ระบบการลงทะเบียนสัมมนา และวัฒนธรรมนั่งแถวหลัง


แค่การเซ็นชื่อที่ถือว่าเป็นระบบเล็กๆ เช่นนี้ ยังมีปัญหาไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้ แล้วเรื่องใหญ่ๆ หากจะให้เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ จะเป็นไปได้อย่างไร?
            หลายครั้งที่มีการฝึกอบรม / ประชุม / สัมมนา ผมสังเกตว่า . . ผู้ที่มาก่อนเวลาส่วนใหญ่มักจะเลือกไปนั่งแถวหลังๆ ปล่อยแถวหน้าว่างไว้ให้ผู้ที่มาทีหลังนั่ง บ้างก็พูดในทำนองว่า . . เป็นการ “ลงโทษ” ผู้ที่มาช้า ผมเองมองไม่ออกว่าการนั่งแถวหน้านั้นมันเสียหายตรงไหน? แล้วทำไมคนส่วนใหญ่จึงมักพอใจกับการเลือกนั่งข้างหลัง? ครั้นเมื่อสังเกตต่อไป คำตอบหนึ่งที่ได้ (แต่ก็ไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกกรณีนะครับ) ก็คือ . . พบว่าการที่บางคนไม่ต้องการนั่งแถวหน้า เพราะตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะอยู่ได้ไม่ตลอดการสัมมนา จำเป็นต้องออกจากห้องก่อนเวลา ไม่อยากตกเป็นเป้าสายตาเวลาที่ลุกออกจากห้อง อะไรทำนองนั้น
             บางคนอยู่ร่วมสัมมนา (ประชุม) ได้แค่ช่วงเช้า หลายหน่วยงานมีระบบการเซ็นชื่อ คือให้ลงทะเบียนก่อนเข้างาน บางคนเซ็นตอนเช้าแต่พอบ่ายก็หายตัวไป ในที่สุดจึงมีการใช้ระบบเซ็นชื่อสองครั้ง คือเช้าครั้งหนึ่ง และบ่ายอีกครั้งหนึ่ง บางแห่งผมเห็นแล้วก็อึ้ง เพราะกระดาษที่ให้เซ็นชื่อภาคเช้าและภาคบ่ายนั้นวางอยู่คู่กัน (วางของภาคบ่ายไว้ให้เซ็นตั้งแต่เช้า) ซึ่งผู้ที่เข้าสัมมนาก็เซ็นทั้งสองใบอยู่ดี แล้วนี่จะแยกเป็นเช้า-บ่ายให้เปลืองกระดาษทำไม? เพราะถึงอย่างไรก็เซ็นไว้พร้อมกันในตอนเช้า แล้วบ่ายก็หายตัวไปอยู่ดี
            บางแห่งถึงจะวางกระดาษให้เซ็นไว้เฉพาะช่วงเช้า แต่ผู้ที่เข้าร่วมสัมมนาที่ “ใหญ่โต” กว่า (ตำแหน่งสูงกว่าหรืออาวุโสมากกว่าผู้จัดสัมมนา) ก็ถามหาใบเซ็นชื่อภาคบ่ายอยู่ดี พูดในทำนองที่ว่าจะได้เซ็นให้เสร็จๆ ไป ช่วงบ่ายจะได้ไม่ต้องพะวงเรื่องนี้อีก . . ที่ผมหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เพื่อต้องการจะชี้ให้เห็นว่า แค่การเซ็นชื่อที่ถือว่าเป็นระบบเล็กๆ เช่นนี้ ยังมีปัญหาไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้ แล้วเรื่องใหญ่ๆ หากจะให้เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ จะเป็นไปได้อย่างไร?  อนิจจา ประเทศไทย !!
หมายเลขบันทึก: 305748เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2009 09:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 10:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

นั่งหลังเมื่อสัมมนา    นั่งหน้าเมื่อดูดนตรี

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์

เป็นข้อสังเกตเล็กๆ แต่มีนัยยะที่ลึกซึ้งมากครับ

จะทำอะไรถ้าไม่มีใจนำซะแล้ว ความสำเร็จคงจะเกิดยากจริงๆนะครับ

สวัสดีครับอาจารย์

  สงสัยจะมีทั้งวัฒนธรรมขี้อาย ปนกับวัฒนธรรมคนใหญ่คนโตรวมๆ กัน  แล้วกลายเป็นวัฒนธรรมนั่งแถวหลังไปเสียกระมังครับ ผู้ใหญ่ก็ไม่ได้เป็นที่พึ่ง ไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดี ก็มีอยู่อีกมากครับ  ("ผู้ที่เข้าร่วมสัมมนาที่ “ใหญ่โต” กว่าก็ถามหาใบเซ็นชื่อภาคบ่ายอยู่ดี") อนิจจา ประเทศไทย !!

ถ้าเลือกได้ ผมจะดูที่จอ presentation screen เป็นหลัก และจะพยายามนั่งตรงที่ไม่ต้องก้ม ไม่ต้องเงย ไม่ต้องเอี้ยว ชมการนำเสนอตลอด เนื่องจากเวทีของเรามักจะเลียนแบบโรงภาพยนต์ คือ แถวหน้าสามสี่แถวแรก (ที่บางทีเป็นที่นั่งเกียรติยศ คือเป็นโซฟานุ่มๆ) จะอยู่ต่ำมาก บางทีต่ำกว่าขอบเวทีเยอะ หรือไม่ก็ต้องนั่งแหงนหน้าคอตั้ง คิดว่าอาจารย์อาวุโสหลายท่าน อาจจะเกิดอาการปวดคอได้มากทีเดียว

แถวที่ดีๆจึงมักจะเป็นประมาณแถวที่ 4-6 ตรงกลาง ก็แล้วแต่ลักษณะห้องประชุม

ส่วนเรื่องเซ็นชื่อ ก็คงจะมีทั้งแบบที่ genuine ไม่เรื่องมาก และประเภทไม่ซื่อสัตย์ และลองไม่ซื่อสัตย์แม้เรื่องแบบนี้ ก็คงจะลงท้ายถอนหายใจดังๆออกมาเหมือนกัน

ไม่ได้ตั้งใจจะบ่นอะไรๆ แต่เช้า แต่บังเอิญเป็นสิ่งที่ "คาใจ" มานาน . . ขอบคุณทุกๆ ท่านที่รับฟัง . . . เ๊อ๊ แล้วถ้าเป็นอย่างนี้ ผู้จัดฝึกอบรม / สัมมนา ควรจะทำอย่างไรดี? ใครมีข้อแนะนำอะไรบ้าง?

นั่งเป็นวงกลมกับพื้นครับ สู่วิถีชุมชนแต่โบราณ อิ อิ

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์

เป็นข้อสังเกตเล็กๆ แต่มีนัยยะที่ลึกซึ้งมากครับ

จะทำอะไรถ้าไม่มีใจนำซะแล้ว ความสำเร็จคงจะเกิดยากจริงๆนะครับ

ที่ผ่านมา พอใกล้พิธีเปิด ก็จะมีคนมาเชิญ(ไล่) ให้ไปนั่งข้างหน้าครับ บอกว่าเดี๋ยวภาพจะออกมาไม่สวย พอเปิดเสร็จ แถวหน้าก็ค่อยๆ หายไปเหมือนเดิมครับ

เรื่อง "ภาพ" นี่ เราสร้างกันเก่งนะครับ

ที่องค์กรนี้ เขาไม่ห่วงเรื่อง "ภาพ" . . ภาพก็เลยออกมาเป็นแบบนี้ครับ


ที่นี่ น่าจะห่วงเรื่อง "ภาพ" เพราะเป็นหลักสูตรสำหรับ "ผู้บริหารระดับสูง" แต่มากัน "โหรงเหรง" มาก อ้างว่าติดการทำงานวิจัยส่งอาจารย์ อะไรทำนองนั้น . . เสียดายงบประมาณการจัดอบรม

              

อีกรูปหนึ่งก็แล้วกัน . . แสดงความขยันขันแข็งในการเรียนรู้ทางฝั่ง "พระคุณเจ้า"

                  

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์

เป็นข้อสังเกตเล็กๆ แต่มีนัยยะที่ลึกซึ้งมากครับ

จะทำอะไรถ้าไม่มีใจนำซะแล้ว ความสำเร็จคงจะเกิดยากจริงๆนะครับ

พาลนึกไปถึงเรื่องอื่น

เคยจัดการเรียนการสอน "ภาค extra-curriculum" เชิญวิทยากรมาจากข้างนอกคณะ มาให้นศพ. (บังเกิดเกล้่า) ได้เปิดหูเปิดตาหลายครั้งที่คณะ แต่ด้วยความอะไรก็ตาม บางทีนักเรียนก็มากันโหรงเหรง เป็นที่น่าอับอายแก่คนจัดต่อวิทยากรรับเชิญ ก็เลยมีคนวางมาตรการ "เช็คชื่อ"

ปรากฏว่าเช็คชื่อเสร็จมานั่งกันแป๊บๆ ก็เดินออกหนีหายไปก็มีเยอะอีก ก็เลยเพิ่มมาตรการ "เช็คชื่อสองรอบ" คือ เช็คตอนกลาง presentation อีกที

ปรากฏว่า เอ.. ทำไมคนก็มาไม่ครบ ชื่อมันถึงเยอะนัก ก็เลยพบว่า อ้อ มีการเซ็นชื่อแทนกันด้วย ก็เลยไปหาเทคโนโลยีมาช่วย ใช้เครื่องตรวจจับลายนิ้วมือซะเลย (จริงๆ ไม่ได้พูดเล่น) มา scan

so much for the student-centred philosophy!!!!

อ่านแล้วเห็นภาพเลยครับ อาจารย์หมอสกล

อาการเข้าก่อนนั่งหลัง ในขณะนี้เป็นวัฒนธรรมที่ส่งต่อมาถึงข้าราชการรุ่นใหม่ ๆ แล้วล่ะครับ จะไม่ส่งต่อได้อย่างไร ในเมื่อทุกครั้ง คุณครู ผู้อำนวยการ หรือ หัวหน้าฝ่าย ระดับใหญ่ ๆ มักจะแสดงอาการเหล่านี้ให้เด็ก ๆ ดูสม่ำเสมอ  แล้วเด็กรุ่นใหม่ก็ยินดีที่จะซึมซับกันแบบไม่ต้องคิดอยู่แล้ว

ขณะนี้ถึงขนาดว่า บางคนมีชื่อมาสัมมนาแต่ไม่มา เจ้าหน้าที่ก็ต้องไปอ้อนวอนขอให้เซ็นต์ชื่อให้หน่อยนะ ไม่เช่นนั้น คนจะไม่ครบ ประเมินไม่ผ่าน เบิกงบประมาณมีปัญหาอะไรทำนองนี้ ...  แล้วอย่างนี้ การพัฒนาจะเกิดขึ้นได้หรือไม่...

       ขอเล่าเรื่องตัวเองหน่อยครับ   เวลาไปประชุมสัมมนาที่ใหนผมชอบนั่งข้างหน้าครับ เพราะ

       1. ไม่ต้องไปคุยกับใคร และ ไม่มีเสียงคุยรบกวน (มีสมาธิในการฟัง)

       2. ได้สัมผัสกับวิทยากรอย่างเต็มที่ครับ (ทั้งน้ำเสียง สีหน้า อารมณ์ ความรู้สึก)

       3. หากสงสัยก็ถามได้เลยครับ

                        (คลิ้ก) ภาพการนั่งข้างหน้าของผม  

       และการนั่งข้างหน้าของผม ผมต้องเบื่อหน่ายกับเสียงนกเสียงกาครับ  ประเภทเสียงกระแนะกระแหน  พูดจาเสียดสี  ในทำนองว่า  ต้องการเป็นจุดเด่นบ้าง   ทำเป็นขยันขันแข็งบ้าง    ต้องการเอาหน้าเอาตาบ้าง   ต้องการสร้างภาพบ้าง

        ไม่นั่งหน้า  ยังมาว่าให้น่าเบื่ออีกครับ

ชมภาพตัวอย่างการนั่งหน้าการประชุมของผมครับ

 

          ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ที่จ.อุบลราชธานีครับ

     ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ที่กรุงเทพฯครับ

    

 

 

 

 

ขอบคุณ ท่าน small man ทีมีภาพถ่ายเป็นหลักฐานยืนยันว่า ท่านนั่งแถวหน้า (สุด) จริงๆ ด้วย แต่ขอเตือนด้วยความหวังดีนะครับว่าบางทีก็ต้องระวังน้ำลายของวิทยากรจะกระเด็นมาโดนด้วย !!

  • หน่วยราชการหลายแห่ง ชอบเซ็นชื่อไม่ตรงเวลา ไม่ทราบว่า เพราะอะไร
  • มือถือ ก็มีเวลา  นาฬิกาก็มีเวลา แต่ก็เซ็นไม่ตรงกับเวลาบนหน้าปัด แต่เซ็นตามคนก่อนหน้า ซึ่งก็ไม่ตรงเวลา 
  • เซ็นกันไปเรื่อย เซ็นเป็นหางว่าว แล้วจะเซ็นกันทำไม เปลืองกระดาษ
  • เราเซ็นตรงเวลา ก็เค้าก็ว่า เซ็นแบบนี้ แล้วคนที่มาทีหลังก็ลำบาก อ้าวแล้วกัน  แล้วมันลำบากตรงไหน(น้อ) ก็ในเมื่อเซ็นให้ตรงเวลา สัมมาปฏิบัติ ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติดี แล้วมันผิดตรงไหน(น้อ)
  • แล้วถ้าจะเซ็นชื่อลงเวลาทำงาน แล้วเซ็นไม่ตรง แล้วจะเซ็นหาพระแสงอะไรกัน  หรือว่า เค้าจะเซ็นหาพระแสงจริง ๆ (ไม่รู้ว่าตอนนี้เค้าเจอพระแสงหรือยัง) 
  • เฮ้อ ........

อ่านของคุณ pomdent นึกถึงเรื่องเล่าเรื่องนึง ที่ mentor ทาง palliative care ของผม อ.สิวลี เล่าให้ฟังในงานสัมมนาพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่ BITEC

อาจารย์ก็เคยทำอย่างที่คุณ pomdent อยากทำ ก็คือมาตรงเวลา แล้วก็เซ็นชื่อตามที่ตนเองมา เซ็นไป เซ็นมา ปรากฏว่าถูกเจ้านายเรียกไปพบ บอกว่าทำอย่างนี้เพื่อนฝูงเดือดร้อน ก็เลยเรียนถามไปว่าจะให้ทำอย่างไร สุดท้ายไปตกลงกันว่าอาจารย์จะได้เซ็นชื่อเป็นคนสุดท้ายทุกวัน คือ 8.30 น. เซ็นเสร็จก็ขีดเส้นแดงจบวัน

ตอนพิจารณาก็มีคนไม่ทราบเรื่อง เห็น เอ..ทำไมคนนี้มาสายสุดทุกวัน แต่หัวหน้าใหญ่ชะโงกหน้ามาดู แล้วก็บอกว่า "อ๋อ.. เปล่าหรอก คนนี้น่ะมาก่อนคนอื่นทุกวัน"

น่ารัก น่า........ ซะไม่มี

หึ หึ

บันทึกนี้ของอาจารย์ปลุกประเด็นวัฒนธรรมที่น่าปรับเปลี่ยนแต่ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงจริงๆค่ะ เรามักจะถูกบังคับให้ไปเข้าฟังกันมากกว่าจะมาจากความสมัครใจ ทำให้เลือกที่จะนั่งห่างจากวิทยากร ส่วนการเซ็นชื่อ ก็เป็นธรรมเนียมของการเก็บเอกสารที่ไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องเป็นหลัก แต่คำนึงถึงการ"เก็บหลักฐาน" ให้ครบถ้วนมากกว่า (คนละหน้าที่กัน คนเซ็นก็เซ็น คนเก็บก็เก็บ) แต่คนสำคัญ (ที่ต้องประเมินกระดาษพวกนี้)ไม่รู้เป็นใครนั่นเอง แปลกจริงๆนะคะธรรมเนียมนี้ 

ขอแถมอีกบาง "วัฒนธรรม"

คงจะเคยเห็นการนำเสนอผลงานวิชาการประเภทวิจัย ที่จะมีประธานและรองประธานนั่ง นัยว่าถ้าคนนำเสนอพูดจบ ไม่มีใครถาม ทั้งสองท่านนี้ก็จะช่วยทำงานการอภิปรายต่อเนื่อง จะได้มี interactive กัน มักจะใช้ผู้ทรงคุณวุฒิ อาวุโสในสาขานั้นๆ จะได้แตกฉานเพียงพอที่จะถามอะไรต่อยอด สร้างสรรค์ได้

แต่ต่อมาพอเรานำมาใช้ ปรากฏว่าไม่เพียงเฉพาะ session นำเสนอผลงานวิชาการเท่านั้น เรานำมาใช้ทุก sessions ที่มีเลยทีเดียว ไม่ทราบเพราะอะไรเหมือนกัน ปกติถ้าเป็นนำเสนอ แต่ละท่านก็จะพูด 10-12 นาทีจบ แต่นี่พอเรานำมาใช้ แม้กระทั่ง symposium หรือ serial lectures หรือ panel discussion ที่แต่ละคนพูด 45-60 นาที up คนที่เราส่งไปเป็นประธานและรองประธานจะนั่งค่อนข้างเด๋อด๋าอยู่ตรงนั้นตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่มีบทพูดอะไร ยกเว้นแนะนำตัวคนพูด (ซึ่งใช้ moderator ของห้องก็ได้ ตอนนี้ moderator ก็เลย demote บทบาทตัวเองลงไปเหลือแนะนำตัวประธานและรองประธาน session ซึ่งมีบทบาทคอยสะกิดซึ่งกันและกันไม่ให้หลับกลิ่้งตกเก้าอี้ลงมาก่อนจบ)

บางทีคนจัดเจอปัญหาหาประธาน รองประธานไม่พอ เพราะมีหลายห้องเหลือเกินเป็นที่น่่าวิงเวียน

ก็ไม่ทราบว่าท่านที่ถูกเชิญ จะรู้สึก "เป็นเกียรติ" มากน้อยแค่ไหนนะครับ ผมเคยเห็นบางคนก็แนะนำตัววิทยากรเสร็จ ก็ขอลงมานั่งข้างล่างเพื่อจะได้ดู presentation ชัดๆก็มี สรุปแล้ว เราใช้คนแบบค่อนข้างละฟุ่มเฟือยมากทีเดียว ตอนมอบของที่ระลึก บางทีก็ต้องมีทั้งของให้วิทยากรเสร็จ ก็ต้องมีของให้ประธานและรองประธาน session อีกต่างหาก

เล่าให้ฟังต่อยอดนิดหน่อยครับ ตามประสาได้ไปเคยสังเกต

ขอขอบคุณทุกท่านกับการ "ต่อยอด" ด้วยตัวอย่างต่างๆ ที่ค่อนข้างหลากหลาย และทำให้มองเห็นประเด็นชัดเจนดีขึ้นมากทีเดียว ผมเองก็พยายามหาวิธีต่างๆ นานาที่จะทำให้เรื่องเหล่านี้มีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เรื่องนั่งแถวหลัง มีหลายครั้งที่ผมประกาศล่วงหน้าว่าผมจะถามแต่พวกที่นั่งข้างหลัง ซึ่งก็ได้ผลพอสมควรทีเดียวสำหรับห้องที่ไม่ใหญ่เกินไปนัก

กลับมาอ่านแล้วเด็กๆ อย่างผมได้อะไรอีกเยอะแยะ

แต่ก็สลดใจ (ในอีกมุม)  ว่าเมื่อไหร่วัฒนธรรมแบบนี้จะหมดไป  ยิ่งถ้าผู้ใหญ่ไม่ทำแล้วตำหนิคนทำดีอย่างที่อาจารย์ประพนธ์ทราบมา  สังคมจะดีได้ยังไง  ยังดูไม่ออก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท