ตุ๊กตาไม้


ตุ๊กตา

ตุ๊กตาไม้นายโถ

"ตุ๊กตาไม้นายโถ" โอทอปห้าดาวบ้านลวงเหนือ ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เป็นผลงาน
ที่ภาคภูมิใจของ "นายโถ"หรือ นายพีระพงค์ บุญจันทร์ต๊ะ อายุ 32 ปี พื้นเพเป็นชาวจังหวัดเชียงใหม่
อยู่บ้านเลขที่ 83 หมู่ 4 ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรชายคนเดียวของครอบครัว จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากนั้นเริ่มต้นชีวิต การทำงานโดยการมาเป็นครูสอนศิลปะที่โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร ประมาณ 2 ปี จึงเกิดมีความคิด ริเริ่มในการทำตุ๊กตาไม้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนเองชอบและถนัดที่สุด ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่อยากทำงานไกลบ้าน ไม่อยากจากครอบครัวไปไกล เพราะเป็นห่วง พ่อ แม่ จึงขอคำปรึกษาจากอาจารย์ที่
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเคยสอนตนเองมาก่อน อาจารย์แนะนำ ว่าน่าลองทำหลาย ๆ
อย่าง ลองใช้ความรู้ ความสามารถที่เรียนมาทำในสิ่งที่ชอบและมีความถนัด จากนั้นจึงเริ่มคิดหลาย ๆสิ่งและทดลองทำทีละอย่างเริ่มจากสิ่งที่ตัวเองถนัดและมีความรู้มากที่สุด คือการทำไม้ ทั้งนี้เพราะเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย ในหมู่บ้าน และราคาถูก " คนเรามักจะเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดก่อนเสมอ
เพราะเรามีความมั่นใจว่าเราทำได้ "พีระพงค์ กล่าวก่อนที่จะหันมาเอาดีทางด้านไม้ นาย พีระพงค์
ได้กล่าวว่า "ตนเองเหมือนเป็นคนขายขวด ที่หาซื้อขวด แต่ตอนหลังก็เปิดโรงงานรับซื้อขวดเอง ตนเองต้องปั่นจักรยานไปหาซื้อไม้ในหมู่บ้านเหมือนกัน ได้ไม้มาจำนวนหนึ่งก็นำมาทำตุ๊กตา จากนั้น
ชาวบ้านรู้ว่าที่บ้านรับซื้อไม้ชาวบ้านก็จะนำมาขายให้ถึงที่บ้าน" แรก ๆ ลองวาดภาพตัวตุ๊กตาก่อนว่าจะ
ทำตุ๊กตาแบบไหน ในครั้งแรกนั้นมีแนวความคิดที่จะทำสัตว์ที่ใกล้ตัวก่อน เช่น ควาย หมู ไก่ แมว และ นกกระยาง โดยใช้กิ่งไม้มาทำเป็นแขนขา นกกระยาง และใช้ไม้ก้านเดียวเสียบไว้ปักแจกัน
รูปทรง สัดส่วน ยังแข็งกระด้าง สีสันไม่ค่อยสวยงาม ซึ่งทั้งหมดที่ทำขึ้นมายังขายไม่ได้เพราะ
เป็นช่วงที่ทดลองทำ เริ่มทำตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 ใช้เวลาในการทำสร้างสรรค์ผลงานทั้งหมด
ประมาณ 9 ปีช่วง 3 ปีแรก ตั้งแต่ปี 2541-2545 เพราะไม่มีความเรียบร้อยและไม่มีความสวยงาม
เท่าที่ควรจึงมีการพัฒนามาเรื่อย ๆ ลองผิดลองถูก ล้มลุกคลุกคลานกันบ้าง อีกทั้งต้องหาตลาดเอง
ฝากร้านขาย ได้ขายบ้าง ไม่ได้ขายบ้าง กระทั่งใน ปี 2546 ได้ส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการ
ของรัฐบาล คือโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP และได้รับรางวัล หนึ่งตำบลหนึ่ง
ผลิตภัณฑ์ ระดับ 5 ดาวในปีนั้น และเป็นสินค้า โอทอป ที่ขึ้นชื่อของบ้านลวงเหนือตั้งแต่นั้นมา
นอกจากนี้ยังได้รับ ใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ชุมชนในปี 2546 มีเครื่องหมายการค้าเป็นของ
ตนเองอีกด้วย จากนั้นมาจึงเริ่มก่อตั้งเป็นกลุ่มหัตถกรรมตุ๊กตา ไม้ นายโถ ทำกันในครอบครัว
มีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 10 คน โดยทำกันในกลุ่มเครือญาติ และคนในชุมชนเดียวกัน หัตถกรรม
ที่ทำกันนี้เป็นเพียงแค่อาชีพเสริมเท่านั้น อาชีพหลักของชาวบ้านที่นี่ยังคงการทำนา ทำสวน ตาม
ฤดูกาลสำหรับขั้นตอนการทำตุ๊กตานั้น นายพีระพงค์ กล่าวว่า ขั้นตอนแรกจะทำขึ้นมาเป็นตัวอย่าง
1ตัว จากนั้น แกะแบบ แล้วก็แบ่งงานตามความถนัดของแต่ละคน ในการทำตุ๊กตาแต่ละตัว ต่อวันนั้น
แต่ละคนจะรับผิดชอบในส่วนของตนเอง วันหนึ่งทำได้ 10 ตัว วันต่อไปอาจจะทำได้เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม กว่าจะได้ตุ๊กตามาแต่ละตัวต้องผ่านกรรมวิธีการผลิตที่แตกต่างกันไป โดยมีการร่าง
แบบเพื่อทำการฉลุ นำไปเจียรตกแต่งขอบให้เนียนเรียบแล้วนำมาขัดกระดาษทรายด้วยมือ ทาสีรอง
พื้นรอบแรก นำแขน ขา มาประกอบกันทากาวบริเวณที่ประกอบ จากนั้นเอาขี้เลื่อยละเอียดมาผสมกับกาว โป๊ะบริเวณที่รอยต่อทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วนำมาขัดอีกหนึ่งรอบ ปัดเศษฝุ่นออกให้หมด ทาสีรองพื้นรอบที่สอง ลงสี รอให้แห้ง พ่นสเปรย์ นำไปตากให้แห้งเตรียมไว้ในกล่องเพื่อรอส่งออกอัตราหนึ่งวันจะได้ตุ๊กตาไม้ทั้งหมด 30-50 ตัว ไม้ที่ใช้ทำตุ๊กตาจะเป็นไม้ที่มีอยู่ในหมู่บ้าน หาได้ง่าย เช่น ไม้งิ้ว
ไม้ฉำฉา ไม้มะขาม ไม้สน ฯลฯ ไม้จำพวกนี้ จะเป็นไม้ที่โตเร็ว สามารถปลูกทดแทนได้ไม่ทำให้เสีย
สมดุลธรรมชาติ ปัญหาที่พบในการทำตุ๊กตาไม้คือมีการลงทุนไม่แน่นอนค่อยๆลงทุนไปทีละส่วน
โดยเริ่มจากเครื่องมือชิ้นเล็ก ๆไม่ใช่ว่ามีเงินหนึ่งก้อนก็นำมาลงทุนเลย ไม่ใช่แบบนั้น กลุ่มหัตถกรรม
ที่นี่จะค่อยเป็น ค่อยไปทีละส่วนเพราะมีการวางแผนไว้ให้เป็นไปแบบนี้ ฉะนั้นหัตถกรรมที่นี่จะเป็นกลุ่ม
หัตถกรรมขนาดเล็กเท่านั้น ได้ใช้เงินกู้เพื่อพัฒนาต่อเติมสถานที่บ้างทางด้านการตลาด ส่วนใหญ่
ขาย-ส่งภายในประเทศ มากกว่าส่งออกนอกประเทศ ราคามีตั้งแต่ตัวละ40-500 บาท ที่ส่งขายมากภายในประเทศเพราะจะจัดส่งเองแต่ถ้าส่งออกต่างประเทศ ไม่ได้ส่งโดยตรงต้องส่งผ่านบริษัท ซึ่งมี
การสั่งออเดอร์ไว้ ถ้าเป็นในจังหวัดก็ส่ง ตามท้องตลาดทั่วไปอาทิ ร้าน กิ๊ฟช็อป ถนนคนเดินไนท์ซาฟารี
จังหวัดเชียงใหม่ ต่างจังหวัดส่งที่ จตุจักร บริษัทคอลเลคชั่น กรุงเทพฯ พัทยา ชลบุรี ห้างร้านต่าง ๆ
ตลาดต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น สินค้าที่ได้รับความนิยมมากจะเป็นจำพวก ยีราฟ และ ม้าลาย ส่วนของไนท์ซาฟารี ขณะนี้กำลังต้องการ อูฐ จึงออกแบบทำอูฐขึ้นมาแล้วส่งตามออเดอร์ไป นอกจากนี้ มีการ
ออกบูธ งานต่าง ๆ มีการโฆษณาสินค้าไปเรื่อย ๆ ใน งานหัตถกรรม OTOP หรือ ตามสถานที่ต่าง ๆ
ที่มี งานแสดงสินค้าหัตถกรรม ส่วนสินค้าตัวใหม่จะมีเพิ่มมาและแทรกสินค้าตัวเก่าเข้าไปตามลำดับ
การวางแผนสำหรับอนาคต กลุ่มหัตถกรรมตุ๊กตาไม้นายโถ มีแนวโน้มว่าจะพัฒนาเพิ่ม แต่ยังไม่คิดที่
จะทำส่งออกตลาดต่างประเทศ " ที่ทำกันอยู่เป็นเพียงแค่หัตถกรรมเล็ก ๆ ควบคุมคนเดียวและมีความ
ยุ่งยาก ระยะเวลาในการดำเนินงานก็จะมีผลเสีย ถ้าทำไม่ได้ตามออเดอร์ ทำให้ลูกค้าเกิดความไม่
พอใจได้ คนเราควรที่จะก้าวไปทีละก้าว ไปตามแถวไม่ควรที่จะแตกแถว เพราะงานที่เราทำอยู่มัน
ยังเล็กมากสำหรับทางที่รออยู่ข้างหน้า ฉะนั้นเราก็ต้องค่อย ๆ เดิน และเดินอย่างมั่นคง"
นายพีระพงค์กล่าว.

 

 

ที่มา www.mfa.go.th/internet/BDU/otop9.doc

คำสำคัญ (Tags): #ตุ๊กตาไม้
หมายเลขบันทึก: 305589เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2009 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชอบตุ๊กตาแกะซื้อมา 2 ตัวเมื่อตอนไปเที่ยวเชียงใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท