ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ตอนที่ 3)ทรัพยากร อาชีพและแหล่งท่องเที่ยว


ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ตอนที่ 3)

.......................................................

1. เรื่อง  ทรัพยากรธรรมชาติ และการประกอบอาชีพของประชากรในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 

            การทำเหมืองแร่ 

            จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีแร่ธาตุที่สำคัญ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ แร่ควอทซ์   หินปูนเพื่อการก่อสร้าง เหล็ก แกรนิต และโพแทสเซียมเฟลด์สปาร์ โดยมีเหมืองแร่ที่มีสัมปทานและเปิดทำการแล้ว 14 แห่ง  

            การเลี้ยงสัตว์ 

            สภาพภูมิประเทศของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นที่ราบลุ่ม ๆ ดอนๆ มีทุ่งหญ้าเป็นบริเวณกว้าง ดังนั้นพื้นที่ดังกล่าวจึงเหมาะต่อการเลี้ยงสัตว์  เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพการเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพเสริม ควบคู่กับการประกอบอาชีพการเกษตรอื่นๆ เช่น การทำไร่ ทำสวน ปัจจุบันแนวโน้มที่จะประกอบอาชีพการเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพหลัก หรือเลี้ยงเป็นการค้ามีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเลี้ยงโคนม ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงได้รับการส่งเสริมจากทางราชการทั้งในด้านการให้ความรู้และศึกษาดูงาน โดยได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากองค์การส่งเสริมโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) และฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก  การเลี้ยงสัตว์จะมีการเลี้ยงชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือสัตว์หลายชนิดร่วมกัน หรือในลักษณะการเกษตรผสมผสาน ทั้งนี้เนื่องจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีศักยภาพสูงในด้านการประกอบอาชีพการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะมีวัสดุเหลือจากการเกษตรจำนวนมาก ที่เหมาะสมนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น เปลือกสับปะรด มันสำปะหลัง ต้นข้าวโพด และกากน้ำตาล นอกจากนี้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ยังอยู่ในเขตพื้นที่ปลอดโรคระบาด ทำให้สามารถเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายสัตว์ได้สะดวก ทั้งตลาดในภาคกลาง กรุงเทพ หรือภาคใต้

              การเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ประสบปัญหาแทบทุกชนิด เนื่องจากปัญหาสภาพเศรษฐกิจตกต่ำของประเทศ ทำให้การปล่อยสินเชื่อต่างๆ ที่จะใช้เป็นเงินทุนมาดำเนินการขาดสภาพคล่อง อีกทั้งราคาอาหาร เวชภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำเนินการเลี้ยงสัตว์ราคาสูงขึ้น ในขณะที่ราคาสัตว์มีชีวิตที่ส่งออกสู่ตลาดเพื่อฆ่าชำแหละนำมาบริโภคเป็นอาหารต่างๆ ราคาถูกลง จากสภาพการณ์ดังกล่าวทำให้เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถทำการเลี้ยงสัตว์ได้ต่อไป นอกจากนั้นยังมีการใช้ที่ดินที่เคยเลี้ยงสัตว์ไปดำเนินธุรกิจอื่นเพิ่มขึ้น เช่น สับปะรด เพราะมีราคาสูงมาก

            สัตว์ที่นิยมเลี้ยงของจังหวัด ได้แก่ โค กระบือ สุกร แพะ แกะ และไก่ บรรดาสัตว์ที่เลี้ยงโคจะเป็นสัตว์ที่มีผู้เลี้ยงมากที่สุด รองลงมาคือสุกร  สุกรจะมีเขียงรับซื้อในทุกอำเภอ นอกจากนั้นจะมีผู้เลี้ยงรายใหญ่ในอำเภอปราณบุรี กิ่งอำเภอสามร้อยยอด อำเภอกุยบุรี อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ส่งทั้งตลาดในจังหวัดและต่างจังหวัด โคเนื้อจะมีผู้เลี้ยงรายใหญ่ซึ่งรับซื้อจากผู้เลี้ยงรายย่อยแล้วส่งเข้าตลาดกรุงเทพ และต่างจังหวัด มีการชำแหละเพื่อจำหน่ายตลาดในจังหวัดบ้าง แต่ไม่มากนัก โดยมีผู้เลี้ยงรายใหญ่อยู่ในกิ่งอำเภอสามร้อยยอด อำเภอกุยบุรี อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอทับสะแก สำหรับโคนมมีสหกรณ์โคนมและศูนย์ย่อยของ อสค. ซื้อน้ำนมดิบที่อำเภอปราณบุรี อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอบางสะพาน

2. เรื่อง ทรัพยากรธรรมชาติ  และการประกอบอาชีพของประชากรในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 

            การอุตสาหกรรม 

            การอุตสาหกรรมในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีหลายประเภทมีทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ส่วนมากเป็นโรงงานที่ใช้วัตถุดิบจากการเกษตร เช่นโรงงานสับปะรดกระป๋อง ซึ่งจำหน่ายต่างประเทศเกือบ 100% โรงงานน้ำตาลทรายดิบขาว  ส่วนโรงงานขนาดกลาง ได้แก่ โรงงานปลาป่น ห้องเย็นเก็บสัตว์น้ำทะเล โรงเลื่อย โรงถั่วลิสงอบ โรงงานโม่หิน  โรงงานหินอ่อน โรงงานทำเส้นใย โรงงานทำน้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม เป็นต้น

            อำเภอปราณบุรีเป็นอำเภอที่มีจำนวนโรงงานมากที่สุดของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื่องมาจากเดิมที่อำเภอปราณบุรีเป็นแหล่งชุมชนที่มีความหนาแน่นของประชากรมากที่สุด และเป็นแหล่งวัตถุดิบ จึงทำให้มีความเหมาะสมกับการลงทุนมากกว่าเขตอำเภออื่นๆ ส่วนอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์มีจำนวนโรงงานมากลำดับรองลงมาสาเหตุที่มีการลงทุนมากเพราะเป็นที่ตั้งตัวจังหวัด ถ้าพิจารณาถึงเงินลงทุน อำเภอบางสะพานจะมีเงินลงทุนมากที่สุด เพราะในเขตตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน มีโครงการลงทุนอุตสาหกรรมหนัก คือ โรงงานอุตสาหกรรมเหล็กรีดร้อนรีดเย็น

            สามารถจำแนกประเภทและชนิดของอุตสาหกรรมในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้ดังนี้

            1. โรงงานอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากการเกษตร เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปสับปะรดบรรจุกระป๋อง และน้ำสับปะรดเข้มข้นบรรจุกระป๋อง  อุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลทราย  อุตสาหกรรมสับปะรดกวน  อุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวเป็นวัตถุดิบ  อุตสาหกรรมผลิตนมโดยวิธีพลาสเจอร์ไรส์

            2. โรงงานอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากการประมง เช่น อุตสาหกรรมห้องเย็นเก็บสัตว์น้ำ    อุตสาหกรรมทำกุ้งแห้งและปลาหมึกแห้ง  อุตสาหกรรมทำปลาป่น  อุตสาหกรรมทำน้ำปลา         อุตสาหกรรมน้ำแข็งเพื่อการประมง  อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมแซมเรือ

            3. โรงงานอุตสาหกรรมผลิตวัสดุเพื่อการก่อสร้าง เช่น อุตสาหกรรมผลิตคอนกรีต คอนกรีตผสมเสร็จ  อุตสาหกรรามโม่หิน  อุตสาหกรรมดูดทราย  อุตสาหกรรมแปรรูปไม้และประดิษฐกรรมจากไม้  อุตสาหกรรมแปรรูปหินอ่อนและผลิตภัณฑ์

            4. อุตสาหกรรมเหล็ก ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน  อุตสาหกรรมเหล็กแผ่นรีดเย็นชนิดม้วน  อุตสาหกรรมผลิตเหล็กเคลือบสังกะสีด้วยกรรมวิธีทางไฟฟ้า  อุตสาหกรรมเหล็กเส้นเสริมคอนกรีดชนิดเหล็กเส้นกลม

การท่องเที่ยวและการบริการ

            จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ศาสนสถาน วัฒนธรรม และทางธรรมชาติ ดังนี้       

             1. ในเขตอำเภอหัวหิน

                        - พระราชวังไกลกังวล ตั้งอยู่ห่างจากหัวหินไปทางทิศเหนือ 3 กิโลเมตร บนถนนเพชรเกษม กม.ที่ 229 เป็นที่ประทับในการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานในฤดูร้อนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 7 มีเนื้อที่ 300 ไร่เศษ ในบริเวณมีพระตำหนักหลายหลังมีชื่อคล้องจองกัน ได้แก่ พระตำหนักเปี่ยมสุข ปลุกเกษม เอิบเปรม เอมปรีดิ์ สร้างอยู่กลางอุทยานไม้ดอกไม้ประดับนานาพันธุ์ โดยมีพื้นที่ด้านหนึ่งติดชายทะเล

                        - หาดหัวหิน เป็นที่ตากอากาศที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีของชาวไทยมานาน มีชายหาดที่สวยงาม ทรายขาวละเอียด โขดหินโดดเด่น เป็นชายหาดท่องเที่ยวแห่งแรกของประเทศไทย น้ำทะเลใสจนมีสมญานามว่า ราชินีแห่งความร่มรื่น บรรยากาศสงบร่มรื่น อากาศบริสุทธิ์เย็นสบาย

                        - เขาตะเกียบ เขาไกรลาส ห่างจากตัวเมืองหัวหินไปทางใต้ 6 กิโลเมตร เป็นเขาที่ยื่นออกไปในทะเล มีโขดหินสวยงาม บนเขาเป็นที่ตั้งของวัดและพระบาทจำลอง อากาศบนเขาสดชื่น สามารถขึ้นไปชมทิวทัศน์โดยรอบได้

                        - สวนสนประดิพัทธ์  อยู่ห่างจากหัวหินไปทางทิศใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร ตามถนนเพชรเกษม มีบริเวณติดชายหาดยาวเหยียดสวยงาม เงียบสงบ จนสามารถได้ยินเสียงลมพัดยอดสน มีบังกาโลและที่พักรับรองไว้บริการนักท่องเที่ยว

                        - เขาเต่า อยู่ห่างจากหัวหินประมาณ 13 กิโลเมตร บริเวณเขาเต่ามีหาดทรายที่สะอาดและสวยงามอยู่ 2 แห่ง คือ หาดทรายน้อยและหาดทรายใหญ่ และยังมีเกาะขนาดเล็กอยู่ไม่ห่างจากชายฝั่งเท่าใดนัก บนเกาะมีเปลือกหอยชนิดต่างๆ ทับถมกันอยู่มากมาย

                        - น้ำตกป่าละอู อยู่ห่างจากหัวหินไปทางทิศตะวันตกประมาณ 80 กิโลเมตร ในท้องที่ตำบลหนองพลับ ตัวน้ำตกอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีพื้นที่ถึง 273,125 ไร่ ประกอบด้วย น้ำตกละอูใหญ่ และละอูน้อย รวม 11 ชั้น ที่มีความสวยงาม มีน้ำตลอดปี บริเวณข้างเคียงยังเป็นป่าทึบสามารถตั้งแคมป์พักแรมได้ การเดินทางสะดวกรถยนต์สามารถเข้าถึงได้

            2. ในเขตอำเภอปราณบุรี อำเภอกุยบุรี และอำเภอสามร้อยยอด

                        - อุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด มีพื้นที่ 98 ตารางกิโลเมตร หรือ 61,300 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาหินสลับซับซ้อน มีที่ราบน้ำท่วมถึงอยู่ริมชายฝั่งทะเล เป็นที่อยู่อาศัยของนกนานาชนิด นับเป็นอุทยานแห่งชาติประเภทชายฝั่งทะเลแห่งแรกของประเทศไทยและในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่ง

                        - จุดชมวิวเขาแดง ระยะทางห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติสามร้อยยอดไปยังจุดชมวิวประมาณ 500 เมตร เวลาที่เหมาะแก่การชมวิวคือ ตอนเช้ามืดประมาณ 5.30 น. เนื่องจากสามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นและทัศนียภาพโดยรอบได้สวยงาม

                        - วนอุทยานปราณบุรี มีสวนป่าไม้ที่มีไม้หลากพันธุ์ เหมาะสำหรับการศึกษาสภาพพื้นที่ป่าชายเลน มีบรรยากาศร่มรื่นบางส่วนติดชายฝั่งทะเลที่งดงามและสงบเงียบ

                        - คลองเขาแดง นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเรือจากหมู่บ้านเขาแดง ล่องไปตามลำคลองประมาณ 3-4 กิโลเมตร มีนกนานาชนิดให้ชม เวลาที่เหมาะสมแก่การล่องเรือ คือ ประมาณ 16.30-17.00 น. เพราะอากาศร้อนและสามารถชมพระอาทิตย์ตกได้อย่างสวยงาม

                        - หาดสามพระยา อยู่เหนือที่ทำการอุทยานขึ้นไป 3.5 กิโลเมตร เป็นหาดทรายที่สวยงามมีต้นสนทะเลขึ้นอยู่ทั่วไป ชายหาดมีความยาว 1 กิโลเมตร มีสถานที่สำหรับกางเต็นท์พักแรม

                        - ถ้ำไทร อยู่บนเขาใกล้กับหมู่บ้านคุ้งโตนด ทางไปหาดสามพระยา ปากถ้ำมีต้นไทรอยู่ต้นหนึ่ง ภายในถ้ำมีบันได 15 ขั้น ลงสู่ห้องโถงใหญ่ ผนังถ้ำมีหินงอกหินย้อยเป็นเป็นอ่างน้ำลดหลั่นลงมาเรียกว่าห้องสระโบกธรณี ถัดไปเป็นห้องม่านเจ็ดสี และห้องน้ำตกแห้งหรือหินข้าง ซึ่งเป็นห้องโปร่งโล่ง มีปล่องอยู่ด้านบน ทำให้แสงสาดส่องมากระทบผนังหินดูสวยงามมาก มีหินงอกหินย้อยรูปร่างต่างๆ แต่ค่อนข้างมืด นักท่องเที่ยวสามารถเช่าตะเกียงสำหรับชมถ้ำได้ที่หมู่บ้านคุ้งโตนด

                        - ถ้ำแก้ว อยู่ที่เขาหุบจันทร์ ก่อนถึงบ้านบางปู 3 กิโลเมตร จากเชิงเขาต้องเดินเท้าอีก 15 นาที ถึงทางลงปากถ้ำเป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่ยาวลึก มีหินงอกหินย้อยระยิบระยับเป็นประกายคล้ายเพชรเมื่อต้องแสงไฟ หินบางก้อนโปร่งใสเมื่อกระทบแสงไฟจะเรืองสว่างทั้งก้อน เป็นถ้ำที่สวยงามที่สุดของบรรดาถ้ำหินปูนในภูมิภาคนี้

                        - ถ้ำพระยานครและหาดแหลมศาลา ตั้งอยู่บริเวณเขาเทียน หากจากที่ทำการอุทยานไปทางเหนือ 16 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางโดยเรือ จากหมู่บ้านบางปูประมาณ 10 นาที จะถึงหาดทรายขาวสะอาด อันเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยาน บริเวณกว้างขวางเหมาะแก่การเล่นน้ำและตั้งแคมป์ หากไม่ลงเรืออาจเดินทางเท้าจากบ้านบางปูข้าเนินเขาประมาณ 500 เมตร ก็จะถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานได้เช่นกัน จากที่ตั้งหน่วยอุทยาน เดินเท้าขึ้นเขาประมาณ 400 เมตร ก็ถึงถ้ำโดยห้องโถงแรกมีหินงอกหินย้อยอันสวยงาม ห้องถัดไปเป็นห้องโถงใหญ่พื้นที่หลายไร่มีเนินตรงกลางอันเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งคูหาคฤหาสถ์ ที่รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างขึ้น เบื้องบนเป็นปล่องขนาดใหญ่กว้างประมาณ 20 เมตร ทำให้อากาศถูกถ่ายเทเย็นสดชื่นตลอดเวลา แสงสว่างสาดส่องลงมาพลับกลาดูสวยเด่นเป็นสง่า พระที่นั่งแห่งนี้ถูกกำหนดให้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

            3. ในเขตอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์

                        -  หลักเมืองประจวบคีรีขันธ์ ตั้งอยู่บนถนนสละชีพ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ใกล้เชิงเขาช่องกระจก องค์หลักเมืองแกะสลักลวดลายประณีตสวยงามวิจิตรบรรจง โดยส่วนยอดแกะเป็น 4 พักตร์ 4 เศียร เป็นที่สักการะของชาวเมือง และสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัด

                        - วัดเขาถ้ำคั่นกระได ตั้งอยู่เชิงเขาบริเวณอ่าวน้อย ก่อนถึงตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ เป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร ในบริเวณมีถ้ำขนาดเล็ก ประดิษฐานพระพุทธไสยาสต์ ถ้ำแห่งนี้เป็นสถานที่ซึ่งชาวเรือมักเข้ามาอาศัยหลบพายุฝน

                        - อ่าวประจวบคีรีขันธ์ เป็นที่ตั้งตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ มีความยาวประมาณ 8 กิโลเมตร โดยเริ่มจากเขาตาม่องล่าย ทางด้านทิศเหนือ เป็นทางโค้งไปจดเขาล้อมหมวกทางด้านทิศใต้ หน้าอ่าวมีเกาะรูปร่างแปลกตาอยู่หลายเกาะ ทำให้ทิวทัศน์ของอ่าวดูสวยงาม อ่าวประจวบคีรีขันธ์มีรูปร่างโค้งคล้ายพระจันทร์เสี้ยว ถ้ามองจากที่สูงจะดูงดงามมาก      

                        - เขาช่องกระจก เป็นภูเขาขนาดเล็ก อยู่ด้านหลังศาลากลางจังหวัด มีบันไดขึ้นไปจนถึงยอดเขา ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธบาทจำลอง ด้านทิศเหนือของภูเขามีช่องโปร่ง คล้ายกับกรอบของกระจก จากยอดเขาสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของตัวเมืองและอ่าวประจวบได้อย่างสวยงาม มีฝูงลิงซุกซนน่ารักให้ดูเพลิดเพลินอีกด้วย

                        - อ่าวมะนาว อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ เป็นที่ตั้งของกองบิน 53 กองพลบินที่ 4 กองทัพอากาศ และเคยเป็นยุทธภูมิในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างกองทัพไทยและกองทัพญี่ปุ่น บริเวณอ่าวมีทิวทัศน์ที่สวยงาม สะอาดร่มร่มรื่น ปลอดภัย คลื่นไม่แรงมากนัก                         

                        - เขาหินเทิน เดินทางจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ตามถนนเพชรเกษม ถึง กม. ที่ 331-332 แยกขวาไปอีก 8 กิโลเมตร ในบริเวณมีก้อนหินขนาดใหญ่หลายก้อน วางซ้อนเกยกันหรือพิงกันอยู่ตามธรรมชาติ ในลักษณะต่างๆ บังเกิดเป็นช่อง ชอก หลืบ และทางเดินแคบๆ นำไปสู่ลานกว้างหลายลานบนยอดเขา

                        - ด่านสิงขร เป็นบริเวณที่แคบที่สุดของประเทศเป็นช่องทางที่ไทย-พม่า ใช้เป็นทางผ่านติดต่อไปมาหากันตั้งแต่โบราณ และเป็นช่วงที่แคบที่สุดของประเทศไทย อยู่ในท้องที่ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์

                        - หว้ากอ อยู่ห่างจากตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ประมาณ 14 กิโลเมตร แยกที่บริเวณถนนเลียบชายฝั่ง จุดนี้เองเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมข้าราชบริพารและทูตานุทูตชาวยุโรปได้มาทอดพระเนตรและดูสุริยุปราคาเต็มดวง เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่พระมหากษัตริย์ไทยได้แสดงพระปรีชาสามารถ และหว้ากอก็เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ของวงการวิทยาศาสตร์ไทย

            4. ในเขตอำเภอทับสะแก

                        - อุทยานแห่งชาติหาดวนกร อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ประมาณ 22 กม. เขตตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จะถึงทางแยกซ้ายมือจะพบป้ายแสดงที่ตั้งอุทยาน เข้าไปประมาณ 4 กิโลเมตร ก็จะถึงชายหาดที่มีหาดทรายขาวสะอาดสวยงาม เงียบสงบกว้างสุดสายตา น้ำทะเลใสสะอาด คลื่นแรงเหมาะแก่การเล่นน้ำ ตลอดแนวชายหาดมีทิวสนอันร่มรื่น มีบ้านรับรองและที่พักซึ่งเหมาะสำหรับการค้างคืน

                        - อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง มีพื้นที่อยู่ในเขตอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอทับสะแก และอำเภอบางสะพาน  รวม 100,625 ไร่ ที่ทำการอุทยาน ตั้งอยู่บริเวณน้ำตกห้วยยางเป็นน้ำตกขนาดเล็กมีความสูง 7 ชั้น ลดหลั่นลงมา มีอ่างน้ำตกที่ไม่ลึกเหมาะแก่การเล่นน้ำ และพักผ่อน

            5. ในเขตอำเภอบางสะพาน

                        - อ่าวแม่รำพึง อยู่ห่างจากตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 86 กิโลเมตร และห่างจากถนนเพชรเกษมเข้าตัวเมืองบางสะพาน 17 กิโลเมตร ชายหาดค่อนข้างเงียบสงบ มีถนนเลียบชายหาดมีร้านอาหารทะเลแลรีสอร์ทริมชายหาด

                        - อ่าวบ่อทองหลาง ห่างจากอ่าวแม่รำพึง ตามถนนเลียบชายหาด ประมาณ 4 กิโลเมตร จะพบอ่าวเล็กๆ ที่โค้งเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว เกือบจรดกัน ภายในอ่าวน้ำทะเลใสและตื้น มีเกาะหินเล็กๆ ตั้งเรียงรายด้านหน้าอ่าว บังคลื่นลม ทำให้เหมาะแก่การเล่นน้ำทะเลทิวทัศน์สวยงาม

                        - เขาถ้ำม้าร้อง อยู่เขตตำบลพงศ์ประศาสน์ ก่อนถึงที่ว่าการอำเภอบางสะพาน 2 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวามือเป็นถนนราดยาง 1 กิโลเมตร รถยนต์สามารถเข้าถึงปากถ้ำ ภายในถ้ำมีหลายคูหาซึ่งพัฒนาติดตั้งหลอดไฟมีแสงต่างๆ กัน ประดับประดาทำให้บรรยากาศในถ้ำดูสวยงามน่าสนใจมากยิ่งขึ้น  ผนังถ้ำด้านหนึ่งมีพระพุทธรูปวางเรียงตลอดแนว สถานที่กว่างขวาง อากาศเย็นสบาย

                        - ตำหนักกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ตั้งอยู่บนเชิงเขาธงชัย ตำบลบ้านกรูด ซึ่งแยกจากถนนเพชรเกษมเข้าไปทางซ้ายประมาณ 16 กิโลเมตร  จะพบตำหนักกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์และพระพุทธกิตติสิริชัยลอยเด่นเป็นสง่า หันหน้าออกสู่ทะเล บริเวณรอบๆ มีสวนดอกไม้ประดับสวยงามและอีกยอดหนึ่งจะมีมหาธาตุเจดีย์ภักดีซึ่งสร้างขึ้นเพื่อฉลองพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสทรงครองราชย์ครบ 50 ปี

                        - อุทยานป่ากลาอ่าว เป็นอุทยานป่าไม้เบญจพรรณ มีความอุดมสมบูรณ์ซึ่งอยู่ใกล้ชุมชนอำเภอบางสะพานเพียง 2 กิโลเมตร และอยู่ติดชายทะเล มีป่าไม้ยางขนาดใหญ่ให้ความร่มรื่น

            6. ในเขตอำเภอบางสะพานน้อย

                        - เกาะทะลุ เกาะสังข์ เกาะสิงห์ อุดมไปด้วยปะการังสีสวย หาดทรายขาวสะอาด น้ำทะเลใส ปลาทะเลชุม สำหรับผู้ที่นิยมดำน้ำชมปะการังและตกปลาจะสามารถเดินทางไปยังเกาะทะลุโดยทางเรือ ขึ้นที่บ้านปากคลอง อำเภอบางสะพานน้อย ระหว่างเดินทางหากมองย้อนกลับมายังฝั่งจะเป็นหาดฝั่งแดง ซึ่งเป็นหน้าผาสีแดงดูแปลกตา เมื่อเดินทางไปครึ่งทางจะถึงเกาะสิงห์ซึ่งเป็นเกาะหินเล็กๆ อยู่ใกล้กับเกาะสังข์ ทั้งสองเกาะเป็นแหล่งตกปลาที่น่าสนใจ เนื่องจากรอบๆ เกาะอุดมไปด้วยปะการังใต้น้ำ เมื่อถึงเกาะทะลุจะพบหาดทรายขาวละเอียดและน้ำในทะเลกล่าวกันว่ายืนอยู่บนเรือก็สามารถมองเห็นใต้ท้องทะเล หากจะชมช่องทะลุก็สามารถนั่งเรืออ้อมเกาะไปชมได้ สำหรับหาดทรายที่ยาวที่สุดในเกาะยังไม่มีชื่อ เรียกแต่เป็นที่ทราบกันในหมู่นักท่องเที่ยวว่าเป็นจุดที่นิยมตั้งค่ายพักแรมค้างคืน

                        - หาดบางเบิด อยู่ตำบลทรายทอง หาดทรายกว้างสวยงาม น้ำทะเลใส เคยเป็นแหล่งปลูกแตงโมที่มีชื่อเสียงในนามแตงโมบางเบิด

 

3. เรื่อง ลักษณะทางการเมืองการปกครอง สังคม เศรษฐกิจ และการประกอบอาชีพของประชากรในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

            การคมนาคมขนส่ง

            1. การคมนาคมทางบก  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีสภาพพื้นที่ยาวลงไปเชื่อมระหว่างภาคกลางกับภาคใต้ โดยมีถนนเพชรเกษมเป็นเส้นทางคมนาคมสายหลัก ทำให้การติดต่อระหว่างจังหวัดกับจังหวัด หรือกับอำเภอเป็นไปได้ด้วยความสะดวก และเป็นทางผ่านของรถโดยสารหลายเส้นทางเข้าสู่ภาคใต้ สรุปได้ว่าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีการคมนาคมดังนี้ คือ มีเส้นทางรถโดยสารประจำทาง แยกเป็น เส้นทางหมวด 2 (ที่มีจุดเริ่มต้นที่กรุงเทพ จุดปลายทางอยู่ในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์) จำนวน 7 เส้นทาง เส้นทางหมวด 3 (ระหว่างจังหวัด) จำนวน 4 เส้นทาง เส้นทางหมวด 4 (ภายในเขตจังหวัด) จำนวน 5 เส้นทาง และเส้นทางรถขนาดเล็ก จำนวน 6 เส้นทาง รถโดยสารประจำทางและรถขนาดเล็กดังกล่าว ส่วนใหญ่จะมีการเดินรถบนถนนเพชรเกษม

                        - ทางรถยนต์  เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) เป็นเส้นทางสายหลักที่จะเดินทางไปภาคใต้ ซึ่งจะต้องผ่านจังจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีรถโดยสารประจำทางธรรมดาและรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ ให้บริการทั้งจากกรุงเทพ-ประจวบคีรีขันธ์ และจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปยังจังหวัดต่างๆ โดยมีระยะทาง ดังนี้

                        ประจวบคีรีขันธ์ - กรุงเทพ                         ประมาณ  292 กิโลเมตร

                        ประจวบคีรีขันธ์ - หัวหิน                             ประมาณ  90 กิโลเมตร

                        ประจวบคีรีขันธ์ - ปราณบุรี                          ประมาณ  71 กิโลเมตร

                        ประจวบคีรีขันธ์ - กิ่งอำเภอสามร้อยยอด                    ประมาณ  54 กิโลเมตร

                        ประจวบคีรีขันธ์ - กุยบุรี                                          ประมาณ  30 กิโลเมตร

                        ประจวบคีรีขันธ์ - ทับสะแก                          ประมาณ  34 กิโลเมตร

                        ประจวบคีรีขันธ์ - บางสะพาน                                   ประมาณ  87 กิโลเมตร

                        ประจวบคีรีขันธ์ - บางสะพานน้อย                 ประมาณ  110 กิโลเมตร

                        - ทางรถไฟ  มีรถไฟให้บริการที่ผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ดังนี้

ที่

ต้นทาง

ปลายทาง

ประเภทรถ

1

กรุงเทพ

สุไหงโกลก

รถเร็ว

2

ธนบุรี

ประจวบคีรีขันธ์

รถธรรมดาดีเซลราง

3

กรุงเทพ

สุไหงโกลก

รถด่วนพิเศษ

4

กรุงเทพ

ยะลา

รถเร็ว

5

กรุงเทพ

นครศรีธรรมราช

รถเร็ว

6

กรุงเทพ

กันตัง

รถเร็ว

7

กรุงเทพ

ปัตเตอร์เวอร์ช

รถด่วนพิเศษ

8

กรุงเทพ

สุราษฎร์ธานี

รถด่วนพิเศษสปริ้นเตอร์

9

กรุงเทพ

นครศรีธรรมราช

รถด่วน

10

กรุงเทพ

ตรัง

รถด่วน

11

กรุงเทพ

ยะลา

รถด่วนพิเศษสปริ้นเตอร์

 

            2. การคมนาคมทางอากาศ  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีสนามบิน 2 แห่ง คือ

                        - สนามบินกองบิน 53 กองพลบินที่ 4 เป็นสนามบินของกองทัพอากาศ ตั้งอยู่ชายทะเล บริเวณเขาล้อมหมวกและอ่าวมะนาว อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์

                        - ท่าอากาศยานหัวหิน (สนามบินบ่อฝ้ายเดิม) เป็นสนามบินพาณิชย์ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอหัวหิน มีเครื่องบินของบริษัท บางกอกแอร์เวย์ จำกัด ทำการบินระหว่างกรุงเทพ หัวหิน แต่สายการบินดังกล่าวได้หยุดทำการบินแล้ว เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2540 หลังจากเกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อกลางปี 2540

            ประชากรส่วนใหญ่นิยมใช้การคมนาคมทางบกโดยรถยนต์โดยสารประจำทางเป็นหลัก ซึ่งมีเส้นทางโดยสารประจำทางที่ออกจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไปจังหวัดต่างๆ และมีรถโดยสารประจำทางที่ออกจากกรุงเทพ ไปยังจังหวัดภาคใต้หลายเส้นทาง ซึ่งจะต้องผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทั้งรถโดยสารธรรมดา และรถโดยสารปรับอากาศ ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางเป็นอย่างมาก รองลงมาคือการเดินทางโดยรถไฟ

 

หมายเลขบันทึก: 305146เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2009 10:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท