาลต้องทำ แต่สำหรับนโยบายที่แบงก์ชาติดูแลอยู่ อย่างนโยบายการเงิน อัตราดอกเบี้ยไม่จำเป็นต้องทำอะไรในช่วงนี้ เพราะแบงก์ชาติมีการดูแลอยู่แล้ว  “วันนี้เข้าไปหารือกับนายทนง พิทยะ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  ก็หารือเฉพาะเรื่องเงินบาท เข้าไปคุยเรื่องภาวะอัตราแลกเปลี่ยนให้คลังฟัง ไม่มีอะไรน่าห่วง แต่ก็ไม่ได้มีการหารือเรื่องอัตราดอกเบี้ย หรือคลังมาขอร้องให้คงอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มี ไม่ได้คุย ไม่มีการขอร้องอย่างนั้น” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
       ผู้ว่าการแบงก์ชาติ กล่าวว่า แบงก์ชาติไม่ห่วงเรื่องผลกระทบเงินเฟ้อ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เนื่องจากการดำเนินงานของรัฐบาลรักษาการ มีอำนาจหน้าที่สามารถออกมาตรการได้จำกัดอยู่แล้ว  ซึ่งการกระตุ้นเช่นนี้น่าจะเป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้ว และเท่าที่ดูแลอัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนตอนนี้ ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

โพสต์ทูเดย์  24  พ.ค.  49
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 30645เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2006 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท