โกมผั้ด


โกมผั้ด

โกมผัด หรือ โกมผั้ด

         

 โกมผัด หรือ โกมผั้ด” ผะหญาการใช้
      คนล้านนาเรียกสิ่งประดิษฐ์ขึ้นใช้เกี่ยวข้องกับไฟว่า “โกม”คำว่า”โกมผั้ด” คือโคมที่หมุนได้
คนล้านนาใช้ผะหญาสังเกตลักษณะของอากาศเมื่อถูกความริอนจะขยายตัวไหลเวียนขั้น หากถูกจำกัด
อยู่ในที่แคบขณะเดียวกันอากาศที่อยู่ด้านนอกจะไหลดเข้ามาแทนที ข้อสังเกตดังกล่าวสะหล่าได้นำ
มาสร้างโกมผั้ดสะหล่าได้ให้ความรู้เสริมว่า”เมื่อมีลมร้อนลอยขึ้น ลมตาง (ทาง) นอกจากมันจะไหล
เข้ามา หากเราทำสิ่งกัดขวางทางลม ลมจะดันสิ่งกีดขวางให้หมุน เหมือนเราทำพัดลมตอ (ต้าน) ลม
ในกลางแจ้ง”การทำโกมผั้ดสะหล่า(ช่าง)จะหาไม้ไผ่ที่เหนียว เช่น ไผ่บง ไผ่สีสุก ไผ่ซาง ฯลฯ
อย่างใดอย่างหนึ่งมาจักเป็นตอกกว้างประมาณ12-14 เส้น แล้วแต่สะหล่าจะทำหลังจากนั้น
ในสมัยก่อนจะใช้ใบลานมาเหลาเป็นเส้นตามความยาวของไม้ซี่ที่ทำไว้แต่ให้มีความกว้างประมาณ
1 ซม. มาติดซี่ไม้ให้แนบสนิททุกอันเตรียมไว้ พ่อหนานบุญมีให้ความรู้ตรงนี้ว่า” ตัวใบลานนี้เองจะ
เป็นเสมือนใบพัดที่ต้านลมให้โกมผั้ดหมุน แต่ปัจจุบันจะใช้แผ่นฟลอยด์ที่ทนความร้อนแทนใบลาน”
เมื่อได้ซี่ไม้แล้ว ต่อไปจะหาไม้ที่มีน้ำหนักเบา เช่น ไม้ปอ ไม้สา ไม้งิ้ว (นุ่น)มาเป็นหัวโกมผั้ด
โดยการเกลาให้กลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 ซม.ยาวประมาณ7ซม. ทำตรงกลางให้ป่องออกมา
คล้ายหัวจ้อง(ร่ม) ตรงกลางป่องนี้เอง เจาะรูเท่ากับขนาดของซี่ไม้เพื่อนำซี่ไม้เข้าสอดติด การเจาะรู
ดังกล่าวต้องให้เอียงประมาณ 45 องศา ทุกรู เสร็จแล้วนำเส้นตอกที่ติดใบลานแล้วเข้าสอดติดกาว
ให้หัวซี่ไม้ติดกับรูหัวโกมผั้ดให้แน่นทุกซี่โดยรอบก็จะได้โครงหัวโกมผั้ด มีลักษณะคล้ายหัวจ้อง (ร่ม)
ต่อไปทำสายร้อยผูกดึงการทำสายร้อยผูกดึง คือ การที่นำด้วยเหนียวมาผูกซี่ไม้แต่ละซี่ให้ห่างกัน
ตามความต้องการหรือความเหมาะสม เพื่อให้ไม้ซี่ดึงซึ่งกันและกันคล้ายเผือก จุดที่จะร้อย คือ
ตรงกลางซี่โดยรอบและส่วนสุดท้ายหรือปลายซี่โดยรอบ ก็จะได้โครงหัวโกมผั้ดที่มีด้ายเกี่ยวพันซี่ไม้
เป็นวงกลม ต่อไปทำเสาตั้งหัวโกม การทำเสาโกมผั้ดหรือแกนโกมผั้ดเพื่อวางเข็มต้องหาไม้ไผ่หรือ
ไม้จริง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-4ซม.เหลาให้กลมยาวประมาณ50 ซม.มาตั้งบนกุ้ม(แท่น)
รองที่ทำด้วยไม้กระดานหนาประมาณ 1นิ้ว กว้างประมาณ 6-8นิ้ว ยาวประมาณ 10-12นิ้ว เจาะรูตรง
กลางแล้วฝังเสาโกมผั้ดลงตอกตะปูให้แน่นต่อไปนำหัวโครงโกมผั้ดลองวางบนเสาเพื่อจะทำวง
ด้านล่างและโครงด้านข้าง โดยการวัดขอบวงบนได้เท่าใด นำมาเป็นขนาดวงล่าง แล้วนำไม้ดอกมา
ขดเป็นวงตามขนาดวงบน แล้ววางที่พื้นเพื่อสานด้ายและเสาค้ำ การทำเสาค้ำจะนำเส้นตอกยาวเท่ากับ
ความสูงของวงบนและวงล่าง เส้นตอกดังกล่าวจะเหลาให้เบาบางจำนวน 6 เส้น นำมาผูกเชื่อมวงบน
วงล่าง เป็นระยะห่างเท่ากันโดยรอบ ก็จะได้โครงโกมผั้ดมีลักษณะด้านบนเป็นซี่ไม้ ด้านข้างเป็นซี่ไม้
6 เส้น ด้านล่างมีปากเป็นวงกลมเสร็จแล้วนำด้ายเหนียวมาขึงจากข้างบนลงมาผูกขอบล่างย้อนสลับ
ขึ้นไปเป็นฟันปลาโดยรอบ ให้เป็นรูปทรงกระบอก ทดลองหมุนโครงซี่ไม้ดูว่าโครงเครงหรือไม่เมื่อ
เที่ยงตรงดีแล้วต่อไปก็ทำเข็มพ่อหนานบุญมีบอกว่า “ขั้นตอนนี้แหละสำคัญ ถ้าทำไม้ดีโกมจะไม่ผั้ด
(หมุน)แม้อากาศหรือลมจะแรงเท่าใดก็ตาม”การทำเข็มสมัยก่อนจะใช้ไม้แข็ง เช่น ไม้เกล็ดหรือเขา
สัตว์มาเหลาแต่ปัจจุบันมีเหล็ก หรือเข็มหมุดจึงใช้เหล็กแทนไม้ โดยการตัดเหล็กลวดหรือเข็มหมุด
ยาวประมาณ 2 ซม.ฝังไว้ตรงจุดศูนย์กลางแกนหัวโครงให้แน่น แล้วทดลองนำมาวางบนหัวเสาโดย
ให้เข็มอยู่บนศูนย์กลางหัวเสาให้มากที่สุดทดลองหมุนเบา ๆ เมื่อได้ที่แล้วจึงทำหม้อง (หลุมเล็ก ๆ )
ฝังวัสดุที่มีลักษณะลื่นไหลเรียกว่า”ตั๋วมื่น”(ตัวลื่น) สะหล่าเล่าว่าสมัยโบราณตั๋วมื่นจะทำจากแผ่นหิน
เล็ก ๆ นำมาฝนให้หน้าเรียนต่อมาเปลี่ยนเป็นเศษเครื่องปั้นดินเผาที่มีผิวเป็นมัน ต่อมาอีกมีขวดหรือแก้วจะใช้เศษขวด เศษแก้วมาทำตั๋วมื่นโดยการทุบให้เป็นแผ่นกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งเซ็น
นำมาฝังในรูหัวเสาเพื่อรองรับเข็ม” เมื่อฝังตั๋วมื่นแล้ว ต่อไปทดลองนำหัวโกมผั้ดมาวางโดยให้ปลาย
เข็มวางบนตั๋วมื่น ลองใช้มือหมุนดูว่าคล่องตัวหรือไม่ เมื่อได้ที่แล้วต่อไปทำตัวละคร แล้วแต่สะหล่าจะ
ทำเรื่องอะไรแต่ส่วนมาก พ่อหนานบุญมีบอกว่า “การทำตัวละครแต่ก่อนนิยมทำรูปตั๋วเป้ง (รูปสัตว์
ตามปีต่าง ๆ )จนครบ 12 ปีวิธีการทำตัวละครสล่าจะตัดกระดาษให้เป็นรูปที่ต้องการแล้วนำไปติดกับ
โครงเส้นด้ายด้านข้างของโกมผั้ดเพื่อบังแสงไฟ สะท้อนเงาอออกมาติดฉากด้านนอกอีกทอดหนึ่ง
การทำฉากรับเงาภาพแบบวงกลม สะหล่าจะวัดด้านนอกของตัวโกมผั้ดออกมาประมาณ 8-10 นิ้ว
นำเส้นตอกมาม้วนทำเป็นวงกลมสองวง ตามขนาดที่วัดไว้แล้ว ตัดไม้ขนาดกว้าง 1 ซม.สูงเท่ากับโกมผั้ด หรือสูงกว่าเล็กน้อยเพื่อตกแต่งก็แล้วแต่สะหล่า ตัดไม้ดังกล่าวจำนวน 6 อัน มาทำเป็นโครง
ข้างผูกเป็นเสาเชื่อมวงกลมไม้ด้านบนและล่างโดยให้เสามีระยะห่างเท่ากัน ก็จะได้โครงฉากไม้ทรงกระบอก ทดลองวางคร่อมตัวโกมผั้ดดู เมื่อเห็นว่าโครงฉากโกมผั้ดได้ที่แล้วนำกระดาษสาสีขาว
แผ่นบางมาติดโดยรอบตัวโครงฉากให้ทั่ว ก็จะได้ฉากวงกลมล้อมรอบตัวโกมผั้ด พ่อหนานบุญมีให้
เหตุผลว่า” การใช้กระดาษสา เพราะว่าแต่ก่อนนั้นไม่มีกระดาษสาว่าวแผ่นบาง แต่ถ้าจะเปลี่ยน
จากกระดาษสาเป็นกระดาษว่าวก็ได้แต่ต้องใช้สีขาวเท่านั้นเพราะจะเห็นเงาภาพได้ชัด เพื่อจัดแจง
ทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ก็จะเป็นการจุดไฟทดลองโกมให้ผั้ด โดยการจุดเทียนเล่มขนาดเท่าหัวแม่มือ
วางไว้ใกล้ ๆ เสาภายในตัวโกมผั้ด เมื่ออากาศภายในโกมผั้ดร้อนจะลอยตัวขึ้นอากาศรอบ ๆ จะพัด
เข้าหา ปะทะกับซี่โครงด้านบนให้โกมหมุน พ่อหนานบุญมีเล่าว่า”ในตอนนี้โกมอาจจะไม่ผั้ดให้ยกหนุน
แท่นเทียนให้สูงขึ้น เทียนจะเป่าอากาศด้านบนให้ร้อนมากกว่าเดิม โกมก็จะผั้ด” ขณะที่โกมหมุนแสง
ไฟจากเทียนจะส่องเอาภาพต่าง ๆ ที่คนติดไว้ข้างโกมผั้ด เงาภาพสะท้อนไปติดฉากที่รองรับด้านนอก
คนก็จะเห็นเป็นภาพต่าง ๆ ที่เคลื่อนไหว เช่น เสือไล่กวาง ม้าวิ่ง เป็นต้น

 

ที่มา : http://www.mcp.ac.th/intellect/Chapter3/06.pdf

คำสำคัญ (Tags): #โกมผั้ด
หมายเลขบันทึก: 305545เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2009 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นของเก่า ของดี ประจำภาคเหนือที่สมควรเผยแพร่ ดีแต้ ๆ เจ้า

โรงเรียนดอยสะเก็ดได้นำเสนอผลงานโกมผัดได้รับรางวัลชนะเลิศมาหลายครั้งแล้ว....ขอแสดงความยินดีด้วย*-*

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท