ชื่นชมระบบรายงานค่าวิกฤตที่รวดเร็วสุดยอด..ของร.พ.สงขลานครินทร์


สัปดาห์นี้รับหน้าที่ verify ผลการตรวจทางห้องแล็บเป็นงานหลัก นั่นคือต้องนั่งประจำที่ตรวจดูผลแล็บที่ออกมาจากเครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติว่าถูกต้องตามที่ควรจะเป็น สัมพันธ์กับการวินิจฉัยโรคของแพทย์และประวัติเดิมของคนไข้ ค่าสมควรที่จะออกผลไปได้หรือไม่ก่อนที่จะลงชื่อ ลงรหัสให้ผลออกไปสู่แพทย์เพื่อใช้ในการตรวจรักษาคนไข้ต่อไป สองวันที่ผ่านมาเรามีสิ่งส่งตรวจวันละกว่า 1 พันรายทั้งสองวัน เรียกว่านั่งกันยาวตั้งแต่เช้าจนเลยเที่ยงแทบจะลุกไปไหนไม่ได้เลย ส่วนช่วงบ่ายก็มีมาตลอดไม่มีว่างนานเอาเสียเลย

เรามีระบบการรายงานผลค่าวิกฤตซึ่งเป็นผลแล็บที่แพทย์และห้องแล็บทำการตกลงร่วมกันว่าหากค่าสูงหรือต่ำกว่าค่าที่กำหนดกันไว้ ทางแล็บต้องโทรแจ้งผลทันทีเพื่อให้แพทย์ทำการรักษาคนไข้ทันท่วงที ซึ่งมาตรการนี้เป็นข้อกำหนดของมาตรฐาน ISO15189 ที่เราผ่านการรับรองแล้วด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้เราต้องโทรแจ้งด้วยตนเอง ซึ่งพบปัญหาอุปสรรคหลายอย่าง เพราะงานเราก็มากอยู่แล้ว ไม่มีผู้ทำหน้าที่นี้แยกต่างหาก คนที่ทำหน้าที่ออกผลเป็นผู้ที่ต้องโทรแจ้ง ในขณะที่ผลรอให้ออกก็มากมาย ทางผู้รับซึ่งปกติก็จะเป็นพยาบาลไม่ว่าจะเป็นที่คลินิกผู้ป่วยนอกหรือหอผู้ป่วยก็มีภาระตรงหน้ามากพอๆกับเรา ทำให้บางครั้งกว่าจะรับโทรศัพท์ก็ค่อนข้างนาน คนโทรก็ถือหูรอ คนรับก็วิ่งวุ่นอยู่ ทางห้องแล็บเราก็เลยจับเอาเรื่องนี้มาทำวิจัยเพื่อจะประเมินผลการตอบสนองของแพทย์ต่อการรายงานค่าวิกฤตที่เราทำอยู่ เพื่อจะได้เอามาปรับปรุงระบบการรายงานให้เหมาะสมต่อไป

ระหว่างที่เรากำลังดำเนินการอยู่นี้เองที่เรื่องนี้ได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากอ.หมอกิตติ ลิ่มอภิชาติ อดีตคณบดีคณะแพทย์เรา พวกเราได้มีโอกาสนำเสนอโครงงานวิจัยที่กำลังทำนี้ให้ท่านฟัง เป็นที่มาของการปรับเปลี่ยนวิธีการรายงานผลค่าวิกฤตมาตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยฝ่าย IT ทำการกรองผลแล็บค่าวิกฤตแล้วส่งตรงถึงโอเปอร์เรเตอร์โรงพยาบาล ขึ้นที่หน้าจอเพื่อให้โทรแจ้งแพทย์และพยาบาลทันที โดยแจ้งชื่อผู้ป่วย เลขประจำตัวผู้ป่วย และแจ้งว่ามีผลแล็บการทดสอบใดที่มีค่าวิกฤตโดยไม่ต้องแจ้งค่า (เพื่อป้องกันการแจ้งผิดพลาดจากผู้ที่ไม่ใช่บุคลากรในห้องแล็บ) เพราะทางห้องแล็บออกผลผ่านระบบไปอยู่แล้ว แพทย์สามารถเปิดดูได้ทันที  

ทางห้องแล็บเราสามารถเปิดตรวจสอบดูได้ว่าผลแล็บที่เป็นค่าวิกฤตซึ่งเราออกผลไปแล้วนั้นได้รับการแจ้งต่อไปหรือยัง มีการลงเวลาแจ้งและผู้รับเรื่องแสดงไว้ชัดเจน วันนี้รับหน้าที่เป็นผู้ออกผลค่าวิกฤตบางส่วน ทำให้ได้มีโอกาสตรวจสอบการรายงานผลจากโอเปอร์เรเตอร์บนหน้าจอ บอกได้ว่าน่าประทับใจมากๆเลยค่ะ เพราะวันนี้มีค่าวิกฤตอยู่ 5-6 ราย ได้รับการแจ้งต่อภายในเวลาเฉลี่ยประมาณ 4-5 นาทีเท่านั้นเอง รายที่เร็วที่สุดนั้นใช้เวลาแค่ 3 นาทีเท่านั้นเอง เห็นแล้วชื่นชมผู้ทำหน้าที่แจ้งต่อจริงๆ เท่าที่เห็นนี้บอกได้เลยว่าน่าจะเป็นระบบการแจ้งค่าวิกฤตที่เร็วที่สุดที่มีอยู่ในปัจจุบันแน่นอนเลยค่ะ ยอดเยี่ยมจริงๆ

หมายเลขบันทึก: 305692เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2009 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ยินดีด้วยครับ สำหรับความก้าวหน้า

เคยได้ยินว่าบางทีค่าวิกฤติก็ไปกระพริบที่ operator เพื่อตามหาแพทย์เจ้าของไข้ และกระพริบที่ ward เพื่อให้พยาบาลรับทราบ อย่างนี้หมอจะถูกตามสองครั้งไหมครับ อาจจะทำให้เกิดความสับสน (หรือหงุดหงิด เพราะพึ่งรับทราบจากฝ่ายหนึ่งและจัดการไปเรียบร้อยแล้ว)

แต่น่าทึ่งและรวดเร็วดีครับ

อ.Phoenix คะ พวกเราชาวแล็บนี่ดีใจสุดๆเลยค่ะ เพราะการแจ้งผลรวดเร็วกว่าที่พวกเราทำมาก และเรายังสามารถใช้เวลาที่เคยต้องมาถือหูโทรศัพท์ไปจัดการแล็บทั้งหลายที่รออยู่ได้ไม่ติดขัดด้วยค่ะ

ทาง operator เขามีขั้นตอนในการปฏิบัติอยู่ค่ะ และเชื่อว่าอีกสักพักเราก็คงต้องประเมินกันว่าต้องปรับปรุงขบวนการยังไง ที่จะให้มีประสิทธิภาพที่สุด คือไม่ให้มีการซ้ำซ้อน สับสน โดยยึดหลักว่าเวลาของทุกคนมีค่า และการช่วยเหลือคนไข้ให้ทันท่วงทีเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท