การจัดการความรู้ในส่วนของคุณอำนวยตำบล
“ การจัดการความรู้ ต้องลงมือทำจึงจะรู้ “
คุณอำนวยตำบล
เป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูแต่เป็นที่รู้กันว่าเป็นผู้ที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวก
ในกระบวนการจัดการความรู้ของกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่
หรือที่เราเรียกว่าคุณกิจ หรือผู้ที่ปฏิบัติจริงในพื้นที่
จากประสบการณ์ในการจัดกระบวนการจัดการความรู้
ทีมคุณอำนวยจะต้องร่วมประชุมกันเสียก่อนเพื่อกำหนดตัวบุคคลในการหน้าที่คุณอำนวย
คือ
1. คุณประสาน 2. คุณกระบวนการ 3. คุณลิขิต
ซึ่งในการกำหนดตัวบุคคลต้องดูที่ความสามารถและความถนัดของแต่ละคน
และแต่ละคนต้องเป็นผู้ที่ร่วมเรียนรู้จากกลุ่มคุณอำนวยกันเองและต้องร่วมเรียนรู้ร่วมกับ
กลุ่มเป้าหมายหรือคุณกิจ
ในการเรียนรู้กันเองคือจะต้องมีการประเมินตนเองในหน้าที่ที่ทำเป้าหมาย
คือต้องพัฒนาตนเองในการทำหน้าที่คุณอำนวยตามที่ตนเองรับผิดชอบ
และต้องประเมินเพื่อนคุณอำนวยที่ทำงานร่วมกันด้วย
หลังจากที่ถอดบทเรียน
ของคุณกิจในแต่ละเวที ในการดำเนินกระบวนการ
ความรู้และประสบการณ์ที่ได้
จะเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่มีในตำราเล่มใด
แต่เป็นความรู้ที่มาจากการได้ลงมือปฏิบัติทั้งสิ้น
สิ่งแรกที่ทำให้เราได้รู้จากกระบวนการคือเป้าหมายของคุณกิจหรือความต้องการของประชาชน
และทุนที่มีอยู่ในชุมชน
โดยเฉพาะทุนทางความรู้ที่สามารถนำมาจัดการแก้ปัญหาของชุมชน
ในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะจัดการความรู้เรื่องอะไร
ยกตัวอย่างขั้นตอนกระบวนการ
1. ให้คุณกิจกำหนดเป้าหมายในเรื่องที่จะทำ
2. ให้กำหนดวิธีการที่จะดำเนินการไปสู่เป้าหมายตามที่กำหนด
3. ให้การบ้าน คุณกิจไปปฏิบัติตามวิธีการที่กำหนดไว้
แล้วบันทึกร่องรอยของการปฏิบัติ
มาเล่าในเวทีต่อไปในกระบวนการจัดการความรู้ครั้งต่อไป
ก็ให้คุณกิจนำผลการปฏิบัติมา
เล่าสู่กันฟัง หากว่าเป็นผลดีก็ให้กำหนดเป้าหมายที่จะพัฒนาต่อไป
แต่ถ้าทำแล้วไม่เกิดผลก็ต้องร่วมคิดหาวิธีการใหม่ที่จะทำให้กิจกรรมดำเนินไปสู่เป้าหมายที่วางไว้
สิ่งที่สำคัญและต้องระวังเป็นที่สุดในการทำหน้าที่คุณอำนวยก็คือ
จะต้องไม่ทำตัวเป็นผู้รู้แต่ต้องทำตัวเป็นผู้เรียน
และเป็นอย่างนั้นจริง ๆ
เพราะคุณอำนวยจะต้องเรียนไปพร้อมกับคุณกิจว่าวิธีการที่คุณกิจได้ร่วมคิดและปฏิบัติจะนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้หรือเปล่า
และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือในการนำกระบวนการคุณอำนวยต้องไม่นำกระบวนการในลักษณะของการชี้นำ
ให้เขาคิดเอง ทำเองตามที่เขาได้กำหนดไว้ แล้วเขาจะได้รู้ว่า
สิ่งที่เขาอยากจะให้เป็น ตามวิธีการที่เขาทำ
นำไปสู่เป้าหมายที่เขาต้องการได้
ในความคิดของผมฐานะคุณอำนวย
คิดว่าในการทำหน้าที่นี้ต้องมีความอดทนเป็นหลัก
ซึ่งเป็นธรรมดาของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ลงไปในพื้นที่
โดยเฉพาะความไม่เข้าใจของประชาชน ตัวอย่าง 3
ตำบลนำร่องเป็นบทเรียนที่ดีในการทำงาน จากการลงไปเวทีแรก ๆ
ชาวบ้านคิดว่าจะลงไปตรวจสอบ จับผิด ซึ่งประสบปัญหากับหลายฝ่าย
ทั้งกลุ่มผู้นำชุมชน กลุ่มผู้นำองค์กร
แม้แต่ชาวบ้านทั่วไป เพราะฉะนั้น
นอกจากเราจะพบประชาชนในเวทีแล้วเราจะต้องพบกับประชาชนนอกเวทีด้วยเพื่อทำความเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายและเจตนารมณ์
และถ้าจะให้ดีต้องให้เขาเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ด้วย
อีกอย่างหนึ่งที่คุณอำนวยจะต้องทำคือการมาร่วมกันถอดบทเรียนในแต่ละเวที
เพื่อสะท้อนการดำเนินงานของคุณอำนวยเอง ในการทำหน้าที่
ประสาน จัดกระบวนการ จดบันทึก
และสะท้อนถึงผลการปฏิบัติของคุณกิจ
เพื่อเป็นความรู้และข้อมูลการการทำเวทีจัดการความรู้ครั้งต่อไป
พูดได้ว่า
“ การจัดการความรู้ ต้องลงมือทำจึงจะรู้
“